เมื่อ “MK” ไม่ได้ขายแค่สุกี้

กินอะไร..กินอะไร..กินอะไร ไปกินเอ็มเค!…อาจเป็นประโยคและโฆษณายอดฮิตในหลายปีก่อน แต่ปัจจุบันสถานการณ์ธุรกิจร้านอาหารไม่เหมือนเดิม เมื่อคู่แข่งมีมากขึ้น แถมชาบูยังเป็นมื้ออาหารที่มาแรง เบียดสุกี้ไปไม่น้อยทีเดียว ยิ่ง 3-4 ปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจและกำลังซื้ออยู่ในภาวะซบเซาจะไปรับประทานอาหารนอกบ้านถี่ๆเหมือนตอนมั่งคั่ง ตังค์ในกระเป๋าอู้ฟู่ คงทำไม่ได้ 

ขณะที่ “เทรนด์” ธุรกิจร้านอาหารญี่ปุ่นที่มาแรง เป็นเซ็กเมนต์เดียวที่ยังเติบโตได้ ปัจจัยเหล่านี้ย่อมมีผล “กระเทือน” รายได้ของร้านอาหารประเภทสุกี้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งนับตั้งแต่ปี 2557-2559 แบรนด์เจ้าตลาดแห่งสุกี้ อย่าง “MK เรสโตรองต์” และ “MK โกลด์ เรสโตรองต์” 2 แบรนด์หัวหอกที่ทำเงินให้กับ “เอ็มเค เรสโตรองต์” สัดส่วน 95% มีการปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง สวนทางกับแบรนด์ “ยาโยอิ” ของบริษัทลูก ที่โตวันโตคืน

ปัจจัยลบกระทบรายได้ เป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นกับภาคธุรกิจ แต่สิ่งสำคัญคือการ “ปรับตัว” หาทางสร้างการเจริญเติบโตทางธุรกิจให้ได้

ปี 2559 ธุรกิจอาหารมูลค่าประมาณ 3.82-3.85 แสนล้านบาท เติบโตน้อยเพียง 1.9-2.7% เท่านั้น (ศูนย์วิจัยกสิกรไทย) ซึ่งเทียบกับปี 2558 ตลาดเติบโต 4%

การทำธุรกิจให้เติบโต มีหลายกลยุทธ์ เช่น การขยายไลน์ธุรกิจใหม่ๆ (Diversify) การออกสินค้าเมนูใหม่ การหั่นราคา จัดแคมเปญหรืออัดโปรโมชั่นทางการตลาด เพื่อกระตุ้นให้ผู้บริโภคเพิ่มความถี่ในการรับประทาน เป็นต้น นับตั้งแต่ต้นปี 2561 เลยเห็น MK สุกี้เปิดเกมรุกเต็มที่ จัดครบไม้เด็ดการตลาด เช่น เห็นเทรนด์ผู้บริโภคชาวไทยชอบกิน “ชีส” ก็นำเมนู MK ชีส ซีด แซ่บ สุดคุ้ม มาตอบสนอง เรียกว่าเมนูใหม่ และชูกลยุทธ์ “ราคา” พ่วงมาด้วย ไล่หลังไม่กี่สัปดาห์ ส่งเมนูบะหมี่หมูแดง ที่เป็นการรวม “เมนูพระเอก” มาจูงใจกลุ่มเป้าหมายที่ใช้บริการ “เดลิเวอรี่”

และล่าสุดกับเมนู MK Happy Lunch ในราคา 99 บาท จัดยาวถึงกลางเดือนมีนาคม เพื่อช่วยปั๊มยอดขายไตรมาสแรก

ธุรกิจร้านอาหาร ทำยอดขายได้เป็นเวลา หลักๆ มี 3 มื้อ คือ “กลางวัน” และเย็น ในช่วงกลางวันตั้งแต่ 11.00-15.00 น.ถือเป็นเวลาเร่งด่วน (Rush hour) สำหรับกลุ่มเป้าหมายวัยทำงาน จะให้ผู้บริโภคชุดใหญ่ไฟกะพริบ 400-500 บาท มานั่งรับประทานเป็นชั่วโมงก็คงไม่ได้ ดังนั้นการจัดเมนูพิเศษมาให้บริการ จึงตอบโจทย์จังหวะเวลาได้อย่างดี ส่วนราคาขายถือเป็นการเหมาะสมเอื้อต่อการจ่ายของคนทำงาน

จะเห็นว่าในแวดวงธุรกิจร้านอาหาร ห้ำหั่นโปรโมชั่นใส่กันไม่ยั้งในช่วงกลางวัน เพราะหากไปเดินห้าง มีร้านอาหารหลากหลาย “แบรนด์” มากมาย “เมนู” เป็น “ทางเลือก” ของผู้บริโภค การปล่อยเมนูเด็ด ราคาพิเศษล่อใจ ถือเป็นกลยุทธ์ที่ช่วยช่วงชิง Traffic ได้ไม่น้อย

ส่วนช่วงเย็นเป็นเวลาที่ลูกค้าต้องไปนั่งง้อรอคิวเข้าร้าน เพราะเลิกงานก็ต้อง Relax และการได้อิ่มท้องนอกบ้านถือเป็นหนึ่งในไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคยุคปัจจุบันด้วย ซึ่งข้อมูลจาก “นีลเส็น ประเทศไทย” ระบุว่า 2560 คนไทยทานข้าวนอกบ้านเฉลี่ย 56 ครั้งต่อเดือน เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่มีอัตราเฉลี่ย 50 ครั้งต่อเดือน

ปัจจุบันเอ็มเค เรสโตรองต์ ไม่ได้มีแค่ “สุกี้” และร้านอาหารญี่ปุ่นยาโยอิเท่านั้น บริษัทแตกไลน์ทำธุรกิจอาหารหลากหลายประเภทมากขึ้น ทั้งร้านอาหารไทยแบรนด์ ณ สยาม และเลอ สยาม, ร้านอาหารญี่ปุ่นแบรนด์ ฮากาตะ และมิยาซากิ, ร้านกาแฟ/เบเกอรี่แบรนด์ “เลอ เพอทิท” ซึ่งแบรนด์นี้เป็นการทำตลาดในเชิง CSR มากกว่า เพราะกำไรหลังหักค่าใช้จ่ายทั้งหมดบริจาคให้กับโรงพยาบาลศิริราช และยังมีธุรกิจในต่างประเทศ ด้วยการนำร้านอาหารเอ็มเค เรสโตรองต์ ขยายในญี่ปุ่น สิงคโปร์ เวียดนาม และลาว

อย่างไรก็ตาม เอ็มเคฯ ไม่ใช่แบรนด์เดียวที่ปรับตัวรับ “ขาลง” ของเศรษฐกิจกำลังซื้อ และพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยน แต่แบรนด์ยักษ์ใหญ่อื่นๆ เช่น ร้านอาหารญี่ปุ่นเซ็น, โออิชิ, ซิซซ์เล่อร์ ล้วนตบเท้าแก้เกมวางหมากเด็ดกันใหม่ ส่วนใครจะดึงลูกค้าได้มากกว่ากัน คงต้องรอวัดผลประกอบการเป็นรายไตรมาส