บทเรียนบนเส้นทางวิบาก “ทีวีดิจิทัล” เปิดใจ “พ.อ.นที ศุกลรัตน์” กสทช. คนทำคลอด 24 ช่อง

ภาพของความยินดี มีความหวัง และอนาคตเมื่อ 4 ปีที่แล้ว กลับกลายเป็นการแข่งขันเลือดสาด จนบางคนล้มหายตายจาก ซึมซับรับพิษบาดเจ็บสาหัสในปัจจุบัน นี่คือสภาพของธุรกิจทีวีดิจิทัลที่มีเงินสะพัดแล้วหมื่นล้าน

ก่อนสิ้นปี 2556 เมื่อวันที่ 26-27 ธันวาคม 17 กลุ่มบริษัท ร่วมกันประมูล 24 ช่องทีวีดิจิทัล เงินประมูลมีมูลค่ารวมกันสูงถึง 50,862 ล้านบาท

ภาพของวันนั้น คือการฉลองของคนในวงการทีวี พร้อมกับความคาดหวังความสำเร็จ การเติบโตอย่างสุดขีดของอุตสาหกรรมทีวี ที่มีเม็ดเงินโฆษณาในสื่อทีวีเป็นเดิมพัน ปีหนึ่งหลายหมื่นล้านบาท

4 ปีผ่านไป ภาพความรื่นเริงเหล่านั้นหายไป กลายเป็นภาพของการลดต้นทุน คนในวงการที่หลายคนตกงาน ช่องทีวีถูกเปลี่ยนมือ การลดค่าใช้จ่าย และบางช่องที่พร้อมจะล้มหายตายจากไปอีก

นอกเหนือจาก 2 ช่องของ เจ๊ติ๋มทีวีพูล ที่ปิดตัวจอดำ “ไม่หนี ไม่มี ไม่จ่าย” ค่าประมูลเมื่อ 2 ปีที่แล้ว

มาวันนี้ พันเอกนที ศุกลรัตน์ กรรมการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. ในฐานะผู้จัดการประมูลคลื่นความถี่วิทยุโทรทัศน์ตามกฎหมาย ทำคลอดทีวีดิจิทัล 24 ช่อง ที่ตอนนี้ลาจากไปแล้ว 2 ช่อง ได้เปิดใจ เล่าความรู้สึกถึงสถานการณ์อุตสาหกรรมทีวีปัจจุบัน และชี้โอกาสของผู้ที่อยู่รอด

“ความสำเร็จในปัจจุบันคือทีวีดิจิทัลเข้าถึงผู้ชมส่วนใหญ่แล้ว หลังออนแอร์มาเกือบ 4 ปี ขณะนี้ประมาณ 90% ของประชนชนทั่วประเทศสามารถรับชมดิจิทัลทีวีผ่านโครงข่ายทีวีทุกระบบ และที่เหลืออีก 10% ดูผ่านแพลตฟอร์มอื่น” แน่นอนว่าพันเอกนทีต้องพูดถึงความสำเร็จในแง่ผู้ชมมีทางเลือกชมทีวีมากกว่าอดีต ที่ผูกขาดอยู่ไม่กี่ช่อง

ในส่วนของฐานผู้ชมพบว่า ก่อนมีทีวีดิจิทัลส่วนแบ่งตลาดผู้ชมของช่องอนาล็อกเดิม คือ 3 5 7 9 11 และไทยพีบีเอส ได้ส่วนแบ่ง 90% ปัจจุบันเหลือ 40% ส่วนที่เหลือ 60% คือช่องใหม่ ถือว่าใช้เวลาไม่นานเมื่อเปรียบเทียบกับการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ทีวีดิจิทัลของต่างประเทศ อย่างอังกฤษ ฝรั่งเศส ที่ผ่านมาแล้วนับสิบปี ช่องเดิมยังคงครองตลาดมากกว่า 60%

แต่ความสำเร็จที่เข้าถึงผู้ชมแล้ว ทำไมหลายช่องไม่ประสบความสำเร็จในแง่รายได้ และบางช่องกำลังบาดเจ็บ ขาดทุน

**สายป่านยาวเงินทุนต้องหนาเพื่อสร้างคอนเทนต์

พันเอกนที ชี้ให้เห็นว่า หลังประมูล ก็เกิดเหตุการณ์ต่าง ๆ มากมาย เหนือความคาดหมาย และการควบคุม ตั้งแต่เหตุการณ์เปลี่ยนแปลงทางการเมืองในเดือนพฤษภาคม 2557, เหตุการณ์เดือนตุลาคม 2559

เมื่อฟรีทีวีคือเครื่องมือทางสาธารณะที่จะช่วยสื่อสารถึงสังคมมาตลอด การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ที่เกิดขึ้นในประเทศจึงกระทบต่อกิจการทีวีในเชิงของธุรกิจ

อีกสิ่งหนึ่งที่ต้องย้อนไปศึกษา คือเส้นทางของธุรกิจฟรีทีวีในอดีต คือ ช่อง 7 และช่อง 3 ต้องใช้เวลาหลายสิบปีกว่าจะประสบความสำเร็จกลายเป็นผู้นำในแบบทุกวันนี้ จึงไม่ใช่ว่าจะเข้ามาแล้วสำเร็จเลยทันที

ข้อสงสัยที่ยังคงดังจากฝั่งผู้เข้าประมูล คือการจัดประมูลทำให้เกิดปรากฏการณ์ คือค่าประมูลแพงเกินไปหรือไม่ และเปิดทางให้มีช่องมากเกินความต้องการของผู้ชมหรือไม่ คำตอบนี้คือ

“เมื่อ กสทช.เปิดประมูล จัดให้มีช่องใหม่ 24 ช่อง เราก็เชื่อว่าบรรดาผู้ประกอบการที่เข้าประมูลจะต้องคำนวณมาดีแล้วก่อนที่จะเข้าประมูลว่าจะลงเงินค่าประมูลกันเท่าไร

แต่ก็เกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันขึ้น การประมูลแข่งขันกันอย่างมาก จนเป็นอย่างที่เห็น และเมื่อ 3 เดือนหลังจากที่รับใบอนุญาต ก็เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองจนถึงปัจจุบัน”

บทสรุปของข้อสงสัยนี้เป็นบทเรียนแรก คือ ปัจจัยต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นนี้ทำให้มองเห็นว่า ธุรกิจฟรีทีวีสำหรับผู้ประกอบการ ต้องมีเงินทุนสายป่านยาว โดยเฉพาะการลงทุนพัฒนาคอนเทนต์ เพราะไม่ใช่ว่าเมื่อประมูลได้ใบอนุญาตแล้ว ภายใน 1-2  ปี จะต้องประสบความสำเร็จทันที

สิ่งที่เกิดขึ้นตอกย้ำบทสรุปนี้คือ มี 2-3 ช่องใหม่ที่ได้กำไรแล้ว และที่เห็นได้ชัดกว่าคือช่องใหม่เข้ามาชิงพื้นที่ และฐานผู้ชมของช่องใหญ่เดิม จากการมีคอนเทนต์แตกต่าง

หากพิจารณาถึงต้นทุนค่าใช้จ่ายในการดำเนินการต่อปีแล้ว จะพบว่าค่าใช้จ่ายจากการประมูลคลื่น คิดเป็นเพียง 10-20% ของค่าใช้จ่ายแต่ละปี ในส่วนค่าเช่าโครงข่ายเพื่อส่งสัญญาณออกอากาศ หากเป็น HD มีค่าใช้จ่ายเดือนละ 14 ล้านบาท ส่วน SD 4.5 ล้านบาท คิดเป็นประมาณ 4-5%

ที่เหลือส่วนใหญ่คือ 80-90% มาจากค่าใช้จ่ายในการลงทุนเรื่องคอนเทนต์

แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือ ผู้ประกอบการช่อง พยายามขอลดในส่วนค่าประมูล ขณะที่การจัดประมูลเป็นไปตามกฎหมาย แม้พันเอกนทีจะเปิดใจว่าโดยส่วนตัวเห็นว่าทีวีเป็นกิจการสาธารณะ ไม่ควรประมูล แต่เมื่อกฏหมายระบุไว้ให้มีการประมูล ก็ต้องจัดให้มีการประมูล

**ประเมินพลาดเคาะประมูลกันเพลิน

การประมูลที่เกิดขึ้นที่หลายช่องเคาะเงินสู้จนเกินฐานะ เพราะผู้ประกอบการไม่คุ้นเคยกับรูปแบบการประมูล

บทเรียนที่สองคือผลการประมูลทีวีดิจิทัลที่ทำให้ผู้ชนะบางรายต้องจ่ายราคาสูงเกินจริง ไม่อยู่บนพื้นฐานของความคิดทางธุรกิจที่ถูกต้อง

“ในฐานะ Regulator จะไปบอกให้เขาประมูลราคาต่ำก็ไม่ได้ ตอนที่ร่างรูปแบบการประมูล ก็ได้พยายามบอกให้ประมูลในราคาที่เหมาะสม แมชต์กับความเป็นจริง” 

ในการประมูล คนเข้าร่วมประมูล 20-25 กลุ่ม มีคนเข้ามาได้ 17 กลุ่ม และเกิดภาพที่ว่า คนที่ไม่ควรได้ 2 ช่องก็ได้ไป คนที่ควรได้ 2 ช่อง ก็ได้เพียงช่องเดียว เกิดการแข่งขันสูง จึงเป็นเรื่องที่คาดไม่ถึง โดยที่เราได้พยายามบอกก่อนประมูลแล้วว่า ผู้ประกอบการควรประมูลตามมูลค่าที่พอเหมาะ

ถึงตอนนี้ก็มีคนยังบอกว่า หากลดจำนวนช่องประมูลให้น้อยกว่า 24 ช่อง เช่น เหลือเพียง 12 ช่องน่าจะดีกว่า แต่พันเอกนทีก็เชื่อว่า หากลดลงแบบนั้น ยิ่งทำให้มูลค่าการประมูลแพง เพราะการแข่งขันสูง เพราะมีความต้องการมากกว่าจำนวนช่องที่ออกมาประมูล

***จุดเปลี่ยนกฎระเบียบเงินหมุนเข้ารัฐ-คูปองแลกกล่อง

การออกแบบประมูลทีวีดิจิทัลนั้น พันเอกนทีอธิบายถึงแผนสำรองอีกส่วนหนึ่งว่า แม้กฎหมายให้ต้องประมูล ก็ยังเปิดให้ กสทช.นำเงินที่ได้จากการประมูลมาใช้ประโยชน์กับกิจการทีวี แต่ก็เกิดสิ่งไม่คาดฝันอีกคือ มีการเปลี่ยนแปลงให้นำเงินที่ได้จากการประมูลทั้งหมดโอนเข้าไปเป็นรายได้ของรัฐทั้งหมด ทำให้ กสทช.ไม่มีกลไกทางการเงินที่จะช่วยเหลือผู้ประกอบการได้อีกแล้ว เพราะเงินทั้งหมดถูกโอนออกไปหมด

นอกจากนี้ยังมีความเปลี่ยนแปลงเรื่องของมูลค่าคูปองทีวีดิจิทัล ตามแผนการแจกคูปอง ที่ตอนแรกตั้งไว้มูลค่า 1,200 บาท เพื่อคุณภาพของอุปกรณ์ และความหลากหลายแพลตฟอร์มการเข้าชม ทำให้ประชาชนใช้แลกกล่องได้ทุกประเภทตามประเภทการใช้งาน เช่น กล่องทีวีดาวเทียม เคเบิล และระบบภาคพื้นดินพร้อมเสาอากาศ แต่ช่วงนั้นมีผู้คัดค้านทำให้ราคาคูปองตกลงมาที่เพียง 690 บาท จึงผิดไปจากที่วางแผนไว้

อย่างไรก็ตาม ด้วยกฎมัสแครี่ที่กำหนดให้ทุกแพลตฟอร์มต้องนำช่องทีวีดิจิทัลไปออกอากาศ ทำให้โอกาสการเข้าถึงทีวีดิจิทัลกว้างขึ้น แต่ส่วนของอุปกรณ์ดิจิทัลที่แลกด้วยคูปองมูลค่า 690 บาท บางยี่ห้อ บางรุ่นอาจมีปัญหาคุณภาพการรับชม

“สิ่งที่เกิดขึ้น ผมก็ต้องบอกว่าเป็นประสบการณ์การประมูลของเรา และคนที่เกี่ยวข้องที่มองไม่ละเอียดเพียงพอ ตั้งแต่การประมูลที่แข่งขันกันมากเกินไป กลไกกฎหมายที่เปลี่ยนแปลงไป

แต่เมื่อเกิดขึ้นแล้ว ผู้ประกอบการที่ประมูลได้ จึงต้องมามุ่งพัฒนาคอนเทนต์เพื่อให้แข่งขันได้ เปรียบเหมือนกับว่า เมื่อมีการแข่งขันโอลิมปิค เป็นตลาดที่คนที่แกร่งกว่าเท่านั้นถึงจะได้เหรียญ เมื่อเราสู้ตลาดโอลิมปิคเขาไม่ได้ เราก็ต้องลดขั้นลงมาแข่งในระดับเอเชียนเกมส์ หรือซีเกมส์ ลงตลาดที่เราจะสามารถแข่งขันและได้เหรียญด้วย”   

ปัญหาที่เกิดขึ้นนี้ เป็นบทเรียนที่สามที่ว่า ทุกคนต่างคนต่างแข่งขันกันมาก มีมิติของทางการเมือง ไม่ค่อยหันมาร่วมมือกัน ทำให้มาจับมือร่วมกันนั้นเป็นไปได้ยาก ทุกคนต่างมองกันเป็นคู่แข่ง ที่ยอมกันไม่ได้

**แสงสว่างปลายทางดิจิทัลอยู่ที่ไหน

“ทีวีดิจิทัลมีกลไกของธุรกิจ เราก็อยากให้ทุกคนอยู่ได้ แต่คงไม่สามารถการันตีว่าทุกคนจะประสบความสำเร็จได้หมด” พันเอกนทีระบุถึงความเป็นจริงในธุรกิจนี้

แต่เมื่อธุรกิจทีวีเป็นธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับประโยชน์สาธารณะ และประชาชน ที่มีผลกระทบต่อผู้บริโภค กสทช.จึงต้องพยายามเข้ามาในรูปแบบกำกับดูแลให้กิจการทีวีเป็นไปอย่างมีระบบระเบียบ ไม่ใช่อิงกับเรื่องทางการเมืองเหมือนในอดีต

นอกจากดิจิทัลทีวีที่แข่งขันกันเองแล้ว ยังมีธุรกิจที่แวดล้อมที่อาจมาแย่งผู้ชมดิจิทัลทีวี อย่าง ทีวีดาวเทียมและเคเบิลทีวี ที่พยายามหาที่ยืนของตัวเอง ซึ่งถ้ามีคอนเทนต์ที่ดีน่าสนใจ คนก็พร้อมจ่ายค่าสมาชิก และเทคโนโลยี OTT ที่เป็นทางเลือกในการรับชมคอนเทนต์ใหม่ ๆ

พันเอกนที หวังว่า ต่อไปหากมีความช่วยเหลือจากรัฐ หรือ คสช. ก็เห็นด้วย เพราะว่ากลไกที่เราจะสามารถช่วยเหลือได้ มันไม่มีแล้ว อีกทั้งที่ผ่านมาผู้มีอำนาจของรัฐก็ใช้ประโยชน์จากทีวีดิจิทัลทุกช่องไปเยอะ โดยเฉพาะการใช้เวลาช่วงไพรม์ไทม์ ทำให้กระทบต่อรายได้ของแต่ละช่องด้วย

สิ่งสำคัญ และแต่ละช่องต้องเร่งดำเนินการคือหาที่ยืนทางรอดของช่องให้ได้

ส่วนช่องข่าว และช่องเด็ก ยังมีช่องทางเจาะกลุ่มเฉพาะลง segment มากขึ้น แทนที่จะไปเจาะกลุ่มกว้างแบบช่องใหญ่ ๆ

“สิ่งที่แต่ละช่องต้องทำคือ  Positioning ตัวเองให้ชัดเจน ซึ่งผมเชื่อว่าถ้าเรามีกลุ่มเป้าหมายคอนเทนต์ที่ชัดเจน ช่องนั้นก็มีช่องทางอยู่รอด”

นอกจากนี้ ปี 2561 เศรษฐกิจจะดีขึ้น การเมืองก็กำลังไปสู่ระบบที่เหมาะสม เมื่อการเมืองกลับมาคึกคัก ก็จะเป็นโอกาสที่ดีของช่องข่าวด้วยเช่นกัน

“ยังไงผมก็เชื่อว่า ธุรกิจทีวีมีอนาคตเสมอ สิ่งสำคัญที่สุดคือคอนเทนต์ ที่ทุกคนต้องปรับตัว”

สำหรับกลุ่มผู้ชมบางคนมองว่า คนรุ่นใหม่ไม่ค่อยดูทีวีแล้ว มีแต่คนสูงอายุดูทีวี แต่ความจริงแล้ว วัยรุ่น คือวัยที่ไม่มีเงิน แต่คนมีเงินคือคนมีอายุ ที่มีกำลังซื้อ และเด็กเหล่านี้ต่อไป ก็ต้องแก่ขึ้น นี่จึงเป็นโอกาสของทีวี

ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจ ที่ในปีนี้ยังจะได้เห็นการเปลี่ยนมือช่องทีวีดิจิทัลอีก แต่ทุกอย่างจะค่อย ๆ ดีขึ้น และสถานการณ์ของอุตสาหกรรมทีวีจะเริ่มนิ่ง เพราะทุกช่องรู้ว่าตัวเองต้องทำอะไร อย่างไร และแค่ไหน เพื่อให้เดินไปในเส้นทางการแข่งขันได้สวยงาม หรืออย่างน้อยไม่เจ็บตัวเหมือนที่ผ่านมา

เส้นทางวิบากทีวีดิจิทัล

หลังประมูลทีวีดิจิทัลเพื่อธุรกิจ เมื่อปลายปี 2556 ผู้ประกอบการ 17 บริษัทที่ประมูลใบอนุญาตไปรวม 24 ช่อง โดยรายใหญ่ หน้าเก่าอย่างช่อง 3 ได้ไป 3 ช่อง อสมท ได้ 2 ช่อง กลุ่มทรู 2 ช่อง ขณะที่ยักษ์ใหญ่สุดอย่างช่อง 7 เลือกประมูลเพียง 1 ช่อง

ผู้ผลิตคอนเทนต์บางรายที่ทดลองธุรกิจมีช่องของตัวเองมาบ้างแล้วในแพลตฟอร์มทีวีดาวเทียม และเคเบิลทีวี ที่ทุ่มประมูลไป 2 ช่อง คือกลุ่มแกรมมี่ กลุ่มเนชั่น 2 ช่อง กลุ่มทีวีพูล 2 ช่อง ส่วนที่เหลือแบ่งกันไปคนละช่อง คือโมโน อาร์เอส เวิร์คพอยท์

นอกจากนี้ยังมีกลุ่มสื่อ อย่าง สปริงนิวส์ ไบรท์ทีวี ไทยรัฐ เดลินิวส์ และอมรินทร์ ได้ไปคนละช่อง มีกลุ่มธุรกิจเงินทุนหนา พีพีทีวี และสุดท้ายวอยซ์ทีวี คนละ 1 ช่อง

หลังออกอากาศจริงไม่กี่วัน 22 พ.ค. 2557 เปิดรัฐประหาร โดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติเข้าบริหารปะเทศ

เริ่มต้นการแข่งขันในธุรกิจทีวีดิจิทัล ยังไม่ได้ถึงจุดที่แต่ละช่องแข่งกันที่คอนเทนต์ เพราะการแจกกล่องทีวีดิจิทัลล่าช้า ทำให้คนดูยังไม่มีโอกาสเข้าถึงการรับชม ทุกช่องจึงใช้จังหวะปีแรกในการค้นหาจุดยืนที่จะเป็นจุดขายของช่อง

ตัวอย่างเช่น บางช่องช่วงนั้นอย่างนิวทีวี ของค่ายเดลินิวส์ เป็นช่องข่าว แต่เน้นสารคดีสัตว์ ธรรมชาติ ช่องเวิร์คพอยท์ ยังคงมีหม่ำ เท่ง โหน่ง และปัญญา นิรันดร์กุล เป็นจุดขาย ก่อนค่อย ๆ ถอยจากช่องใหญ่ โดยเฉพาะช่อง 3

ช่องอื่น ๆ ก็แข่งขันกันพัฒนารายการข่าว จัดเป็นยุคปีทองของคนหน้าจอข่าวที่มีการซื้อตัวกัน จนบางคนเบอร์ใหญ่รับเป็นหลักแสน ขณะที่บางช่องทุ่มซื้อตัวน้อย แต่ใช้วิธีฝึกหน้าใหม่ จนผู้ชมเหมือนได้ดูการฝึกอ่านข่าวในบางครั้ง

ทางด้านช่องใหญ่อย่างช่อง 3 และช่อง 7 ในปีแรกรายได้จึงยังไม่สะเทือน ขณะที่ช่องหน้าใหม่เริ่มส่งสัญญาณร่อแร่ และในที่สุดปีที่สองของยุคทีวีดิจัล กลางปี 2558 “เจ๊ติ๋ม ทีวีพูล” ก็พยายามหาผู้ถือหุ้นใหม่ แต่ไม่สำเร็จ และถอยจนสุดทาง ประกาศ ไม่หนี ไม่มี ไม่จ่ายค่าใบอนุญาตงวดที่เหลือ และ 31 ต.ค. 2558 ก็จอดำ 2 ช่องของทีวีพูล ภายใต้ชื่อช่องไทยทีวี ที่เป็นช่องข่าว และช่องโลก้า ที่เป็นช่องเด็ก

ปีที่ 3 ของยุคทีวีดิจิทัล 22 ช่องที่เหลือยังอยู่ครบ แต่ส่วนใหญ่เลือดไหลขาดทุนกันหนัก จึงเปิดทางให้ทุนใหญ่เข้ามาซื้อกิจการ

ดีลแรกเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 25 พ.ย. 2559 “เจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี” เจ้าของอาณาจักรเบียร์ช้าง เคาะใช้เงิน 850 ล้านบาท ให้บริษัทของบุตรชายซื้อหุ้นในกลุ่มอมรินทร์ 47.62% จนกลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในอมรินทร์ ส่วนผู้ถือหุ้นใหญ่เดิมคือครอบครัว “อุทกะพันธุ์” เหลือหุ้นประมาณ 30% ขณะที่หลายคนเริ่มติดคอนเทนต์ของอมรินทร์ โดยเฉพาะรายการข่าว “ทุบโต๊ะข่าว” ที่เป็นจังหวะของพิธีกรเล่าข่าว “พุทธ อภิวรรณ” ที่มาในช่วงที่ “สรยุทธ สุทัศนะจินดา” ต้องลาจอช่อง 3 เพราะคดีไร่ส้ม จนศาลพิพากษาจำคุก

5 วันหลังจากนั้น “อากู๋ ไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม” ค่ายแกรมมี่ ก็ถอยอีกราย เมื่อวันที่ 30 พ.ย. 2559 จีเอ็มเอ็มแจ้งตลาดหลักทรัพย์ฯ ว่าได้ขายหุ้นที่ถือในช่องวัน 50% ให้บริษัทประนันท์ภรณ์ ที่มี น.ส.ปรมาภรณ์ ปราสาททองโอสถ บุตรสาว น.พ.ปราเสริฐ เจ้าของอาณาจักรธุกิจโรงพยาบาลกรุงเทพ และสายการบินบางกอกแอร์เวย์ส ดีลนี้มูลค่า 1,910 ล้านบาท

หลังอมรินทร์ปิดดีลกับอาณาจักรช้าง และอากู๋ถอยแล้ว 1 ช่อง หลายช่องก็พยายามวิ่งหาทุนใหญ่เพื่อมาอัดฉีดเงิน แต่ถึงแม้จะเป็นเศรษฐี ก็ไม่มีใครอยากซื้อของแพงแถมหนี้สะสมสูง

ปีที่ 4 อากู๋ ไพบูลย์ ก็ขอถอยอีกครั้ง ในวันที่ 24 ส.ค. 2560 ขายหุ้นช่องจีเอ็มเอ็ม 25 ให้กลุ่มสิริวัฒนภักดี 50% มูลค่าประมาณ 1,000 ล้านบาท

นั่นคือดีลการได้ผู้ถือหุ้นใหม่ ที่มีช่องจีเอ็มเอ็ม 25 เป็นรายล่าสุด

ขณะที่อีกหนึ่งในความพยายามของการบริหารสถานการณ์ของทีวีดิจิทัลนอกจากหาทุนใหม่ ก็ยังมีการลดต้นทุน โดยเฉพาะการลดคน ที่เกิดขึ้นตลอดเวลานับตั้งแต่ปลายปี 2559 จนถึงสิ้นปี 2560

ค่ายเนชั่นที่มีภาระ 2 ช่อง คือช่องข่าวเนชั่นทีวี และช่องวาไรตี้ เอสดี นาว 26 หลังเกิดเหตุการณ์กลุ่มนิวส์ไล่ซื้อหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ฯ จนกลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ แทนกลุ่มของ “สุทธิชัย หยุ่น” จนมีการเล่นเกมชิงอำนาจบริหาร และตอบโต้กันผ่านสื่อในเครือ จนกลายเป็นคดีฟ้องร้องกันหลายคดี จนในที่สุดเครือเนชั่นมีการลดพนักงานแล้วอย่างน้อย 4 ระลอก จากพนักงานในเครือประมาณ 2,000 คน ก็เหลือประมาณ 1,200 คน พร้อมล่าสุดประกาศขายแบบประมูล สมบัติและทรัพย์สินหลายชิ้นในเครือ ทั้งที่ดิน ธุรกิจมหาวิทยาลัย และช่องนาว โดยหวังว่าจะมีรายได้จากการขายประมาณ 1,400 ล้านบาท ท่ามกลางหนี้ที่มีอยู่ประมาณ 2,000 ล้านบาท

นอกจากนี้ยังมีบางช่องอย่างไทยรัฐทีวีที่เริ่มเปลี่ยนผู้บริหารระดับสูง และมีการยกทีมลาออก และรัดเข็มขัดจ้างพนักงานใหม่อย่างระวังต้นทุน ช่องวัน ที่มีการให้ทีมเดิมลาออกเพื่อจ้างคนกลุ่มใหม่ที่ช่องตั้งเป้าเพิ่มเรตติ้ง

ช่องวอยซ์ทีวีในยุคการเมืองผลัดใบก็ลดคนจำนวน 127 คน จากพนักงานประมาณ 400 คน ช่อง 3 ที่ไตรมาส 4 ปี 2560  นี้คาดว่ารายได้และกำไรไม่สดใส หลังจาก 3 ไตรมาสที่ผ่านมา รายได้ลดต่อเนื่องจนเป็นปีแรกที่ไม่ได้จ่ายโบนัส