‘โรคไต’ หากไม่ได้รับการวินิจฉัยและดูแลรักษาอย่างถูกต้องตั้งแต่เริ่มเป็น มีโอกาสเป็นไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายได้ ซึ่งต้องทำไตเทียมเท่านั้น จึงจะมีชีวิตอยู่ต่อไปได้ ไม่ว่าจะเป็น การฟอกเลือดหรือการล้างไตทางช่องท้อง และการปลูกถ่ายไต ในสถานการณ์ปัจจุบันมีโอกาสของการปลูกถ่ายไตน้อยมาก เนื่องด้วยสภาพอายุที่มากขึ้น ร่างกายมีโรคร่วมอื่น ๆ ที่ไม่ปลอดภัยต่อการผ่าตัด และขาดแคลนไตบริจาค
โรงพยาบาลสถาบันโรคไตภูมิราชนครินทร์มีพันธกิจ เพื่อการรักษาที่มิใช่เป็นการรักษาปัญหาปลายเหตุเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังต้องการให้ความรู้ประชาชนเพื่อให้ห่างไกลโรคไต รู้ทันปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรค รู้จักวิธีชะลอไตมิให้เสื่อม และอยู่กับโรคไตได้อย่างมีความสุข
คนเป็นโรคไตเพิ่มขึ้นทุกปี
ศ.เกียรติคุณ พญ.ธัญญารัตน์ ธีรพรเลิศรัฐ ประธานฝ่ายการศึกษาวิชาการและฝึกอบรม สถาบันโรคไตภูมิราชนครินทร์ เล่าว่าจากรายงานของสมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย พบว่าผู้ป่วยโรคไตปัจจุบันมีจำนวน 8 ล้านคนและมีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อย ๆ โดยผู้ป่วยเป็นได้ในคนทุกช่วงวัยระยะของการเกิดโรคเริ่มต้น ระยะที่ 1 ระยะที่ 2 ระยะที่ 3 ระยะที่ 4 และระยะสุดท้ายคือระยะที่ 5 ซึ่งต้องเข้าสู่กระบวนการทำไตเทียม โดยอาศัยเปอร์เซนต์ของการทำงานของไตในการแบ่งระยะของโรค
จากรายงานดังกล่าวยังพบด้วยว่า ในปี พ.ศ. 2558 เป็นปีที่สถิติจำนวนผู้ป่วยรายใหม่ที่ต้องปลูกถ่ายไต ล้างไตทางช่องท้อง หรือ ฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียมมากถึง 18,963 คน มีผู้ป่วยที่เป็นโรคไตเรื้อรังและต้องทำการผ่าตัดปลูกถ่ายไต ล้างไตทางช่องท้อง หรือฟอกเลือดทำไตเทียมรวมทั้งสิ้นจำนวน 97,570 ราย
สาเหตุที่ทำให้เกิดโรคไตอันดับหนึ่งคือ โรคเบาหวาน รองลงมาคือ โรคความดันโลหิตสูง ค่าใช้จ่ายในการฟอกเลือดทำไตเทียม จำนวน 200,000 บาทต่อคนต่อปี รวมเป็นเงินทั้งสิ้นเกือบหมื่นล้านบาทต่อปี
“สถิติที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่องแบบนี้ เรียกว่าวิกฤติ เราจะต้องล้างไตทางช่องท้อง ฟอกเลือดอย่างนี้อยู่เรื่อย ๆ เราจึงไม่ต้องการเน้นรักษาเพียงอย่างเดียว หากเรามุ่งแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ เหมือนการเติมน้ำใส่ตุ่มที่รั่ว แล้วเมื่อไร น้ำจะเต็ม เป้าหมายของเราที่ตั้งใจไว้ คือ ต้องชะลอการเสื่อมของไต ทำอย่างไรเขาถึงจะรู้ตัวว่าเขาเป็นโรคไต ถ้าเขาเป็นจะทำอย่างไรไม่ให้ไตเสื่อมหรือเป็นมากขึ้นจนหมดทางรักษาหรือทางที่ดีที่สุด คือ ทำอย่างไรไม่ให้เป็นโรคไต”
ไตเรื้อรัง คือ อะไร
โรคไตเรื้อรัง หมายถึงโรคที่เกิดจากการที่ไตถูกทำลายช้า ๆ อย่างต่อเนื่อง ใช้ระยะเวลานานเป็นเดือนหรือเป็นปี แต่เป็นการทำลายอย่างถาวรไม่สามารถฟื้นกลับมาทำงานได้ตามปกติ ซึ่งโรคที่พบบ่อยในการทำลายไตจนเป็นไตเรื้อรัง ได้แก่ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไตอักเสบชนิดต่าง ๆ เมื่อเนื้อไตถูกทำลาย การทำงานก็เสื่อมหน้าที่ลงทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ ตามมาได้ เช่น ความดันโลหิตสูง, ซีด อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย, เบื่ออาหาร ผอมลง, ซึม สับสน จนบางครั้งเกิดอาการชักและกระดูกเปราะบาง
นอกจากนี้โรคไตเรื้อรังยังทำให้เกิดโรคหัวใจและโรคหลอดเลือดแข็งตามอวัยวะต่าง ๆได้ง่ายและเร็วขึ้นอีกด้วย เหตุการณ์ต่างๆเหล่านี้เกิดขึ้นทีละเล็ก ทีละน้อยทำให้ผู้เป็นโรคไตไม่ทันสังเกตอาการจนกระทั่งหน้าที่ไตเสื่อมไปมากแล้ว อาการรุนแรงจึงปรากฏให้เห็นชัดเจนเมื่อผู้ป่วยไปพบแพทย์ก็เป็นโรคไตเรื้อรังใกล้ระยะสุดท้ายแล้ว ต้องใช้วิธีทำไตเทียมหรือปลูกถ่ายไตเพื่อต่อชีวิตผู้ป่วย
อาการเตือนที่ทำให้รู้ว่าเป็นโรคไตเรื้อรังแล้ว คือ
- อ่อนเพลีย ไม่มีแรง ไม่กระฉับกระเฉง ไม่สดชื่น
- สมาธิในการทำงานลดลง
- เบื่ออาหาร
- นอนหลับยาก หรือ หลับไม่สนิท
- ลักษณะปัสสาวะผิดปกติทั้งสี และความขุ่น
- ใบหน้าหนังตาบวม หรือ ขาบวม
- ผิวหนังแห้ง คัน มีรอยถลอกจากการเกา
- ปัสสาวะมากในเวลากลางคืน
ไตเรื้อรังเกิดได้กับทุกเพศ ทุกวัย โดยผู้ที่มีโอกาสเสี่ยงในการเป็น ได้แก่
- ผู้เป็นเบาหวาน
- ผู้ที่มีความดันโลหิตสูง
- ผู้ที่มีประวัติสมาชิกในครอบครัวเป็นโรคไต
- อายุมากกว่า 60 ปี
- มีน้ำหนักแรกคลอดน้อยกว่าปกติ
- เป็นโรคอื่น ๆ ที่สามารถเกิดพยาธิสภาพในไต เช่น โรค เอส แอล อี โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง หรือโรคหลอดเลือดอื่น ๆ
สำหรับการรักษาโรคไตเรื้อรัง ขึ้นอยู่กับระยะของโรคที่เป็น และโรคร่วมที่มีอยู่ ซึ่งการดูแลรักษา ประกอบด้วย
- รักษาโรคดั้งเดิม หรือ โรคร่วมที่เป็นอยู่ เพราะเป็นสาเหตุของการเกิดโรค
- การดูแลหัวใจ เนื่องจากผู้เป็นโรคไตเรื้อรังมีโอกาสเป็นโรคหัวใจสูงกว่าผู้ไม่เป็นโรคไตหลายเท่า
- การรักษาภาวะซีด เนื่องจากขาดฮอร์โมน อิริโทรโพอิติน และ/หรือ ธาตุเหล็ก
- การรักษาระดับไขมันในเลือด ทั้งคอเลสเตอรอล และไตรกลีเซอร์ไรด์ โดยปรับพฤติกรรมการกินอาหาร การออกกำลังกาย และการใช้ยาลดระดับไขมันในเลือด เพื่อป้องกันหลอดเลือดแข็งตัว จนเกิดภาวะแทรกซ้อนของระบบหัวใจ หลอดเลือดหัวใจ หลอดเลือดสมอง ตามมาภายหลังได้
- การรักษาควบคุมระดับฟอสฟอรัสในอาหารซึ่งเนื้อสัตว์ กาแฟ โกโก้ ขนมปัง ถั่วต่าง ๆ ตลอดจนพืชผักบางประเภท มีฟอสฟอรัส เป็นส่วนประกอบมาก ดังนั้นถ้าไตเสื่อมหน้าที่ การกำจัดฟอสฟอรัสจะลดลง ทำให้ฟอสฟอรัสในเลือดสูง กระทบต่อระดับแคลเซียม และ พาราไทรอยด์ ฮอร์โมนในเลือด จนเกิดอันตรายต่อกระดูกและการตกตะกอนของหินปูน ซึ่งจะเกาะที่หลอดเลือดหัวใจได้
สร้างความตระหนักลดปัจจัยเสี่ยงการเกิดโรคไต
ศ.เกียรติคุณ พญ.ธัญญารัตน์ กล่าวว่า เราไม่ควรแก้ปัญหาที่ปลายเหตุเพียงอย่างเดียว ต้องตัดไฟแต่ต้นลมหรือแก้ปัญหาที่ต้นเหตุด้วย เหตุนี้เองทำให้ โรงพยาบาลสถาบันโรคไตภูมิราชนครินทร์ มีกิจกรรมสร้างความตระหนักในปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรคไตกับประชาชนทุก 3 เดือน ผ่านกิจกรรมต่าง ๆ เช่น การบรรยายโดยวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ การทำสื่อความรู้ แผ่นพับ หนังสือ วีดีทัศน์ เพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับโรตไต สาเหตุของโรค การป้องกัน ตลอดจนการรักษาเพื่อชะลอการเสื่อมของไตให้ไตอยู่กับผู้ป่วยนาน ๆ พร้อมกันนั้นแพทย์ของรพ. ก็ได้ออกรายการทีวี เพื่อให้ความรู้กับประชาชน รวมถึงเปิดช่องทางสอบถามเกี่ยวกับโรคไตผ่านเว็บไซต์ ของโรงพยาบาลฯ www.brkidney.org เป็นต้น
ล่าสุดจะมีการประชุมวิชาการ เรื่อง “ ปัสสาวะบ่อย กระเพาะปัสสาวะอักเสบ ต่อมลูกหมากโต : วิธีดูแลรักษา”
ในวันที่ 17 ธ.ค. 2560 ที่โรงพยาบาลสถาบันโรคไตภูมิราชนครินทร์ เพื่อให้ความรู้แก่ประชาชนทั่วไป เพราะโรคดังกล่าวก็เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคไตได้บ่อย เช่นกัน ขณะที่ทีมแพทย์และพยาบาลเอง ก็มีการจัดประชุมสำหรับแพทย์และพยาบาลไตเทียมเป็นประจำทุกเดือนเพื่อปรับปรุงแผนการรักษาให้มีประสิทธิภาพ มีการจัดวิทยากรจากโรงเรียนแพทย์ มาบรรยายทางวิชาการสำหรับแพทย์ พยาบาล เภสัชกร นักกำหนดอาหารและบุคลากรทางการแพทย์ของรพ.ให้มีความรู้ทันสมัยตลอดเวลา นอกจากนี้ แพทย์ประจำของรพ.ยังมีโอกาสฝึกฝนการเป็นวิทยากรในการประชุมนอกโรงพยาบาล ของสมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย และที่อื่น ๆ อีกด้วย และมีการจัดประชุมวิชาการระหว่างสมาคมพยาบาลโรคไต และโรงพยาบาลสถาบันโรคไตภูมิราชนครินทร์ สำหรับพยาบาลไตเทียมและพยาบาลวิชาชีพทั่วประเทศปีละ 1 ครั้ง เป็นต้น มีการส่งแพทย์ไปแลกเปลี่ยนความรู้กับแพทย์ในต่างประเทศ และมีการทำวิจัยเพื่อศึกษาเรื่องใหม่ ๆ ตลอดเวลาในการนำองค์ความรู้ที่ได้มาช่วยพัฒนาการรักษาต่อไป
“ ต้องยอมรับว่าประชาชนยังมีความเข้าใจเรื่องไตน้อยอยู่ ไม่รู้ว่าปัจจัยเสี่ยงมีอะไรบ้าง เช่น การกินยา หรือ พืช ผัก
บางประเภท พิษจากแมลงสัตว์กัดต่อย อย่างผึ้ง หรือ ตัวต่อบางชนิด หรือแม้แต่ผลไม้อย่างมะเฟือง ตะลิงปลิง
หากรับประทานติดต่อกันจำนวนมากเป็นเวลานาน ก็เป็นสาเหตุทำให้เป็นโรคไตได้ และเมื่อเป็นแล้ว
มาพบแพทย์ทันเวลาโอกาสหายจะสูง แต่ถ้ามาช้าอาจจะกลายเป็นไตเรื้อรัง ไตไม่สามารถกลับมาทำงานได้ดีเช่นเดิมอีกดังนั้น ระยะเวลาที่เกิดอาการ การรู้จักสารพิษต่อไต ความช่างสังเกตความผิดปกติของปัสสาวะ”
สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่โทร 02-765-3000
หรือ www.brkidney.org
และ www.facebook.com/Bhumirajnakarin
การตรวจสุขภาพไต จะทำให้ลดการเป็นโรคไตได้มากทีเดียว”