Tipping Point

จุดเปลี่ยนสำคัญ ที่ถือเป็น Key Success สร้างสาวก facebook ระดับโลก ด้วยกลยุทธ์ “แบ่งปัน” แบบวินวิน

แอพพลิเคชั่น สร้างสาวก

หากถามคนส่วนใหญ่ที่ติดอกติดใจ เป็นสาวก facebook ล้วนมาจากการมี แอพพลิเคชั่นที่หลากหลาย และโดนใจ

เฉพาะแค่ Application ที่เกิดจากการพัฒนาของทีมงาน facebook เองนั้น ก็จัดว่า Cool เอาการ ทั้ง กรุ๊ป รูปภาพ อีเวนต์ แชต ฯลฯ แต่ที่เด็ดไปกว่านั้นคือ facebook ยังเปิดโอกาสให้นักพัฒนา Application จากทั่วทุกมุมโลกหรือ Third Party นำ Application ให้เหล่าสาวก facebook ทดลองใช้ ด้วยแนวคิด Open Social Platform ช่วยทำให้ facebook มีความเคลื่อนไหวสดใหม่อยู่เสมอ เช่น Pet Society, Birthday Calendar, Poll, Who has the biggest brain ? ก็มาจากนักพัฒนาเหล่านั้น เป็นต้น

“จุดเปลี่ยนที่สำคัญที่สุดคือ Application เป็น Key Success ของ facebook เลยก็ว่าได้ ตัวอย่างของ Playfish บริษัทสร้าง Social Game ก็เป็นตัวอย่างของ Application แนวบันเทิงที่ได้รับความนิยม การเล่นเกม แนะนำเกมให้เพื่อนๆ ในลิสต์ของเราได้เล่นและแข่งขันกันก็เป็นส่วนหนึ่งของการกระชับความสัมพันธ์ใน facebook ให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น facebook ทำให้ผู้ใหญ่ติดเกมมาแล้ว” อภิศิลป์ ตรุงกานนท์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการตลาดออนไลน์ บอกกับ POSITIONING

ปัจจุบัน facebook มีมากกว่า 52,000 Application และในแต่ละวันจะมี Application ใหม่เฉลี่ย 140 Application เลยทีเดียว

Application ยังช่วยเพิ่มความถี่ในการใช้งาน facebook รวมถึงระยะเวลาที่ใช้งานให้ยาวนานมากขึ้นกว่าเพียงแค่การเข้ามาดูความเคลื่อนไหวของเพื่อนและคอมเมนต์เท่านั้น

ตัวอย่างที่ชัดเจนคือ เกมของ Playfish มีผู้ใช้เวลาเฉลี่ย 35 นาทีต่อวัน ขณะที่บางรายอาจใช้เวลานายถึง 6-7 ชั่วโมงต่อวันเลยทีเดียว

เนื่องจาก Application เป็นไม้เด็ดของ facebook เป็นพื้นที่ปล่อยของให้คนมีดีทั่วโลกได้โชว์และแชร์ ดังนั้นจึงมีคนหัวใสสร้าง Application ที่ใช้สร้าง Application บน facebook อีกที

แน่นอนว่าเบื้องหลังการบอกต่อ การใช้งานแต่ละ Application ในหลักล้านคนนั้นย่อมมาจาก Viral Marketing ด้วยนั่นเอง

มือถือจุดระเบิดลูกที่สอง

อีกจุดหนึ่งที่ทำให้ประชากรชาว facebook ขยายตัวอย่างรวดเร็วในช่วงปี 2008 ต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน เพราะความร่วมมือของค่ายผู้ผลิตโทรศัพท์มือถือกับ facebook ที่พัฒนาแพลตฟอร์มให้เหมาะกับการดูและใช้ผ่านมือถือ และปรากฏการณ์นี้กำลังเด่นชัดมากยิ่งขึ้นในประเทศไทย เมื่อนักธุรกิจนิยมใช้ Blackberry ผู้บริหารรุ่นใหม่ ๆ นิยมใช้ iPhone รวมไปถึงอีกไม่นานซัมซุงอาจร่วมอยู่ในเครือข่ายกับ facebook ด้วย

เกือบตลอดทั้งวันที่ “บี๋ อริยะ พนมยงค์” หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านการพาณิชย์-คอนเวอน์เจนซ์ ทรู คอร์ปอเรชั่น ออนไลน์ผ่านโทรศัพท์มือถือที่ใช้อยู่ 2 เครื่อง คือ iPhone และ Black berry โดย 1 ในเว็บไซต์ที่เขาดูประจำถึงขั้นที่บอกว่า Addict เลยคือ facebook.com

เช่นเดียวกับ “กล้า ตั้งสุวรรณ” แห่ง duocore.tv ก็ใช้ iPhone เพื่อเข้าอินเทอร์เน็ต และดูความอัพเดตใน facebook ของตัวเอง

ทั้ง 2 เป็นตัวแทนที่บ่งบอกชัดเจนว่าโทรศัพท์มือถือกำลังจะทำให้เกิด Tipping Point สำหรับ Social Networking ซึ่งรวมถึง facebook เพราะไม่เพียงต้องนั่งหน้าคอมพิวเตอร์เดสก์ท็อป หรือ Turn on โน้ตบุ๊กเพื่อเข้าอินเทอร์เน็ต ดู facebook เท่านั้น แต่โทรศัพท์มือถือทำให้คนจำนวนมากสามารถเช็ก facebook อัพเดตรูป และข้อความได้บ่อยเท่าที่ต้องการ ในทุกที่ทุกเวลา ทำให้ทุกวันนี้มีประชากร facebook กว่า 175 ล้านคน และ insidefacebook.com รายงานว่ามี 20 ล้านคนแล้วที่เข้า facebook ผ่านแพลตฟอร์มของโทรศัพท์มือถือ

และ facebook กำลังพยายามใช้แนวโน้มนี้ให้เป็นประโยชน์มากที่สุด เช่นเดียวกับค่ายผู้ผลิตโทรศัพท์มือถือเองก็พยายามตอบสนองพฤติกรรมการใช้งานของลูกค้าด้วยฟีเจอร์ต่างๆ ทั้งสองฝ่าย จึงร่วมมือกันเพื่อพัฒนาแพลตฟอร์มให้ผู้ใช้งานสามารถเข้า facebook ได้ง่าย เร็ว และสะดวกบนหน้าจอสี่เหลี่ยมในมือ

แพลตฟอร์มที่ facebook ร่วมกันพัฒนากับค่ายมือถือแต่ละแบรนด์ จะทำให้ชาว facebook สามารถอัพเดตข้อมูลส่วนตัวได้ ดูโปรไฟล์ของเพื่อนในเครือข่าย รับข้อมูลต่างๆ จาก facebook โพสต์คอมเมนต์ และส่งข้อความ SMS การอัพเดตต่างๆ มายังโทรศัพท์มือถือ

“อริยะ” บอกว่าสำหรับเขาแล้ว Blackberry มีฟังก์ชัน Pushmail จนทำให้เขาเข้าไปเช็ก facebook บ่อยๆ เพราะได้รู้ความเคลื่อนไหวของเพื่อนในเครือข่าย เพราะ Push mail จะมีอีเมลบอกเขาอยู่เสมอ และสำหรับ iPhone ก็มีแพลตฟอร์มที่เหมาะกับการดูหน้าจอ facebook เช่นกัน

สำนักข่าวของเอเชี่ยน วอร์สตรีท เจอร์นัล รายงาน facebook กำลังเจรจรกับ “โนเกีย” ผู้ผลิตโทรศัพท์มือถือที่มีมาร์เก็ตแชร์อันดับ 1 ของโลก และกำลังหันมารุกสมาร์ทโฟน และทัชโฟนอย่างจริงจัง เพื่อให้การใช้มือถือโนเกีย และ facebook เชื่อมต่อกันให้ได้มากที่สุด โดยเฉพาะเครือข่ายเพื่อนใน Phonebook แม้ว่าโนเกียจะกำลังพยายามสร้าง Social Networking ของตัวเองด้วยก็ตาม ด้วยการ Share ข้อมูล และภาพผ่าน Ovi นอกจากนี้ facebook ยังเจรจากับแบรนด์ Plam และโมโตโรล่าอีกด้วย

หรือแม้กระทั่ง “ซัมซุง” ที่ “มนาเทศ อันนวัฒน์” หัวหน้ากลุ่มธุรกิจสื่อสารการตลาด และองค์กร บริษัทไทยซัมซุง อิเลคโทรนิคส์ จำกัด บอกว่า ก็จะไม่หลุดกระแส เพราะซัมซุงเอเชียเองก็กำลังเจรจากับ facebook เพื่อใช้เป็นจุดขาย อย่างน้อยที่จับต้องได้คือแพลตฟอร์มที่ใช้ระบบปฏิบัติที่ซัมซุงกำลังพัฒนา เพื่อให้การเข้า facebook และการ Upload ภาพทำได้เพียงคลิกเดียว

ความแรงของ facebook จึงไม่ใช่เรื่องที่ค่ายมือถือจะละเลย และจังหวะนี้จึงทำให้โลกของfacebook มีประชากรเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

คนทั่วโลกใช้ facebook จากแพลตฟอร์มโทรศัพท์มือถือ 20 ล้านคน ส่วนใหญ่มาจาก :
ผู้ใช้ iPhone 5.4 ล้านคนต่อเดือน
ผู้ใช้ Blackberry 3.7 ล้านคนต่อเดือน

คนไทยดูเว็บไซต์ผ่านไอโฟนมากครั้งที่สุด
มือถือ จำนวนครั้งที่เปิด จำนวนคน
1. ไอโฟน 84,222 487
2. โนเกีย 51,732 8,705
3. ไอพอด 14,491 95
4. เอชทีซี 12,711 2,771
5. ซัมซุง 3,981 895

“ภาษาไทย” จุดระเบิดที่ 3

ด้วยความที่ไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่คนส่วนใหญ่คุ้นเคยกับภาษาท้องถิ่น และเป็นหนึ่งในเหตุผลที่ทำให้ hi5 ประสบความสำเร็จ ส่วน facebook ยุคเริ่มต้นไม่มีภาษาไทย ผู้ใช้จึงจำกัดอยู่ในกลุ่มคนมีการศึกษา จนกระทั่งเมื่อปลายปี ข้อความภาษาไทยเริ่มปรากฏให้เห็น เป็นการทลายกำแพงภาษาไปได้บ้างสำหรับผู้ที่สนใจอยากใช้ facebook แต่ภาษาไทยยังมีจำกัดอยู่เพียงบางส่วนของลิงค์ต่างๆ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นภาษาอังกฤษ แต่ถือเป็นพัฒนาการที่สำคัญของ facebook ในการรุกเครือข่ายในประเทศไทย เพราะก่อนหน้านี้เครือข่าย hi 5 สำเร็จมาแล้วด้วยภาษาไทย

ถ้ามาดูการแปลงเป็นภาษาท้องถิ่นของ facebook ก็ยิ่งทึ่ง เพราะ facebook ไม่ได้ทำเอง แต่ใช้อาสาสมัครของแต่ละประเทศ ซึ่งจะเป็นใครก็ได้แปลและส่งเข้าไป โดย facebook มีโปรแกรมในการตรวจวัด คำใดหรือข้อความใดที่มีการแปลตรงกันมากที่สุด facebook จะถือว่าถูกต้องมากที่สุด และนำมาใช้

ปัจจุบัน facebook แปลงแล้วประมาณ 38 ภาษา เริ่มมีภาษาไทยเมื่อปลายปี 2008