เอเอฟพี – กลุ่มคนร่ำรวย 1 เปอร์เซ็นต์ของโลกได้ครอบครองทรัพย์สินถึง 82% ที่งอกเงยขึ้นในปี 2017 ขณะที่คนจนครึ่งโลกไม่ได้อะไรเลย องค์กรการกุศลอ็อกซ์แฟม (Oxfam) ของอังกฤษเผยวันนี้ (22 ม.ค.)
ผลการศึกษาล่าสุดของอ็อกซ์แฟม ซึ่งเผยแพร่ก่อนการประชุมเวิลด์ อีโคโนมิก ฟอรัม ที่เมืองดาวอส ของสวิตเซอร์แลนด์ พบว่า ทรัพย์สินของบรรดามหาเศรษฐีอันดับต้นๆ ของโลกเพิ่มขึ้นเร็วกว่าคนทำงานทั่วไปถึง 6 เท่าตั้งแต่ปี 2010 เป็นต้นมา โดยจะมีมหาเศรษฐีพันล้านเกิดใหม่ 1 คนทุกๆ 2 วัน ระหว่างเดือน มี.ค. ปี 2016 จนถึง มี.ค. 2017
อ็อกซ์แฟมชี้ว่า ตัวเลขดังกล่าวสะท้อนภาพความเหลื่อมล้ำของเศรษฐกิจโลกโดยรวม ในขณะที่คนรวยกอบโกยทรัพย์สินได้มากขึ้นเรื่อยๆ แต่คนจนหลายร้อยล้านคน “ยังมีรายได้แทบไม่พอกิน”
“การมีเศรษฐีหน้าใหม่เพิ่มขึ้นมากๆ ไม่ได้แปลว่าเศรษฐกิจกำลังเติบโตก้าวหน้า แต่เป็นอาการที่บ่งชี้ว่าระบบเศรษฐกิจกำลังล้มเหลว” วินนี ไบอันยีมา ผู้บริหารอ็อกซ์แฟม ระบุในถ้อยแถลง
อ็อกซ์แฟม ย้ำถึงความลำบากของแรงงานสตรี “ที่ยังมีรายได้น้อยกว่าผู้ชายเสมอ” และบ่อยครั้งที่พวกเธอต้องทำงานซึ่งได้ค่าแรงน้อยที่สุด แต่มีความปลอดภัยต่ำที่สุด
ผลการศึกษายังพบว่า 9 ใน 10 ของมหาเศรษฐีพันล้านทั่วโลกเป็นผู้ชาย
รายงานของอ็อกซ์แฟมซึ่งใช้ชื่อว่า “Reward Work, not Wealth” ใช้ข้อมูลจากธนาคารเครดิตสวิสส์เพื่อเปรียบเทียบรายได้ของผู้บริหารและผู้ถือหุ้นระดับสูงสุดกับพนักงานทั่วไป
ผลการศึกษาพบว่า ผู้บริหาร 5 แบรนด์แฟชั่นชั้นนำของโลกใช้เวลาเพียง “4 วัน” ในการหาเงินจำนวนเทียบเท่ากับที่แรงงานสิ่งทอในบังกลาเทศต้องใช้เวลาทำงาน “ทั้งชีวิต”
“แรงงานที่ผลิตเสื้อผ้าให้เราใส่ ประกอบโทรศัพท์มือถือให้เราใช้ และผลิตอาหารให้เรารับประทานกำลังถูกเอารัดเอาเปรียบเพื่อให้มีสินค้าราคาถูกออกสู่ท้องตลาด ขณะที่กำไรมหาศาลตกเป็นของบริษัทกับพวกมหาเศรษฐีนักลงทุน” ไบอันยีมา กล่าว
เพื่อลดปัญหาความไม่เท่าเทียมทางรายได้ อ็อกซ์แฟมเรียกร้องให้รัฐบาลทุกประเทศมีมาตรการจำกัดผลตอบแทนของผู้ถือหุ้นและผู้บริหารระดับสูง อุดช่องว่างรายได้ระหว่างผู้ชายกับผู้หญิง ปราบปรามการหลบเลี่ยงภาษี ตลอดจนจัดสรรงบประมาณอุดหนุนสาธารณสุขและการศึกษาเพิ่มขึ้น
ผลการศึกษาชิ้นนี้ถูกเผยแพร่เพียง 1 วัน ก่อนที่บรรดานักการเมืองและนักธุรกิจทั่วโลกจะเข้าร่วมการประชุมเศรษฐกิจโลกประจำปี เวิลด์ อีโคโนมิก ฟอรัม ที่เมืองสกีรีสอร์ตชื่อดังในสวิตเซอร์แลนด์ โดยธีมการประชุมในปีนี้ คือ “การสร้างอนาคตร่วมกันในโลกที่กำลังแตกแยก” (Creating a Shared Future in a Fractured World)
“จะหานักการเมืองหรือนักธุรกิจใหญ่ๆ ที่ไม่พูดว่าห่วงใยปัญหาความเหลื่อมล้ำนั้นยากเต็มที แต่หาคนที่ลงมือแก้ไขปัญหาจริงๆ นั้นยากกว่า หลายคนยิ่งทำให้สถานการณ์เลวร้ายลงไปอีกด้วยการลดภาษี และลิดรอนสิทธิของแรงงาน” ไบอันยีมา กล่าว.
ที่มา : mgronline.com/around/detail/9610000006689