Uber เตรียมออกจากตลาดเอเชีย ! หลังปิดดีลซบอก SoftBank

แฟ้มภาพสำนักงาน Uber ในแอฟริกา ซึ่งเป็นหนึ่งในตลาดนอกจากเอเชีย ที่มีการวิเคราะห์ว่า Uber อาจให้ความสำคัญน้อยลง 

รวมประเด็นร้อนหลังจากอูเบอร์ (Uber) ผู้ให้บริการแอปพลิเคชันรถร่วมเดินทางรายใหญ่ระดับโลกที่สามารถปิดดีลขายหุ้นมูลค่า 9.3 พันล้านเหรียญสหรัฐสำเร็จโดยมีซอฟต์แบงก์ (SoftBank) เป็นผู้ถือหุ้นหลัก ข้อมูลเบื้องต้นชี้ว่า SoftBank มีแผนให้ Uber เน้นทำตลาดในสหรัฐอเมริกาและยุโรปเป็นหลัก เท่ากับตลาดแอฟริกาและเอเชียอาจจะถูกลดความสำคัญลงในระยะยาว

นอกจากนี้ สาระสำคัญของดีลยังมีการกำหนดถึงการเปลี่ยนแปลงการกำกับดูแลรวมถึงการขยายตัวของบอร์ดบริหารด้วย โดย SoftBank มีแผนดึงผู้บริหารบริษัทในเครืออย่างสปรินท์ (Sprint) มานั่งเก้าอี้บอร์ด ซึ่งจะผลักดันนโยบายของ SoftBank ให้เห็นผลเป็นรูปธรรมใน Uber มากขึ้น

ที่สำคัญ มีการประเมินว่าดีลนี้ทำให้ผู้ร่วมก่อตั้ง Uber อย่างทราวิส คาลานิก (Travis Kalanick) รับทรัพย์มูลค่ากว่า 1.4 พันล้านเหรียญสหรัฐไปสบายกระเป๋า ทำให้เขามีทรัพย์สินในมือมากกว่า 4.7 พันล้านเหรียญสหรัฐในขณะนี้

Uber อาจออกจากบางตลาด

ไม่เพียง SoftBank มีแผนจะดึงผู้บริหารมือดีอย่างราจีฟ มิสรา (Rajeev Misra) ของ Sprint มาเป็นกรรมการ Uber แต่ผู้ถือหุ้นใหญ่ Uber ส่งสัญญาณต้องการให้ Uber เน้นความสำคัญไปที่ตลาดสหรัฐอเมริกาและยุโรป ซึ่งมีสื่อบางรายวิเคราะห์ว่า Uber อาจออกจากตลาดแอฟริกาและเอเชีย ที่มีการแข่งขันสูงมาก

ข้อมูลเบื้องต้นชี้ว่า SoftBank ต้องการให้ Uber เน้นทำตลาดในสหรัฐอเมริกาและยุโรปเป็นหลัก

สำนักข่าว Quarts รายงานว่า Uber อาจจะถูกดึงออกจากตลาด 15 เมืองในแอฟริกา และอีกหลายเมืองใหญ่ในเอเชีย

แม้ Uber จะระบุว่าเงินทุนจาก SoftBank จะช่วยให้ บริษัทสามารถเททรัพยากรในการให้บริการ “แก่ผู้คนในสถานที่ต่างๆทั่วโลก” ได้ดีกว่าเดิม แต่ในคำให้สัมภาษณ์ต่อสื่อใหญ่อย่างไฟแนนเชียลไทม์ส (Financial Times) พบว่า SoftBank มีวิสัยทัศน์ที่ต่างไป โดย Rajeev Misra ผู้อำนวยการบอร์ด SoftBank ยอมรับว่า Uber มีโอกาสประสบความสำเร็จและผลกำไรที่ดีกว่าหากมุ่งเน้นเฉพาะตลาดหลัก เช่น สหรัฐฯ ยุโรป ละตินอเมริกา และออสเตรเลีย

อย่างไรก็ตาม Softbank นั้นมีหุ้นอยู่ในบริการคู่แข่งของ Uber เช่น Ola ของประเทศอินเดีย และ Didi ของประเทศจีนอยู่แล้ว ดังนั้นจึงอาจไม่น่าแปลกใจที่อาจต้องการให้ Uber มุ่งเน้นไปที่ตลาดหลัก ซึ่งจะไม่แข่งขันกับการลงทุนในประเทศอื่น

นอกจากนี้ การดึง Uber ออกจากตลาดรองอาจจะช่วยให้บริษัทลดข้อขัดแย้งลงด้วย โดยเฉพาะปัญหาด้านกฎระเบียบเช่น มาตรการการจัดเก็บภาษี รวมถึงแรงกดดันให้ต้องมีความร่วมมือกับกระทรวงคมนาคมหลายประเทศเพื่อพัฒนากรอบการกำกับดูแลสำหรับเทคโนโลยีแอปพลิเคชันร่วมเดินทาง เช่นเดียวกับการต่อต้านโดยสหภาพรถแท็กซี่ในหลายประเทศ 

ผู้ก่อตั้ง Uber รวยเละ

สำหรับผู้ก่อตั้งอย่าง Travis Kalanick การเทเงินของ SoftBank เพื่อเข้าเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ที่สุดของ Uber ทำให้ Kalanick และผู้สนับสนุนในช่วงต้นได้รับเงินเข้ากระเป๋าสบายอุรา โดยรายงานชี้ว่าเฉพาะ Kalanick ซึ่งถูกตัดขาดจากตำแหน่ง CEO เมื่อปีที่แล้วหลังมีปัญหาคารังคาซัง จะได้รับเงิน 1.4 พันล้านเหรียญหรือประมาณ 44,580 ล้านบาท ทำให้ทรัยพ์สินรวมทะลุหลัก 4.74 พันล้านเหรียญ (ราว 1.5 แสนล้านบาท)

ผู้ร่วมก่อตั้ง Uber อย่างทราวิส คาลานิก (Travis Kalanick) รับทรัพย์มูลค่ากว่า 1.4 พันล้านเหรียญสหรัฐไปสบายกระเป๋า

ในขณะที่ยังไม่มีความเห็นจาก Kalanick โฆษกของ Uber กล่าวในแถลงการณ์ว่าบริษัทภูมิใจที่มี SoftBank, Dragoneer และกลุ่มพันธมิตรทั้งหมดเข้ามาเป็นครอบครัว Uber เชื่อว่าการขายหุ้นครั้งนี้จะเป็นผลดีสำหรับผู้ถือหุ้นทุกคน พนักงาน และลูกค้า

การลงทุนครั้งนี้ยังช่วยเพิ่มสภาพคล่องของพนักงาน ในช่วงที่ Uber ต้องเผชิญความตึงเครียด ก่อนที่ Uber มีเป้าหมายเพื่อเสนอขายหุ้นแก่ประชาชนในปี 2019 ขณะเดียวกัน SoftBank ถูกมองเป็นนักลงทุนที่บุกหนักหน่วงใน Silicon Valley และกำลังเดินเข้ากองไฟ เพราะ Uber กำลังได้รับผลกระทบจากคดีความเรื่องการละเมิดข้อมูลจำนวนมาก รวมถึงตกเป็นเป้าถูกตรวจสอบเรื่อง “วัฒนธรรมที่เป็นอันตราย” ในที่ทำงานด้วย

การเปลี่ยนแปลงใน Uber นี้ถือเป็นอีกก้าวสำคัญสำหรับซีอีโอ Dara Khosrowshahi ผู้ซึ่งถูกวางความหวังว่าจะเข้ามาสางปมทั้งหมดให้คลี่คลายได้ในเร็ววัน

ที่มา : mgronline.com/cyberbiz/detail/9610000006286