งานปิกนิก อาหารมื้อค่ำในธีมสีขาว ที่มีกฎเคร่งครัด ทั้งเรื่องการแต่งกายผู้ร่วมงาน ที่ต้องสีขาวเท่านั้น และดูหรูหรา สิ่งของที่ต้องนำมาด้วยโต๊ะปิกนิก 1 ตัว เก้าอี้ 2 ตัว ไวน์ แชมเปญ นำมาเอง แต่ห้ามเหล้า และเบียร์ นี่คือเสน่ห์ของงาน
แค่นั้นยังไม่พอ ยังมีความตื่นเต้นตรงที่มีความลับเรื่องสถานที่ ที่เน้นเป็นที่สาธารณะที่เป็นสัญลักษณ์ของเมืองนั้น ซึ่งผู้ร่วมงานจะรู้สถานที่จัดงานเพียงไม่กี่นาทีก่อนงานเริ่มจริง ๆ โดยผู้จัดงานจะกำหนดจุดนัดพบ และพาขึ้นรถ หรือลงเรือไปด้วยกัน
นี่คืองาน Le Dinner en Blanc หรือ Dinner in White โดยมีจุดเริ่มต้นจากเรื่องส่วนตัว ของนาย François Pasquier นักธุรกิจที่เดินทางไปทั่วโลก มีความคิดอยากพบปะเพื่อนเก่า จึงจัดปิกนิก แต่ดูเหมือนว่าสวนที่บ้านเขาในปารีสจะเล็กเกินไป จึงแจ้งเพื่อน ๆ ว่านัดเจอกันที่สวนสาธารณะ Bois de Boulogne และให้ทุกคนใส่ชุดสีขาว เพื่อจะได้หากันเจอ
จากนั้นจากความอยากเจอเพื่อน กลายเป็นอีเวนต์ระดับสากลที่คนสนใจ เป็นคอนเซ็ปต์เพื่อนได้เจอเพื่อน ต่อคอนเนกชั่น และมีการจัดขึ้นต่อเนื่อง ในแต่ละปีจะมีคนร่วมงานประมาณ 10,000 คนในฝรั่งเศส
งานที่ใหญ่มาก และมีแขกร่วมงานเกือบ 15,000 คน เกิดขึ้นในโอกาสครบรอบ 25 ปีของ Le Dinner en Blanc ในปี 2013 จัดขึ้นที่บริเวณพิพิธภัณฑ์ Le Louvre, สวน Trocadero, และหน้า Eiffel Tower.
นอกจากในฝรั่งเศสแล้ว จัดมาแล้ว 30 ประเทศ ในกว่า 70 เมืองทั่วโลกในช่วงเกือบ 30 ปีที่ผ่านมา
ล่าสุดอีเวนต์ปิกนิกระดับโลกนี้กำลังจะเกิดขึ้นครั้งแรกในประเทศไทย ที่กรุงเทพมหานคร ที่ตอนนี้แขกเข้าร่วมงานเต็มจำนวนแล้ว จากที่ผู้จัดงานรับไม่เกิน 1,000 คน ขณะที่มีคนแจ้งความประสงค์ร่วมงาน 2,000 คน จัดว่าล้นหลามกว่าที่คิด
ไอริณ ฤกษะสาร ผู้ร่วมจัดงาน Diner en Blanc – Bangkok
เปิดเผยว่าจากประสบการณ์ บริหารนิตยสาร Foodstylish และล่าสุดเมื่อต้นปีที่ผ่านมาเปิดตัวธุรกิจใหม่ www.Thaiguide.com เว็บไซต์ที่แนะนำเรื่องอาหารและการท่องเที่ยวไทย ในนามบริษัทไทยไกด์ เกตเวย์มีเดีย มีความคิดกับเพื่อนอยากจัดอีเวนต์นี้ จึงร่วมกับ บริษัทซิกเนเจอร์ มาร์เก็ตติ้ง และเพื่อนต่างชาติที่เชี่ยวชาญจัดอีเวนต์ คอนเสิร์ต และรู้จักกลุ่มต่างชาติที่ทำงานในไทย
งานนี้กลุ่มของไอริณ ใช้เวลาประสานซื้อไลเซ่นส์จัดงาน กับเจ้าของลิขสิทธิ์อีเวนต์นี้ คือบริษัท Dîner en Blanc International ที่ตั้งอยู่ที่มอนทรีออล แคนาดา ประมาณ 1 ปี เพราะมีรายละเอียดในการพูดคุย โดยเฉพาะรูปแบบการจัดงานที่ต้องตรงตามระบบที่เจ้าของไลเซ่นส์กำหนด
หลังจากตกลง ก็เริ่มโปรโมตเมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา มี การเชิญแขกผู้ร่วมงานที่แบ่งเป็น 3 ส่วน ส่วนแรกคือกลุ่มที่ทางผู้จัดงานเชิญ ส่วนที่สอง คือแขกของกลุ่มแรก 1 คน และส่วนที่สามเปิดให้ลงทะเบียนทางเว็บไซต์ 3 วันแรกมีจำนวนคนลงทะเบียนประมาณ 1,000 คน จากนั้นครบกำหนดปิดลงทะเบียนมีคนลงทะเบียน 2,000 คน
นับเป็นจำนวนมากกว่าที่ผู้จัดคาดการณ์และเตรียมรองรับไว้ โดย 2 ส่วนแรกเตรียมไว้ประมาณ 300-400 คน และส่วนที่เปิดลงทะเบียนรับได้ 500 คน
จำนวนนี้เป็นคนไทยประมาณ 60-70% ต่างชาติประมาณ 30-40% ในจำนวนนี้เป็นต่างชาติที่บินตรงมาร่วมงานนี้ที่กรุงเทพฯ โดยเฉพาะประมาณ 5-10%
เซ็กเมนต์เป็นระดับ A และ B+ อายุ 25-40 ปี มีไลฟ์สไตล์ชอบอาหาร ท่องเที่ยว มีความแอคทีฟ อาชีพหลากหลาย รวมทั้งเป็นผู้บริหารธุรกิจ และเจ้าของธุรกิจ
สำหรับเจ้าหน้าที่ที่เตรียมรองรับผู้ร่วมงานนั้นมีประมาณ 150 คน โดยรวมกลุ่มเชฟอาสาประมาณ 30 คน ที่นำโดย เชฟจุมพล แจ้งไพร และหัวหน้าทีมที่ดูแลผู้ร่วมงาน 1 คนดูแล 40-50 คน
ไอริณ เปิดเผยว่างบการจัดงานก็อยู่ในหลักหลายล้านบาท ซึ่งรายได้มาจาก สปอนเซอร์ 3 ราย คือ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ที่อีเวนต์นี้ตรงกับทิศทางของ ททท.ที่ต้องการขยายกลุ่มเป้าหมายนักท่องเที่ยวระดับที่ใช้จ่ายสูง แสนสิริ ที่ต้องการย้ำเรื่องของความที่อยู่อาศัยระดับไฮเอนด์ หรูหรา กลุ่มสิงห์ คอร์ปอเรเชั่น ที่กำลังขยายธุรกิอาหาร โดยมี “ต๊อด ปิติ ภิรมย์ภักดี” ผู้บริหารกลุ่มสิงห์ ที่เป็นหัวหน้ากลุ่มเชฟอาสา ที่มาร่วมงานนี้ประมาณ 30 คน
อีกประมาณ 2 วัน ก็ถึงเวลา “ดินเนอร์สีขาว” จะเริ่มขึ้นแล้วใน กทม. ข้อมูลที่เปิดเผยออกมาแล้วคือจุดนัดพบ 3 จุด คือ เซ็นทรัลเวิลด์ ท่าเรือสะพานตากสิน และริเวอร์ ซิตี้ แบงค็อก ส่วนการแสดงที่เปิดตัวคนแรกมาแล้ว คือ นาตาลี เกลโบวา มิสยูนิเวิร์ส 2005
งานนี้ ไอริณ กล่าวว่า จากเสน่ห์ของงานที่คนรุ่นใหม่สนใจ และการจัดงานที่เตรียมพร้อมของทีมงาน ทำให้ขณะนี้ผ่านเกณฑ์แรกของเจ้าของไลเซ่นส์แล้วคือ งานนี้ต้องมีแขกอย่างน้อย 600 คน
ขณะที่การจัดงานระดับโลกนี้ มีอุปสรรคที่หลายอย่างต้องปรับให้เข้าไลฟ์สไตล์ของคนไทย เช่น คนไทยไม่คุ้นกับการเตรียมข้าวของมาเอง จึงได้เพิ่มเรื่องของอาหารมากขึ้น วิธีการจัดการคือ ให้แขกสั่งอาหารทางออนไลน์มาก่อน
นอกจากนี้ยังมีเรื่องของวิธีการสื่อสารกับผู้ร่วมงาน ที่คนไทยยังไม่ชินกับการติดต่อทางอีเมล แต่นิยมใช้โซเชียลมีเดีย หรือโทรสอบถามเพิ่มเติม รวมไปถึงระบบการชำระค่าสมาชิกตลอดชีพ 300 บาท และค่าบริการ 1,250 บาทสำหรับร่วมงานแต่ละครั้ง ที่ไม่ได้ใช้ระบบที่หลากหลายมากนัก ซึ่งประเด็นเหล่านี้จะต้องหาวิธีแก้ไขในการจัดงานปีต่อไป.