วันนี้ (6 ธ.ค.) จะเป็นวันที่การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) และ มิชลิน ผู้ผลิตยางรถยนต์ชื่อดัง เปิดตัวคู่มือแนะนำร้านอาหารและที่พักระดับโลก “มิชลิน ไกด์” ฉบับกรุงเทพฯ (THE MICHELIN GUIDE BANGKOK 2018) เป็นครั้งแรก ที่โรงแรมสยามเคมปินสกี้
ก่อนหน้านี้ คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติงบประมาณ 144 ล้านบาท ให้ ททท.จัดทำโครงการมิชลิน ไกด์ กรุงเทพฯ ตามแผน 5 ปี เพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวโดยมีกลุ่มเป้าหมายเป็นชาวต่างชาติ ด้วยคอนเซ็ปต์ “ท่องเที่ยวเพื่ออาหาร” ให้เป็นอีกหนึ่งในยุทธศาสตร์การท่องเที่ยวของเมืองไทย รวมทั้งต้องการยกระดับร้านอาหารให้มีคุณภาพทั้งอาหารและบริการระดับโลก
โดยปีนี้ ททท.ใช้งบประมาณไปจำนวน 9 แสนเหรียญสหรัฐ ปีต่อไปจะใช้จ่ายปีละ 8 แสนเหรียญสหรัฐ
สำหรับคู่มือมิชลิน ไกด์ จะมีเนื้อหาแบ่งออกเป็น 2 ภาษา คือ ภาษาไทย และภาษาอังกฤษ จัดทำเป็นรูปเล่ม และฉบับดิจิตอลที่เว็บไซต์ https://guide.michelin.com/th/bangkok นับเป็นประเทศที่ 2 ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และประเทศที่ 6 ในเอเชียที่มีคู่มือมิชลินไกด์เป็นของตนเอง จากทั้งหมด 28 ประเทศทั่วโลก
ที่มาของคู่มือ “มิชลิน ไกด์” เกิดขึ้นที่ประเทศฝรั่งเศส เมื่อปี พ.ศ. 2443 หรือเมื่อ 117 ปีก่อน เพื่อส่งเสริมการใช้รถยนต์ โดยแนะนำข้อมูลโรงแรม และปั๊มน้ำมัน ต่อมาได้ขยายไปที่ประเทศเบลเยียมเป็นประเทศที่ 2 จากนั้นได้เพิ่มข้อมูลร้านอาหาร จึงได้รับความนิยมมาถึงปัจจุบัน
จากนั้นในปี พ.ศ. 2469 มิชลินได้ส่งคนไปยังร้านอาหารต่างๆ เพื่อจัดทำเรตติ้งเป็นดาว และเปิดเผยผลการจัดอันดับการให้ดาว ตั้งแต่ 0 ดาว สูงสุด 3 ดาว เป็นครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2474 โดยจะมีผู้ตรวจการ “มิชลิน อินสเปคเตอร์” (Michelin Inspector) ซึ่งปัจจุบันมีอยู่ 120 คนทั่วโลก
การให้ดาวจะแบ่งออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่ 1 ดาว หมายถึง ร้านอาหารที่ดีสำหรับประเภทนั้นๆ, 2 ดาว หมายถึง ร้านอาหารยอดเยี่ยม คุ้มค่าแก่การมารับประทาน และ 3 ดาว หมายถึง สุดยอดร้านอาหารเด่น และคุ้มค่าที่จะไปลิ้มลองสักครั้งหนึ่งในชีวิต
ผู้ตรวจการ “มิชลิน อินสเปคเตอร์” มีหน้าที่ไปรับประทานอาหาร แล้วจัดทำรายงานส่งไปยังบริษัทฯ เพื่อพิจารณาการให้ดาว โดยจะต้องปิดบังฐานะของตนเองอย่างใกล้ชิด เสมือนเป็นลูกค้าธรรมดา ถึงขนาดที่ว่าเวลาสำรองที่นั่ง หากร้านอาหารรู้ตัวว่ามาจากมิชลิน ฝ่ายคณะกรรมการจะต้องยกเลิกการจองทันที
นอกจากนี้ ไม่ใช่ว่าแค่มิชลินให้ดาวแล้วจะจบ ร้านอาหารนั้นๆ จะต้องพัฒนาตนเองให้อยู่ในมาตรฐาน โดยคณะกรรมการจะต้องมารับประทานอาหารอีก 4 ครั้ง เมื่อต้องการพิจารณาว่าจะเพิ่มหรือลดดาว และหากต้องการเพิ่มดาวสูงสุด 3 ดาว จะต้องกลับไปที่ร้านอีก 10 ครั้ง เพื่อความแน่นอน
แน่นอนว่า หากร้านไหนถูกลดอันดับดาว หรือไม่ได้ดาวในปีถัดไป ก็จะกระทบถึงชื่อเสียงของร้านแน่นอน
สำหรับร้านอาหารที่มิชลินจะจัดอันดับการให้ดาว ไม่ได้จำกัดเพียงแค่ร้านอาหารหรูหรา หรือร้านอาหารสไตล์ตะวันตกเท่านั้น เพราะยังมีการจัดอันดับยันร้านติ่มซำ เช่น “ทิมโฮวาน” (Tim Ho Wan) จากเขตปกครองพิเศษฮ่องกง แห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ยังได้รับมิชลิน 1 ดาว
หรือจะเป็นร้านอาหารข้างทาง (สตรีทฟู้ด) ก็เคยให้ดาวครั้งแรกที่สิงคโปร์ เมื่อปี พ.ศ. 2559 กับร้าน “ฮิลล์สตรีท ไถหว่า พอร์ค นู้ดเดิล” ย่านคราวด์ฟอร์ด เลน และร้าน “ฮ่องกง โซยะซอส ชิกเกน ไรซ์ แอนด์นู้ดเดิล” ย่านสมิทธ์สตรีท ทั้งสองร้านต่างก็ได้รับมิชลิน 1 ดาวเช่นกัน
สำหรับร้านอาหารในไทยที่จะประกาศผลในเย็นวันนี้ ต้องรอลุ้นว่าร้านไหนจะได้ไป คนไทยและชาวต่างประเทศจะได้มีโอกาสลองลิ้มชิมรสร้านอาหารที่จัดอันดับสักครั้งว่า สมราคากับที่จัดอันดับหรือไม่.
ที่มา : mgronline.com/onlinesection/detail/9600000122895