ตุ๊กตาหัวโต ตาโต ที่เคยเกือบเจ๊งเพราะเด็กไม่นิยม กลับกลายเป็นที่นิยมไปทั่วเอเชีย รวมทั้งไทย ที่เข้ามาทำตลาดหลายปี แต่อยู่ๆ กระแสความนิยมของบลายธ์ก็ถูกโหมขึ้นมาอีกครั้ง จนกลายเป็นของฮิตในหมู่เทรนด์เซตเตอร์ในเมืองไทย เกิดเป็นสาวกขึ้นมามากมาย บลายธ์จึงไม่ใช่แค่ตุ๊กตา แต่เป็นกรณีศึกษาของการสร้าง Value Chain ของสินค้าแบบไม่มีจุดสิ้นสุด และการสร้างแบรนด์ที่ไม่มีวันหมดอายุ
กระแสนี้แรงสุดขีดในช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์นี้เอง หลังจากการเปิดตัวของ The Doll House ในร้าน Q Concept Store ที่ขายทุกสิ่งอย่างที่เกี่ยวกับ Blythe (บลายธ์)
“
สาเหตุที่กระแสบลายธ์อยู่ๆ ก็แรงขึ้น เพราะมันเป็นข่าวลงหน้าหนึ่งหนังสือพิมพ์ไทยรัฐว่า ฮิตไฮโซ-ดารา ตัวละแสน ตุ๊กตาบลายธ์’’
ประชาสัมพันธ์ของร้านคิวคอนเซ็ปต์สโตร์ เชื่อว่านี่คือกระแสที่ทำให้บลายธ์อยู่ในจุดที่เห็นชัดสุดในตลาดไทย
ร้านเดอะดอลล์เฮ้าส์ที่กล่าวถึง เป็น Official Store แห่งที่ 2 ของบลายธ์ในเมืองไทย เกิดจากการร่วมทุนระหว่างเจ้าของร้านคิวคอนเซ็ปต์สโตร์ กับดาราสาวระดับนางเอกอย่าง ชมพู่ อารยา เอฮาร์เก็ต ซึ่งถือเป็นดาราที่คลั่งไคล้ตุ๊กตาบลายธ์ขนาดมีสะสมในคอลเลกชั่นมากกว่า 100 ตัว จนวันหนึ่งเมื่อสบโอกาสได้คุยธุรกิจอย่างจริงจัง จึงร่วมหุ้นเปิดร้านนี้ขึ้น
ก่อนหน้าที่จะมีร้านเป็นของตัวเอง ชมพู่เป็นลูกค้าประจำของร้าน Leo-toy ซึ่งเป็น Blythe Official Shop ที่ได้ลิขสิทธิ์แห่งแรกในประเทศไทยจาก Junko Wong ดีไซเนอร์ชาวญี่ปุ่น ที่ทำให้บลายธ์ฟื้นคืนชีพเป็นสาวในหลากรูปแบบที่เปลี่ยนบุคลิกและสไตล์ไปตามผู้เป็นเจ้าของ
Blythe’s Value
หากเปรียบบลายธ์เป็นดาราคาคนหนึ่ง ปัจจัยที่ทำให้บลายธ์โด่งดังและทำเงินจากความดังของตัวเองก็ไม่ต่างกันเลย และเกิดเป็น Value Chain ให้กับสินค้าตัวนี้เติบโตได้เร็วขึ้นกว่ายุคแรกๆ
ข้อมูลประวัติของบลายธ์จากเว็บไซต์ต่างๆ พบว่าบลายธ์เริ่มต้นเมื่อปี 1972 แต่สิ่งที่ Kenner โรงงานผู้ผลิตของเล่นหวังไว้ว่าจะทำเงินกลับตรงกันข้าม
บลายธ์เป็นตุ๊กตาวินเทจที่มีเอกลักษณ์ของตัวเอง กะพริบและมีตาเปลี่ยนสีถึง 4 สี ได้แก่ เขียว ชมพู ส้ม และน้ำเงิน ตั้งแต่เวอร์ชั่นแรก แถมมีให้เลือกถึง 4 แบบ 4 สี ออกมาในรูปลักษณ์ของกลุ่มสาวทันสมัยแห่งยุคที่มาพร้อมทรงผมฮิตของยุค70s และเซตเสื้อผ้าที่เลือกเล่นได้กว่าสิบชุด
อาจจะเรียกว่าเป็นตุ๊กตาที่แอดวานซ์เกินไป เพราะแทนที่เด็กๆ จะชอบ กลับรู้สึกกลัวตากลมโตของบลายธ์จนโรงงานต้องปิดตัวหลังผลิตออกวางขายได้ปีเดียว
บลายธ์ต้องออกวงการไปทั้งที่ยังไม่มีผลงาน กว่าจะมีโปรดิวเซอร์สาวชาวอเมริกัน Gina Garan ไปสะดุดตากับบุคลิกที่โดดเด่นไม่เหมือนตุ๊กตาตัวไหนของเธอ แล้วพาติดตัวเดินทางไปยังที่ต่างๆ และใช้เป็นพร็อพในการถ่ายรูปกับฉากเกือบทุกมุมโลก ในฐานะนางแบบประจำตัว จนมีอัลบั้มรวมภาพถ่าย ในชื่อ This is Blythe ส่งผลให้บลายธ์กลายเป็นนางแบบที่ทำให้ชื่อของ จีน่า การัน โด่งดังไปทั่วโลก
เมื่อลิขสิทธิ์การผลิตตุ๊กตาบลายธ์ถูกซื้อโดยบริษัทผลิตของเล่น Takara ของญี่ปุ่น บลายธ์มีโอกาสได้เป็นพรีเซ็นเตอร์ให้กับโฆษณาทีวีของห้างสรรพสินค้า Parco ทำให้คนญี่ปุ่นคลั่งไคล้หลงใหลนางแบบคนนี้ตั้งแต่นั้นมา แม้ว่าตุ๊กตาในญี่ปุ่นจะมีทั้งบาร์บี้จากอเมริกาและเจนนี่ของญี่ปุ่นเองอยู่แล้ว แต่บลายธ์ก็เบียดมาแจ้งเกิดเต็มตัวในวัย 29 ปี เมื่อปี 2001 ที่ญี่ปุ่นนี่เอง
โลกออนไลน์ทำให้กระแสความแรงของบลายธ์หยุดไม่อยู่ หลังดังจากโฆษณาทีวีแค่เพียงชั่วคืน มีคนเข้าไปประมูลบลายธ์ในอีเบย์ ทำให้ราคาเพิ่มร้อยเท่า จาก 35 เหรียญเป็น 350 เหรียญ ส่วนการประมูลของ Yahoo ก็เกลี้ยงสต๊อกเช่นกัน รุ่นที่แพงและหายากที่สุดก็คือ Blythe คอลเลกชั่นวินเทจ ราคาอยู่ที่ตัวละ 1,000 เหรียญ แต่ปัจจุบันรุ่นลิมิเต็ดบางรุ่นของบลายธ์สามารถทำราคาได้ถึง 1.5-2.0 แสนบาทหลังจากผ่านไปไม่ถึง 10 ปี
จุงโกะกับจีน่ายังร่วมกันจัดนิทรรศการต่างๆ เกี่ยวกับบลายธ์อย่างต่อเนื่อง ด้วยความที่ทั้งคู่เป็นโปรดิวเซอร์ จากโลกตะวันตกและมหาอำนาจของโลกตะวันออก ทำให้ไอเดียการจัดนิทรรศการโดนใจกลุ่มคนในแวดวงแฟชั่นอย่างมาก โดยเฉพาะงาน Annual Blythe Charity Fashion Show ซึ่งจัดขึ้นเป็นประจำทุกปี กลายเป็นแหล่งรวมสุดยอดดีไซเนอร์ฝีมือดีของห้องเสื้อแบรนด์เนมชื่อดังจากทุกมุมโลกอย่าง John Galliano, Prada, Gucci, Vivienne Westwood, Issey Miyake, Versace, Sonia Rykiel ฯลฯ มาร่วมกันออกแบบเสื้อผ้าตัวจิ๋วให้กับเหล่านางแบบ Blythe ได้สวมเดินเฉิดฉายอยู่บนแคตวอล์กกลางกรุงโตเกียว
เรียกว่าโลกแฟชั่นของคนจริงๆ ทำอะไรได้ บลายธ์ก็ทำได้เช่นกัน
อาชีพอย่างโปรดิวเซอร์ และคนจากโลกแฟชั่น โดยส่วนใหญ่ก็มักจะเป็น Trend Setter ของสังคมอยู่แล้ว เมื่อพวกเขาให้ความสำคัญกับบลายธ์ขนาดนี้ ก็ยิ่งเป็นการจุดกระแสให้คนหันมามองมากขึ้น
รวมทั้งเป็นการตอกย้ำจุดยืนที่แตกต่างและชัดเจนให้กับบลายธ์
แม้ว่า จุงโกะ ซึ่งล่าสุดเดินทางมาร่วมงานเปิดเดอะดอลล์เฮ้าส์ที่ร้านคิวคอนเซ็ปต์สโตร์จะยืนยันว่า พวกเธอไม่ได้ตั้งใจที่จะทำตลาดอะไรให้กับบลายธ์ แต่ทุกอย่างที่ทำ ล้วนทำไปเพราะความชอบส่วนตัว แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า ได้สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับบลายธ์ จนโดดเด่นและแตกต่างจากตุ๊กตาทั่วไป ที่ไปกระตุ้น “ต่อมความอยาก” ให้เกิดขึ้นในกลุ่มคนที่ต้องการมีตัวแทนที่สามารถสะท้อนความเป็นตัวเองออกมาได้ รวมทั้งผู้หลงใหลในแฟชั่นและอยากควบคุมสิ่งที่ครอบครองให้เป็นได้ดังใจ
จากตุ๊กตาค้างสต๊อกที่แม้แต่เด็กซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายแรกก็ไม่ “Need” ทำให้คนที่หลงใหลภาพของบลายธ์ที่จุงโกะและจีน่า “โมดิฟาย” ขึ้นมาผ่านกิจกรรมของพวกเธอ จนเกิด “Want” และ “Demand” ตามมา
ไม่ใช่แค่ตัวตุ๊กตาบลายธ์ที่เป็นที่ต้องการ แต่องค์ประกอบและกิจกรรมที่บลายธ์ปรากฏสู่สายตาคน ทั้งการถูกจับแต่งตัว แต่งหน้า ทำผม ทำให้พฤติกรรมเหล่านี้เพิ่มมูลค่าให้กับธุรกิจของบลายธ์ที่ไม่ได้จบแค่การขายตุ๊กตาแค่ 1 กล่อง
ปัจจุบัน สินค้าลิขสิทธิ์บลายธ์ที่วางจำหน่ายในเมืองไทย ซึ่งมี Official Store อยู่ 2 แห่ง ได้แก่ ลีโอทอย และเดอะดอลล์ เฮ้าส์ แอท คิวคอนเซ็ปต์ นั้น จากตุ๊กตารุ่น Petite Blythe ขนาด 6 นิ้วที่มีราคาประมาณ 600 บาท ไปจนถึง Neo Blythe ความสูงขนาด 12 นิ้วราคาตั้งแต่ตัวละ 3,000 กว่าบาทขึ้นไปจนไม่จำกัดราคาสำหรับรุ่นที่ผลิตจำกัดแล้ว
ตัวแทนจำหน่ายเหล่านี้รวมทั้งร้านค้าที่ไม่ได้เป็นตัวแทน และแอสเซสเซอรี่บลายธ์แฮนด์เมดจากกลุ่มคนมีฝีมือยังสามารถจำหน่ายถุงเท้า แว่นตา รองเท้า เสื้อผ้า ที่ดึงตา วิกผม ลูกตา ของ บลายธ์ที่มีราคาจากร้อยบาทต้นๆ ไปจนถึงสินค้าราคาหลักพัน ก็สามารถดึงลูกค้าให้กลับมาซื้อเพิ่มเติมได้ไม่จำกัดจำนวนชิ้นและจำนวนครั้งอีกด้วย
“ลูกค้าที่เดินเข้าร้าน ครั้งแรกจะซื้อตุ๊กตา แต่ส่วนใหญ่ก็จะซื้อเสื้อผ้า หรือแอสเซสเซอรี่ติดไปด้วย อย่างน้อยก็เครื่องแต่งหน้า ถ้ามาครั้งต่อๆ ไปส่วนใหญ่ก็จะมาหาซื้อแอสเซสเซอรี่ เพราะไม่มีคนเล่นบลายธ์ที่ไม่แต่งตัวให้ตุ๊กตา” ประชาสัมพันธ์ร้านคิวคอนเซ็ปต์สโตร์ให้ข้อมูล
เธอบอกว่าตั้งแต่เปิดร้านมา มียอดขายบลายธ์เฉลี่ยวันละมากกว่า 50 ตัว ส่วนใหญ่ราคาเฉลี่ยที่คนซื้อจะอยู่ที่ตัวละประมาณ 6 พันบาท ถูกสุด 600 บาท (Petite Blythe) และเชื่อว่าความนิยมของบลายธ์ในไทยมากขึ้นกว่าเดิม โดยสังเกตได้จากปริมาณสินค้าที่ขายในตลาด ที่จะมีทั้งสิ้นค้าเสื้อผ้า กระเป๋า เข็มกลัด ตุ้มหู หรือแม้แต่ภาพถ่ายบลายธ์แบบต่างๆ ในกรอบรูป ซึ่งถือว่าผิดลิขสิทธิ์และเป็นสินค้าที่ผู้ขายสร้างสรรค์ขึ้นเองโดยนำรูปบลายธ์ไปเป็นองค์ประกอบ และเชื่อว่าอีกไม่นานหากความนิยมมากขึ้นอาจจะมีของก๊อบออกมาในตลาดเหมือนสินค้าส่วนใหญ่ที่เห็นเป็นประจำ
“รูปที่พิมพ์ขายไม่มีลิขสิทธิ์ คนที่ซื้อมีทั้งกลุ่มที่ชอบแต่ยังไม่มีเงินซื้อ กับกลุ่มคนที่เล่นอยู่แล้วแต่อยากซื้อรุ่นที่ไม่มีไว้ดู เพราะอาจจะเป็น Signature ของคนที่ไม่มีการผลิตขาย หรือเป็นลิมิเต็ดอิดิชั่นที่หาซื้อไม่ได้”
นอกจากสินค้าเหล่านี้ บลายธ์ยังทำรายได้ให้กับผู้นิยมเล่นบลายธ์ ที่มีพัฒนาความสามารถในด้านต่างๆ เริ่มจาก นักดัดแปลง ซึ่งคนเล่นตุ๊กตาบลายธ์อย่างจริงจัง สามารถเรียนรู้และปรับปรุงบลายธ์ได้ด้วยตัวเอง เรียกว่าเหลือแค่ไม่สามารถผลิตเป็นบลายธ์ขึ้นมาได้เท่านั้นเอง
ส่วนที่เหลือ จะเปลี่ยน จะปรับ จะปรุงอะไร สามารถทำได้ตามสไตล์กันเลย ยิ่งได้แชร์ข้อมูลผ่านโลกออนไลน์ด้วยแล้ว คนรักบลายธ์สามารถเข้าถึงข้อมูลต่างๆ ได้ง่ายได้ แถมมีที่ปรึกษาผ่านเน็ตเวิร์คในเครือข่ายอีกเพียบ สำหรับเมืองไทยซึ่งยังไม่มีร้านรับโม (Modify) เหมือนในฮ่องกง ญี่ปุ่น และสิงคโปร์ ที่ฮิตกันมานาน สามารถหาคนโมในส่วนที่ยังไม่มั่นใจที่จะทำเองได้ เช่น ผ่ากะโหลก กรีดปาก ได้ทางอินเทอร์เน็ตที่จะมีเครือข่ายแนะนำต่อๆ กันมา
“อย่างกรีดปากนี่เรียกโมแบบ Custom ต้องแยกชิ้นส่วน ต้องศึกษาจริงจัง ถ้าจะกรีดปาก กรีดไม่เป็นพังเลยนะ มือใหม่ที่โมง่ายที่สุดก็คือการแต่งหน้า แต่งลงไปเลยลบออกได้ ส่วนวิธีทำหน้าจากมันเป็นด้าน เปลี่ยนสีตา พวกนี้สำหรับมือใหม่ก็สามารถเรียนรู้ได้จากเว็บไซต์”
เล่นบลายธ์ไม่ต้องล็อกอิน
ในเว็บไซต์เกี่ยวกับบลายธ์ ส่วนใหญ่จะมีบริการสั่งซื้อสินค้าออนไลน์ ซึ่งบลายธ์ถือเป็นหนึ่งในสินค้าที่เข้ามาซัพพอร์ตอีคอมเมิร์ซได้ด้วยความสมัครใจของทั้งผู้ซื้อผู้ขาย
แต่สำหรับคอมมูนิตี้ของบลายธ์ สาวกของบลายธ์เจอกันได้ตามกระทู้ เว็บบอร์ด หรือฟอรั่ม ตามเว็บไซต์ที่เกี่ยวกับบลายธ์ โดยมือใหม่มักจะใช้อินเทอร์เน็ตเป็นช่องทางในการหาข้อมูล
“ถ้าจะถามว่าบลายธ์เริ่มฮิตจริงๆ ในเมืองไทยเมื่อไรไม่มีใครตอบได้ แต่ลักษณะการเกิดกระแสของบลายธ์ก็เหมือนแบรนด์เสื้อผ้าแบรนด์หนึ่ง เช่น อาจจะเป็นแบรนด์จากออสเตรเลีย ก็จะเริ่มจากคนที่เคยไปเรียน ไปอยู่ จากนั้นก็มีการนำสินค้ามาขายผ่านออนไลน์ ทำให้ข้อมูลเข้าถึงคนได้มากขึ้น บลายธ์ก็เหมือนแบรนด์เหล่านี้ที่เริ่มจากกลุ่มเล็กๆ แล้วมีอินเตอร์เป็นตัวแพร่” ประชาสัมพันธ์คิวคอนเซ็ปต์เหล่าถึงข้อสังเกต
เมื่อรวมกับความเชื่อที่กล่าวไว้ข้างต้นว่า บลายธ์ได้แรงกระตุ้นอีกครั้งจากการจัดงานเปิดตัวร้านเดอะดอลล์เฮ้าส์ ที่รวมดาราจำนวนมาก โดยเฉพาะระดับนางเอกที่ชื่นชอบบลายธ์มาเป็นแขกในวันเปิดตัว พร้อมกับตุ๊กตาบลายธ์ตัวโปรด จนกลายเป็นแรงดึงดูดที่สร้างกระแสให้บลายธ์พุ่งสูงในชั่วข้ามคืนเหมือนที่เคยปรากฏเป็นพรีเซ็นเตอร์ให้กับห้างสรรพสินค้าในญี่ปุ่นเมื่อเกือบ 10 ปีก่อน
จุงโกะ เอง ก็บอกว่า บลายธ์เป็นเหมือนคอมมูนิตี้หนึ่งในสังคม ที่คนเล่นสามารถใช้เป็นสื่อแสดงออกถึงบุคลิกของตัวเองออกมา เมื่อมีการพูดคุย ทำให้ผู้เล่นมีสังคมเพิ่มขึ้น แถมเป็นกลุ่มที่ชื่นชอบในสิ่งเดียวกัน โดยมีบลายธ์เป็นจุดเริ่มต้น จากนั้นก็ขยายไปสู่การคุยกันในหัวข้ออื่นๆ ทั้งงาน สไตล์ของตัวเอง รวมถึงแชร์ความรู้สึกกัน
การเข้าถึงบลายธ์บนออนไลน์ ปัจจุบันผู้ดูแลเว็บไซต์ยังใช้อินเทอร์เน็ตเป็นช่องทางหลักในการสร้างกระแสคนรักบลายธ์ให้ปรากฏตัวสู่สาธารณะมากขึ้น แน่นอนเขาอยากให้ผู้เล่นเหล่านี้ออกมาพร้อมบลายธ์ของพวกเธอ
หลายคนเล่นบลายธ์แล้วถือติดตัวมาด้วย นั่งเล่นกาแฟ ว่าง ๆ ก็หยิบมาเล่น มาถักเปีย แก้เหงา ซึ่งยังเป็นพฤติกรรมของเหล่าดาราที่รักบลายธ์ที่มักพกติดตัวไปกองถ่ายจนเป็นข่าวอยู่เสมอ
ใช้สร้างแคมเปญ
ล่าสุดเว็บไซต์ Blythethailand ถึงกับทำโปรโมชั่นร่วมกับร้านอาหารลิตเติ้ลโฮมเบเกอรี่ ให้คนรักบลายธ์ ได้รับส่วนลด 10-15% พร้อมรับบัตรสมาชิกฟรี แต่มีเงื่อนไขเดียวต้องพาบลายธ์มาเล่นที่ร้านด้วย ซึ่งถือเป็นแคมเปญการตลาดแรกกับกลุ่มคนรักบลายธ์ นอกเหนือจากการจัดปาร์ตี้ และการจัดครอสอบรมเรื่องต่าง ๆ เกี่ยวกับบลายธ์
ร้านคิวคอนเซ็ปต์สโตร์เองก็มีแผนที่จะจัดคอร์สเพื่อเป็นอีกช่องทางให้คนรักบลายธ์มารวมตัวกันได้อีกช่องทางหนึ่ง
ถ้าทุกคนที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจของบลายธ์แอคทีฟกับการทำตลาดแบบนี้ ต่อไปคงได้เห็นสิทธิประโยชน์ให้คนรักบลายธ์ได้สนุกและเป็นการช่วยต่อยอดกระแสบลายธ์ให้ขยายวงกว้างขึ้นอีกในเมืองไทยแน่ ๆ
บลายธ์ แบรนด์มีสาวก
สินค้ามีวงจรอายุ แต่แบรนด์อยู่ได้ตลอดไป เช่นเดียวกับที่อาจจะมีบลายธ์รุ่นแล้วรุ่นเล่าทยอยออกมาสู่ตลาด แต่ บลายธ์ จะยังเป็นแบรนด์ที่มีเรื่องราวที่สามารถเล่าขานระดับตำนานได้แม้จะเพิ่งมีอายุแค่ 37 ปีเท่านั้น
บลายธ์ไม่ได้เป็นเพียงสินค้าที่จับต้องได้ แต่ยังเป็นแบรนด์ ที่ถึงจะไม่สามารถจับต้องได้ แต่อธิบายได้ด้วยความรู้สึกที่สะท้อนความหมายและความมีคุณค่าต่อเจ้าของ เป็นความผูกพันที่ผู้บริโภคมีต่อแบรนด์และเป็นเหตุผลที่ทำให้เขาเหล่านั้นยอมจ่ายเงินเพื่อซื้อทั้งที่แพงกว่าตุ๊กตาอีกหลายตัวที่มีอยู่ในตลาดในความดังระดับเท่าๆ กัน รวมทั้งมีความแตกต่างที่ชัดเจนของตัวเองในการปรับแต่งได้ตามความพอใจของเจ้าของ
ด้วยเหตุนี้ ทำให้กลุ่มผู้บริโภคที่เป็นลูกค้าบลายธ์ อาจจะพูดได้เลยทีเดียวว่า เกือบ 100% จัดเป็นสาวก (Apostle) ของแบรนด์ ซึ่งถือเป็นรากฐานที่สำคัญที่สุดของการทำธุรกิจ เพราะมั่นใจได้ว่าแบรนด์นั้นจะมีลูกค้าที่มีความพึงพอใจสูงและพร้อมจะกลับมาสินค้าอย่างต่อเนื่อง
ที่สำคัญ “สาวก” เหล่านี้ยังช่วย “บอกต่อ” ให้คนมาซื้อสินค้าทั้งด้วยวาจาและพฤติกรรมต่างๆ ที่สื่อไปยังคอมมูนิตี้เดียวกัน ยิ่งคนยุคอินเทอร์เน็ตเฟื่องฟูบวกกับพฤติกรรมแบบไทยๆ ที่ชอบอวดของรักให้คนรู้จักหรืออาจจะไม่รู้จักได้เห็น การแชร์ข้อมูลบนอินเทอร์เน็ต การสื่อสาร และการรวมตัวของชุมชนออนไลน์ จึงล้วนเป็นวิธีการบอกต่อที่เป็นไปโดยธรรมชาติของเหล่าสาวกที่แบรนด์แทบไม่ต้องทำอะไรด้วยตัวเองเลย
Value chain
ร้านขายตุ๊กตาบลายธ์ >ธุรกิจรับโมดิฟายด์ > ร้านขายเสื้อผ้าอุปกรณ์ (ร้านค้าจริง-เว็บไซต์)> ซื้อขายแลกเปลี่ยน >ภาพถ่ายตุ๊กตาบลายธ์ >ทำโปรโมชั่นร่วมกับธุรกิจอื่นๆ
ใครเล่น : บลายธ์ไม่ใช่ตุ๊กตาสำหรับเด็ก อย่างน้อยต้องอายุ 15 ปีขึ้นไป แต่กลุ่มที่เล่นมากที่สุดคือกลุ่มผู้หญิงอายุ 18-35 ปี
เล่นอย่างไร : ส่วนใหญ่จะใช้เวลาและเงินไม่น้อยหมดไปกับการดัดแปลงให้เป็นในแบบที่ตัวเองชอบ ทั้งบุคลิก ทำ/ซื้อ/ขาย เสื้อผ้า หน้า ผม ขนตา รองเท้า รวมทั้งถ่ายรูปเก็บไว้และเผยแพร่บนอินเทอร์เน็ตหรือแชร์กันในกลุ่มเพื่อน ราคาสินค้าลิขสิทธิ์ถูกสุดเริ่มต้นที่ 120 บาทต่อชิ้น ไปจนถึงหลักหลายแสน
ปัจจัยหนุน : ความที่บลายธ์เป็นตุ๊กตาที่จัดแต่งได้สารพัด บวกกับความแพร่หลายของการใช้งานอินเทอร์เน็ต ทำให้ตุ๊กตาขนาด 11-12 นิ้วกลายเป็นศูนย์กลางของความสนใจของคนกลุ่มย่อยๆ ในสังคม เริ่มจาก กระทู้ เว็บบอร์ด เว็บไซต์ เกิดเป็นชุมชนบนออนไลน์ และขยายไปสู่โลกแห่งความจริงที่ทำให้เกิดกลุ่มเพื่อนใหม่ๆ ของกลุ่มคนที่มีรสนิยมชอบในสิ่งเดียวกัน
ทำไมต้องบลายธ์ : เสน่ห์แรกของบลายธ์อาจจะอยู่ที่หัวโต ตาโต ตัวเล็ก ที่สะดุดตาคน แต่จริงๆ แล้ว สิ่งที่ทำให้บลายธ์ผูกใจผู้เล่นได้อยู่หมัด คือ ความเป็นของเล่นของกลุ่ม Trend Setter ผู้ชื่นชอบแฟชั่น เหล่าคนดัง และกลุ่มที่มีสไตล์ของตัวเอง ที่เขาเหล่านี้สามารถแสดงความเป็นตัวตนผ่านน้องบลายธ์คู่ใจได้ในแบบที่ต้องการ
Blythe Hit on Net
จากการค้นหาคำว่า Blythe ในกูเกิล มีเว็บเกี่ยวกับบลายธ์ที่หาได้จำนวน 7,800,000 ในเวลา 0.05 วินาที เฉพาะหน้าของประเทศไทย ก็มีถึง 455,000 ที่หาได้ในเวลา 0.09 วินาที
เว็บสำหรับคนรักบลายธ์ที่เด่นๆ ได้แก่
www.blythethailand.com มีทุกเรื่องเกี่ยวกับบลายธ์ ตั้งแต่ทำความรู้จักเบื้องต้น ไปจนถึงการปรับแต่งทุกส่วน เครือข่ายออนไลน์ คอร์สสอนเทคนิคต่างๆ ข่าวคราวน้องบลายธ์ รวมไปถึงการสั่งซื้อสินค้าที่มีระบบติดตามการจัดส่งออนไลน์ไว้ด้วย
www.leo-toy.com เว็บของตัวแทนจำหน่ายบลายธ์แห่งแรกของประเทศไทย และเป็นเว็บเดียวที่ยอมซื้อโฆษณาบนกูเกิล
www.ichigoheaven.com จำหน่ายบลายธ์เป็นรายได้ มีให้เลือกครบทั้งตัวใหญ่ ตัวเล็ก เสื้อผ้า หน้าผม ไปถึงรองเท้า รวมทั้งเป็นแหล่งรวมสินค้าฝากขายและบลายธ์มือสอง พร้อมข้อมูลและประวัติ
Did you know?
ในขณะที่ Blythe มีเสน่ห์ที่ตากลมโต กลอกกลิ้งมองซ้ายขวา หลับตา กะพริบตาได้ตั้งแต่เวอร์ชั่นแรกเมื่อปี 1972 แต่คำว่า Blythe อ่านออกเสียงว่า ‘Blahyth’ หรือ ‘Blind’ ซึ่งหมายถึงคนตาบอด ทั้งยังพลาดในการทำตลาดเพราะเด็กซึ่งเป็นทาร์เก็ตกลัวลูกตาของบลายธ์เสียอีกด้วย