เกมใหม่ “Facebook” จู่ ๆ ก็ออกยอมรับว่า “โซเชียล” ทำลายสุขภาพผู้ใช้ หวังปั้นภาพลักษณ์ “ทำดี” ดันธุรกิจโฆษณามูลค่ามหาศาลให้เดินหน้าต่อแบบไม่ต้องมีดราม่า

กลายเป็นเรื่องที่หลายคนบอกว่าน่าแปลกใจ เมื่อเฟซบุ๊ก (Facebook) ออกแถลงการณ์แบบมีนัยยอมรับว่า การใช้งานเครือข่ายสังคมอาจทำให้ผู้ใช้บางกลุ่ม “รู้สึกแย่” ทั้งแง่สุขภาพกาย และสุขภาพใจ โดยล่าสุด Facebook ลงมือเปิดงานวิจัยเพื่อบอกโลกว่า ทุกคนควรใช้เครือข่ายสังคมอย่างไรให้เกิดผลดีที่สุด 

ทั้งหมดนี้ส่งให้สื่ออเมริกันวิจารณ์ว่า แถลงการณ์นี้คือ การ “encapsulation” หรือการรวมจุดประสงค์หลายอย่างไว้ในแคปซูลเม็ดเดียวให้ผู้ใช้รับไป โดยที่ Facebook สามารถสร้างภาพลักษณ์ “ทำดี” ร่วมกับการทำธุรกิจโฆษณาที่มีมูลค่ามหาศาลต่อไปได้อย่างชอบธรรม

สื่อที่วิจารณ์ Facebook เช่นนี้ คือ รีโค้ด (Recode) ซึ่งวิเคราะห์กรณีเหตุผลที่ทำให้ Facebook ยอมรับว่า การใช้งานเครือข่ายสังคมอาจส่งผลเสียต่อสุขภาพผู้ใช้ว่า เป็นเพราะ Facebook กำลังพยายามเดินคาบเส้นระหว่างการทำความดีให้สังคม โดยที่ยังสร้างธุรกิจโฆษณาให้ยิ่งใหญ่ได้ต่อไป

ทำไมถึงยอมรับ?

สำนักข่าวอเมริกันมองว่า แม้จะรู้ว่าเครือข่ายสังคมเป็นดาบสองคม แต่ Facebook ไม่อาจทิ้งธุรกิจนี้ไปได้ เพราะ Facebook สามารถสร้างธุรกิจหลายพันล้านเหรียญสหรัฐ บนฐานะเครือข่ายสังคมรายใหญ่ที่สุด ซึ่งฐานะนี้เองที่ทำให้การยอมรับว่า “เครือข่ายสังคมอาจทำลายสุขภาพ” ครั้งนี้สร้างความประหลาดใจให้ชาวโลก

แต่ทั้งหมดทั้งมวล Facebook พยายามอ้างว่า ความรู้สึกแย่ของผู้ใช้จะมาจากการ “อ่านอย่างเดียว ไม่ตอบโต้กับผู้คน” เท่านั้น โดยอ้างผลจากงานวิจัยของตัวเองว่า การมีส่วนร่วมกับเนื้อหาบนโซเชียลทั้งการเขียนหรือส่งต่อข้อความ โพสต์ และความเห็นกับเพื่อนฝูงเกี่ยวกับเรื่องราวในอดีตนั้น ทำให้ผู้ใช้ส่วนใหญ่มีความรู้สึกที่ดีขึ้น

สรุป คือ Facebook พยายามย้ำว่า การเลื่อนฟีดข่าวเพื่อดูข้อมูลไปเรื่อย ๆ (อย่างไม่เจตนา) เป็นเรื่องไม่ดี แต่การเลื่อนดูฟีดข่าว และการคลิกไลก์ รวมถึงการออกความคิดเห็น ล้วนเป็น “สิ่งที่ดี”

บทสรุปที่ Facebook มอบให้โลกในแถลงการณ์นี้ฟังแล้วไม่น่าแปลกใจ เนื่องจากที่ผ่านมา นักวิจัยหลายคนพยายามจุดประกายให้ชาวโลกรู้ตัวเรื่องการใช้งานโซเชียลมีเดียอย่างผิดวิธี อาจทำให้ผู้ใช้รู้สึกไม่ดีทั้งอารมณ์อิจฉา หรืออารมณ์ซึมเศร้า ที่อาจเพิ่มขึ้น ตรงนี้สื่ออเมริกันวิจารณ์ว่า ทางออกที่ Facebook เสนอมานั้น ไม่ได้แหวกแนว เพราะเป็นทางออกที่แก้ปัญหาสื่อโซเชียลด้วยการบอกให้ผู้ใช้ใช้งานระบบอย่างมีความ “โซเชียล” ยิ่งกว่าเดิม

แต่สิ่งที่แหวกแนว คือ อยู่ดี ๆ Facebook ก็ยอมรับโดยดี แถมยังให้น้ำหนักเรื่องความกังวลด้านสุขภาพ และสุขภาพจิต ที่เกี่ยวกับการใช้งาน Facebook โดยตรง

สิ่งที่ Facebook ทำในขณะนี้ คือ การโพสต์เรื่อง “Hard Questions” หรือคำถามประเด็นร้อนที่ Facebook เริ่มโพสต์เป็นบทความซีรีส์ต่อเนื่อง เพื่อจุดกระแสให้ชาว Facebook ร่วมออกความเห็นกรณีปัญหาใหญ่ระดับโลก เช่น เรื่องก่อการร้ายออนไลน์ หรือ hate speech ข้อความที่ก่อให้เกิดความเกลียดชัง

โพสต์ล่าสุดในซีรีส์นี้ ซึ่งเผยแพร่เมื่อสุดสัปดาห์นี้จึงถูกมองว่าเป็นการ “หยิบทุกอย่างมาใส่แคปซูลเม็ด” ที่สมบูรณ์แบบในปีนี้ของ Facebook เพราะสามารถสานต่อเส้นภารกิจทำความดีเพื่อสังคมเข้ากับเรื่องปากท้องอย่างการสร้างธุรกิจโฆษณาออนไลน์ให้ยืนหยัดอยู่ได้ต่อไปแบบไม่ดราม่า (หรือดราม่าน้อยลง)

เหรียญสองด้าน ดาบสองคมท้ายที่สุดแล้ว การที่ Facebook เป็นผลิตภัณฑ์ดาบสองคม จิตสำนึก และความรับผิดชอบ ทำให้งานใหญ่ตกอยู่ที่ Mark Zuckerberg ผู้ที่โลกให้การยอมรับในระดับสากล

Mark Zuckerberg

สื่ออเมริกันวิเคราะห์ว่า ในด้านหนึ่ง Facebook รู้สึกกดดันมากขึ้นกว่าที่เคย ทำให้ต้องแสดงความโปร่งใสเกี่ยวกับธุรกิจ และรับผิดชอบต่อการให้บริการของตัวเอง ส่วนหนึ่งเป็นเพราะวิกฤติข่าวลือรัสเซีย และข่าวลวงที่เชื่อกันว่ามีผลในการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ครั้งล่าสุด ซึ่งทั้งหมดนี้ Facebook ถูกมองว่ากำลังตกเป็นเครื่องมือสำหรับนักโฆษณาชวนเชื่อชาวรัสเซีย ที่พยายามเอาชนะการเลือกตั้ง วิกฤตเหล่านี้ทำให้หลายฝ่ายตระหนักถึงผลกระทบของ Facebook ต่อโลกมากขึ้น จุดนี้ทำให้ Facebook พยายามสุดขีดที่จะบอกให้ทุกคนรู้ว่า Facebook ทราบแล้วถึงผลกระทบของ Facebook ต่อโลกใบนี้

ความจริงด้านนี้อธิบายได้ชัดเจนจากโพสต์ของมาร์ก ซัคเกอร์เบิร์ก (Mark Zuckerberg) ซีอีโอผู้ก่อตั้ง Facebook ที่พยายามเขียนบรรยายบทบาท และพันธกิจของ Facebook ในการช่วยเหลือสังคมมาตลอด

แต่อีกด้านหนึ่ง Facebook ยังคงเป็นธุรกิจที่มีผู้ถือหุ้น และมีความคาดหวังสูงในเรื่องรายได้ผลกำไร การบอกทุกคนว่า “การใช้สื่อโซเชียลจะทำให้คนรู้สึกไม่ดี” อาจเป็นบ่อนทำลายธุรกิจที่น่ากลัว นี่จึงเป็นเหตุผลที่ Facebook ออกมายอมรับ พร้อมกับผลักดันให้โลกแก้ปัญหาด้วยการใช้ Facebook ในทางที่ถูกกันเถอะ 

และอย่าลืมใช้ให้มากขึ้นด้วยนะจ๊ะ.

ที่มา : mgronline.com/cyberbiz/detail/9600000126685