เบตาดีน ได้เวลาลุยเอง ปั้นสินค้าเก่าบนฉลากยี่ห้อใหม่

เมื่อ “มุนดิฟาร์มา” เจ้าของผลิตภัณฑ์ใส่แผลที่รู้จักกันดีอย่างแบรนด์ “เบตาดีน” ตัดสินใจมาทำตลาดเองในช่วง 5 ปีก่อน โดยยกเลิกการใช้ตัวแทนจำหน่าย เพราะรายเดิม LF Asia ทำตลาด ก็โฟกัสแค่ผลิตภัณฑ์หลักๆ ไม่กี่ตัว เช่น ยาใส่แผลเท่านั้น การเติบโตของธุรกิจในประเทศไทยเลย “รั้งท้าย” ทั้งอาเซียนและทั่วโลก เทียบตลาดที่มุนดิฟาร์มาบุกอยู่ 130 ประเทศ

ช่วงกันยายนที่ผ่านมา มุนดิฟาร์มา ประเดิมแตกไลน์ผลิตภัณฑ์ครีมอาบน้ำเพื่อสุขภาพแบรนด์ใหม่เบตาดีน เนเชอรัล ดีเฟนส์ ท้าชนทั้งโพรเทคส์และเดทตอล ถึงขั้นทุ่มเงินดึงติ๊ก เจษฎาภร ผลดีและครอบครัวเป็นพรีเซ็นเตอร์ จนโกยมาร์เก็ตแชร์จากเบอร์ 2 อย่างเดทตอล และเบอร์รองอื่นๆ ได้ 9% จบปลายปีคาดว่าจะมีส่วนแบ่งตลาดเพิ่มเป็น 10% เป็นเบอร์ 3 ในตลาด

เพื่อผลักดันยอดขายทั้งบริษัทแตะ 800 ล้านบาท หรือเติบโต 2 เท่า ในปีหน้า บริษัทจึงต้องเดินหน้าส่งสินค้าใหม่ๆ มารุกตลาด ซึ่งล่าสุดเปิดเกมชิงตลาดดูแลช่องปากและลำคอ ด้วยการส่งเบตาดีน โทรตสเปรย์สเปรย์พ่นปากลดอาการอักเสบบริเวณช่องปากและลำคอ และเบตาดีน การ์เกิลน้ำยาบ้วนปาก มาลงสนาม

ทั้งที่ เบตาดีน โทรตสเปรย์ ไม่ใช่ของใหม่ แต่เป็นสินค้าเดิมที่เคยทำตลาดอยู่แล้ว ภายใต้แบรนด์ไอโซดีนและผลิตโดย บริษัทไทยเมจิฟาร์มาซิวติคัล จำกัด แต่เมื่อหมดสิทธิบัตรยา มุนดิฟาร์มา จึงดึงกลับมาผลิตเอง และใช้แบรนด์ใหม่เท่านั้นเอง

เดิมผลิตภัณฑ์ดังกล่าวเป็นของบริษัท พอหมดสิทธิบัตรยา เราจึงดึงกลับมาผลิตเอง โดยยังให้ไทยเมจิฟาร์มาซิวติคัล ผลิตให้วราวรรณ จันทรสมบูรณ์ รองผู้อำนวยการแผนกคอนซูเมอร์ บริษัท มุนดิฟาร์มา (ประเทศไทย) จำกัด ระบุ

ในไทยถือเป็นประเทศลำดับท้ายๆ ที่ เบตาดีน โทรตสเปรย์ มาทำตลาด จากก่อนหน้านี้มีขายทั้งในญี่ปุ่น สิงคโปร์ มาเลเซีย เป็นต้น   

ช่องทางหลักในการจำหน่ายสินค้าคือร้านขายยา และโรงพยาบาล เดิมไอโซดีน โฟกัสโรงพยาบาลเป็นหลักสัดส่วน 60% แต่กลยุทธ์ใหม่สำหรับบริษัทจะโฟกัสช่องทางร้านขายยามากขึ้น จากภาพรวมตลาดร้านยามีมากถึง 10,000 แห่งทั่วประเทศ ขณะที่โรงพยาบาลมี 1,400 แห่ง

นอกจากการนำสินค้าเก่ามาปัดฝุ่นใหม่ การเลือกรุกตลาดสเปรย์พ่นปากลดอักเสบช่องปากและลำคอ เพราะตลาดนี้เติบโตขณะที่อีกเซ็กเมนต์คือยาอมติดลบ

ตลาดรวมของผลิตภัณฑ์ดูแลช่องปากและลำคอที่จำหน่ายเฉพาะร้านขายยาและโรงพยาบาล มีมูลค่าตลาดเพียง 750 ล้านบาทเท่านั้น แบ่งสัดส่วนเป็นยาอม 350 ล้านบาท ตลาดติดลบ 11% ต่อเนื่องหลายปีแล้ว ส่วนเซ็กเมนต์สเปรย์มูลค่า 350 ล้านบาท เติบโต 17% ติดต่อกัน 3 ปีแล้ว 

ตลาดสเปรย์ มีคามิลโลซาน เอ็ม เป็นผู้นำตลาดด้วยส่วนแบ่ง 80% ที่เหลืออีก 20% เป็นแบรนด์รองแบ่งกันไป ทั้ง Herbal rescue spray ตรางู มายบาซิน โพรโพลิช ดิฟแฟลม เป็นต้น

ส่วนกลยุทธ์การทำตลาด จะสื่อสารและสร้างการรับรู้ผลิตภัณฑ์ผ่านบุคลากรทางการแพทย์ เภสัชกร เป็นหลัก 

ที่ผ่านมา คามิลโลซาน เอ็ม มีการปล่อยโฆษณาออกมาให้เห็นเป็นระยะ ทำให้ตลาดรวมได้รับอานิสงส์ในการรับรู้ด้านผลิตภัณฑ์อย่างดี แต่บริษัท ก็ขอแจม เตรียมงบ 70 ล้านบาท ทำตลาดทั้ง Below the line หรือกิจกรรมที่จัดขึ้นตามพื้นที่ต่างๆ และ Above the line การโฆษณาประชาสัมพันธ์ป่านช่องทางออนไลน์ ออนแอร์

การทำตลาดครั้งนี้ เธอหวังอย่างยิ่ง จะมีส่วนแบ่งตลาด 20% ในปีแรก นั่นจะทำให้เป็นเบอร์ 2 โดยปริยาย 

นี่เป็นหนึ่งในหมากรบที่จะทำให้บริษัทมียอดขายในประเทศไทยไต่ขึ้นอันดับต้นๆ ของโลก แม้จะอยู่ท้ายๆ แต่การเติบโตโดยรวมบริษัทสูงถึง 160% ขึ้นทำเนียบประเทศที่ทำรายได้โตสูง