“ออนไลน์อาเซียน 2018” เดือดจัด อีคอมเมิร์ซ-บริการร่วมเดินทาง ดันตลาดบูม

เพราะปี 2017 ที่ผ่านมา การสำรวจพบว่า ทุกภาคส่วนของธุรกิจออนไลน์ล้วนเติบโตโกยลูกค้าได้มากขึ้นอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน โดยเฉพาะกลุ่มร้านค้าออนไลน์อีคอมเมิร์ซ จนถึงบริการ “ร่วมเดินทาง” ที่ได้รับความนิยมจากชาวอาเซียน จนทำให้มีอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปีมากที่สุดกว่า 40% 

สำหรับปี 2018 ที่กำลังเริ่มต้น นักวิเคราะห์ต่างฟันธงว่าจะเป็นอีกปีที่การแข่งขันสุดดุเดือด ทำให้อาเซียนเป็นตลาดที่มีเงินสะพัดในโลกออนไลน์เกินเป้า ส่งให้ปี 2025 ธุรกิจออนไลน์อาเซียน จะไม่ได้มีมูลค่าแค่ 2 แสนล้านเหรียญสหรัฐ อย่างที่เคยมีการคาดการณ์ไว้

เม็ดเงิน 2 แสนล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นเงินราว 6.5 ล้านล้านบาท ถือว่ามากกว่าวงเงินงบประมาณรายจ่าย จำนวน 2.9 ล้านล้านบาท ที่รัฐบาลไทยวางไว้สำหรับปีงบประมาณปี 2018 

***Google บอกโตเกินคาด

เฉพาะปี 2017 เงินสะพัดในธุรกิจออนไลน์อาเซียน ถูกบันทึกว่ามีมูลค่าราว 5 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 1.6 ล้านล้านบาท) เม็ดเงินนี้ถือว่าสูงมากกว่าที่กูเกิล (Google) และเทมาเส็ก (Temasek) เคยคาดการณ์ไว้เมื่อปี 2016 ทำให้กลายเป็นข่าวว่า ทั้งคู่ออกมายอมรับว่า ตลาดออนไลน์อาเซียนนั้น “เติบโตมากกว่าที่คิด”

ทั้ง 2 บริษัทระบุในรายงานเรื่องกูเกิล-เทมาเส็ก อีโคโนมี ซี สปอต์ไลต์ 2017 (Google-Temasek e-Conomy SEA Spotlight 2017) ว่า ธุรกิจออนไลน์ในภูมิภาคนี้เติบโตในสัดส่วน 27% แทนที่จะเติบโต 20% ตามตัวเลขในรายงาน Google-Temasek e-Conomy SEA ฉบับปี 2016 ผลที่เกิดขึ้น คือ ตลาดออนไลน์อาเซียน อาจจะเติบโตเกินหลัก 2 แสนล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2025 ที่เคยมีการคาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้

สำหรับปี 2018 รายงานของ Google และ Temasek ไม่ได้คาดการณ์ไว้ละเอียด โดยให้รายละเอียดเพียงว่า ปี 2017 แต่ละธุรกิจมีการเติบโตอย่างไร ผลคือธุรกิจที่เติบโตโดดเด่นที่สุด คือ อีคอมเมิร์ซ เพราะยอดขายในธุรกิจอีคอมเมิร์ซอาเซียนนั้น มีมูลค่าราว 1.09 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจาก 5.5 พันล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2015

ยอดขายที่ Google นำมาคำนวณ คือ ยอดขายรวมทั้งหมด หรือ Gross Merchandise Value (GMV) ซึ่งยังไม่มีการหักต้นทุน การเติบโตจากยอดขายหลักพันล้านบาทมาเป็นหมื่นล้านบาทนี้ คิดเป็นอัตราเติบโตต่อปี หรือ CAGR ราว 41%

ปี 2018 คาดว่าจะเป็นอีกปีที่อีคอมเมิร์ซจะขยายตัว เพราะผลจากปัจจัยสนับสนุนอย่างความนิยมในตลาดออนไลน์ หรือ marketplace ซึ่งธุรกิจขนาดกลางถึงเล็ก จะลงไปจำหน่ายสินค้าและบริการให้ผู้บริโภคโดยตรงกันมากขึ้น ผ่านระบบตลาดที่มุ่งแสดงผลบนสมาร์ทโฟน หรืออุปกรณ์พกพา ไม่ใช่ระบบตลาดสำหรับคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะ

มีความเป็นไปได้ว่า ผู้ที่ได้รับอานิสงส์จากภาวะอีคอมเมิร์ซบนสมาร์ทโฟนบูมสุดขีดปี 2018 จะเป็นเจ้าพ่อรายเดิมอย่างลาซาด้า (Lazada), ช็อปปี (Shopee) และโทโคพีเดีย (Tokopedia)

ด้านบริการร่วมเดินทาง หรือ ride-hailing service การสำรวจพบว่า ในปี 2017 ที่ผ่านมา บริการกลุ่มแอปพลิเคชันแชร์รถยนต์ มอเตอร์ไซค์ เพื่อเดินทางนั้น มียอดขายรวมในอาเซียน มากกว่า 5.1 พันล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นสัดส่วนมากกว่า 2 เท่าตัว เมื่อเทียบกับ 2.5 พันล้านเหรียญสหรัฐ ที่เคยบันทึกได้ในปี 2015

แน่นอนว่า ปี 2018 สัดส่วนการเรียกรถผ่านแอปพลิเคชันเหล่านี้จะเพิ่มมากกว่า 6 ล้านครั้งต่อวัน ซึ่งเป็นสถิติที่ถูกจดไว้ในไตรมาส 3 ปี 2017 ที่ผ่านมา สถิติเฉพาะ 3 เดือนไตรมาส 3 นี้คิดเป็นสัดส่วนเพิ่มขึ้นเกิน 4 เท่าตัวเมื่อเทียบกับปี 2015 โดยแอปพลิเคชันกลุ่มหลักในบริการ ride-hailing ที่ได้รับความนิยมในอาเซียน คือ โกเจ็ก (Go-Jek), แกร็บ (Grab) และอูเบอร์ (Uber)

รายงานของ Google และ Temasek ยังชี้ว่า แบรนด์หลักในกลุ่ม ride-hailing กำลังจะขยายมาให้บริการส่งอาหาร บริการชำระเงินดิจิทัล และบริการอื่นอีกในปี 2018 เนื่องจากฐานผู้ใช้ที่เพิ่มขึ้นทั้งส่วนของผู้โดยสาร และผู้ขับรถ บริการกลุ่ม ride-hailing จึงมีภาษีที่ดีกว่า ใครในการเป็นเจ้าตลาดบริการส่วนบุคคลแบบครบวงจรของอาเซียน

ประเด็นนี้น่าสนใจ เพราะ นนทวัฒน์ พุ่มชูศรี กรรมการผู้จัดการ และหัวหน้าสายงานบริการทางการเงิน เอคเซนเชอร์ ประเทศไทย ให้ความเห็นว่า ผู้บริโภคยุคใหม่เริ่มไม่เห็นความสำคัญของการซื้อสินทรัพย์ชิ้นใหญ่ พฤติกรรมนี้ทำให้บริการแชร์รถเพื่อร่วมเดินทาง บริการแชร์สำนักงาน หรือบริการแชร์ห้องพักได้รับความนิยมมากขึ้น ซึ่งการเปลี่ยนแปลงนี้เริ่มเป็นที่นิยมมากขึ้นจนเห็นได้ชัด และอาจนำไปสู่ภาวะ “คนไม่ซื้อรถ ไม่เช่าสำนักงาน ไม่ซื้อบ้าน” ที่จะทำให้หลายอุตสาหกรรมได้รับผลกระทบ

***เงินทุนอัดฉีดแน่น

อีกปัจจัยที่ชี้ว่า ปี 2018 จะเป็นจุดเริ่มปีทองของธุรกิจออนไลน์อาเซียน คือ เม็ดเงินทุนที่อัดฉีดเต็มสูบเข้าสู่ตลาดนี้ การสำรวจพบว่า ระหว่างปี 2016 ถึงไตรมาส 3 ปี 2017 บริษัทที่ให้บริการออนไลน์ในเอเชียแปซิฟิก สามารถเพิ่มเงินทุนให้บริษัทได้มากกว่า 1.2 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 3.9 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นจากที่เคยมีเงินอัดฉีด 1 พันล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2015 เงินทุนนี้เป็นอีกเดิมพันที่เชื่อว่า อาเซียนจะยังเติบโตต่อไปในระดับสวยงามตลอด 10 ปีนับจากนี้

ก่อนหน้านี้ รายงานของ Google และ Temasek ปี 2016 เคยพยากรณ์ว่า หากจะทำให้อุตสาหกรรมออนไลน์อาเซียน มีเม็ดเงินสะพัด 2 แสนล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2025 จะต้องมีเงินทุนมากกว่า 4-5 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ ไหลเข้ามาในภูมิภาคนี้ เมื่อคำนวณถึงเงินลงทุน 1.2 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2017 ที่ผ่านมา และความเป็นไปได้ว่า ปี 2018 ก็จะมีเงินทุนไหลเข้ามาไม่ขาดสายเช่นกัน ก็สะท้อนว่า ตลาดออนไลน์อาเซียนจะยังเติบโตในระดับก้าวกระโดดต่อไป

***ยังต้องปรับที่คน

ความท้าทายหลักที่ทำให้วงการออนไลน์อาเซียนไม่เติบโต คือ การขาดบุคลากรเทคโนโลยีในท้องถิ่น โดยทั้ง Google และ Temasek ระบุในรายงานฉบับปี 2017 ของตัวเองว่า ตลาดอาเซียนยังต้องปรับปรุงเป็นพิเศษในหลายเรื่อง โดยเฉพาะเรื่องการขาดบุคลากรที่ยังเป็นปัญหาใหญ่ ซึ่งไม่ได้ถูกแก้ไข และหากแก้ไขได้ อาเซียนก็จะสามารถทำโอกาสที่รออยู่ให้ออกดอกออกผลได้เต็มที่ยิ่งขึ้น

สถิติอื่นที่น่าสนใจจากรายงานนี้ คือ ชาวไทยใช้อินเทอร์เน็ตผ่านมือถือมากที่สุดในโลก เฉลี่ยวันละ 4.2 ชั่วโมง สูงกว่าเพื่อนบ้านในอาเซียน ที่ใช้งานเฉลี่ยวันละ 3.6 ชั่วโมง ชนะชาวอเมริกันที่ออนไลน์บนมือถือเฉลี่ยวันละ 2 ชั่วโมง ชาวอังกฤษวันละ 1.8 ชั่วโมง และชาวญี่ปุ่นวันละ 1 ชั่วโมง

จำนวนผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตในอาเซียน ยังเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในปี 2017 โดยยอดผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในอาเซียน ที่เพิ่มขึ้นจาก 260 ล้านคนในปี 2017 มีโอกาสจะเพิ่มเป็น 480 ล้านคนภายในปี 2020 คิดเป็นอัตราเติบโต 14% ต่อปี สูงกว่าจีนที่อัตราเติบโตผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตเพิ่มขึ้น 4% ต่อปี

อินโดนีเซีย เป็นประเทศที่จำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตเพิ่มขึ้นเร็วที่สุดในอาเซียน คือ 19% ต่อปี โดยผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตผ่านมือถือในอาเซียน ใช้เวลากับการชอปปิ้งออนไลน์มากที่สุด สูงกว่าชาวอเมริกันถึง 2 เท่าตัว

แน่นอนว่าสถิติเหล่านี้ที่บันทึกได้ในปี 2017 มีโอกาสสูงที่จะถูกทำลายในปี 2018 ปีหมาดุที่เชื่อว่า วงการออนไลน์อาเซียนจะแข่งดุเลือดสาดชนิดใครพลาดอาจไม่ฟื้นคืนมาอีกเลย.

ที่มา : mgronline.com/cyberbiz/detail/9610000001165