ไม่ต้องใช้กรรไกร Levi’s “ใช้คอมพ์ยิงเลเซอร์” ตัดกางเกงยีนส์ลดขั้นตอนทำงาน

ไม่ต้องให้คนถือกรรไกรตัดแพทเทิร์นกางเกงเองแล้ว วันนี้แบรนด์ดัง “ลีวายส์” (Levi’s) ประกาศแผนใช้คอมพิวเตอร์ยิงเลเซอร์ตัดกางเกงยีนส์ทุกตัวในอนาคต โดยการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลนี้ช่วยลดขั้นตอนการใช้แรงงานตัดเย็บยีนส์จากสูงสุด 18-24 ขั้นตอน เหลือเพียง 3 ขั้นตอนเท่านั้น แถมยังมีข้อผิดพลาดน้อยกว่าด้วย

ลีวายส์เปิดตัวเทคนิกการตัดกางเกงยีนส์ระบบดิจิทัลที่ใช้เลเซอร์ในการสร้างสรรค์กางเกงยีนส์แทนแรงงานคน โดยตั้งชื่อเรียกโครงการนี้ว่า FLX ย่อมาจาก Future-Led Execution

จุดเด่นของระบบเทคนิกคือการตัดสารเคมีอันตรายออกจากระบบ และลดขั้นตอนการใช้แรงงานคนในการผลิต ซึ่งหากคำนวณจนถึงช่วงเสร็จสิ้นกระบวนการผลิตยีนส์ พบว่าจากที่มีขั้นตอนระหว่าง 18 ถึง 24 ขั้น ระบบนี้จะลดขั้นตอนการผลิตลงเหลือเพียง 3 ขั้นตอน โดยลีวายส์วางแผนที่จะขยายระบบตัดยีนส์ดิจิทัล นำไปใช้งานในทุกกระบวนการผลิตของบริษัท

ลีวายส์ชี้ว่าขั้นตอนแรกที่ต้องทำในกระบวนการผลิตใหม่ คือการถ่ายภาพยีนส์แล้วนำไปลากเส้นวาดแพทเทิร์นในรูปที่ระบบเลเซอร์สามารถทำงานได้ ดังนั้นสิ่งที่เคยเกิดขึ้นในกระบวนการผลิตเดิมนานกว่า 8-12 นาทีด้วยแรงงานคน ขณะนี้ ลีวายส์สามารถดำเนินการด้วยเลเซอร์ในเวลา 90 วินาทีเท่านั้น

บาร์ต ไซต์ส (Bart Sights) รองประธานด้านนวัตกรรมเทคนิคของ ลีวายส์ ซึ่งเป็นหัวหน้าทีมพัฒนานวัตกรรมที่ศูนย์ยูเรก้า (Eureka lab) ระบุว่าระบบเลเซอร์จะใช้แสงอินฟราเรดเพื่อกรีดผ้ายีนส์ที่ชั้นบนสุดของผิวยีนส์ กลายเป็นเส้นโครงร่างบางเบาที่คมกริบแนบเนียน

ลีวายส์บอกอีกว่าในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา อุตสาหกรรมเสื้อผ้าใช้มือและกระบวนการทางเคมีเพื่อสร้างแพทเทิร์นบนผ้า จุดนี้ทำให้บริษัทมุ่งมั่นที่จะทำภารกิจ “การปลดปล่อยสารเคมีอันตรายเป็นศูนย์” ให้ได้ในปี 2020 โดยจะลดจำนวนสารเคมีที่ใช้นับพันรายการ มาเป็นหลักสิบรายการในระหว่างกระบวนการตกแต่งผ้ายีนส์ด้วยเทคโนโลยีเลเซอร์นี้

ที่น่าสนใจคือ นักออกแบบของลีวายส์จะใช้เครื่องมือสร้างภาพใหม่บนแท็บเล็ตเครื่องจิ๋ว เพื่อสร้างรูปแบบและการตกแต่งกางเกงยีนส์ ซึ่งจะทำให้เกิดเป็นยีนส์ต้นแบบขึ้น โดยแพลตฟอร์มนี้จะช่วยให้นักออกแบบสามารถปรับแต่งสีและควบคุมการออกแบบรอยหยัก รอยขาด และชายผ้ายีนได้ อย่างไรก็ตาม ลีวายส์ชี้ว่าเทคนิคนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ และห้องทดลองยูเรก้าของลีวายส์เคยแถลงข่าวว่ากำลังพยายามนำเทคโนโลยีกราฟิก 3 มิติ มาใช้ในกระบวนการผลิตยีนส์ที่สมจริงมากขึ้น แต่ต้นแบบยีนส์ที่เคยได้จากเทคโนโลยีเก่ายังคงจำเป็นต้องใช้สารเคมี และแรงงานคนในการสร้างลวดลายฉีกขาดอยู่

ทั้งหมดนี้ ลีวายส์ระบุว่าเครื่องมือดิจิทัลใหม่จะช่วยลดระยะเวลาการผลิตลงราวครึ่งหนึ่ง จากหลักเดือน มาเป็นสัปดาห์ และอาจเร็วขึ้นสู่หลักไม่กี่วัน โดยไฟล์ดิจิทัลที่ถูกสร้างขึ้นเหล่านี้จะสามารถส่งไปยังเครื่องยิงเลเซอร์อื่นเพื่อสร้างต้นแบบ หรืออาจส่งไปยังเวนเดอร์ผู้ผลิตเพื่อการผลิตล็อตใหญ่ เบื้องต้นลีวายส์คาดการณ์ว่าจะสามารถใช้แพลตฟอร์มดิจิทัลได้เต็มร้อยในปี 2020

นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่มีการใช้เลเซอร์ในการออกแบบเสื้อผ้า ปีที่แล้ว อาดิดาส (Adidas) เปิดให้ลูกค้าออกแบบเสื้อกันหนาวโดยใช้เลเซอร์สแกนร่างกาย รวมถึงระบบเซ็นเซอร์อื่นที่ร้านค้าชั่วคราว (ป็อปอัพ) ในกรุงเบอร์ลิน ขณะที่นักออกแบบในอุตสาหกรรมอื่นใช้เทคโนโลยีเลเซอร์เพื่อสร้างสิ่งทอและเครื่องประดับจิวเวลรี.

ที่มา : mgronline.com/cyberbiz/detail/9610000021977