โค้กเที่ยวไทย สูตรปั้นแคมเปญรับซัมเมอร์

หลังจากแบรนด์คู่แข่งข้ามชาติ เป๊ปซี่ ดึงแคมเปญโลก ฟื้นตำนานแบรนด์ 120 ปี สร้างการรับรู้เพื่อไปสู่การเป็นไลฟ์สไตล์แบรนด์ในทุกมิติ ทั้งสื่อสารแบบครบวงจร ออกไอเทมแฟชั่น แพ็กเกจจิ้งใหม่ ป็อปอัพ คลับ เพื่อเข้าถึง customer journey ในทุกช่วงเวลา 

ถึงคิว “โคคา-โคลา ส่งแคมเปญ รับศึกน้ำดำซัมเมอร์ ใช้ชื่อว่าฮูลาฮูล่ากับโค้กหน้าร้อนนี้” มุ่งเน้นไปเรื่องของ “การท่องเที่ยวในไทย” ในฐานะหนึ่งในเมืองท่องเที่ยวยอดนิยมของโลก และให้เข้ากับไลฟ์สไตล์คนไทยในช่วงซัมเมอร์

ถือเป็น “โกบอลแคมเปญ” ที่โค้กเคยใช้ในประเทศญี่ปุ่น ด้วยการออกแบบฉลากแพ็กเกจจิ้ง ดีไซน์ใหม่ เป็นรูป 5 เขตภูมิภาคของญี่ปุ่น ได้ใจนักสะสม เช่น ฮอกไกโด, โตเกียว, เกียวโต คุมาโมโตะ และเซโตอุจิ สร้างความฮือฮามาแล้ว

เมื่อส่งต่อมาที่ไทย โค้กออก ”ฉลากใหม่” บนกระป๋องและขวดโค้ก PET ซึ่งเป็นชื่อและไอคอนสัญลักษณ์ของจุดหมายในการท่องเที่ยวทั่วประเทศไทยจำนวน 24 ลาย ให้เป็นรุ่น ลิมิเต็ด อิดิชั่น เอาใจนักสะสม

คลาวเดีย นาวาร์โร ผู้อำนวยการการตลาด บริษัท โคคา-โคลา (ประเทศไทย) จำกัด กล่าววถึงที่มาของไอเดียตั้งต้น มาจาก “ฤดูร้อน ถือเป็นช่วงที่คนไทยนิยมท่องเที่ยว และใช้เวลาอยู่กับครอบครัว ซึ่งประเทศไทยขึ้นชื่อเรื่อง “สถานที่ท่องเที่ยว” โค้กจึงคัดเลือกมา 24 แบบ มาเป็นไฮไลต์บนแพ็กเกจจิ้งใหม่

กิจกรรมนี้ เพื่อให้คนไทยเก็บสะสมให้ครบ 24 แบบ ตามหากระป๋อง หรือขวดมาแบ่งปันความทรงจำดีๆ ร่วมกับคนในครอบครัว

ตัวแคมเปญ จะถูกใช้ทำกิจกรรมสื่อสารการตลาดแบบครบวงจร ประกอบไปด้วยภาพยนตร์โฆษณาชุดใหม่ นำแสดงโดย ปันปัน สุทัตตา อุดมศิลป์

สื่อโฆษณานอกบ้าน ตามท่าอากาศยานดอนเมืองและท่าอากาศยานหลักๆ 4 ภาคทั่วไทย อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ สื่อโฆษณานอกบ้านใหม่ๆ เช่นการใช้พื้นที่ยอดตึกใบหยกทาวเวอร์

นอกจากนี้ ยังจับมือร่วมกับสายการบินแอร์เอเชีย โดยผู้โดยสารของสายการบินแอร์เอเชียที่เดินทางไปยังจุดหมายปลายทางในประเทศ จะได้รับเครื่องดื่มโค้กที่มากับชื่อและไอคอนสัญลักษณ์ของจังหวัดนั้นๆ ฟรี

แคมเปญยังรวมไปถึงลุ้นส่งรหัส 10 หลักในฝา มาชิงรางวัล ลุ้นเที่ยวฟรีทั่วไทย 60 ทริป เฉพาะโค้กที่มีฝารุ่นพิเศษ “ฝาสีเหลือง” และร่วมชิงโชคผ่านรหัส 10 หลักใต้ฝา

โค้กบอกว่า กิจกรรมทั้งหมดในแคมเปญนี้มุ่งปลุกกระแสการเดินทางท่องเที่ยวในประเทศไทย และต้อนรับผู้บริโภคสู่เทศกาลเดินทางท่องเที่ยวช่วงฤดูร้อน เน้นสร้างการรับรู้และให้ผู้บริโภคมีส่วนร่วมตลอดเส้นทางการเดินทาง.