“วงการเพลงพอมีที่เหลือให้นักร้องใหม่วัย 66 รึเปล่า” คำโปรยในกระทู้พันทิพที่ “บรรณ สุวรรณโณชิน” เป็นผู้โพสต์กลายเป็นที่มาแห่งความโด่งดังแบบ ”ชั่วข้ามคลิก” ของคุณแม่ยาย “วรนุช กนกกากร” หรือ “สวีทนุช” ผู้สร้างความคอนทราสต์ในการร้องเพลงฮิตติดชาร์ตอย่าง “รักยุคไฮเทค” และ “คำหยาบ”
…เขยบรรณ โปรดิวเซอร์อารมณ์ขันและหนึ่งใน “ชนกลุ่ม Niche” ของวงการเพลง วิเคราะห์ปรากฏการณ์นี้ว่า “ก็ดวงคุณแม่จะเกิดไงคร้าบ”
“บรรณ” เป็นลูกคนที่สอง (ในสี่) ของครอบครัวชาวไทยเชื้อสายจีนซึ่งทำร้านจำหน่ายใบชามาตั้งแต่สมัยอากง เขาจึงเห็นความยากลำบากของธุรกิจที่อยู่บนผลกำไรเพียงน้อยนิด
บรรณเล่นดนตรีกลางคืนเป็นอาชีพมาตั้งแต่ศึกษาอยู่พณิชยการสีลม เขาต้องแอบพ่อ โดยมีแม่คอยดูต้นทาง เมื่อเรียนจบจึงเข้าสู่วงการมนุษย์เงินเดือนในฐานะลูกจ้างร้านจิวเวลรี่ที่สยามสแควร์ถึง 13 ปี แต่ก็นับว่าเป็นโอกาสอันดีที่ทำให้เขาได้ซื้อเทปจากดีเจสยามและร้านอื่นๆ กลับบ้านร่วมวันละ 10 ม้วน
ระหว่างนั้น บรรณยังคงเล่นดนตรีกลางคืนที่โรงแรมแอมบาสเดอร์ เขาได้ลองและเรียนรู้แนวดนตรีที่หลากหลาย ทั้ง Reggae, Blues และ Jazz เริ่มได้ยิน Standard Jazz แนว “RagTime” (การเล่นเปียโนช่วงเก็บกวาดร้านในยุค 40-50) จนเกิดความประทับใจและนำมาเป็นแนวดนตรีของเขาในอัลบั้มทุกชุดในเวลาต่อมา
ปี 2539 บรรณเริ่มแต่งเพลงและนำเสนอเดโมไปตามค่ายต่างๆ กระทั่งได้ออกอัลบั้มแรกในสังกัด BMG โดยไฮไลต์อยู่ที่เนื้อร้องซึ่งนำเอา 57 ชื่อเพลงของอัสนี-วสันต์ มาเรียงต่อกัน
เมื่อ BMG ปิดตัวลงด้วยรสแซบของ “ต้มยำกุ้ง” บรรณจึงลงทุนทำค่ายเพลงของตัวเองในชื่อ “จานบินมิวสิค” ทว่าออกมา “สวัสดีชาวโลก” ได้ไม่ถึงปีก็มีอันต้องปิดตัวลง เพราะเขาเองก็หมดตัว
บรรณคืนชีพอีกครั้งในปี 2547 โดยสร้างค่ายเพลงในชื่อ “ใบชา Song” เพื่อสำนึกรักใน “บุญคุณใบชา” ของพ่อ แนวดนตรีเน้น Jazz, RagTime, BossaNova ทว่าใส่เนื้อหาของเพลงที่ว่าด้วยชีวิตและการวิพากษ์สังคมด้วยอารมณ์ขัน เช่น อย่ากดดันศาล (พระภูมิ) เส้นสายเส้นเอ็น คนอุ้มบาตร โดยขณะที่เขาทำอัลบั้มแรกของค่าย ทาง RS มาได้ยินเพลงเข้า จึงติดต่อให้บรรณมาเป็นศิลปินในสังกัด
ผลงานต่อมาของบรรณ ทั้งในฐานะโปรดิวเซอร์และศิลปิน แม้ไม่ประสบความสำเร็จทางด้านรายได้แต่กลับได้รับรางวัลและคำชมจากสื่อมวลชนในฐานที่สร้างไอเดียใหม่ให้กับวงการเพลงไทยมากมาย อาทิ เพลงสำนวนสวนสัตว์ที่นำเอา 39 สุภาษิตไทยที่มีชื่อสัตว์มาผูกต่อกัน เพลงคนบ้าบอลที่ประกอบไปด้วยชื่อทีมบอลยุโรป 49 ทีม หรืออัลบั้มซึ่งเป็นงานเพลงแบบ “พูด” ซึ่งนับว่าเป็นครั้งแรกในวงการ
บรรณถนัดการเล่นเปียโน และเครื่องดนตรีอีกหลายชิ้น ทั้งที่เขาไม่เคยเรียนดนตรีหรืออ่านตำรามาก่อน …”เค้าเรียกว่าเป็นสัญญาเก่า” สวีทนุช…นักร้องสาวสูงวัยในสังกัดส่งเสียงมา
“วรนุช” หรือ ”ชื่อในวงการ…สวีทนุช” เมื่อเรียนจบคหกรรม ความที่อยากเป็นผู้ประกาศ เธอจึงไปสมัครงานสถานีโทรทัศน์ กระทั่งได้เป็นนักร้องในรายการ “เพลินเพลงกับนฤพนธ์” ทางช่อง 4 บางขุนพรหม เมื่อมีเวลาว่างเธอชอบไปอบรมตามคอร์สต่างๆ โดยไม่นับว่าอายุคืออุปสรรค เธอเรียนกีตาร์เมื่ออายุ 34 เรียน และเป็นไกด์นาน 8 ปีนับจากวันที่อายุ 44 อีกทั้งเป็นอาจารย์โยคะในเวลาต่อมา ปัจจุบัน เธอกำลังสนุกกับเรียนการร้องเพลงไทยเดิม เธอว่าเพราะไม่อยากเป็นอัลไซเมอร์ และเป็นคนชอบเรียนรู้ อนาคต สาวนุชยังอยากเรียนคอมพิวเตอร์ (หากผ่านมติเห็นชอบจากลูกๆ) เผื่อจะได้เล่น hi5 ถนัดๆ
[Hook]*เจ๊งจนชินมันอินในหัวใจ ก่อนจะพบความสำเร็จในอัลบั้ม “สวีทนุช” ไม่มีงานเพลงของบรรณชุดไหนทำยอดขายได้เกินหนึ่งพันแผ่น “เจ๊งทุกชุด ใช้คำนี้เลย” เขาจึงนิยามความสำเร็จจากอัลบั้มสวีทนุชว่าเป็นแบบ ”เกาะขาผู้อาวุโส”
สวีทนุช : แหม…เค้าเรียกว่าดวงส่งกันต่างหาก
บรรณชักนำคุณแม่ยายเข้าสู่วงการเนื่องจากเพื่อนกำลังต้องการนักร้องมีอายุไปเป็นแขกรับเชิญ ทว่าด้วยก๊าซเฉื่อยในกระแสเลือดของเพื่อนศิลปินทำให้บรรณตัดสินใจที่จะทำอัลบั้มให้คุณแม่ยายเสียเอง “พี่รู้สึกว่าเพลงลูกกรุงแท้ๆ หายไปจากเมืองไทยราว 20-30 ปีแล้ว เลยอยากทำเพลงแนวนี้ดูบ้าง”
บรรณ : ถามก่อนว่าแม่เอามั้ย แม่ก็คิดอยู่แป๊บนึงก่อนตกลง…คือคิดนานเดี๋ยวอดไง
9 เพลงในอัลบั้ม “ต้นตำรับเสียงหวาน” บรรณใช้เวลาแต่งเนื้อร้องทั้งหมดเพียงหนึ่งอาทิตย์ แต่ในห้องอัด ความที่ต่าง Generation ทำให้เกิดความเห็นที่ต่างกันบ้าง เช่น เพลงไทยเดิมที่สวีทนุชถนัดจะไม่มีห้องเพลง แต่เพลงสากลทั่วไปจะมีห้องเพลง บรรณจึงต้องกำหนดโควตาในการ “เอื้อน” ของคุณแม่ไม่ให้ยาวเกิน
บรรณ : แต่บางอย่างเราก็ยอมได้ เช่น เดิมในเพลงพี่แต่ง ”อย่าเพิ่งใจร้อน” แต่คุณแม่บอกว่าน่าจะเป็น “อย่าด่วนใจร้อน” เราก็เห็นว่าโบราณดี เอาๆ คุณแม่เหมือนเราทำให้ได้นั่ง Time machine กลับไปในช่วงเวลานั้น
“รักยุคไฮเทค” และ “คำหยาบ” เป็นสองเพลงดังในอัลบั้มแรกที่แสนโดนใจวัยรุ่น ในขณะที่แทร็กอื่นๆ ยังคงเอกลักษณ์ในแบบสุนทราภรณ์ หลายคำที่เป็นภาษาเฉพาะ สวีทนุชจึงต้องทำความเข้าใจ เช่น Winamp หรือการใช้คำห้วนๆ อย่าง… เธอไม่รักฉันไม่รู้… “แม่ก็ถามว่าคนสมัยนี้เค้าพูดกันอย่างงี้เหรอ”
งานเพลงของใบชา Song ไม่มีการใช้งบโปรโมต โดยปกติเขาอาศัยส่งไปตามนักวิจารณ์ และคลื่นวิทยุซึ่งที่ผ่านมาเหมือนกับความพยายามป้อนข้าวให้คนที่ไม่ยอม “อ้าปาก”
บรรณเอาอัลบั้มสวีทนุชไปแปะไว้ในเว็บ “กระปุก” เมื่อชาวเน็ตตามลิงค์มาจากพันทิพ ชั่วข้ามคืน เพลง “รักยุคไฮเทค” จึงกลายเป็นเพลงฮอตในหน้าโปรไฟล์ของ hi5 และ Blog จำนวนมาก…กลายเป็น Talk of the town จนคลื่นวัยรุ่นอย่าง Seed และ FAT ต้องเปิดจนยิ่งดังเข้าไปอีก กระทั่งต้องทำ MV เพราะสื่อทีวีขอมามาก ในวันวางแผง ผู้จัดจำหน่ายเองก็ยังไม่แน่ใจว่าจะวางในกลุ่มเพลงวัยรุ่นหรือผู้ใหญ่ดี “พอวางไป 500 แผ่น เกลี้ยงแผงเลย”
ความสำเร็จที่ไม่คาดคิด จาก 500 จึงกลายเป็น 10000 ก๊อบปี้ในเวลาไม่กี่เดือน ซึ่งนับว่ามากสำหรับตลาดที่มีการแข่งขันกัน (ก๊อบปี้) สูง บรรณและภรรยาลงมือแพ็กซีดีเองเพื่อความประหยัด แม้หน้าปกอัลบั้มก็วาดกันเอง
“สนุกนึก”…อัลบั้มล่าสุดของสวีทนุชที่บรรณเลือกเพลงเด็ดของแกรมมี่มาเรียบเรียงใหม่ในอารมณ์ลูกกรุง เช่น อกหัก (Bodyslam), คนมันรัก (ไอซ์-ศรัณยู), พลิกล็อก (คริสติน่า) ฯลฯ “…สนามหลวงมาจ้างเรา ด้วยกระแสที่แรงจากชุดแรกของคุณแม่ เราเองก็เคยอยากทำเพลง Cover แต่พวกเพลงดังๆ ค่าลิขสิทธิ์แพง” สวีทนุชจึงเป็นศิลปินที่มีอัลบั้มวางแผงถึง 2 ครั้งในรอบปี (มีนาคมและธันวาคม) แถมขึ้นชาร์ตอันดับ 1 อยู่หลายสัปดาห์
[Bridge]
“ใบชาซอง” แห่ง ”สองเรา” … “ค่ายเพลงนี้จึงต้องมี ”วิภาวี กนกกากร” ภรรยาซึ่งนอกจากเป็นช่างเทคนิคในห้องอัดแล้ว ยังเป็นที่ปรึกษาทางกฎหมายให้แก่ใบชาซองด้วย เธอนี่เองที่เป็นผู้แทรกหนังสือธรรมะ”เขียนมือ” ลงไปในอัลบั้มของสวีทนุช ”เมย์ฟังเพลงเยอะแล้วก็หลากหลายแนวมาก” เธอสนับสนุนให้บรรณผลิตอัลบั้มต่อไปแม้ช่วงก่อนหน้าจะขาดทุนตลอด
[Epilogue]
รายได้ที่ไม่คาดฝันจากอัลบั้มสวีทนุช ทำให้บรรณมีโอกาสทำหนังสือ “แปรงเพลงให้เป็นเพลงแปลง” งานเขียนของเขากระฉูดด้วยอัจฉริยภาพในการใช้ภาษา มุกที่คนสงสัยว่า “คิดนานมั้ย” …คล้ายๆ จะเป็นบรรณานุกรม + How to + ความรู้ + อัตชีวประวัติแบบ Case Study ทว่า เข้าไปมีจั๊กจี๋คนในหลายๆ วงการ ตั้งแต่ การเมือง ศาสนา การศึกษา ดารา ฯลฯ
บรรณจะยังคงคอนเซ็ปต์ในการสร้างสรรค์งานเพลงใหม่ๆ สู่วงการ โดยอัลบั้มต่อไปเขาว่ากำลังเตรียมเพลงแนวลูกทุ่งแบบโบราณอยู่
** …เพราะชารสดีมิได้ชิมที่น้ำแรก หากแต่ยิ่งชงจึ่งยิ่งได้ชารสดี…
[ ซ้ำ *,** ]
Profile
Name : บรรณ สุวรรณโณชิน
Age : 41 ปี
Education : โรงเรียนกุหลาบวัฒนา, พณิชยการสีลม