TMA ชูกรณีศึกษา 6 องค์กรแถวหน้า ทรานส์ฟอร์มรับกระแส ‘ดิจิทัล เทรนด์’ จากเวที Thailand ICT Management Forum 2018


ด้วยธุรกิจกำลังเดินมาถึงยุคที่ต้องเปลี่ยนตัวเองทุกสิ่ง และรับเอาดิจิทัลมาเป็นหัวใจหลักในการทำธุรกิจ เป็นengine ติดเทอร์โบที่ไม่เพียงแต่ทำให้องค์กร “อยู่รอด” แต่จะทำให้ยืนระยะ “อยู่ได้” ในอนาคต สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) มีบทบาทในการสนับสนุนศักยภาพของผู้นำในองค์กรทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อให้ก้าวเท่าทันกับกระแสการเปลี่ยนแปลงของโลก การจัดเสวนา “Thailand ICT Management Forum 2018” ภายใต้แนวคิด Shaking Business Foundation : The effect of digital trend เมื่อวันที่ 29มีนาคม 2561 ณ โรงแรม ดิ แอทธินี โฮเทล แบงค็อก จึงเป็นอีกทางด่วนข้อมูลอินเทรนด์ในยุคดิจิทัล ที่บรรดาองค์กรน้อยใหญ่สามารถเรียนรู้ นำไปประยุกต์ใช้ เพื่อไม่ให้ธุรกิจอยู่รั้งท้าย


6 กรณีศึกษาองค์กรแถวหน้า ต่างอุตสาหกรรม เป็นแม่แบบที่ควรค่าแก่การใฝ่รู้ ได้แก่

  • กว่าจะมาเป็น “ไลน์” ขวัญใจขาแชททุกเพศทุกวัย อะไรคือวิธีคิดเบื้องหลังความสำเร็จ
  • แทนที่มานั่งขายแต่วัสดุก่อสร้าง “เอสซีจี” ตกลงใจทำมากกว่านั้น เปลี่ยนมาขายความเป็นอยู่ที่ดี และยังเพิ่มมูลค่าได้ไม่ขีดจำกัด
  • หมดยุคป่วยแล้วไปโรงพยาบาล “โรงพยาบาลกรุงเทพ” เปลี่ยนวิธีคิดใหม่ เรายกทั้งโรงพยาบาลมาเสิร์ฟถึงบ้านคุณ
  • เพลานี้ สายตาของ “ดีแทค” มีแต่จับจ้องไปที่ดิจิทัลเท่านั้น เพราะถ้าเผลอนิดเดียว มีสิทธิ์พลาดได้
  • การกระพือปีกของ “ปูนอินทรี” ทำให้สามารถก้าวข้ามข้อจำกัดเดิมๆ ไปสู่มุมมอง bird eye view ที่ทั้งลึกและกว้างไกล
  • “แสนสิริ” มองว่าการเปลี่ยนแปลงคือการเรียนรู้ และทุกวันที่ไม่เคยหยุดเรียนรู้ จะทำให้ได้ค้นพบbig eureka ในสักวัน

“แพลทฟอร์ม” ใบเบิกทางความสำเร็จ


อริยะ พนมยงค์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไลน์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวในงาน Thailand ICT Management Forum 2018 หัวข้อ Power of Business Transformation ว่า “อย่าเสียเวลาไปอเมริกาเลย แต่ตอนนี้ควรจะไปประเทศจีน เพราะหลายสิ่งหลายอย่างเกิดขึ้นในจีน แม้แต่จะใช้เงินสดยังลำบาก เพราะจีนกลายเป็นสังคมไร้เงินสดไปแล้ว พร้อมชวนให้รีบไปดูงานที่จีนกัน เพราะธุรกิจมีเวลาไม่มากแล้วที่จะเกาะขบวนดิจิทัล”


ไลน์ใช้เวลาสร้างตัวเองเพียง 7 ปี เปลี่ยนจาก “แอพแชท” มาเป็น “แพลทฟอร์ม” หนึ่งในผู้เล่นที่ทรงพลัง ปัจจุบันคนไทยใช้งานอินเทอร์เน็ตผ่านมือถือ 44 ล้านคน และ 41 ล้านคนใช้ไลน์เป็นแอพหลักในการติดต่อสื่อสาร ซึ่งกลายเป็นข้อมูลสำคัญ ที่ไลน์ใช้แตกตัวธุรกิจทุกทิศทุกทางในเวลาต่อมา


“มือถือคืออนาคตใหม่ของอินเทอร์เน็ต แต่คนไทยส่วนใหญ่ยังนิยมใช้บริการอินเทอร์เน็ต มากกว่าใช้เพื่อทำธุรกิจ ทั้งๆ ที่อินเทอร์เน็ตเป็นเครื่องมือที่ทรงพลัง และเป็นได้มากกว่าความบันเทิง บ้านเรามีการใช้อินเทอร์เน็ต 76% ใน 3 แพลทฟอร์ม จากจำนวนเว็บที่มีอยู่ทั้งหมด เดาได้ไม่ยากว่ามีแพลทฟอร์มไหนบ้างที่คนไทยฮิต หนีไม่พ้น เฟซบุ๊ก ยูทูป และไลน์”


ภาพใหญ่ของผู้เล่นในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีวันนี้ แบ่งเป็น 3 กลุ่มใหญ่คือ 1.สตาร์ทอัพ คนรุ่นใหม่ ไอเดียดี แต่ไม่มีตังค์ 2. ผู้เล่นปัจจุบัน มีอายุธุรกิจตั้งแต่ 10-100 ปี มีเงิน มีคน แต่ไม่มีไอเดีย และ 3. กลุ่ม tech platform มีทุกสิ่งที่กลุ่ม 1 กับ 2 ไม่มี และมีมากไปกว่านั้นอีก แม้แต่แบงก์ยังหนาว


“ความท้าทายในยุคแพลทฟอร์ม ที่หลายอุตสาหกรรมต่างก็กระโดดเข้ามาแข่งขัน”


อริยะ พนมยงค์ กล่าวว่า การก้าวเข้ามาของธุรกิจแพลทฟอร์มยักษ์ใหญ่จากต่างประเทศ ทำให้ปีนี้ธุรกิจอีคอมเมิร์ซเติบโตอย่างมโหฬาร จากที่เคยเป็นม้านอกสายตา เผลอแป๊ปเดียว โตพรวดพราดเป็น 100%กลุ่มธุรกิจสายพันธุ์ดิจิทัลเหล่านี้ ต่างก็มีธุรกรรมทางการเงินเป็นของตัวเอง แล้วจะไม่ให้แบงก์ตื่นตัวเร่งปรับเปลี่ยนได้อย่างไร เพราะอีกไม่นานธุรกิจ payment จะเป็นสนามรบระอุเดือดในลำดับถัดไป


สิ่งที่ต้องรีบเรียนรู้จากบรรดา tech company ข้ามชาติคือ การให้ความสำคัญกับข้อมูล ที่จะนำไปสู่การเข้าใจพฤติกรรมของผู้บริโภค และหมั่นคิดเพื่อพาองค์กรไปสร้างโอกาสใหม่ๆ แม้โอกาสจะมาแบบแว่วๆ เพราะเราอยู่ในยุคที่จะคอยให้ทุกอย่างเต็มร้อยเปอร์เซ็นต์ แล้วค่อยหน้าเดินไม่ได้ แค่เป็นไปได้ 70-80% ก็หรูแล้ว ส่วนที่เหลือค่อยเรียนรู้กันไป


“เอสซีจี” จากโลกของปูนสู่โลกของดิจิทัล


ชลลักษณ์ มหาสุวีระชัย Digital Business Lead บริษัท เอสซีจี ซิเมนต์-ผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง จำกัด เล่าว่า บริษัทขยับวิธีคิดแบบง่ายๆ จากการสร้างแรงบันดาลใจในการขายวัสดุก่อสร้าง มาเป็นแรงบันดาลใจในการสร้างความเป็นอยู่ที่ดี


โดยกำหนดกรอบของการเปลี่ยนธุรกิจไปสู่ดิจิทัลใน 3 แนวทางคือ 1. กำหนดโมเดลธุรกิจใหม่ 2. ยกระดับประสบการณ์ของผู้บริโภค และ 3.ปรับปรุงการทำงานให้เต็มประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น


“เรามองว่าจริงๆ แล้ว การเปลี่ยนธุรกิจมาสู่โลกของดิจิทัล มันไม่ใช่แค่เทคโนโลยี แต่เป็นเรื่องของคนล้วนๆ ที่ต้องปรับวิธีคิดในการทำงาน เอสซีจีพยายามสร้างคนให้เป็นส่วนหนึ่งของระบบนิเวศน์ดิจิทัล เชื่อในคุณค่าของคน เพื่อให้ทุกคนได้เอาศักยภาพของตัวเอง มาสร้างให้องค์กรเกิดการเปลี่ยนแปลง”


“รพ.กรุงเทพ” ไม่ต้องรอให้ป่วยถึงเจอกัน


“กรุงเทพดุสิตเวชการ” ผู้บริหารโรงพยาบาลกรุงเทพ มองว่า การผลัดใบธุรกิจไปสู่ดิจิทัล จำเป็นต้องยกเครื่องตั้งแต่ฐานรากของการทำธุรกิจ เพราะทุกวันนี้ปัญญาประดิษฐ์อ่านฟิล์มเอ็กซเรย์ได้แม่นยำกว่านักรังสีแล้ว ยิ่งเป็นแรงกดดันให้ต้องเร่งปรับตัว


วีระศักดิ์ กฤษณประพันธ์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการใหญ่ ฝ่ายสารสนเทศ บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน) เล่าว่า โรงพยาบาลกรุงเทพ และเครือ เริ่มต้นการเดินทางสู่โลกยุคดิจิทัล ด้วยการปลุกความฮึกเหิมให้คนในองค์กรได้รับรู้ทั่วกันว่า ดิจิทัลมาแน่ มันต้องเกิด และเราต้องทำให้ได้ เอาชนะมันไปให้ได้ โดยเริ่มต้นเล็กๆ ไล่ไปแต่ละแผนก ทั้งไอที การตลาด ฝ่ายผลิตภัณฑ์ ทั่วทั้งองค์กร จากนั้นจึงกำหนดวิสัยทัศน์ร่วมกันในกลุ่มผู้บริหารระดับสูง


“เราประชุมวิสัยทัศน์กับซีอีโอทุกอาทิตย์ เพื่อสร้างแผนไปสู่การปฏิบัติ โดยกรอบหลักคือ การเชื่อมโยงพฤติกรรมใหม่ๆ ของการทำงาน เข้ากับความสำเร็จที่มีอยู่ ผ่าตัดโครงสร้างการทำงาน และโละนโยบายที่ไม่สอดคล้องกับแนวทางใหม่ ส่งเสริมคนให้กล้าคิดกล้าทำ และให้แรงจูงใจเมื่อสามารถนำวิสัยทัศน์ไปสู่การลงมือทำ จนประสบความสำเร็จ”


โรงพยาบาลกรุงเทพมีเปิด BDMS Wellness Clinic เพื่อดูแลสุขภาพก่อนที่จะป่วย และเพิ่งเปิดใช้งานmobile health passport app เป็นโปรแกรมตรวจวัดไขมันในเลือด ดัชนีมวลกาย ความเข้มข้นของเม็ดเลือดแดง เป็นส่วนหนึ่งของการเขย่าโมเดลธุรกิจ โดยแทนที่คนไข้จะต้องไปโรงพยาบาลเพื่อเจาะเลือดตรวจเช็ค ก็ยกการบริการพื้นฐานทั้งหมดมาไว้บนมือถือ ส่งมอบการบริการถึงที่บ้าน เป็นการเร่งสปีดเพื่อให้แข่งขันได้ในสงคราม red ocean


“ดีแทค” ขอเป็นที่ 1 ดิจิทัล แบรนด์ ปี 2020


เทเลคอมถูกคาดการณ์ว่า จะเป็นธุรกิจถัดไป ที่ถูกกระแสดิจิทัลบีบสุดแรงต่อจากธุรกิจสื่อ แทนที่จะรอวันถูกบังคับให้ต้องเปลี่ยน ดีแทครีบเปลี่ยนแปลงตัวเอง พร้อมปักธงรบ “ขอเป็นที่ 1 ในดิจิทัล แบรนด์ ปี 2020”


กนกพรรณ ศรีวนาภิรมย์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายพัฒนาทรัพยากรบุคคล บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) บอกว่า ยิ่งคนไทยคลั่งไคล้โซเชียล มีเดีย มากเท่าใด รายได้ของดีแทคก็หดตัวลงมากเท่านั้น พอคนจดทะเบียนมือถือน้อยลง บริษัทก็ต้องหากลยุทธ์ใหม่ๆ เข้ามาปิดจุดเสี่ยง ทั้งการหาพันธมิตรข้ามธุรกิจ การใช้เทคโนโลยี บิ๊กดาต้า และปัญญาประดิษฐ์ เอามาสร้างโอกาสใหม่ๆ


“ปีนี้คาดการณ์ว่าจะมีคนลงทะเบียนเปิดเบอร์ใหม่เพียง 2% และจะลดลงเหลือ 1% ในปี 2562-2564 ในสถานการณ์แบบนี้ การตั้งเป้าหมายเป็นเบอร์ 1 ในดิจิทัล แบรนด์ ทำให้เราหันกลับมามองกลยุทธ์ที่จะทำเราไปถึงเป้าหมายดังกล่าว ทั้งการปรับองค์กร การสร้างวัฒนธรรมที่ตื่นรู้ การพัฒนาคนให้มีทักษะความสามารถเพิ่มขึ้น จะได้ก้าวเดินไปพร้อมกัน และหล่อหลอมคนให้มีภาวะของผู้ประกอบการอยู่ในตัว”


หลังดีแทคพยายามเปลี่ยนตัวเองในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ผ่านการให้บริการรูปแบบใหม่ๆ เช่น ดีแทคแอพ สำหรับชำระค่าบริการ, ดีแทควัน บริการสำหรับผู้ขายดีแทค และไลน์ โมบายล์ บริการเครือข่ายโทรศัพท์ดิจิทัล ทำให้มีจำนวนผู้ใช้บริการเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัวใน 2 ปี โดยยอดขาย 2 ใน 3 มาจากแอพ และ 20% ของการใช้งานมาจากออนไลน์ โดยผลสำรวจความพึงพอใจของลูกค้าในปี 2560 ที่ผ่านมาเพิ่มขึ้นเป็น 94% จาก 80%ในปีก่อนหน้า


“ปูนอินทรี” กว่าวิหคจะเหินลม


ปูนอินทรีสลัดทุกอย่างทิ้งในปี 2558 หลังตัดสินใจฉีกตัวเองจากพาร์ทเนอร์ต่างชาติ และปักธงนำสร้างองค์กรแห่งนวัตกรรมนับจากนั้น ด้วยการสร้างแพลทฟอร์มใหม่ แตกเป็น 9 ธุรกิจย่อยใน 8 บริษัท ปีถัดมาก็ซื้อกิจการเพิ่มอีก 4 แห่ง ขยายกิจการครอบคลุมใน 6 ประเทศ


ปี 2560 บริษัทเผชิญความท้าทายระลอกใหม่ เพื่อรับมือกับสถานการณ์ใน 10 ปีข้างหน้า ที่ประเทศไทยจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ในก้าวจังหวะที่ปูนอินทรีกำลังขยายงานไปทุกทิศทุกทาง แล้วจะหาคนที่ไหนมารองรับ ลำพังแรงงานต่างชาติถึงจุดหนึ่งก็ต้องคืนถิ่น การผนวกเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ากับการพัฒนาองค์กร จึงเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด


อิฑยา ศิริวสุกาญจน์ ที่ปรึกษาอิสระ Digital Transformation Advisor และอดีตซีอีโอ อินทรี ดิจิทัล กล่าวว่า ต้นปี 2561 บริษัทเริ่มเตรียมพร้อมสำหรับคนรุ่นถัดไป พร้อมกับพัฒนาเครื่องจักรให้มีความสามารถมากขึ้น ลดต้นทุนค่าใช้จ่าย และสร้างโมเดลธุรกิจให้พร้อมปรับตัว สามารถคาดการณ์กับความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต


“เราสร้างโรงงานผลิตปูน โดยใช้แนวคิดแบบดิจิทัล Connected Plant หรือโรงงานอัจฉริยะ เพื่อก้าวข้ามข้อจำกัด คาดการณ์อนาคต และเปิดโอกาสให้คนทำงานได้ใช้ชีวิตอย่างมีความสุข ลดสต็อกอะไหล่ เชื่อมโยงการทำงานกับต่างประเทศแบบไร้รอยต่อ”


เธอบอกว่า หัวใจสำคัญในการเปลี่ยนองค์กรไปสู่ดิจิทัลคือ ทำให้องค์กรมีศักยภาพในการเปลี่ยนแปลง โดยเริ่มต้นจากคน ที่ต้องฝึกฝนตัวเองให้พร้อมยอมรับการเปลี่ยนแปลง และปรับตัวอย่างรวดเร็ว ปัจจุบันนี้อุตสาหกรรมซิเมนต์ ต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงสูง ลูกค้าเปลี่ยน วิธีการทำงานเปลี่ยน ตลาดเปลี่ยน นิยามของการบริหารจัดการไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป การที่ธุรกิจเร่งสปีดการปรับตัว และใช้เทคโนโลยีอย่างเต็มประสิทธิภาพ จะช่วยให้องค์กรสามารถก้าวอย่างมั่นคงต่อไปได้


บิ๊กยูเรก้าของ “แสนสิริ”


แสนสิริตีความ digital transformation ว่า เป็นการเปลี่ยนแปลงองค์กร เพื่อเพิ่มความเร็วในการรับสิ่งใหม่ๆ และเพิ่มความสามารถในการเชื่อมต่อกับหลายสิ่ง ที่จะทำให้องค์กรดีขึ้นและไปไกลได้มากขึ้น


ดร.ทวิชา ตระกูลยิ่งยง ประธานผู้บริหารสายงานเทคโนโลยีและวิเคราะห์ข้อมูล บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ทุกวันนี้ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์กำลังถูกทดสอบด้วยมิติใหม่ๆ ด้วยปัจจัยใหม่ๆ เช่น พฤติกรรมการอยู่อาศัยของเด็กเจนวาย เจนเน็ต ในยุคมิลเลนเนียม จริงๆ แล้วอยากซื้อบ้าน หรือแค่อยากมีที่พักอาศัย และรูปแบบการใช้ชีวิตจะยังรวมกลุ่มเป็นสังคมชุมชน หรืออยู่ร่วมกันแบบแบ่งปัน (co-living) ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นแล้วที่เมืองนอก เป็นโจทย์ที่แสนสิริจะต้องตอบรับกับการเปลี่ยนแปลง ต้องเรียนรู้ เพื่อเปลี่ยนองค์กรไปสู่ทิศทางลมใหม่ๆ ของธุรกิจ


“สิ่งที่เราเรียนรู้ มันกลับมาสู่เบสิก คือการตัดสินใจที่รวดเร็ว โครงสร้างองค์กรที่ยืดหยุ่น วัฒนธรรมที่พร้อมปรับเปลี่ยน” โดยแสนสิริให้น้ำหนักกับ 2 ปัจจัยที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลง ได้แก่

  1. วัฒนธรรมที่พร้อมยอมรับความคิดใหม่ๆ ยอมล้มเลิกความคิดเดิมๆ ที่ทำให้เราไปต่อไม่ได้ ซึ่งเขาบอกว่า เป็นเรื่องยากเอามากๆ สำหรับแสนสิริ ที่ยังมั่นใจว่า ภายใน 3-5 ปีนี้ ธุรกิจแสนสิริยังได้ไปต่อ
  2. โครงสร้างองค์กร จะทำอย่างไรให้เกิดการตัดสินใจเร็วสุด ให้คนมีส่วนร่วมในการคิดและการลงมือทำ ด้วยโจทย์ข้อนี้ นำไปสู่การปรับโครงสร้างองค์กรครั้งใหญ่ในปีนี้ ด้วยการปลดทุกพันธนาการของการรวบอำนาจ ไปสู่การกระจายอำนาจในทุกแผนก และการฟอร์มดรีมทีม 13 กลุ่มงาน

ข้อดีของแสนสิริคือ เป็นองค์กรที่เคลื่อนไหวเร็ว ลงมือเร็ว แต่ยังมองไม่เห็นกรอบของการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยยะ เพราะบริษัทยังไม่ได้สร้างอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน แต่ก็ยังไม่หยุดที่จะค้นหาจุดเปลี่ยนของตัวเอง


“ถ้าคุณหยุด คุณไม่ทำ คุณรอดูคนอื่น คุณจะไม่เจอ คุณจะไม่เรียนรู้ ผมว่า transformation เป็นเรื่องของการเรียนรู้ เพื่อหาให้เจอ eureka moment แล้วต่อไปคุณก็จะเจอ mini eureka ที่ให้เราสะสมแต้มไปเรื่อยๆ และเราก็คาดหวังว่า วันหนึ่งเราจะเจอกับ big eureka ในที่สุด”


ธุรกิจเดินมาถึงยุคแห่งการเปลี่ยนแปลงตัวเองอีกคำรบ ถ้าไม่ปรับตัวเส้นทางข้างหน้าก็จะถึงทางตัน แต่ถ้ารีบเคลื่อนไหว ทางข้างหน้าอาจพุ่งทะยานแบบรถไฟหัวกระสุนของจีนก็เป็นได้…