โต๋ ศักดิ์สิทธิ์ The Long Term Premium Presenter

อาชีพศิลปินอาจจัดได้ว่าเป็นอีกหนึ่งอาชีพที่มี Product Life Cycle ไม่ยืนยาวนัก บางคนที่พอยืนระยะอยู่ได้จึงถือคติน้ำขึ้นให้รีบตัก อาศัยจังหวะที่ตนเองกำลังโด่งดังมีชื่อเสียง รีบโกยเงินเข้ากระเป๋าให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้

เราจึงได้เห็นปรากฏการณ์ที่ศิลปินบางคนเป็นเจ้าพ่อเจ้าแม่พรีเซ็นเตอร์ให้กับสินค้าพร้อมกันนับสิบชนิด จนผู้บริโภคงงและสับสนว่า ศิลปินคนนั้นเป็นพรีเซ็นเตอร์ให้กับสินค้าอะไรกันแน่

แต่สำหรับ โต๋ ศักดิ์สิทธิ์ เวชสุภาพร แม้ว่าจะมีสินค้าติดต่อเข้ามามากเพียงใด เขากลับเลือกที่จะเป็นพรีเซ็นเตอร์ให้กับสินค้าบางตัวเท่านั้น ด้วยความเชื่อมั่นว่า หากทำตัวให้ดี เขาจะมีน้ำให้ตักได้ไม่มีวันหมด

Differentiate Presenter

ในระยะเวลา 6 ปีที่ผ่านมา โต๋รับงานพรีเซ็นเตอร์ให้กับสินค้าเพียงแค่ 4 ชนิด แต่ 3 ใน 4 ชนิดยังคงดิวกับโต๋มาอย่างต่อเนื่อง
โดยเฉพาะเปียนโนยามาฮ่าที่มีโต๋เป็นพรีเซ็นเตอร์คนไทยคนแรกและคนเดียวนั้น ต่อเนื่องยาวนานถึง 6 ปีแล้ว แม้ในทางเทคนิคจะเซ็นสัญญากันปีต่อปี แต่ดูเหมือนว่าทางเจ้าของโปรดักส์เองจะเล็งมาตั้งแต่ต้นแล้วว่า โต๋คือพรีเซ็นเตอร์ที่เหมาะสมในระยะยาว เพราะในขณะที่โต๋สร้างแบรนด์ให้ตัวเอง ก็ทำให้ความตระหนักรับรู้ในแบรนด์ยามาฮ่าต่อกลุ่มเป้าหมายคนเล่นเปียโนเติบโตขึ้นไปด้วยเป็นเงาตามตัว

สินค้าอีกชนิดที่โต๋เป็นพรีเซ็นเตอร์ให้คือ แบรนด์ซุปไก่สกัด ซึ่งมี Positioning ที่ชัดเจนในการสนับสนุนด้านการเรียน ขณะที่ Positioning ของโต๋ก็ชัดเจนในด้าน Edutainment การเป็นพรีเซ็นเตอร์ให้กับแบรนด์จึงเป็นลักษณะ Win-Win ที่ต่างฝ่ายต่างส่งเสริมภาพลักษณ์ซึ่งกันและกัน ทำให้ดิวกันต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 แล้ว

Toh Saksit : The Long Term Premium Presenter from Positioning Magazine on Vimeo.

“วันแรกที่ผมไปคุยกับพี่ที่แบรนด์ ผมอยากขึ้นโปสเตอร์ว่า ใครว่าการเล่นดนตรีกับการเรียนไปด้วยกันไม่ได้ ผมอยากให้พิสูจน์ว่า คุณสามารถตั้งใจเรียน ขณะเดียวกันสามารถ Have fun ในชีวิตได้ เต็มที่ในชีวิตได้ นั่นคือโจทย์ที่กลายมาเป็นหนังโฆษณาตั้งแต่ตัวแรกจนถึงปัจจุบัน”

ล่าสุดโต๋เพิ่งเซ็นสัญญาเป็นพรีเซ็นเตอร์ให้มือถือแอลจีเมื่อปลายปีที่ผ่านมา โดยมีโจทย์ที่ตรงกันคือแคมเปญ Free Touch ซึ่งเชื่อมโยงกับตัวตนในการเล่นเปียนโนของโต๋

“ดูแอลจีแล้วรู้ว่าทำไมต้องเป็นโต๋ Free Touch คือการสัมผัส เขาจะเน้น Ad การเล่นเปียนโนบนทัชสกรีน คือการจับทัชสกรีนมาวางบนเปียนโน Ad ทุกอันเราจะขอดูสตอรี่บอร์ด ดูแล้วดูเล่าว่านี่เป็นผม คนดูแล้วต้อง Get ว่าเป็นผม”

การรับงานพรีเซ็นเตอร์ของโต๋ทุกชิ้น จึงต้องพิจารณาคอนเซ็ปต์ของสินค้าอย่างถี่ถ้วน ว่ามีความสอดคล้องเชื่อมโยงกับจุดยืนของตัวเองอย่างไร เพราะเขาไม่อยากเป็นแค่ Anybody ที่อยู่ในเทรนด์เท่านั้น แต่ต้องการเป็นนักดนตรีที่มีเอกลักษณ์ไม่เหมือนใคร

“ผมวาง Positioning ของตัวเองชัดเจนว่าเป็น Differentiate หน่อยๆ จัดอยู่ในกลุ่มพรีเมียม เพื่อให้ผมสามารถเลือก Place ในการวางขายได้แบบ Selective ไม่ใช่เจอผมได้ในทุกที่แบบ Intensive มันคือการเลือกว่าคุณจะเจอผมได้กับบางตัวเท่านั้น เพราะมันไม่ใช่ Monetary Value อย่างเดียว”

“คุณอาจจะได้เงินเยอะจากการเป็นพรีเซ็นเตอร์ แต่คุณเอาเงินไปซื้อศรัทธาของคนไม่ได้ นั่นคือเหตุผลสำคัญว่า ทำไมผมจึงพยายามตอบคำถามในใจผู้บริโภคให้ได้ว่า ทำไมต้องเป็นโต๋ ไม่ใช่ว่า อ๋อ เพราะโต๋อยู่ในกระแส กำลังดังก็เลยเป็นพรีเซ็นเตอร์”

Value Added by Inspiration

ในยุคสมัยที่เทปผีซีดีเถื่อนเกลื่อนเมือง โมเดลรายได้หลักของศิลปินนักร้องหลายคนในยุคนี้จึงมาจากการเดินสายเป็นด้านหลัก โดยเฉพาะการตระเวนเล่นมินิคอนเสิร์ตตามผับที่สร้างรายได้ให้ศิลปินได้อย่างเป็นกอบเป็นกำ แต่โต๋กลับเลือกที่จะปฏิเสธรายได้เหล่านี้อย่างเด็ดขาด

“การรับงานของเราค่อนข้างแตกต่างกับคนอื่นมาก ผมไม่รับงานกลางคืน ไม่เล่นตามผับ ลานเบียร์ หรือไนต์คลับ ผมไม่ต้องการให้แฟนเพลงอายุ 12 ขอคุณแม่ให้พาเข้าไปดูโต๋เล่นดนตรีในผับ”

โต๋ บอกว่า Value ในใจของคนที่มีต่อตัวศิลปิน มีค่ามากกว่าเงินที่ได้รับ การเล่นในผับแม้ได้เงินมากแต่ไม่สามารถนำเงินที่ได้มาซื้อใจ ซื้อความเชื่อมั่น หรือซื้อแรงบันดาลใจจากแฟนเพลงได้ ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็น Intangible Asset ที่สามารถเก็บเกี่ยวได้ในระยะยาว

การรับงานของโต๋จึงจำกัดเฉพาะงานโปรโมต งานแคมปัส และงานอีเวนต์เท่านั้น และเป็นเหตุผลที่ทำให้โต๋สามารถจัดแกรนด์คอนเสิร์ตได้บ่อยครั้ง เนื่องจากแฟนเพลงไม่ค่อยมีโอกาสได้เจอเขาตามงานข้างนอกเท่าไหร่นัก

นอกจากการไม่รับงานในสถานบันเทิงเพื่อตอกย้ำ Positioning ของความเป็นคนดีแล้ว โต๋ยังพยายามสร้าง Value Added ให้ตัวเองด้วยการทำตัวเป็น Idol ที่สร้างแรงบันดาลใจให้แก่เยาวชนอยู่เสมอ เช่น การพูดเรื่องการเรียนและเรื่องครอบครัวที่โต๋ถือว่าเป็นสิ่งสำคัญสำหรับชีวิตวัยรุ่นทุกคน

“ผมได้รับการสั่งสอนมาตลอดว่า การที่เราเป็นศิลปินคนหนึ่งเหมือนกับคุณพ่อคุณแม่ของแฟนเพลงเราให้ความไว้วางใจในการดูแลน้องๆ เพราะฉะนั้นสิ่งที่คุณคิด สิ่งที่คุณทำ ต้องเป็นแบบอย่างที่มอบอะไรให้กับน้องๆ ได้”

“ผมไม่อยากให้แฟนเพลงมากรี๊ดๆๆ แล้วจบ สิ่งที่ผมให้ได้คือแรงบันดาลใจ น้องๆ ไม่จำเป็นต้องมาเล่นเปียนโนเหมือนผม แต่สามารถมีแรงบันดาลใจในการทำสิ่งที่ฝันไว้ เช่นแรงบันดาลใจในการตั้งใจเรียน เล่นดนตรีที่ชอบ เล่นกีฬา นี่คือสาระที่เราต้องบวกอยู่เสมอในข้อความในเพลง และในการดำเนินชีวิตที่เป็นแบบอย่าง”

Sustainable Growth

การวางคอนเซ็ปต์เพลงให้เป็น Household Product ที่สามารถฟังได้ทั้งบ้านด้วยเนื้อหาแบบ Natural Feeling ที่สามารถเข้าถึงได้ทุกเพศทุกวัย ทำให้กลุ่มแฟนคลับของโต๋ค่อนข้างหลากหลาย เริ่มตั้งแต่เด็กๆ อายุ 4-5 ขวบ ไล่เรียงไปถึงคุณป้าอายุ 50 ก็สามารถฟังเพลงของโต๋ได้อย่างรื่นหู โดยมี Main Target คือกลุ่มเด็กมัธยมต้นถึงระดับมหาวิทยาลัย ช่วงอายุ 12-23 ปี

“ถ้าผมพูดถึงคำว่ารักเธอ คุณแม่ฟังแล้วสามารถบอกคุณพ่อว่ารักเธอได้ วัยรุ่นฟังก็สามารถบอกพ่อแม่หรือบอกแฟนว่ารักเธอได้ แต่ถ้าผมร้องเพลงว่า โอ้ย อกหัก จะกรีดมือตัวเอง มันจะได้ Target Range แค่ 15-28 ปีก็จบแล้ว คุณป้าอายุ 50 คงไม่มาฟังมั้งว่าอกหักกรีดมือ”

แม้ว่าสไตล์เพลงที่ออกไปในโทนกลางๆ อาจทำให้โต๋มี Target Gap อยู่บ้าง คือกลุ่มอายุ 25-35 ปีซึ่งเป็นกลุ่มที่มีไลฟ์สไตล์ในการท่องเที่ยวกลางคืน ที่ชอบความมีเอกลักษณ์ไม่ซ้ำใคร แต่เขาก็วางแผนเจาะช่องว่างเหล่านี้ด้วยการปรับดนตรีให้เข้มข้นขึ้นในอนาคต

“ผมคิดว่า Gap เหล่านี้จะหายไปแต่ต้องใช้เวลา อัลบั้มแรกผมเป็น Household ไม่ใช่ว่าอัลบั้มสองผมจะโดดขึ้นมาทำเพลงในผับเลย เด็กๆ ก็คงตกใจว่า โอ๊ยพี่โต๋เกิดอะไรขึ้น เพราะฉะนั้นการทำทุกอัลบั้มต้องคิดว่าทำอย่างไรไม่ให้เสียกลุ่มแฟนคลับเดิม แต่ขณะเดียวกันก็สามารถขยายกลุ่มเป้าหมายใหม่ไปได้ด้วย”

ในอนาคตโต๋จึงวางแผนเติบโตอย่างยั่งยืนไปพร้อมกับแฟนเพลง ด้วยการ Keep Old Customers จากโทนของดนตรีที่เติบโตไปตามวัย พร้อมๆ กับ Reach New Customers จากคอนเซ็ปต์เพลงแบบ Natural Feeling ที่เป็น Household Product ไม่เปลี่ยนแปลง

ซึ่งแน่นอนว่าหากโต๋ทำได้สำเร็จตามที่วางแผนไว้ ในระยะยาวเขาก็จะกลายเป็นพรีเซ็นเตอร์ที่ฮอตยิ่งขึ้นในสายตาเจ้าของโปรดักส์ต่างๆ เพราะไม่ว่าใคร ต่างก็อยากใช้พรีเซ็นเตอร์ที่เจาะกลุ่ม Niche อย่างได้ผล โดยมีกลุ่ม Mass เป็นของแถมกันทั้งนั้น

Tor’s fan clubs
กลุ่มเป้าหมายหลัก
เด็กมัธยมต้นถึงนักศึกษามหาวิทยาลัย อายุ 12-23 ปี Percentage 60%
กลุ่มเป้าหมายรอง
เด็กเล็ก อายุ 4-12 ปี Percentage 20%
ผู้ใหญ่ที่มีครอบครัวแล้ว อายุ 35-60 ปี Percentage 20%
ช่องว่าง วัยเริ่มต้นทำงาน ยังไม่มีครอบครัว อายุ 23-35 ปี Percentage 0%

Time Line การเป็นพรีเซ็นเตอร์ของโต๋
2003 เปียโนยามาฮ่า
2007 แบรนด์ซุปไก่สกัด
2007 ดิกชันนารี Magic Talk
2008 มือถือแอลจี KP 500

Profile

ชื่อ นามสกุล : ศักดิ์สิทธิ์ เวชสุภาพร
ชื่อเล่น : โต๋
วันเดือนปีเกิด : 20 มกราคม 1984
ศาสนา : คริสต์
ส่วนสูง : 172 เซนติเมตร
น้ำหนัก : 60 กิโลกรัม
การศึกษา :
มัธยม โรงเรียนนานาชาติเอกมัย
ปริญญาตรี เกียรตินิยมอันดับหนึ่ง เหรียญทอง มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ (เอแบค) คณะบริหารธุรกิจ เอกบริหารธุรกิจระหว่างประเทศ
เครื่องดนตรีที่เล่นได้ : เปียโน, กีตาร์, เบส, กลอง, ไวโอลิน, ระนาด
สีที่ชอบ: สีดำ
กีฬา : บาสเกตบอล
ผลงาน :
2008 อัลบั้ม โต๋ (มั้ง?)อัลบั้มบรรเลง Piano & I Asian Edition
2007 อัลบั้ม Living in C Major ดีวีดี ToR+ Living in C Major the Concert อัลบั้ม Piano & I Part II
2004 อัลบั้ม B5 Event ดีวีดี B5 Event the Concert อัลบั้ม Piano & I Part I
2003 อัลบั้ม ToR+ Vejsupaporn Plays Boyd Kosiyabong Songbook