นับเป็นความพยายามของบริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ยักษ์เครื่องดื่มจากไทยในการประมูลชนะ “ไซ่ง่อนเบียร์ แอลกอฮอล์ เบฟเวอเรจ คอร์ป” หรือ ซาเบคโค (Saigon Beer Alcohol Beverage Corp : Sabeco) บริษัทเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่เป็นของรัฐวิสาหกิจของรัฐบาลเวียดนาม ด้วยการทุ่มเม็ดเงิน 4.84 พันล้านดอลลาร์ หรือกว่า 1.52 แสนล้านบาท เข้าช้อนซื้อหุ้น 54% ในบริษัทดังกล่าว
การเข้าซื้อกิจการดังกล่าว ดำเนินการผ่านบริษัทในเครือของไทยเบฟที่ชื่อ “เวียดนาม เบฟเวอเรจ โคลิมิตเต็ด” (Vietnam Beverage Co Ltd) ซึ่งจัดเป็น “บริษัทสัญชาติเวียดนาม” และไม่ได้เผชิญการแข่งขันมากนัก มีเพียงนักลงทุนที่ไม่เปิดเผยชื่อของเวียดนามอีกรายเท่านั้น เนื่องจากข้อจำกัดการอนุญาตให้ “ต่างชาติถือหุ้นสูงสุดได้ 49%” บริษัทเบียร์รายใหญ่ของโลกจึงไม่เข้าร่วมประมูล เพราะในบริษัทซาเบคโคยังมีต่างชาติถือหุ้นอยู่แล้ว 10% รวมถึงไฮเนเก้น 5%
การชนะประมูลของไทยเบฟในซาเบคโค จะทำให้ได้ถือครองแบรนด์เบียร์ในมือ ดังนี้
- ไซ่ง่อนเบียร์ และ 333 เบียร์ โดยมีส่วนแบ่งตลาดเบียร์รวมกันกว่า 46% เป็นเบอร์ 1 ในตลาด
- ในปี 2557 ซาเบคโคมียอดขายกว่า 47,000 ล้านบาท
ความน่าสนใจของตลาดเบียร์ในเวียดนาม ต้องยอมรับว่าเริ่มจาก “ตลาดมีขนาดใหญ่” จากจำนวนประชากรกว่า 90 ล้านคน เทียบกับไทยกว่า 60 ล้านคน ทำให้การ “บริโภคเบียร์” มีมากกว่า และข้อมูลจากยูโรมอนิเตอร์ เคยระบุปี 2558 ตลาดเบียร์ในเวียดนามจะมีมูลค่าในเชิงปริมาณเกือบ 4,000 ล้านลิตร ซึ่งสูงกว่าไทยที่อยู่ระดับ 2,000 ล้านลิตร มูลค่ากว่า 1.8 แสนล้านบาท โดยซาเบคโคคือผู้นำตลาด ตามด้วยไฮนเก้น และฮาเบโค
ที่ผ่านมา ตลาดเบียร์เวียดนามไม่ได้มีแค่ “ผู้เล่นท้องถิ่น” แต่ยังมีซัปโปโร จากญี่ปุ่น, แอนเฮาเซอร์บุชอินเบฟ จากเบลเยียม ซึ่งทำตลาดเบียร์ยี่ห้อบัดไวเซอร์และเบคส์ รวมถึงบริษัท คาร์ลสเบิร์ก เบียร์เบอร์ 4 ของโลก จากเดนมาร์ก ที่เป็นพันธมิตรกับฮานอย เบียร์ แอลกอฮอล์ เบฟเวอเรจ คอร์ป หรือ ฮาเบโก ซึ่งได้บรรลุข้อตกลงในการซื้อหุ้นเพิ่มเรียบร้อยแล้ว
++ซาเบคโค สปริงบอร์ดใหม่เจาะตลาดเบียร์เวียดนาม
วิชั่น 2020 ไทยเบฟตั้งเป้าจะมียอดขายเครื่องดื่มจากตลาดต่างประเทศ 50% จากปัจจุบันมีสัดส่วนมากกว่า 20%
ในปี 2560 ความพยายามในการเข้าไปเจาะตลาดเครื่องดื่มที่ประเทศเวียดนาม เห็นชัดเจนขึ้นเมื่อมีการเข้าไปตั้งบริษัทลูก “IBHL Vietnam” และเดินเรื่องขออนุญาตจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในประเทศ ซึ่งตามแผนคาดว่าจะได้รับใบอนุญาตปลายปีนี้ สินค้าที่จะนำเข้าไปมีตั้งแต่จับตลาดแมสไปจนถึงระดับบน โดยเฉพาะยี่ห้อ “รวงขาวซิลเวอร์” ที่เพิ่งปลุกปั้นมาใหม่ให้พรีเมี่ยมขึ้น และยังมีสก๊อตช์วิสกี้จากอินเวอร์เฮ้าส์ด้วย
ดังนั้น การได้ซาเบคโคมา ทำให้ “พอร์ตโฟลิโอ” ของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ครบ เพราะมีทั้งสุราขาว สุราสี เหล้านอก (จากอินเวอร์เฮ้าส์) และเบียร์
นอกจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ก่อนหน้านี้ไทยเบฟยังได้ถือหุ้นเพิ่มใน Vinamilk เวียดนาม ซึ่งเป็นยักษ์ใหญ่ผลิตภัณฑ์นมในอาเซียน
ทำให้เห็นว่าการทำตลาดไม่ได้มีแค่เหล้าเบียร์ แต่ยกไปทั้งพอร์ตโฟลิโอ
++อาณาจักรเจ้าสัวเจริญในเวียดนาม
การเข้าซื้อซาเบคโคของไทยเบฟ เป็นเหนึ่ง “จิ๊กซอว์” ในการขยายอาณาจักรไทยเจริญคอร์ปอรชั่น หรือ ทีซีซี กรุ๊ป เพราะหากดูหมากรบธุรกิจ เรียกว่ายกโมเดลในไทยไปไว้ที่เวียดนาม ครบวงจรตั้งแต่ “ต้นน้ำ-กลางน้ำ-ปลายน้ำ” ดังนี้
ต้นน้ำ
มีเบอร์ลี่ยุคเกอร์ หรือ บีเจซี ที่ปูพรมสร้างโรงงานผลิตกระป๋องอะลูมิเนียม (Can) ใหญ่ระดับอาเซียน โรงงานผลิตขวดแก้ว โรงงานผลิตปลากระป๋อง ผลิตเต้าหู้
กลางน้ำ
ธุรกิจจัดจำหน่ายและกระจายสินค้ารายใหญ่ มีทั้งไทอัน กรุ๊ป, ไทคอร์ปอินเตอร์เนชั่นแนล และภูไท กรุ๊ป ที่ส่งสินค้าครอบคลุมตลาดเวียดนามตั้งแต่เหนือ กลาง จรดใต้ ซึ่งโดยทั่วไปการส่งสินค้าจะมีเพียงรายใดรายหนึ่งที่เป็นเจ้าถิ่นในพื้นที่ ขณะที่การซื้อกิจการ ไทอัน ไทคอร์ฟ ภูไท ทำให้บีเจซีแกร่งทุกพื้นที่
ปลายน้ำ
- มีร้านสะดวกซื้อบีสมาร์ท
- มีไฮเปอร์มาร์เก็ตประเภทค้าส่งและชำระเงินสด (แคชแอนด์แครี่) เอ็มเอ็ม เมก้า มาร์เก็ต
ทั้งหมดจะ “ซีนเนอร์ยี” ธุรกิจให้กับองค์กรได้อย่างดี และภาพของ “ทีซีซี กรุ๊ป” ในเวียดนาม หลังได้เบียร์เบอร์ 1 ท้องถิ่นมาครอง จะทำให้พอร์ตบริษัทมีครบทั้งโรงงานผลิตสินค้า มีอาหารและเครื่องดื่มทำตลาด (เตาหู้ ปลากระป๋อง) รวมถึงสินค้าจากบีเจซีอื่น ๆ เช่น ขนมขบเคี้ยว สบู่ นม ไปจำหน่าย มีการกระจายสินค้าของตัวเอง และหน้าร้านตัวเอง
เรียกว่าใหญ่ครบเครื่อง.
ที่มา : mgronline.com/around/detail/9600000127297