ยกแรกปี 61 ทีวีดิจิทัล โมโน ยึดที่ 3 แซงเวิร์คพอยท์-ช่องหลักเปิดศึกแย่งชิงผู้ชม 35+

การแข่งขันทีวีดิทัลเดินทางมาบนเส้นทางเกือบ 1 ใน 3 ของธุรกิจทะเลเดือดเลือดสาด จากใบอนุญาตที่มีอายุทั้งหมด 15 ปีแล้ว ปีนี้เป็นปีที่ 4 แล้วที่ 22 ช่องยังคงมีลมหายใจอยู่ หลังจากที่ปี 2558 ช่องในกลุ่มทีวีพูลถอดปลั๊กปล่อยจอดำไปแล้ว เพราะไม่มีทุนไปต่อ

ทุกนาทีมีค่าในธุรกิจทีวี การเริ่มปีใหม่จึงมีความหมาย เพราะช่องไหนที่ดึงคนดูได้ตั้งแต่ต้นปี ไม่ต่างจากการสะสมไมล์ผลงานที่ต้องทำต่อเนื่องสม่ำเสมอตลอดทุกนาทีในช่วง 365 วัน

ผลงาน 7 วันแรกของปี 2561 ช่วงวันที่ 1-7 ม.ค. 2561 เปรียบเทียบกับสัปดาห์สุดท้ายของปี 2560 วันที่ 25-31 ธ.ค. 2560 ซึ่งเป็นสองสัปดาห์คาบเกี่ยวช่วงปีใหม่ มีวันหยุดทำการสัปดาห์ละ 2 วันเหมือกัน จากการวัดเรตติ้งทั่วประเทศ ที่นีลเส็นเก็บตัวอย่างอายุ 4 ปี ขึ้นไป ทั้ง 25 ช่องที่รวมทีวีกลุ่มสาธารณะไปด้วย ส่วนใหญ่อยู่ในอันดับเดิม และส่วนใหญ่มีตัวเลขลดลง เมื่อเทียบกับสัปดาห์ก่อนหน้านั้น

***เคลียร์ผังวันปีใหม่ไม่ช่วยเรตติ้ง

ผลงานสัปดาห์แรกปี 2561 อันดับ 1 ยังคงเป็นช่อง 7 เฉลี่ยทั้งช่องทำได้ 2.111 สูงกว่า สัปดาห์สุดท้ายปี 60 ที่ได้ 2.052

อันดับ 2 เป็นช่อง 3 เอชดี 1.086 น้อยกว่าสัปดาห์สุดท้ายปี 60 ที่ได้ 1.126

อันดับ 3 ช่องโมโนเบียดเวิร์คพอยท์ขึ้นมา โดยทำเรตติ้งได้ 0.895  สูงกว่าสัปดาห์สุดท้ายของปี 60 ที่ได้ 0.772

อันดับ 4 ช่องเวิร์คพอยท์ 0.791 น้อยกว่าสัปดาห์สุดท้ายปีที่แล้วเล็กน้อยมาก คือ 0.792 และอันดับ 5 เป็นของช่อง 8 ทำได้ 0.618 น้อยกว่าสัปดาห์ก่อนหน้าที่ได้ 0.632

ส่วนอันดับรองๆ ลงมา ก็ยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงอันดับมากนัก นอกจากช่อง 3 ที่ตัวเลขลดลง ยังมีเวิร์คพอยท์และช่อง 8 ที่ตัวเลขลดลงเล็กน้อย ช่องอื่นๆ ส่วนใหญ่ตัวเลขเรตติ้งก็ลดลง เมื่อเทียบกับสัปดาห์ก่อนหน้านั้น

เช่นเดียวกับช่องวัน ที่แม้รักษาตำแหน่งอันดับ 6 เช่นกัน แต่ตัวเลขลดลง คือได้ 0.491 จากสัปดาห์ก่อนหน้า ยังทำได้ 0.540 หลังใช้กลยุทธ์ดูมาราธอน 6 วันกับละครเรื่องที่เพิ่งจบไป คือ เธอคือพรหมลิขิต

“ในช่วงคาบเกี่ยว 5-6 วัน ปลายปีถึงต้นปี แทบจะไม่มีสินค้าบริการอยากซื้อเวลาโฆษณา เพราะผู้ชมทีวีไม่อยู่หน้าจอทีวี มีงานเลี้ยงสังสรรค์ เดินทางท่องเที่ยวมากกว่า หลายช่องจึงใช้กลยุทธ์นำคอนเทนต์ท่ีมีต้นทุนไม่สูงมากนักมาออนแอร์ แทนรายการประจำ และรอนำรายการประจำมาเริ่มออนแอร์หลังปีใหม่” แหล่งข่าวกล่าว

คอนเทนต์ที่นำมาแทน เช่น ช่อง 3 ปรับผังเก็บละคร ไพรม์ไทม์หลัง 2 ทุ่ม บางวัน และซีรีส์อินเดีย นาคิน วาไรตี้เสาร์ อาทิตย์ หลัง 6 โมงเย็นไว้ก่อน และนำหนังจีนเฉินหลงมาออนแอร์แทนรวม 6 วัน (27-29  ธ.ค. 60 และ 1-3 ม.ค. 61) และช่องวันที่นำละครรีรัน มาออนแอร์ 6 วันเช่นกัน (26 ธ.ค.60-1 ม.ค.61)

***ความหวังทีวีดิจิทัลดึงผู้ชมอายุ 35+ 

ช่องที่ถูกจับตา นอกเหนือจากช่อง 7 และ 3 ในฐานะช่องเก่า รายใหญ่แล้ว ยังมีอีก 4 ช่อง ที่แข่งกันหนัก เกาะกลุ่มเรตติ้งใกล้กัน จัดเป็นช่องที่มีคอนเทนต์พยายามเข้าถึงกลุ่มผู้ชมทุกกลุ่ม โดยเฉพาะกลุ่มผู้ใหญ่ ที่ต่างอาจมีการเน้นกลุ่มพื้นที่เช่น ทั่วประเทศ หัวเมือง หรือ กทม.

“หากพิจารณาจากเรตติ้ง ช่องที่ได้เรตติ้งสูง ไม่ใช่มีรายการใดรายการหนึ่งที่ดัง แต่ต้องมีรายการอื่นๆ แรงส่งซึ่งกันและกันด้วย และที่สำคัญการจับกลุ่มผู้ชมได้ถูกกลุ่ม โดยเฉพาะกลุ่มอายุ 35 ปีขึ้นไปที่ตอนนี้เป็นฐานผู้ชมหลัก ที่ยังคงเปิดทีวี ขณะที่วัยรุ่นไม่ดูทีวีแล้ว และแม้แต่กลุ่มวัยเริ่มทำงาน ก็ดูจากเน็ตมากกว่า” แหล่งข่าวกล่าว

ตัวอย่างช่องค่ายแกรมมี่ ที่มี 2 ช่อง คือช่องจีเอ็มเอ็ม 25 ที่เรตติ้งหลุดจาก 10 อันดับแรก ทั้งที่มีคอนเทนต์รายการที่คนพูดถึงในโซเชียล แต่เมื่อเจาะกลุ่มวัยรุ่นรวมถึงอายุ 20-30 ปีเป็นหลัก ที่ไม่เปิดทีวี การวัดเรตติ้งของจีเอ็มเอ็ม 25 จึงดีไม่เท่าช่องวัน ที่จับกลุ่มผู้ใหญ่

ช่องจีเอ็มเอ็ม 25 สัปดาห์ที่ผ่านมาอยู่ในอันดับ 13 เรตติ้ง 0.110 ถ้าดูเฉลี่ยปี 2560 จีเอ็มเอ็ม 25 อยู่ที่ 14 เรตติ้ง 0.121 ขณะที่ช่องวันสัปดาห์ที่ผ่านมาอยู่ที่อันดับ 6 เรตติ้ง 0.491 เฉลี่ยปี 2560 อยู่อันดับเดิม ด้วยเรตติ้ง 0.537

นอกจากนี้กลุ่มที่จับกลุ่มเฉพาะ อย่างช่องข่าว แม้จะมีจุดยืนว่าเป็นช่องข่าว แต่รายการอื่นในผังไม่สามารถดึงผู้ชมได้ ก็พารายการข่าวเรตติ้งไม่ดีด้วย กลายเป็นกลุ่มช่องที่อยู่อันดับท้ายของการจัดเรตติ้ง

แหล่งข่าวชี้ให้เห็นว่า เหตุผลหลักคือช่องอื่นที่ไม่ใช่ช่องข่าว แต่มีรายการวาไรตี้ ก็ทำให้คนแช่ช่องจนดูรายการต่อเนื่องไปด้วย จนกลายเป็นแฟนประจำ เพราะส่วนใหญ่ทำรายการข่าวได้เทียบเท่า หรือบางช่องดีกว่าช่องข่าวอีกด้วย แต่โอกาสของช่องข่าวจะสร้างแบรนด์ ดึงมีผู้ชมกลับมาเมื่อมีเหตุการณ์ หรือสถานการณ์เป็นข่าวที่เป็นที่สนใจขึ้นมา

สถานการณ์ของช่องข่าวยังต้องรับมือการปรับตัวของช่องใหญ่ที่จัดทัพรายการข่าวใหม่กันอย่างคึกคัก ทั้งเปลี่ยนทีมเบื้องหลัง และพิธีกรข่าว

***ดูละครชิงโชคกระตุ้นเรตติ้ง

การชิงโชค ชิงของรางวัลยังถูกนำมาใช้กระตุ้นเรตติ้งบ่อยครั้ง ไม่ว่าจะเป็นรายการข่าว รายการวาไรตี้ หรือแม้แต่ละคร หลายช่องทำแคมเปญชิงโชคตั้งแต่ช่วงปีแรกของการออนแอร์ทีวีดิจิทัล

ล่าสุดช่อง 3 ที่ปีที่แล้วผู้บริหารต้องลุ้นเรตติ้งละครแต่ละเรื่องอย่างหนัก โดยละครทั้งหมดหลายสิบเรื่อง ปรากฏว่ามีเพียง 5 เรื่องที่ได้เรตติ้งเฉลี่ยทั้งเรื่องสูงกว่า 5 คือ คลื่นชีวิต 5.98 บัลลังก์ดอกไม้ 5.38 เพลิงบุญ 5.34 คิวปิด 2 ตอนคือ กามเทพออกศึก 5.05กามเทพซ้อนกล 5.02 ขณะที่ช่อง 7 มีเรื่องที่ได้เรตติ้งสูงสุดคือนายฮ้อยทมิฬ 8.02

ขึ้นปีใหม่ ละครชุดใหม่ที่เริ่มออนแอร์ช่วงไพรม์ไทม์หลัง 2 ทุ่มช่อง 3 จึงต้องใช้กลยุทธ์ดูละครไปลุ้นชิงโชคไปด้วย แจกรถแบรนด์ MG 3 จำนวน 5 คัน และ ไอโฟน 6s จำนวน 20 เครื่อง ระยะเวลาแคมเปญประมาณ1 เดือน คือช่วง 15 ม.ค.- 18 ก.พ.61 มีเรื่อง “ระเริงไฟ” ที่ออนแอร์มาตั้งแต่เดือนที่แล้ว จะจบในสิ้นเดือน ม.ค.นี้ ส่วนเรื่องใหม่ปีนี้คือ บ่วงรักซาตาน, เสน่ห์นางงิ้ว และไข่มุกมังกรไฟ