วิบากกรรมทีวีดิจิทัลยังถาโถม ขายหุ้นทิ้ง-ปรับคอนเทนต์-ลดคน

วิกฤติทีวีรับ ปี60 วิถีผู้คนเปลี่ยเสพคอนเทนต์เล่นอินเทอร์เน็ต 8ชมต่อวัน เบียดเวลาดูทีวีเหลือแค่2.26ชม.ต่อวัน กระทบอุตสาหกรรมทีวีเรตติ้งหาย รายได้หด ดิ้นหนีตายขายเทหุ้นหาผู้ร่วมทุนผยุงรายได้ “ช้าง-ปราสาททองโอสถ” ใจปล้ำฮุบซื้อหุ้น2ช่องดังของแกรมมี่ ตามคาด! ช่องข่าวไปไม่รอด เนชั่นประกาศขายช่องNOW ทิ้งทวนปีไก่ หลังพบท็อปเท็นช่องข่าวไม่ติดโผเรตติ้งรายการข่าว

ตลอดช่วง ปี 2560 ที่ผ่านมา อุตสาหกรรมทีวียังอยู่ในขั้นวิกฤติ ไม่ว่าจะเป็นกระแสออนไลน์เบียดพฤติกรรมการดูทีวีน้อยลง หรือตลาดรวมโฆษณาชะลอแผนใช้เงิน ส่งผลให้โฆษณาในสื่อทีวีทำได้เพียง 49,600 ล้านบาท ต่ำกว่าปี2559 ที่สูงถึง 54,036 ล้านบาท ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้หลายช่องต้องมีแผนปรับตัวรับมือ ทั้งผังรายการ นำเสนอคอนเทนทต์ใหม่ ปรับลดพนักงาน หรือขายหุ้นหาผู้ร่วมทุน

นายภวัต เรืองเดชวรชัย ผู้อำนวยการธุรกิจ-สายงานการวางแผน และกลยุทธ์สื่อโฆษณา บริษัท มีเดีย อินเทลลิเจนซ์ จํากัด เปิดเผยว่า จากตัวเลขเน็ลสัน คอมปะนี 11 เดือน2560ที่ผ่านมา อุตสาหกรรมโฆษณาทำได้ 92,673 ล้านบาท ติดลบ 5.7% แต่ในมุมมองของเอเจนซี่ เชื่อว่าในสภาพความเป็นจริง ตัวเลขจริงน่าจะอยู่ที่ 78,755 ล้านบาท ติดลบ 13.9% 

เนื่องจากแต่ละสื่อมีการปรับลดเสริมโปรโมชั่นต่างๆดึงดูด เฉลี่ยลดราคาลงมาร่วม 55% ในสื่อทีวีดิจิทัล เป็นต้น อีกทั้งยังมีเหตุการณ์พิเศษเกิดขึ้นในเดือน ต.ค. ส่งผลให้ทั้งปีนี้ อุตสาหกรรมโฆษณาน่าจะปิดที่ 85,755 ล้านบาท ติดลบ 14.5% ต่ำสุดในรอบ 10 ปี

***คนไทยดูทีวีน้อยลง เหลือเพียง 2.26 ชม./วัน

พฤติกรรมคนไทยเปลี่ยนมาอยู่บนโลกออลนไลน์มากขึ้นนั้น สอดคล้องกับผลสำรวจของทาง GlobalWebIndex เกี่ยวกับการใช้เวลากับช่องทางมีเดียในช่วงต้นปี2560 ของผู้บริโภคชาวไทย พบว่า แต่ละวัน การใช้งานอินเทอร์เน็ตผ่านจอพีซีหรือแทปเล็ตเฉลี่ยสูงสุดถึง 8 ชั่วโมง 49 นาที/วัน หรือคิดเป็น 1ใน3ของหนึ่งวัน 

อันดับ2 คือ การใช้งานอินเทอร์เน็ตผ่านโมบายโฟน กว่า 4 ชั่วโมง 14 นาที/วัน 3.การเล่นโซเชียลมีเดียผ่านดีไวซ์ต่างๆ 2 ชั่วโมง 48 นาที/วัน และที่น้อยสุด คือ การดูคอนเทนต์รายการต่างๆบนจอโทรทัศน์ เหลือเพียง 2 ชั่วโมง 26 นาที/วัน

พฤติกรรมที่เกิดขึ้นส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมทีวีดิจิทัลเป็นอย่างมาก เรตติ้งที่เคยทำได้สูงระดับ 10 ปัจจุบันจึงไม่มีช่องใดหรือรายการใดสามารถทำได้ถึงอีกแล้ว เพราะคนดูถูกแชร์เวลาไปกับโลกออนไลน์แทน บวกกับจำนวนช่องทีวีดิจิทัลลที่มีกว่า 20 ช่องเองนั้นต่างก็แย่งผู้ชมกันไปมา ส่งผลกระทบต่อการหารายได้เข้าสถานี เอเจนซี่และโฆษณาลดน้อยลง เพราะปัจจุบันเรตติ้งไม่สามารถการันตรีการเข้าถึงและยอดขายได้เท่ากับการลงโฆษณาในสื่อออนไลน์ในราคาที่ถูกกว่าเป็น 10 เท่าตัว

*** ”เจ้าสัวเจริญ” รุกคืบธุรกิจสื่อทีวี

ตลอดช่วงปี 2560 นี้ ที่ผ่านมา แต่ละช่องจึงมีการปรับแผนกลยุทธ์ทั้งทางตรงทางอ้อม ไม่เว้นแม้แต่การหาผู้ร่วมทุนเข้ามาโอบอุ้มให้พ้นสภาวะขาดทุนนี้ไปให้ได้ ยิ่งเป็นช่องเล็กเกิดใหม่ยิ่งอยู่ในขั้นวิกฤติมากกว่าช่องเก๋าเจ้าตลาด โดยวันที่ 24 ส.ค.2560 ทางบริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จํากัด (มหาชน) หรือ GRAMMY ได้แจ้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ว่า ได้ลงนามในสัญญาจองซื้อหุ้นสามัญเพิ่มทุนในบริษัท จีเอ็มเอ็ม แชนแนล เทรดดิ้ง จํากัด วันที่ 24ส.ค.60 กับ บริษัท อเดลฟอส จํากัด จำนวน 10,000,000 หุ้น ในราคาหุ้นละ 100 บาท รวมเป็นจํานวนเงินทั้งสิ้น 1,000,000,000 บาท คิดเป็นสัดส่วนการถือหุ้น 50% ในบริษัท จีเอ็มเอ็ม แชนแนล เทรดดิ้ง จำกัด ซึ่งมีนายฐาปน สิริวัฒนภักดี และนาย ปณต สิริวัฒนภักดี เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ โดยทั้งสองคนเป็นบุตรชายของเจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี เจ้าของอาณาจักรธุรกิจเบียร์ช้าง เครื่องดื่ม และอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่ของไทย

อย่างไรก็ตามก่อนหน้านี้ทางกลุ่มช้าง ภายใต้บริษัท วัฒนภักดี จำกัด ที่มีนายฐาปน และนายปณต เป็นเจ้าของก็ได้ซื้อหุ้นเกือบทั้งหมด 200 ล้านหุ้น ในราคาหุ้นละ 4.25 บาท คิดเป็นจำนวนเงินกว่า 850 ล้านบาท ในช่องอมรินทร์ 34 ในวันที่ 25 พ.ย.2559 ที่ผ่านมาส่งผลให้บริษัท วัฒนภักดี จำกัด เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในกลุ่มอมรินทร์ 47.62% ขณะที่ครอบครัวอุทกะพันธุ์ ผู้ก่อตั้งกลุ่มอมรินทร์ มีสัดส่วนหุ้นลดลงเหลือ 30.83% และผู้ถือหุ้นรายย่อยถือหุ้น 21.55%

***”ปราสาททองโอสถ” คุม 2 ช่องทีวีดิจิทัล

ในขณะที่กลุ่มช้างเข้าซื้อหุ้นแกรมมี่และได้ช่องจีเอ็มเอ็ม 25 ไป ทางฝั่งตระกูล “ปราสาททองโอสถ” ก็ไม่น้อยหน้า เพราะก่อนหน้านั้นตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค.2559 ได้เข้าซื้อหุ้นในช่องวัน ด้วยตัวเลข 1,900 ล้านบาท ซึ่งอยู่เครือแกรมมี่เช่นกัน ส่งผลให้ทางปราสาททองโอสถ โดยบริษัท ประนันท์ภรณ์ จำกัด ที่มีนางสาวปรมาภรณ์ ปราสาททองโอสถ ลูกสาวของนายปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ หรือ “หมอเสริฐ” เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของช่องวัน คิดเป็นสัดส่วน 50% ขณะที่ GRAMMY เหลือหุ้นคิดเป็นสัดส่วน 25.50% และกลุ่มของนายถกลเกียรติเหลือหุ้น 24.50% 

ส่งผลให้ปัจจุบันกลุ่ม ปราสาททองโอสถ มีช่องทีวีดิจิทัล 2 ช่องในมือ คือ ช่อง PPTV และช่องวัน ซึ่งทั้งสองช่องมีคาแรกเตอร์และกลุ่มเป้าหมายที่แตกต่างกัน

***เนชั่นตัดใจขาย ช่อง NOW

ล่าสุดส่งท้ายปี2560 เมื่อวันที่19 ธ.ค.ที่ผ่านมา บริษัท เนชั่น มัลติมีเดีย กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ NMG ได้แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยว่า ต้องการจำหน่ายสินทรัพย์ เพื่อปรับโครงสร้างธุรกิจ ลดภาวะขาดทุน ประกอบด้วย บริษัทย่อยดำเนินธุรกิจช่องทีวีดิจิทัล NOW 26 จำนวน 149.99 ล้านหุ้น คิดเป็น 100% และบริษัทเนชั่น ยู จำกัด (NU) ซึ่งเป็นบริษัทย่อย ดำเนินธุรกิจ มหาวิทยาลัยเนชั่น จำนวน 30.59 ล้านหุ้น คิดเป็น ร้อยละ 90 ของจำนวนหุ้นทั้งหมด รวมมูลค่า 1,403 ล้านบาท

สอดคล้องกับทางนายภวัต เรืองเดชวรชัย ผู้อำนวยการธุรกิจ-สายงานการวางแผน และกลยุทธ์สื่อโฆษณา บริษัท มีเดีย อินเทลลิเจนซ์ จํากัด ได้กล่าวว่า ทิศทางอุตสาหกรรมทีวีดิจิตอล ยังจะมีการปรับตัวหรือหาผู้ร่วมทุนเข้ามาช่วงผยุงธุรกิจไปจนถึงปีหน้า ซึ่งแนวโน้มจำนวนช่องที่จะอยู่ได้คือช่องหลัก ส่วนช่องที่จะหายไป คือ กลุ่มที่สามที่พอมีรายได้โฆษณาเข้ามาบ้าง ได้แก่ กลุ่มช่องข่าว และช่องเด็ก

นอกจากนั้นยังมีช่องว้อยซ์ทีวี ที่เพิ่งประกาศปรับลดพนักงานลงกว่าครึ่งหนึ่งหรือเอาออกกว่า 170 คน จากพนักงานทั้งหมดกว่า 300 คน เพื่อ ลดต้นทุนดำเนินกิจการ 

*** ช่องข่าวไม่ติดโผท็อปเท็นรายการข่าว

ทั้งนี้จากข้อมูลของทางเนลสัน คอมปะนี ในเดือนพ.ย.2560 ที่ผ่านมา พบว่า รายการข่าวตลอดวันที่มีเรตติ้งสูงสุด 5 อันดับแรก คือ 1.ข่าวภาคค่ำ ช่วงที่ 2 จาก ช่อง 7 มีเรตติ้ง 6.29 2.ข่าวในพระราชสำนัก จากช่อง 7 มีเรตติ้ง 5.73 3.สนามข่าวเสาร์-อาทิตย์ จากช่อง 7 มีเรตติ้ง 2.98 4.ข่าวในพระราสำนัก(วันอาทิตย์) จากช่อง 3 มีเรตติ้ง 2.90 และหากมองในมุมที่กว้างขึ้นในระดับ 15 อันดับแรกนั้น ปรากฏว่า ช่องรายการข่าวทุกช่อง ไม่มีช่องใดสามารถมีเรตติ้งติดอยู่ในกลุ่มนี้เลย จึงเป็นอีกผลสำคัญที่ทำให้ช่องข่าวต้องมีการปรับตัวอย่างหนัก

อย่างไรก็ตามในขณะที่ช่องรองต้องหาผู้ร่วมทุนเพิ่ม ช่องหลักก็มีการปรับตัวเช่นกัน โดยเฉพาะช่อง 3 หลังจากมีช่องทีวีดิจิทัลถึง 3 ช่องในมือ บวกกับการแข่งขันของตลาด โฆษณาถูกแชร์ออกไป ปีนี้ช่อง 3 จึงถือว่าค่อนข้างหนักอีกช่อง ไม่ว่าจะเป็นกระแสข่าวการขายหุ้น หรือการเปลี่ยนแปลงทีมผู้บริหาร รวมถึงการปรับผังรายการเป็นว่าเล่นตลอดปี เพราะยังไม่มีผังรายการช่วงใดปัง! พอที่จะโกยเรตติ้งและรายได้อย่างแท้จริง จนต้องัดกลยุทธ์เพิ่มเวลารีรันคอนเทนต์ละครเก่าในมือ หรือดึงดาราเข้ามาร่วมหารายได้โฆษณา และการซื้อคอนเทนต์ซีรีส์ต่างประเทศเพื่อลดต้นทุน เป็นต้น.

ที่มา : mgronline.com/business/detail/9600000130339