ยุคสมัยเปลี่ยนไป เกมรบธุรกิจก็ไม่เหมือนเดิม เพราะผู้ประกอบการไม่ได้แข่งกันเป็น “ปลาใหญ่กินปลาเล็ก” แต่เป็น “ปลาเร็วกินปลาช้า” ถ้าอยากเป็นผู้ชนะชัวร์ในสังเวียน การปรับตัวให้ทันเทรนด์ตลาด “ผู้บริโภค” และ “กระแสโลก” ถือเป็นสิ่งจำเป็น
“แสนสิริ” หนึ่งในยักษ์ใหญ่อสังหาริมทรัพย์ อ่านเทรนด์ธุรกิจในอนาคต เห็นภาพการอยู่อาศัยของผู้บริโภคอาจเปลี่ยนจากครอบครองสินทรัพย์มาเป็น Sharing Economy อยู่คอนโดมิเนียม บ้านเดี่ยว โดยไม่ต้องเป็นเจ้าของ รวมถึงเรื่องของเทคโนโลยี ความสะดวกสบายทำให้บริษัทต้องปรับตัวรับปัจจัยดังกล่าว
ยิ่งไปกว่านั้น องค์กร ที่เต็มไปด้วยคนรุ่นใหม่ “พันธุ์มิลเลนเนียล” (Millennial) สัดส่วนมากถึง 70% จากจำนวนพนักงานทั้งสิ้น 2,500 คน และพฤติกรรมคนพันธุ์ใหม่นี้ ต้องการมีบทบาทในการทำงาน มีอำนาจในการตัดสินใจ (Empowered) มากขึ้น และถ้าไม่ได้ดั่งใจก็พร้อมจะโบกมือบ๊ายบายไปหางานใหม่องค์กรอื่นที่เปิดกว้างกว่า ซึ่งจากคนยุคก่อน เช่น Baby Boomer ที่ทำงานร่วมหัวจมท้ายกับองค์กรไปตลอด “อุทัย อุทัยแสงสุข” ประธานผู้บริหารสายงานปฏิบัติการ บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) ฉายภาพองค์กร
ดังนั้น พฤศจิกายน 2560 แสนสิริจึง “รื้อ” ระบบการทำงานใหม่ทั้งหมด เอาใจคนมิลเลนเนียล ด้วยารนำแนวคิดการทำงานแบบ “เอจาวล์” (Agile) เข้ามาแทนที่ระบบเดิมแบบ “ไซโล” หรือทำงานแยกส่วน แยกฝ่ายต่าง ๆ การทำงานเป็นลำดับขั้น กว่าจะวางแผนแต่ละโปรเจกต์ที่อยู่อาศัยเสร็จหนึ่งโครงการ เช่น คอนโดมิเนียม ตั้งแต่เริ่มออกแบบ ทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ทำตลาดและขาย เรียกว่า “ช้า” กินเวลาเป็น 10 เดือน ดีไม่ดีบางโปรเจกต์เสนอให้เจ้านายสูงสุดแล้วไม่โดนใจ ต้องกลับมาเริ่มต้นใหม่ งานยิ่งช้าไปอีก นอกจากไม่โดนใจคนรุ่นใหม่ในองค์กรแล้ว ยังกระทบการ “ส่งมอบสินค้า” ให้กับลูกบ้านไม่ตรงเวลา เกิดเป็น Pain Point กับผู้บริโภคอีกทอดหนึ่ง
แต่จุดเด่นของ Agile แก้โจทย์ดังกล่าวหมด เพราะบริษัทรวบฝ่ายต่าง ๆ ทั้งฝ่ายพัฒนาโครงการ ออกแบบ การตลาด การเงิน การขาย มาอยู่รวมกันเป็น “ทีม” จำนวน 12 ทีม เพื่อดูแลโครงการที่อยู่อาศัย ซึ่งในแต่ละทีมรับผิดชอบงานร่วมกันทั้งหมด จะช่วยให้การประสานงานป็นหนึ่งเดียวมากขึ้น
ส่วนการให้อำนาจในการตัดสินใจ ได้เปิดกว้างทั้งการพิจารณาอนุมัติงบประมาณ การแก้ไขโปรเจกต์ โดยอยู่ภายใต้กรอบที่กำหนดไว้
ทั้งนี้ ระบบ Agile เริ่มใช้กับการพัฒนาโครงการคอนโดมิเนียมตึกสูงเกิน 8 ชั้น (ไฮไรซ์) เป็นกลุ่มแรก เพราะมีใช้คนน้อยประมาณ 300 คน อยู่แล้วเข้าใจเทคโนโลยีใหม่ ๆ อยู่ตลอดเวลา ตั้งแต่การออกแบบ การก่อสร้าง การขาย กรทำตลาด โดยแต่ละทีมจะต้องดูโครงการเฉลี่ย 3 โครงการ ส่วนผลลัพธ์ที่ได้จากการใช้ระบบดังกล่าวช่วยร่นระยะเวลาการทำงานสั้นลง
“การวางโครงการสร้างทำงานใหม่ บริษัทไม่มีการลดคนแต่อย่างใด และการปรับระบบ Agile ครั้งนี้ บริษัทยังทำความเข้าใจกับคนเก่าในการปรับวิธีคิด (Mindset) ของการทำงาน การวัดผลการทำงาน (KPI) เป็นทีม จากเดิมเป็นบุคคลขึ้นตรงกับหัวหน้า รวมถึงยืนยันว่าจะไม่กระทบต่อการเติบโตในหน้าที่ (Career Path) ด้วย”
อุทัย บอกอีกว่า เป้าหมายการดึง Agile มาใช้ในการทำงาน จะส่งผลดีต่อบริษัท 5 ด้าน ได้แก่ 1.สินค้าที่อยู่อาศัยของบริษัทเข้าสู่ตลาดเร็วขึ้น เพราะการทำงานสั้นลง 2.เมื่อลูกค้าเป็นศูนย์กลาง การทำงานตามติดจึงทำให้ตอบสนองความต้องการได้อย่างรวดเร็ว 3.พนังานรู้สึกถึงความเป็นเจ้าโปรเจกต์ที่พัฒนา 4.พนักงานมีความจงรักภักดีต่อองค์กรในระยะยาว ช่วยลดการลาออก และ 5.ลดต้นทุน แลเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน 10-20% ส่งผลให้ความสามรถในการทำกำไรเพิ่มขึ้นเป็น 11-12% จากปัจจุบันอยู่ที่ 10%
Agile เป็นส่วนหนึ่งในการเพิ่มสปีดธุรกิจ และกลยุทธ์ “ตรึง” คนทำงานพันธุ์ใหม่ เพราะแสนสิริรังสรรค์พื้นที่ชั้น 17 อาคารสิริภิญโญ ให้เป็น Coworking Space สร้างบรรยากาศอบอุ่นเหมือนบ้าน ดึงดูดให้ชาวมิลเลนเนียลอยากทำงานมากขึ้น ในพื้นที่ยังมีบาร์เครื่องดื่ม โต๊ะ โซฟาเก๋ไก๋ให้นั่งทำงาน มีห้องประชุม แล็บรูมหรือห้องตัวอย่างที่อยู่อาศัยที่เต็มไปด้วยเทคโนโลยี เพื่อพัฒนาโครงการ
บริษัทยังเตรียมปรับแบบ (เลย์เอาต์) พื้นที่ทำงานชั้น 16 ให้เป็นทีมแบบชัดเจนมากขึ้น รวมถึงเตรียมเพิ่มฟิตเนสสำหรับการออกกำลังกายในชั้นต่าง ๆเพิ่ม จากปัจจุบันมีการร่วมมือกับฟิตเนสบริเวณใกล้เคียงเพื่อเป็นสวัสดิการให้พนักงาน
นอกจากนี้ มีแผนจะเปิดกว้างให้พนักงานไม่ต้องเข้ามาทำงานที่ออฟฟิศ แต่มีเงื่อนไขว่าจะต้องส่งงานตรงเวลาที่กำหนด หากผิดเงื่อนไขจะต้องกลับเข้ามาทำงานลงเวลาเข้าออกเช่นเดิม ที่สำคัญอาจได้เห็นการให้สิทธิ์พนักงานไปใช้บริการทำงานใน JustCo ผู้ให้บริการ Coworking Space ที่เป็นพันธมิตรของบริษัทและจะเปิดให้บริการ 4 สาขาในปีนี้ที่อาคาร AIA สาทร และอาคาร All Season Place
อย่างไรก็ตาม ระบบ Agile จะนำมาใช้ทุกภาคส่วนขององค์กรภายใน 3 ปี ซึ่งจะผลักดันให้แสนสิริเป็นองค์กรที่น่าทำงานที่สุด (Dream Place to Work) สามารถดึงคนเก่ง (Top Talent) มาร่วมงานมากขึ้น จากปัจจุบันบริษัทเป็น 1 ใน 10 องค์กรที่คนอยากทำงานมากสุด.