เปิดรายรับแอปสโตร์ “1 มกรา” วันเดียวทำเงินได้ 300 ล้านเหรียญสหรัฐ

แอปเปิล (Apple) ทำสถิติยอดขายบนแอปสโตร์ (App Store) ในวันขึ้นปีใหม่สูงสุดเป็นประวัติการณ์ โดยเพิ่มขึ้นถึง 25 เปอร์เซ็นต์เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า

เป็นข่าวดีของแอปเปิลท่ามกลางมรสุมข่าวแบตเตอรีได้เลยทีเดียว กับยอดการใช้จ่ายบนแอปสโตร์ในวันที่ 1 มกราคมที่ผ่านมา ที่มีเงินสะพัดบนร้านค้าออนไลน์แห่งนี้ถึง 300 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็นเงินไทยประมาณ 9,657 ล้านบาท และเป็นเม็ดเงินที่สูงที่สุดเท่าที่เคยมีมานับตั้งแต่เปิดตัวแอปสโตร์ ในปี 2008 ด้วย

นอกจากนี้ นับตั้งแต่วันคริสต์มาสมาจนถึงวันขึ้นปีใหม่ แอปสโตร์สามารถทำเงินให้แอปเปิลได้แล้วถึง 890 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 28,643 ล้านบาท ซึ่งถือเป็นตัวเลขที่นักลงทุนตื่นเต้นกันมากพอสมควร เพราะนั่นหมายถึงแอปเปิลมีกระเป๋าใส่เงินใบใหม่เกิดขึ้นมาทดแทนรายได้จากไอโฟน (iPhone) ที่ประสบภาวะอิ่มตัวอยู่ในปัจจุบันแล้วนั่นเอง

ส่วนหนึ่งที่ทำให้แอปสโตร์ประสบความสำเร็จอาจมาจากการออกแบบเว็บใหม่ที่แอปเปิลลงทุนไปเมื่อปีก่อนหน้า เพื่อให้แอปสโตร์สามารถเป็นช่องทางทำเงินให้กับนักพัฒนาภายนอกได้ดียิ่งขึ้น

ผลก็คือ ในปี 2017 ที่ผ่านมา นักพัฒนาบนแอปสโตร์ทำรายได้ไปถึง 26,500 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็นตัวเลขที่เพิ่มขึ้นถึง 30 เปอร์เซ็นต์เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ซึ่งเงินจำนวนนี้ แอปเปิลมองว่า สามารถช่วยให้นักพัฒนารายย่อย สามารถสร้างโปรดักต์ใหม่ให้ดียิ่งขึ้น รวมถึงการพัฒนาโปรดักต์บนแพลตฟอร์มอย่าง เออาร์คิต (ARKit) และแอปเปิลวอตช์ (AppleWatch) 

อย่างไรก็ตาม ในข่าวดีก็มีข่าวร้ายสำหรับแอปเปิลเช่นกัน กับปัญหาช่องโหว่บนชิปคอมพิวเตอร์ที่ส่งผลกระทบต่ออุปกรณ์ของทางค่าย เช่น ไอโฟน ไอแพด และคอมพิวเตอร์แมคอย่าง เมลท์ดาวน์ (Meltdown) และสเป็คเตอร์ (Spectre)

ช่องโหว่ที่พบนั้น ทำให้แฮกเกอร์สามารถขโมยข้อมูลของผู้ใช้งานได้ ซึ่งประเด็นนี้ถือเป็นความเสียหายร้ายแรงกว่า เนื่องจากส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นในแบรนด์แอปเปิลที่ก่อนหน้านี้ไม่เคยมีกรณีเกี่ยวกับซีเคียวริตีมากเท่ากับฟากของแอนดรอยด์ (Android) หรือไมโครซอฟท์วินโดวส์ (Microsoft Windows)

อย่างไรก็ดี ทางแอปเปิลได้มีการส่งแพตช์บางตัวออกมาแล้ว พร้อมระบุด้วยว่า เมลท์ดาวน์นั้นไม่กระทบต่อแอปเปิลวอตช์ (AppleWatch) นาฬิกาอัจฉริยะของทางค่าย

ส่วนแพตช์ที่ออกมาสู้กับสเป็คเตอร์นั้น อยู่ในรูปของอัปเดตเบราเซอร์ซาฟารี (Safari) ที่มีกำหนดจะเปิดตัวออกมาในเร็ว ๆ นี้

ส่วนสถานการณ์ของค่ายอื่น ๆ ก็มีการอัปเดตแพตช์กันไปแล้วเช่นกัน ทั้งกูเกิล (Google) และไมโครซอฟท์ รวมถึงการเตือนให้อัปเดตซอฟต์แวร์ซีเคียวริตีด้วย ขณะที่หน่วยงานด้านไซเบอร์ซีเคียวริตีอย่าง CERT ของสหรัฐอเมริกา ก็ได้เปลี่ยนคำแนะนำจากที่เคยบอกให้เปลี่ยน “โปรเซสเซอร์” ตอนนี้ทาง CERT ได้เปลี่ยนมาแนะนำให้อัปเดตแพตช์แทนแล้ว.

ที่มา : mgronline.com/cyberbiz/detail/9610000001487