ธปท. แจงเปิดให้ธนาคารมีแบงกิ้งเอเยนต์ หรือตัวแทนธนาคารตั้งแต่ปี 53 ปัจจุบันมี 5 รายได้แก่ ตู้บุญเติม ตู้เติมสบาย เคาน์เตอร์เซอร์วิสในเซเว่นฯ แอปฯ แอร์เพย์ และไปรษณีย์ไทย ให้รับฝาก-โอนเงินเข้าบัญชีได้ เตรียมปรับเพิ่มให้ถอนเงินได้มีนาคมนี้ ไม่เกิน 5 พันบาทต่อรายการ หรือ 2 หมื่นบาทต่อวัน
นายสมบูรณ์ จิตเป็นธม ผู้ช่วยผู้ว่าการสายนโยบายสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ชี้แจงว่า ตามที่มีการแชร์ในโลกโซลเชียลว่า ร้านสะดวกซื้อเซเว่น-อีเลฟเว่น (7-11) ได้รับใบอนุญาตให้เป็นธนาคารพาณิชย์แห่งใหม่นั้น ไม่เป็นความจริง และเป็นรายละเอียดของร้านเซเว่น-อีเลฟเว่นในประเทศญี่ปุ่น ธปท. ยืนยันไม่มีนโยบายอนุมัติใบอนุญาตจัดตั้งธนาคารพาณิชย์แห่งใหม่แต่อย่างใด
อย่างไรก็ตาม เพื่อการให้บริการประชาชนสะดวกและทั่วถึง ธปท. ได้อนุญาตให้ธนาคารพาณิชย์สามารถแต่งตั้งตัวแทนธนาคารพาณิชย์ หรือแบงกิ้งเอเยนต์ เพื่อทำหน้าที่แทนธนาคารพาณิชย์ได้ในบางธุรกรรม คือ รับฝากเงิน รับชำระเงิน จ่ายบิล ซึ่งอนุญาตให้ดำเนินการตั้งแต่ปี 2553 ปัจจุบันมีธนาคารพาณิชย์ทั้งขนาดใหญ่ และขนาดกลาง แต่งตั้งแบงกิ้งเอเยนต์ รวมถึงผู้ที่ได้รับใบอนุญาตให้บริการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ หรืออี-เพย์เมนต์ และผู้ให้บริการรับชำระบิลค่าสินค้า สาธารณูปโภค เช่น เทสโก้โลตัส, บิ๊กซี เป็นต้น ถือเป็นแบงกิ้งเอเยนต์ที่สามารถรับชำระเงิน และจ่ายบิลได้ โดยมีแบงกิ้งเอเยนต์ 5 ราย คือ ตู้บุญเติม ตู้เติมสบาย เคาน์เตอร์เซอร์วิส ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในเซเว่น-อีเลฟเว่น และแอปพลิเคชัน แอร์เพย์ รวมทั้งไปรษณีย์ไทยได้รับอนุญาตให้สามารถรับฝากและโอนเงินเข้าบัญชีธนาคารได้
นอกจากนี้ ธปท. กำลังอยู่ระหว่างการปรับปรุงหลักเกณฑ์เกี่ยวกับช่องทางการให้บริการของธนาคาพาณิชย์ คาดว่าจะประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาเดือนมีนาคมนี้ ซึ่งจะเพิ่มบริการให้กับแบงกิ้งเอเยนต์สามารถถอนเงินได้ โดยให้บริการถอนเงินไม่เกิน 5,000 บาทต่อรายการ และไม่เกิน 20,000 บาทต่อวัน สำหรับผู้ใช้บริการแต่ละราย โดยที่ธนาคารพาณิชย์ไม่ต้องขออนุญาตในการตั้งแบงกิ้งเอเยนต์จาก ธปท. แล้ว ยกเว้นกรณีการตั้งบุคคลธรรมดา เช่น ร้านค้าชุมชนให้มาขออนุญาตเป็นกรณี
“แบงกิ้งเอเยนต์เกิดนานแล้วตั้งแต่ปี 2553 เช่น ธนาคารกสิกรไทย แต่งตั้งเคาน์เตอร์เซอร์วิสให้เป็นผู้ดำเนินการแทนธนาคารพื้นที่ต่างจังหวัด กรณีมีลูกค้าโอนเงินสามารถไปรับเงินที่เคาน์เตอร์เซอร์วิส ซึ่งจะช่วยอำนวยความสะดวกลูกค้าที่อยู่พื้นที่ห่างไกล หรือธนาคารไทยเครดิตเพื่อรายย่อยแต่งตั้งไปรษณีย์ไทยเป็นผู้รับฝากเงิน เป็นต้น ในต่างประเทศ เช่น อินโดนีเซีย, มาเลเซีย, บังกลาเทศ และอินเดีย ก็ทำลักษณะเดียวกัน” นายสมบูรณ์ กล่าว
นางสาวเมทินี ศุภสวัสดิกุล ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายนโยบายกำกับสถาบันการเงิน ธปท. ยืนยันว่า การที่แบงก์พาณิชย์จะแต่งตั้งแบงก์กิ้งเอเยนต์ต้องมีการดูแลอย่างเข้มข้น โดยต้องเป็นนิติบุคคลที่มีหลักแหล่งเชื่อถือได้ ไม่เป็นบุคคลล้มละลาย หรือมีคดีทางอาญา และฉ้อโกง การแต่งตั้งตัวแทนต้องพิจารณาตามความเหมาะสม มีระบบบริหารความเสี่ยงที่ดี แบงก์พาณิชย์ต้องเป็นผู้รับผิดชอบการกระทำของตัวแทน ซึ่งต้องมีการเปิดเผยรายละเอียดทั้งหมดของแบงกิ้งเอเยนต์ต่อสาธารณะ รวมทั้งค่าธรรมเนียมที่ประชาชนจะต้องจ่ายให้กับแบงกิ้งเอเยนต์ เพื่อเป็นทางเลือกกับประชาชนในการตัดสินใจ.
สนับสนุนข่าวโดย : mgronline.com/stockmarket/detail/9610000017117