แม้ว่าการขยายธุรกิจของ “เดอะมอลล์ กรุ๊ป” ยังคงให้ความสำคัญกับการเปิด “สาขาใหม่” ต่อเนื่อง แต่การแตกขยายแบรนด์ย่อยในเครือก็กำลังเป็นอีกหนึ่งในกลยุทธ์สำคัญ
เริ่มจากการส่ง “กูร์เมต์มาร์เก็ต” นำร่องขยายสาขาออก “นอกห้าง” เดอะมอลล์ไปยัง “สาขาใกล้บ้านผู้บริโภคกลุ่มเป้าหมาย” และทำยอดขายเป็นอันดับ 1 ของเดอะมอลล์
ในอีกด้านหนึ่งเดอะมอลล์ได้ส่ง “เพาเวอร์มอลล์” ร้านจำหน่ายเครื่องใช้ไฟฟ้า สินค้าไอที ซึ่งทำยอดขายเป็นอันดับ 3 ในหมวด ร้านขนาดใหญ่ (Category Killer) โดยปีที่ผ่านมามียอดขายประมาณ 10,000 ล้านบาท ออกไปสู้ศึกนอกห้าง เพื่อรุกทำตลาดเครื่องใช้ไฟฟ้า ซึ่งมีขนาดใหญ่มูลค่า 2.33 แสนล้านบาท เติบโต 2% จากปีก่อน 2.31 แสนล้านบาท
เพราะรอขยายสาขาพ่วงไปกับเดอะมอลล์อย่างเดียวไม่ทันการณ์ จึงลุยเดี่ยวออกมาเปิดสาขานอกห้าง
ประเดิมแห่งแรกที่ “เอสบี ดีไซน์ สแควร์” สาขาเดอะคริสตัล เอสบี ราชพฤกษ์ ใช้พื้นที่ 1,200 ตารางเมตร (ตร.ม.) ลงทุนประมาณ 45-50 ล้านบาท ขนาดเล็กกว่าเปิดในศูนย์การค้าของเดอะมอลล์ ซึ่งใช้พื้นที่ 2,500-4000 ตร.ม.
การยึดทำเลราชพฤกษ์ เพราะเป็นย่านผู้บริโภคมีกำลังซื้อสูง จากข้อมูลของเอสบีฯ พบว่าลูกค้าที่มาช้อปปิ้งเฟอร์นิเจอร์ที่เอสบีฯ ราว 60,000 คนต่อเดือน จะใช้จ่ายต่อบิลสูงถึง 40,000 บาท เทียบสาขาปกติยอดซื้อเฉลี่ย 20,000-30,000 บาทเท่านั้น
“เราจับตามองตลาดย่านราชพฤกษ์ รัตนาธิเบศร์ บางใหญ่มาตลอด ที่อยู่อาศัยขยายตัวเร็ว มีห้างหลายฟอร์แมตเกิดขึ้น ผู้บริโภคกำลังซื้อสูง เราจึงพัฒนาเพาเวอร์มอลล์คอนเซ็ปต์ใหม่ เปิดสาขานอกห้างครั้งแรกที่นี่ ปัจจุบันเพาเวอร์มอลล์มีสาขาให้บริการทั้งสิ้น 11 แห่ง การเปิดสาขาใหม่เราหวังยอดขาย 300 ล้านบาท และจะส่งผลให้ยอดขายปีหน้าเติบโตได้ 7-8% สูงกว่าตลาดเครื่องใช้ไฟฟ้าโดยรวมคาดว่าจะโต 5%” จักรกฤษณ์ กีรติโชคชัยกุล ผู้อำนวยการอาวุโส บริหารสินค้า บริษัท เดอะมอลล์ กรุ๊ป จำกัด บอก
คอนเซ็ปต์ของเพาเวอร์มอลล์ ที่เอสบีฯ ราชพฤกษ์ มี 7 อย่าง
- สินค้าต้องมีมูลค่าเพิ่มเหมาะสมกับราคาที่ผู้บริโภคจับจ่าย มีแบรนด์ที่ไม่เคยมีมาก่อนขายที่นี่ เช่น Nespresso
- สะดวกในการช้อปปิ้ง เพราะร้านเชื่อมกับร้านเอสบีฯ กลมกลืนกัน
- สินค้าต้องมีทั้งแนวกว้าง คือหลากหลาย และแนวลึกด้วยจำนวนรุ่นให้เลือกเยอะ
- พนักงานสลัดคราบเซลล์แต่สวมบทเป็นคนให้คำแนะนำ คำปรึกษาแก่ลูกค้าแทน
- บริการที่ดี ได้ประสบการณ์ช้อปปิ้ง เลือกซื้อสินค้า
- มีบริการเสนอไอเดียแต่งบ้านร่วมกับเอสบีฯ โดยเทคโนโลยี Digital mapping 3D
- บริการส่งสินค้า 24 ชั่วโมง
ทั้งนี้ คาดว่าลูกค้ามาจับจ่ายใช้สอยต่อบิล 12,000 บาท ส่งผลให้ยอดขายรวมปีแรก 300 ล้านบาท ส่วนปีหน้าบริษัทจะขยายเพาเวอร์มอลล์ นอกห้างเดอะมอลล์เพิ่ม เน้นทำเลกรุงเทพฯ เป็นหลัก เพราะตลาดยังมีช่องว่างให้แบ่งเค้ก
พร้อมกันนี้ได้ลงทุนหลัก “ร้อยล้าน” พัฒนาระบบไอที และซัพพลายเชน รองรับการขนส่งและกระจายสินค้าให้มีประสิทธิภาพ เช่น เพิ่มพื้นที่ศูนย์กลางกระจายสินค้าเป็น 8,000 ตร.ม. จาก 4,000 ตร.ม. มีรถให้บริการขนส่งสินค้า 25 คัน เพื่อให้ส่งสินค้าเร็ว และบริการลูกค้าที่บ้านให้ดี
เราต้องการส่งสินค้าถึงบ้านลูกค้าให้เร็วขึ้นภายใน 24 ชั่วโมง จากปัจจุบันใช้เวลาประมาณ 3 วัน
แผนต่อไป คือ การนำร้านค้าหลัก (Anchor) ที่เป็น Category Killer อย่าง “บีเทรนด์” ร้านเครื่องเขียน อุปกรณ์สำนักงานต่างๆ “สปอร์ตมอลล์” จำหน่ายอุปกรณ์กีฬา ออกไปขยายสาขานอกห้างเดอะมอลล์เพิ่มเติมด้วย
ปัจจุบันห้างค้าปลีกทุกราย “โฟกัส” การลงทุนและทำตลาดแผนกเครื่องใช้ไฟฟ้า อย่าง “พาวเวอร์บาย” ของกลุ่มเซ็นทรัล สิ้นปี 2560 จะมีสาขาให้บริการ 92 แห่ง การเปิดสาขาจะอาศัยพ่วงไปกับการเปิดศูนย์การค้าของกลุ่มเซ็นทรัลเป็นหลัก ทำให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้มากขึ้น และกระตุ้นยอดขายให้เติบโตต่อเนื่อง และสิ้นปีนี้คาดว่าตัวเลขจะแตะ 17,300 ล้านบาท
ฝั่ง “บิ๊กซี” ขอแบ่งเค้กตลาดเครื่องใช้ไฟฟ้าด้วยการจัดแคมเปญ “Big C Electronics Solution Fair” ให้กลายเป็นแคมเปญสำคัญประจำปีที่ลูกค้าจะต้องมาซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้า โทรศัพท์มือถือ และสินค้าไอทีที่ไฮเปอร์มาร์เก็ตขนาดใหญ่ 135 สาขา ทั่วประเทศ ได้แก่ เอ็กซ์ตร้า จัมโบ้ และบิ๊กซี เพื่อให้ “ฐานลูกค้า” กว่า 10 ล้านคนมาช้อปปิ้ง โดยไม่จำเป็นต้องไปง้อพื้นที่นอกห้าง
“แดเนียล ปีเตอร์ ลีเซนโก” รองประธานฝ่ายสินค้าอุปโภค บริษัทบิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ ห้างค้าปลีกในกลุ่มบริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ บีเจซี แผนกเครื่องใช้ไฟฟ้าของบิ๊กซี ทำยอดขายให้บริษัทสัดส่วน 10-15% และบริษัทต้องการผลักดันให้เติบโตมากขึ้น จากปัจจุบันกลุ่มอาหารและไม่ใช่อาหาร (Food & Non-food) มีสัดส่วนรายได้หลักมากกว่า 50%
“ภาพใหญ่” ในอนาคตบริษัทต้องการให้บิ๊กซีเป็น “จุดหมายปลายทาง” หรือ Destination เครื่องใช้ไฟฟ้าที่ผู้บริโภคต้องเข้ามาช้อปให้เหมือนกับกิจกรรมใหญ่ประจำปีอีกงานของบิ๊กซี คือ “โมบาย บิ๊กแบง” ที่จัดขึ้น 2 ปีต่อครั้ง
ส่วน เทสโก้ โลตัส จะเห็นว่าแผนกเครื่องใช้ไฟฟ้ามีความสำคัญ มีการจัดโปรโมชั่นกระตุ้นยอดขายอย่างต่อเนื่อง ทางด้าน“โฮมโปร” มีสาขามากถึง 82 แห่ง และมีแผนกเครื่องใช้ไฟฟ้า ก็เป็นหนึ่งในแผนกหลัก ที่ทำรายได้ไม่แพ้อุปกรณ์แต่งบ้าน
การแข่งเพื่อแย่งเค้ก “แสนล้าน” ถ้าอยากโตก็ต้องแตกสาขาใหม่ ไปเกาะทุกทำเลทุกพื้นที่ ตรึงกลุ่มเป้าหมายให้อยู่หมัด.