แม่มณีบุกปั๊มน้ำมัน! เมื่อเชลล์จูบปากเอสซีบี จ่ายค่าน้ำมันด้วยคิวอาร์โค้ด

บทความโดย : อรรถสิทธิ์ เหมือนมาตย์

เดินเกมรุกนำบริการชำระเงินผ่าน คิวอาร์ โค้ด ไปให้ร้านค้าต่างๆ ใช้งานอย่างคึกคักมาแล้ว คราวนี้ เอสซีบี ถึงคิวบุกสถานีบริการน้ำมันเชลล์ รับชำระค่าน้ำมันเชื้อเพลงผ่านระบบดังกล่าวเป็นครั้งแรก

จากการผนึกกำลังระหว่างเชลล์และธนาคารไทยพาณิชย์ที่ใช้เวลาปลุกปั้นโปรเจกต์นี้เพียง 2 สัปดาห์เพื่อเดินหน้าเข้าสู่สังคมไร้เงินสดอย่างเต็มตัว หลังจากที่ก่อนหน้านี้ ปตท.จับมือกับธนาคารกสิกรไทยชำระสินค้าและบริการผ่านคิวอาร์ โค้ดในส่วนธุรกิจที่ไม่ใช่น้ำมันมาแล้ว

เมื่อเป็นสถานีนำร่อง จึงไม่มีที่ไหนจะเหมาะเจาะกับการเปิดตัว Digital Cashless Station เท่ากับสถานีบริการน้ำมันเชลล์เลิศตระการ ซึ่งตั้งอยู่ตรงข้ามกับธนาคารไทยพาณิชย์ สำนักงานใหญ่ รัชโยธิน พอดี

โดย Dive-in pay Station ถูกกันให้เป็นพื้นที่สำหรับชำระค่าน้ำมันเชื้อเพลิงด้วยคิวอาร์โค้ด สำหรับทั้งรถยนต์และรถจักรยานยนต์ ต้องอยู่บนพื้นที่ปลอดภัยในการใช้โทรศัพท์มือถือตามกฎกระทรวง ต้องไม่อยู่ใต้ชายคาที่ตั้งของหัวจ่าย

อรอุทัย ณ เชียงใหม่ กรรมการบริหาร ธุรกิจการตลาดค้าปลีก ประจำประเทศไทย บอกว่านี่คือความเคลื่อนไหวครั้งสำคัญของเชลล์ในการตอบรับไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคยุคใหม่ ในเรื่องความสะดวกสบาย ความปลอดภัย และความรวดเร็ว 

“ปัจจุบัน transaction ของปั๊มเชลล์ราว 70-80% เป็นเงินสด แต่หากภายในกลางปี 2561 นี้ จะเพิ่มการรับชำระค่าเชื้อเพลิงด้วยคิวอาร์โค้ดได้ครอบคลุมทั้ง 520 สาขา  4 ฟอร์แมต ที่ปัจจุบันกระจายอยู่ทั่วประเทศ ซึ่งจะรวมถึงการขยายระบบชำระเงินคิวอาร์ โค้ด ในส่วนของกลุ่มธุกิจที่ไม่ใช่น้ำมัน ทั้งร้านสะดวกซื้อเชลล์ ซีเล็ค ร้านกาแฟเดลี่คาเฟ่ และศูนย์เปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่องเชลล์ เฮลิกส์ พลัส ไปพร้อมๆ กัน ก็คาดว่าสัดส่วนการใช้เงินสดจะลดลงเหลือประมาณ 60%”

อรอุทัยยังแจกแจงอีกว่า การชำระค่าเชื้อเพลิงด้วยคิวอาร์โค้ดนี้ จะช่วยลดความเสี่ยงในเรื่องของการจี้ ปล้น ซึ่งจัดเป็นความเสี่ยงอันดับ 3 ของสถานีบริการน้ำมันลงไปได้ โดยความเสี่ยงอันดับหนึ่งและสองตามลำดับ คือ ปริมาณทราฟฟิกของลูกค้าที่ไม่คงที่ และข้อผิดพลาดที่เกิดจากการที่พนักงานเติมน้ำมันล้นถัง

แม้ในช่วงแรกของการให้บริการในสถานีบริการน้ำมันเชลล์แห่งนี้ อรอุทัยจะยอมรับว่ายังคงขลุกขลักอยู่บ้าง เพราะ Customer Journey ยังไม่ลื่นไหลเท่าที่ควร เนื่องจากเมื่อเติมน้ำมันแล้ว ต้องขับรถไปชำระด้วยคิวอาร์โค้ดที่ Drive-in pay Station ที่ไม่มีทางออกโดยเฉพาะ ลูกค้าต้องถอยรถเพื่อกลับออกไปอีกทาง แต่สำหรับการให้บริการสาขาอื่นๆ ในอนาคตจะต้องราบรื่นมากกว่านี้ โดยจะพพัฒนาให้เป็นไปในรูปแบบของ Drive-through โดยสมบูรณ์ให้ได้

ทั้งนี้ สัดส่วนรายได้ของเชลล์ในปี 2560 มาจากธุรกิจน้ำมัน 80% และธุรกิจที่ไม่ใช่น้ำมัน 20% ซึ่งปัจจุบันประกอบด้วยร้านสะดวกซื้อเชลล์ ซีเล็ค 74 สาขา (คิดเป็นสัดส่วน 14.23% ของสถานีบริการน้ำมันเชลล์ทั้งหมด และปีที่ผ่านมาไม่มีการเปิดสาขาใหม่ เพราะต้องการปรับโอเปอเรชั่นสาขาที่มีอยู่แล้วทั้งหมดให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น), ร้านกาแฟเดลี่คาเฟ่ 55 สาขา (คิดเป็นสัดส่วน 10.58% ของสถานีบริการน้ำมันเชลล์ทั้งหมด) และศูนย์เปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่องเชลล์ เฮลิกส์ พลัส 350 สาขา (คิดเป็นสัดส่วน  67%  ของสถานีบริการน้ำมันเชลล์ทั้งหมด)

ด้าน อภิพันธ์ เจริญอนุสรณ์ รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส ผู้บริหารสูงสุดปฏิบัติการ Retail Products และ Retail Payments ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า เป้าหมายของธนาคารไทยพาณิชย์ คือ ต้องการบรรลุยอดให้บริการชำระเงินด้วยคิวอาร์โค้ดที่ 1,000,000 ราย ภายในสิ้นปี 2561 นี้

นับเป็นการออกโรงอย่างแข็งขันของธนาคารพาณิชย์รายใหญ่ของไทย เพื่อต่อกรกับบรรดาผู้ให้บริการรับชำระเงินข้ามชาติที่กำลังบุกไทยในขณะนี้ ซึ่งการจะสู้ศึกได้อย่างไม่เพลี่ยงพล้ำนั้น จะต้องหาพันธมิตรที่แข็งแกร่ง มีวิสัยทัศน์ และมีสปีดที่ใกล้เคียงกันอย่างเชลล์

สำหรับพันธมิตรของธนาคารไทยพาณิชย์ที่นอกเหนือไปจากสถานบริการน้ำมันนั้น ธนา เธียรอัจฉริยะ รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส Chief Marketing Officer ที่รับผิดชอบภาพรวมการตลาด ในฐานะรักษาการ Chief Marketing Officer ธนาคารไทยพาณิชย์ ให้รายละเอียดเพิ่มเติมว่า การชำระเงินด้วยคิวอาร์โค้ดได้รับการตอบรับที่ดีจากพันธมิตรธุรกิจหลายราย ทั้งในส่วนของธุรกิจสินค้าอุปโภคบริโภค อาทิ โอสถสภา และยูนิลีเวอร์ (เน้นในส่วนของ B2B โดยเฉพาะ Cash Van), ธุรกิจขนส่ง รวมถึงเชนร้านอาหารต่างๆ และขณะนี้ก็กำลังอยู่ในระหว่างการเจรจาเรื่อง Payment Solution ทั้งหมดกับเดอะมอลล์กรุ๊ปด้วย

“ที่ผ่านมาเราทดลองเยอะว่าจะเอาร้านค้าก่อนหรือลูกค้าก่อนดี แต่หลังจากเราเปิดตัวแม่มณี พบว่าเรามาถูกทางแล้ว คือต้องมีที่ใช้ก่อน คนถึงจะใช้ เพราะต่อให้มีคนใช้จริงๆ แต่ไม่มีร้านไหนขึ้นป้ายชัดเจน หรือมีป้ายแต่คว่ำไว้ คิวอาร์ โค้ด เพย์เมนต์ ก็ไม่มีทางเกิดขึ้นได้จริง”

สำหรับความเคลื่อนไหวธุรกิจที่ไม่ใช่น้ำมันของเชลล์ จะแถลงข่าวในช่วงกลางเดือนกุมภาพันธ์นี้ ซึ่งทาง POSITIONING จะเกาะติดความคืบหน้าและความเคลื่อนไหวที่คาดว่าจะเป็นก้าวสำคัญของเชลล์ในการลุยธุรกิจค้าปลีกมานำเสนอแบบเจาะลึกต่อไป โปรดติดตาม.