ดีแทค เขย่าองค์กรมุ่งสู่แบรนด์ดิจิทัล เทงบออนไลน์ กระชับทีมงานไม่เกิน 4 พันคน

เส้นทางการทรานฟอร์มองค์กรเพื่อโกดิจิทัลของดีแทค ยังคงต้องเดินหน้าไปอย่างเข้มข้น พร้อมกับกระแสข่าวลือถึงการลดพนักงาน เพื่อให้เป็นไปตามทิศทางใหม่

ยังรวมไปถึงกระแสข่าวลาออกของแม่ทัพการตลาด สิทธิโชค นพชินบุตร รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มการตลาด หรือ Chief Marketing Officer : CMO ได้ยื่นหนังสือขอลาออกจากตำแหน่ง โดยคาดว่าจะมีผลเป็นทางการในเดือนมีนาคมนี้ ซึ่งทางเทเลนอร์ผู้ถือหุ้นใหญ่ดีแทคได้เตรียมส่งผู้บริหารต่างประเทศมาแทนแล้ว

สิทธิโชค เข้ามารับตำแหน่ง CMO ในดีแทคตั้งแต่ 1 มิถุนายน 2559 ก่อนมาร่วมงานกับดีแทค เคยดำรงตำแหน่งรองประธานธุรกิจโทรคมนาคม และดิจิทัล บริษัท ไทยซัมซุง อิเลคโทรนิคส์ จำกัด รับผิดชอบด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ และโมบายล์ คอมมูนิเคชั่นส์ เกี่ยวกับธุรกิจโทรศัพท์มือถือในไทย

อย่างไรก็ตาม เมื่อวานนี้ (30 ม.ค.) ดีแทคได้ส่งเอกสาร เปิดเผยถึงแผนกลยุทธ์ขับเคลื่อนองค์กรสู่ดิจิทัล ด้วยการเพิ่มตำแหน่งงานด้านดิจิทัลเพิ่มอีกมากกว่า 200 ตำแหน่ง ภายในปี 2563

ลาร์ส นอร์ลิ่ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ดีแทค กล่าวว่า ดีแทคได้ปรับตัวเองเพื่อมุ่งสู่การเป็น แบรนด์ดิจิทัล ที่ลูกค้าชื่นชอบภายในปี 2563 โดยตั้งเป้าหมายในการสร้างรายได้จากช่องทางดิจิทัลถึง 35% จากปัจจุบันที่มีสัดส่วนเลขหลักเดียว เช่นเดียวกับงานบริการลูกค้าผ่านช่องทางดิจิทัลถึง 95% เพิ่มขึ้นจากปัจจุบันเท่าตัว

ขณะเดียวกัน งบการตลาดจะถูกโยกไปยังช่องทางดิจิทัลถึง 65% หรือมากกว่าปัจจุบันกว่า 3 เท่า เมื่อเทียบกับปัจจุบัน

ปีที่ผ่านมาการชำระเงินผ่านแอปพลิเคชั่นดีแทคเพิ่มขึ้นเท่าตัว ในขณะที่การเพิ่มยอดขาย (upselling) จากแอปพลิเคชั่นของดีแทคมีสัดส่วนที่ 60% เป็นผลมาจากการทำการตลาดออนไลน์ผ่านนวัตกรรมดิจิทัล พัฒนาการวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) ตลอดจนกระตุ้นการใช้งานและบริการให้ดีขึ้น ทั้งทางเว็บไซต์และแอปพลิเคชั่น

“จากตัวเลขดังกล่าวสะท้อนถึงความสำคัญในการพัฒนาช่องทางดิจิทัลให้ดีขึ้น สอดคล้องกับแนวโน้มการใช้งานในอนาคต ทำให้ดีแทคต้องเพิ่มตำแหน่งงานด้านดิจิทัลอีกกว่า 200 ตำแหน่งในปี 2563”

ขณะเดียวกัน ดีแทควางแผนที่จะ ปรับเพิ่ม และลดการลงทุน” ในหลายด้าน ปรับรูปแบบการจัดการในองค์กร และลดความยุ่งยากซับซ้อนในกระบวนการการทำงาน เพื่อให้องค์กรขับเคลื่อนได้อย่างคล่องตัวและพนักงานมีศักยภาพในการทำงานมากขึ้น โดยดีแทคตั้งเป้าหมายการบริหารขนาดขององค์กรให้มีตำแหน่งงานประจำจำกัดจำนวนไว้ไม่เกิน 4,000 คนในปี 2563

เดินหน้า จ่ายเงินปันผล 0.24 บาทต่อหุ้น

ดีแทคที่มีผู้ถือหุ้นใหญ่คือ เทเลนอร์ บริษัทโทรคมนาคมยักษ์ใหญ่จากนอร์เวย์ ตามที่ชี้แจงอย่างเป็นทางการที่ตลาดหลักทรัพย์ ณ 17 กุมภาพันธ์ 2560 บริษัท เทเลนอร์ เอเชีย ถือหุ้นทั้งหมด 42.62% บริษัทไทย เทลโค โฮลดิ้งส์ ถือหุ้นจำนวน  22.43% โดยบริษัทไทย เทลโค โฮลดิงส์นี้เป็นการถือหุ้นโดยกลุ่มเบญจรงคกุล 51% และที่เหลือ 49% ถือโดยเทเลนอร์ กรุ๊ป นอกจากนี้ยังมีทีโอที ถือหุ้นอีกจำนวน 5.58%

ผลประกอบการปี 2560 มีรายได้รวม 78,275 ล้านบาท ลดลง 5.1% จากปี 2559 ที่มีรายได้รวม 82,478  ล้านบาท เนื่องจากมีรายได้จากค่าเชื่อมต่อโครงข่ายและรายได้จากการจำหน่ายเครื่องโทรศัพท์ลดลง แต่กำไรเพิ่มขึ้น โดยปี 2560 มีกำไร 2,115 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.4% จากปี 2559 ที่มีกำไร 2,086 ล้านบาท

ดีแทคชี้แจงว่า ส่วนหนึ่งมาจากการควบคุมค่าใช้จ่ายและเพิ่มประสิทธิภาพในด้านต่างๆ ทำให้ดีแทคประกาศจ่ายเงินปันผลเป็นจำนวน 0.24 บาทต่อหุ้น ซึ่งรอการอนุมัติจากการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2560

รายได้จากการให้บริการไม่รวมค่าเชื่อมต่อโครงข่ายในปี 2560 อยู่ที่ 64,800 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 0.2% จากปีก่อน อันเป็นผลมาจากการเพิ่มขึ้นของรายได้จากบริการข้อมูล ส่วน EBITDA อยู่ที่ 30,400 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 9% จากปีก่อน อันเป็นผลมาจากการขยายตัวของรายได้จากการให้บริการ ในขณะที่ค่าธรรมเนียมและส่วนแบ่งรายได้ รวมถึงค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารได้ลดลง แต่ก็มีผลกระทบเล็กน้อยจากค่าใช้จ่ายการดำเนินงานที่เพิ่มขึ้นจากการขยายโครงข่ายภายใต้ระบบใบอนุญาต

สำหรับปี 2561 ดีแทคคาดการณ์ว่ารายได้จากการให้บริการไม่รวมค่าเชื่อมต่อโครงข่าย และ EBITDA (ไม่รวมค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับข้อตกลงการให้บริการ 2300 MHz ที่มีกับทางทีโอที) จะอยู่ในระดับใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมา นอกจากนี้ยังคาดว่าบริษัทจะใช้เงินลงทุนในปี 2561 จะอยู่ที่ระดับ 15,000 -18,000 ล้านบาท

“ผลประกอบการในปี 2650 ค่อนข้างใกล้เคียงกับการคาดการณ์ ซึ่งมองว่า EBITDA มีโอกาสเติบโตสูง โดยปี 2561 จะเป็นปีที่สำคัญมากสำหรับดีแทค เนื่องจากสัญญาสัมปทานคลื่นความถี่จะสิ้นสุดลง โดยเรามุ่งมั่นที่จะจัดหาคลื่นความถี่เพิ่มเติม จากการประมูลคลื่นของกสทช.” ลาร์ส นอร์ลิ่ง กล่าว

ดีแทคมีคลื่นมือถือย่าน 1800 MHz จำนวน 25 MHz ย่าน 800 MHz จำนวน 10 MHz และ 2.1GHz  จำนวน 15 MHz ให้บริการทั้ง 3G 4G แต่สิทธิในการใช้คลื่น 1800 และ 800 MHz จะสิ้นสุดลงในเดือนกันยายนปีนี้ นอกจากนี้ ดีแทคกำลังรอการอนุมัติเพื่อเปิดให้บริการ 4G บนคลื่นความถี่ 2300 MHz ภายใต้ความร่วมมือกับทีโอที.