คอนเทนต์ไม่ปัง โพสต์เยอะแค่ไหนแต่ไม่สร้างเอ็นเกจ รีวิว 21 ธุรกิจใช้โซเชียลมีเดีย

เรื่อง : โธธ โซเชียล

เมื่อผู้บริโภคทุกวันนี้ ใช้โซเชียลมีเดียในการอัพเดตข่าวสาร ไม่ว่าจะเป็นเพื่อน ครอบครัว คนรู้จัก เรื่องดราม่าในสังคม รวมถึงข่าวสารจากสินค้าหรือบริการที่แต่ละคนสนใจ แบรนด์เองก็ปรับตัวหันมาสื่อสารกับลูกค้าผ่านโซเชียลมีเดียมากขึ้นเช่นกัน เช่นเดียวกับแพลตฟอร์มที่มีการปรับฟีเจอร์ต่างๆ เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้ใช้งาน ทั้งภาคธุรกิจและผู้ใช้งานทั่วไปอยู่ตลอดเวลา จึงไม่แปลกใจที่เราจะเห็นภาคธุรกิจในหลายๆ อุตสาหกรรมกระโดดลงมาสื่อสารผ่านผ่านโซเชียลมีมากขึ้น

โธธ โซเชียล ได้เก็บรวบรวมข้อมูลมาตลอดปี 2560 (1 มกราคม – 31 ธันวาคม 2560) เพื่อดูสถิติการใช้งานโซเชียลมีเดียผ่าน 4 แพลตฟอร์มหลัก คือ Facebook, Instagram, Twitter และ Youtube ของ 21 กลุ่มธุรกิจ ได้แก่

  1. กลุ่มธุรกิจสายการบิน (Airline)
  2. กลุ่มธุรกิจยานยนต์ (Automobile)
  3. กลุ่มธุรกิจธนาคาร (Banking)
  4. กลุ่มธุรกิจสถาบันความงาม (Beauty Clinic)
  5. กลุ่มธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (Beverage Alcohol)
  6. กลุ่มธุรกิจเครื่องดื่มไม่ผสมแอลกอฮอล์ (Beverage Non-Alcohol)
  7. กลุ่มธุรกิจเครื่องใช้ไฟฟ้า (Consumer Electrics)
  8. กลุ่มธุรกิจเครื่องสำอาง (Cosmetic)
  9. กลุ่มธุรกิจพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (E-Commerce)
  10. กลุ่มธุรกิจอุปโภคบริโภค (FMCG Foods)
  11. กลุ่มธุรกิจร้านอาหาร (Food Retail)
  12. กลุ่มธุรกิจโรงพยาบาล (Hospital)
  13. กลุ่มธุรกิจประกัน (Insurance)
  14. กลุ่มธุรกิจอิเลคทรอนิกส์ (IT & Digital)
  15. กลุ่มธุรกิจแม่และเด็ก (Mom and Baby)
  16. กลุ่มธุรกิจสินค้าของใช้ส่วนตัว (Personal Care)
  17. กลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ (Real Estate)
  18. กลุ่มธุรกิจร้านค้าปลีก (Retail Store)
  19. กลุ่มธุรกิจห้างสรรพสินค้า (Shopping Store)
  20. กลุ่มธุรกิจรัฐวิสาหกิจ (State & Enterprise)
  21. กลุ่มธุรกิจโทรคมนาคม (Telecom)

พบว่าในกล่มธุรกิจเหล่านี้ แบรนด์มีการโพสต์ทั้งหมด 431,296 ครั้ง และเกิดเป็น 2,951,956,953 เอ็นเกจเมนต์ โดยเราจะพาไปดูรายละเอียดในแต่ละแพลตฟอร์มกันครับ

ขอเริ่มที่ช่องทางแรก Facebook ที่มีจำนวนโพสต์เฉลี่ยสูงสุด จำนวน 277,765 ครั้ง เอ็นเกจเมนต์ทั้งหมด 394,816,330

กลุ่มธุรกิจที่มีจำนวนโพสต์มากที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่

  1. กลุ่มธุรกิจห้างสรรพสินค้า
  2. กลุ่มธุรกิจพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์
  3. กลุ่มธุรกิจสถาบันความงาม

กลุ่มธุรกิจที่ได้รับ Average Engagement สูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่

  1. กลุ่มธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
  2. กลุ่มธุรกิจร้านอาหาร
  3. กลุ่มธุรกิจธนาคาร

จากสถิติจะเห็นว่า การโพสต์เยอะไม่ได้หมายความว่าจะได้รับเอ็นเกจเมนต์เยอะตามไปด้วย ที่เห็นได้ชัดคือกลุ่มธุรกิจห้างสรรพสินค้า ที่ถึงแม้จะมี Average post สูงที่สุด แต่ได้รับ Average Engagement ต่ำ เป็นไปได้ว่าคอนเทนต์ที่โพสต์ออกไปนั้นยังไม่โดนใจกลุ่มเป้าหมาย ยิ่งหลังจาก ‘มาร์ค ซัคเกอร์เบิร์ค’ ออกมายืนยันแล้วว่าตั้งแต่นี้ไปเฟซบุ๊กจะเริ่มปรับการแสดงผลบนนิวส์ฟีดใหม่หมด โดยเนื้อหาของเพจต่างๆ จะลดลง ยิ่งทำให้แบรนด์ต้องปรับตัวในการใช้ Facebook สำหรับการสื่อสาร หันมาทำกลยุทธ์คอนเทนต์ให้ดีและปัง ให้โดนใจกลุ่มเป้าหมายมากขึ้น

ต่อกันที่ Instagram มีจำนวนโพสต์ทั้งหมด 61,344 ครั้ง เกิดเอ็นเกจเมนต์ 14,660,871 เอ็นเกจเมนต์

กลุ่มธุรกิจที่จำนวนที่โพสต์มากที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่

  1. กลุ่มธุรกิจห้างสรรพสินค้า
  2. กลุ่มธุรกิจพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์
  3. กลุ่มธุรกิจสถาบันความงาม

กลุ่มธุรกิจที่ได้รับ Average Engagement ดีที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่

  1. กลุ่มธุรกิจสายการบิน
  2. กลุ่มธุรกิจรัฐวิสาหกิจ
  3. กลุ่มธุรกิจสินค้าของใช้ส่วนตัว

เมื่อเปรียบเทียบค่าเฉลี่ยโดยรวมของ Average post ของ Facebook และ Instagram แล้ว พบว่า ค่าเฉลี่ยบน Instagram อยู่ในสัดส่วนที่น้อยกว่า เป็นเพราะว่าแบรนด์หรือธุรกิจยังคงใช้ Facebook เป็นช่องทางหลักในการสื่อสารกับลูกค้าของตัวเองอยู่ ประเด็นที่น่าสนใจ คือ กลุ่มธุรกิจ 3 อับดับแรกที่ Active มากที่สุดบน Instagram ก็ยังเป็นกลุ่มเดียวกับ Facebook

ตามมาที่ Twitter มีจำนวนโพสต์ 79,301 ครั้ง และ 3,699,008 เอ็นเกจเมนต์

กลุ่มธุรกิจที่จำนวนที่โพสต์มากที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่

  1. กลุ่มธุรกิจโทรคมนาคม
  2. กลุ่มธุรกิจรัฐวิสาหกิจ
  3. กลุ่มธุรกิจห้างสรรพสินค้า

กลุ่มธุรกิจที่ได้รับ Average Engagement ดีที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่

  1. กลุ่มธุรกิจประกัน
  2. กลุ่มธุรกิจโรงพยาบาล
  3. กลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์

โดยภาพรวมแล้ว Average Engagement บนทวิตเตอร์ยังมีจำนวนน้อยกว่า Facebook และ Instagram แต่จากกราฟจะเห็นได้ว่า มีบางกลุ่มธุรกิจที่เริ่มหันมาใช้ทวิตเตอร์เป็นช่องทางในการสื่อสารกับลูกค้าแล้วด้วยเช่นกัน ยกตัวอย่างกลุ่มโรงพยาบาล ที่ได้รับ Average Engagement บน Facebook ค่อนข้างน้อย แต่ได้รับบนทวิตเตอร์มากเป็นอันดับที่ 2 รองจาก กลุ่มประกันภัย เรียกได้ว่า ทวิตเตอร์ก็เป็นอีกช่องทางหนึ่งที่มีศักยภาพในการสื่อสารกับผู้บริโภค ใครที่จับทางได้ก่อนก็ได้จะได้ประโยชน์ไปก่อน แต่สิ่งที่ควรคำนึงถึง คือ คาแร็กเตอร์ของผู้ใช้งานแต่ละแพลตฟอร์มที่อาจจะมีความชำเพาะเจาะจงแตกต่างกันไป ดังนั้น วิธีการสื่อสารและเนื้อหาคอนเทนต์ก็จะส่งผลอย่างมากกับผลตอบรับที่ได้กลับมา

แพลตฟอร์มสุดท้ายคือ YouTube ถือเป็นช่องทางที่มีการโพสต์น้อยที่สุด คือ 12,886 โพสต์ แต่ได้รับเอ็นเกจเมนต์สูงสุดคือ 2,538,780,744 เอ็นเกจเมนต์

กลุ่มธุรกิจที่จำนวนที่โพสต์สูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่

  1. กลุ่มธุรกิจโทรคมนาคม
  2. กลุ่มธุรกิจธนาคาร
  3. กลุ่มธุรกิจรัฐวิสาหกิจ

กลุ่มธุรกิจที่ได้รับ Average Engagement ดีที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่

  1. กลุ่มธุรกิจสินค้าของใช้ส่วนตัว
  2. กลุ่มธุรกิจพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์
  3. กลุ่มธุรกิจเครื่องดื่มไม่ผสมแอลกอฮอล์

กลุ่มธุรกิจที่เห็นได้ชัดว่าทำได้ดี คือ กลุ่มธุรกิจสินค้าของใช้ส่วนตัว, กลุ่มธุรกิจพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ และกลุ่มธุรกิจเครื่องดื่มไม่ผสมแอลกอฮอล์ พบว่า Average Engagement ที่ได้รับต่อโพสต์สูงในขณะที่จำนวนโพสต์น้อย ส่วนกลุ่มรัฐวิสาหกิจกลับทำได้ไม่ดีเท่าไหร่เพราะถึงแม้จะติดอันดับ 3 ที่มีจำนวนโพสต์สูงแต่เอ็นเกจเมนต์น้อยมาก

หน่วยงานทั้งหลายควรจะต้องมีการปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ หรือแบบแผนในการปล่อยคอนเทนต์เพื่อ Performance ที่ดีขึ้น จุดที่น่าสังเกต คือ กลุ่มรัฐวิสาหกิจทำได้ดีในช่องทาง Instagram ยิ่งตอกย้ำถึงความสำคัญของความเข้าใจลักษณะที่แตกต่างกันไปของผู้ใช้งานในแต่ละช่องทาง ซึ่งจะส่งผลถึงการวางแผนและกลยุทธ์ของการสื่อสาร เพื่อให้ได้ Performance ที่ดีที่สุดอีกด้วย

ทั้งหมดที่กล่าวมานี้เป็นเพียงแค่ภาพรวมของการใช้โซเชียลมีเดียในปี 2560 ของ 21 กลุ่มธุรกิจ ที่จะมีการแจกรางวัล Best Brand performance 2018 ที่งาน Thailand Zocial Awards 2018 ในวันพุธที่ 28 กุมภาพันธ์ 2561 ณ โรงละครเคแบงก์สยามพิฆเนศ ชั้น7 สยามสแควร์วัน ตั้งแต่เวลา 13.00 น. เป็นต้นไป ซึ่งแบรนด์และกลุ่มธุรกิจสามารถร่วมลุ้นผู้ชนะได้ที่งานครับ และติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://thailandzocialawards.com/