ถึงแม้จะมีการประกาศความสำเร็จของดีล Grab ซื้อกิจการ Uber ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไปหมาดๆ แต่ก็ยังมีอุปสรรครออยู่ โดยเฉพาะการควบรวมกิจการส่งผลให้เกิดการผูกขาดกิจการ
คณะกรรมการการขนส่งสาธารณะทางบกของประเทศมาเลเซีย (SPAD) เตรียมตั้งกระบวนการตรวจสอบดีลแกร็บ (Grab) ถึงดีลดังกล่าว รวมทั้งคณะกรรมการส่งเสริมการแข่งขันทางการค้ามาเลเซีย (MyCC) ที่ตื่นตัวเพื่อตรวจสอบดีลนี้อย่างจริงจัง
หลังจากเพื่อนบ้านอย่างสิงคโปร์ ออกมาประกาศกับสื่อแล้วว่า ดีลนี้อาจผิดกฎหมาย เนื่องจากเป็นการควบรวมกิจการที่อาจทำให้อุตสาหกรรมไม่เกิดการแข่งขันเท่าที่ควร ส่งผลเสียต่อผู้บริโภคในประเทศ
โดย คณะกรรมการการแข่งขันทางการค้าของสิงคโปร์ หรือ Competition Commission of Singapore (CCS) ออกแถลงการณ์เมื่อวันศุกร์ที่ 30 มีนาคม ว่า CCS ได้เริ่มการตรวจสอบข้อตกลง และเสนอมาตรการชั่วคราวที่จะต้องกำหนดให้ Uber และ Grab ตรึงราคาก่อนดีลไว้
ล่าสุด คณะกรรมการการแข่งขันของมาเลเซีย หรือ Malaysia Competition Commission (MyCC) ก็ออกแถลงการณ์ลักษณะเดียวกัน เพื่อตรวจสอบว่า ดีลนี้ผิดกฎหมายการแข่งขันทางการค้าหรือไม่ ด้านโฆษก Grab ไทยระบุว่า หลังวันที่ 8 เมษายน คนไทยที่มีแอปพลิเคชัน Uber ในเครื่องจะยังสามารถใช้งานแอปพลิเคชันได้อยู่เมื่อเดินทางในประเทศนอก
กลุ่มอาเซียน แต่การเดินทางในไทยจะไม่มีรถให้บริการ โดยผู้ที่ต้องการใช้บริการรถร่วมเดินทาง จะต้องดาวน์โหลดและติดตั้งแอปพลิเคชัน Grab และใช้บริการ Grab แทน
นอกจากประเด็นผิดกฎหมาย ดีลของ Uber-Grab ยังมีข่าวแง่ลบเรื่องการสื่อสารในองค์กรที่มีช่องโหว่ของ Uber ทำให้พนักงานสับสนเรื่องนโยบายปรับโครงสร้างองค์กร จนมีข่าวรั่วว่า พนักงาน Uber ในสิงคโปร์ ได้รับคำสั่งให้เก็บของออกจากสำนักงานภายใน 2 ชั่วโมง ขณะเดียวกัน ก็มีข่าวจากพันธมิตรของ Uber ที่ไม่แน่ใจในนโยบายหลังจากดีล.
ที่มา : mgronline.com/cyberbiz/detail/9610000032093