ต้องถือเป็นอุปสรรคใหญ่หลวงสำหรับ อูเบอร์ (Uber) ซึ่งวางจุดยืนของธุรกิจมาตลอดว่าเป็น แอปพลิเคชั่นสำหรับเรียกรถ เมื่อผลคำตัดสินของศาลสหภาพยุโรป ที่ระบุว่า อูเบอร์ นั้น เป็นบริษัทผู้ให้บริการแท็กซี่ ขนส่งไม่ใช่บริษัทเทคโนโลยีตามที่อูเบอร์กล่าวอ้าง
ศาลยุติธรรมแห่งสหภาพยุโรป หรือ ECJ (The European Court of Justice) ตัดสินว่า ผู้ให้บริการแท็กซีอูเบอร์ (Uber) หรือ ผู้บริการแอปพลิเคชั่นร่วมเดินทางจากสหรัฐอเมริการายนี้ป็นผู้ให้บริการแท็กซีเหมือนบริษัทแท็กซีอื่น ๆ ทั่วไป ไม่ได้เป็นบริษัทให้บริการด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล เหมือนที่ทางอูเบอร์พยายามชี้แจง
ถือเป็นคำตัดสินที่สร้างความกระจ่างให้กับทุกฝ่ายหลังจากรอความชัดเจนมานาน และคาดการณ์ว่า ทุกประเทศในกลุ่มสหภาพยุโรป จะนำไปปรับใช้กันทั้งหมดด้วย
ECJ กล่าวว่า บริการของอูเบอร์นั้น เป็นการเชื่อมต่อบุคคลทั่วไปให้ได้พบกับผู้ขับรถที่ไม่ได้ผ่านการรับรองอย่างที่ควรจะเป็น
นอกจากนี้ การตัดสินว่า อูเบอร์เป็นบริษัทขนส่งยังทำให้ข้ออ้างที่บริษัทใช้ตลอดมาว่าตนเองนั้น เป็นบริษัทเทคโนโลยีใช้ไม่ได้อีกต่อไป ซึ่งจะมีผลทำให้หน่วยงานด้านกฎหมายของแต่ละประเทศสามารถเข้าไปจัดระเบียบและควบคุมอูเบอร์ได้แล้วนับแต่นี้เป็นต้นไปด้วย
ที่ผ่านมา รัฐบาลของหลายประเทศในสหภาพยุโรปต่างเห็นพ้องกันว่า อูเบอร์นั้นเป็นบริษัทแท็กซี่ และจะต้องปฏิบัติตามกฎหมายด้านคมนาคมของสหภาพยุโรป ไม่ใช่นิยามตัวเองว่าเป็นบริษัทเทคโนโลยีแล้วหลุดรอดมาโดยตลอด แต่คำตัดสินของ ECJ คือตัวที่ทำให้สถานการณ์มีความชัดเจนมากที่สุด
เท่ากับว่า อนาคตของอูเบอร์ต่อจากนี้ไปจะเผชิญหน้ากับความยากลำบากแล้ว เพราะจะมีชาติต่าง ๆ ในสหภาพยุโรปถึง 28 ชาติรอที่จะจัดระเบียบอูเบอร์ให้เข้ากับกฎหมายจราจรของประเทศตัวเอง ซึ่งอาจหมายถึงการมีกฎหมายต่าง ๆ ออกมาควบคุม และการที่คนขับต้องมีไลเซนส์ในการขับรถเป็นการเฉพาะ
รวมไปถึงต้องมีการจ่ายค่าใบอนุญาตการให้บริการแท็กซีที่มีราคาแพงเหมือนแท็กซีอื่น ๆ ทั่วไป รวมไปถึงจ่ายภาษีและค่าธรรมเนียมตามแบบการให้บริการรถแท็กซี ซึ่งเดิมอูเบอร์ทำตามกฎหมายควบคุมผู้ให้บริการเทคโนโลยีดิจิทัลทำให้สามารถเสนอการให้บริการที่ต่ำกว่ารถแท็กซี่ตามปกติทั่วไป
ทาง CNBC ได้มีการเปรียบเทียบเอาไว้ว่า ทุกวันนี้ หากธุรกิจใดจะนิยามตัวเองเป็นร้านค้าออนไลน์ ก็ต้องมีเว็บไซต์ หรือแอปพลิเคชั่นเพื่อเป็นหน้าร้าน และมีการจัดส่งสิ่งของให้กับลูกค้า ขณะที่ในเคสของอูเบอร์ บริษัทก็มีการจัดหาคนขับรถให้ตามที่ลูกค้าร้องขอเช่นกัน จึงควรจะจัดอูเบอร์เป็นบริษัทแท็กซี่ได้ แม้อูเบอร์จะไม่มีการว่าจ้างคนขับเหล่านั้นเป็นพนักงานเลยสักคนก็ตาม
มีการคาดการณ์ว่า อาจมีการขยายผลไปสู่รูปแบบธุรกิจอื่น ๆ ที่มีลักษณะการแชร์ให้บริการที่คล้ายกันในอนาคต เช่น Airbnb ซึ่งเป็นบริษัทตัวกลางที่อนุญาตให้เจ้าของที่พักสามารถเปิดให้บ้านพักตัวเองถูกแขกแปลกหน้าเช่าเพื่อสร้างรายได้ในระหว่างที่เจ้าของบ้านเดินทางไปต่างประเทศ หรือเมืองอื่น
สำหรับในประเทศไทย อูเบอร์ ต้องเผชิญกับความท้าทายรอบด้าน อูเบอร์เองก็ยังไม่ถูกกฎหมายเนื่องจากการขนส่งระบุว่ารถให้บริการแท็กซี่ได้จะต้องจดทะเบียนเป็นรถรับจ้างสาธารณะทั้งคนขับก็ต้องได้ใบอนุญาตขับขี่สาธารณะและอัตราค่าโดยสารก็ต้องเป็นไปตามกฎหมายกำหนด ในขณะที่อูเบอร์ให้บริการโดยรถบ้านหรือรถป้ายดำกำหนดค่าโดยสาร ทำให้อูเบอร์ท้งโดนล่อจับและแรงต้านจากแท็กซี่เพราะมองว่าถูกเอาเปรียบ
ล่าสุด อูเบอร์ ต้องลดแรงกดดัน หันไปจับมือกับ บริษัท โฮวา อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด เจ้าของสหกรณ์ แท็กซี่สุวรรณ เปิด uberTaxi แต่ก็ยังเจอกรณีเรื่องราคาค่าโดยสารคิดแพงกว่าแท็กซี่มิเตอร์ทั่วไป เพราะอูเบอร์กำหนดราคาเอง
ดังนั้นเมื่อศาลสูงสหภาพยุโรปตัดสินออกมาแบบนี้แล้วจะเป็นบรรทัดฐานให้กับประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคเอเชียอย่างไทยด้วยหรือไม่ ก็ต้องรอดูว่าหน่วยงานรัฐของไทยจะเดินหน้าเรื่องนี้ต่ออย่างไร.