ถ้าพูดถึงโรงรับจำนำ ที่พึ่งยามยากของคนไทยที่คุ้นเคยมานาน แต่ถ้าไม่จำเป็นคนส่วนใหญ่ก็ไม่อยากเข้า แม้จะไปในฐานะลูกค้าที่ต้องการหาของดีราคาถูกจากโรงรับจำนำก็ตาม
เพื่อขจัดปัญหาดังกล่าว โรงรับจำนำ “มันนี่ คาฟ่ ปิ่นคู่” จึงพลิก “ภาพลักษณ์” เปลี่ยนโรงรับจำนำบนตึกแถวและชื่อเก่าๆ “ปิ่นเกล้าคู่ขนานลอยฟ้า” ให้ดูโมเดิร์น
พร้อมสร้าง “แบรนด์” ทำตลาด จัดโปรโมชั่นให้ลูกค้าที่มารับจำนำสินค้า มีการบริการตั้งแต่เปิดประตูทางเข้า
ส่วนสินค้า “หลุดจำนำ” ลูกค้าไม่ไปไถ่ถอนคืนมีราว 20% ทั้งทองคำ เครื่องประดับเพชรพลอย หรือจิวเวลรี่ นาฬิกา กระเป๋าแบรนด์เนมสารพัด ก็เปิดเป็นร้านช้อปปิ้งเซ็นเตอร์
สินค้ามือสอง หลุดจำนำ ในชื่อ “มันนี่ คาเฟ่” ที่สยามสแควร์ซอย 3 ในช่วงปลายปี 2560
เพื่อดึงดูดลูกค้าให้หันมาสนใจมากยิ่งขึ้น ลำพังสินค้าหลุดจำก็ไม่เพียงพออีกต่อไป มันนี้ คาเฟ่ จึงบินไปติดต่อ “แบรนด์ ออฟ โตเกียว” (BRAND OFF TOKYO) ประเทศญี่ปุ่น ร้านจำหน่ายสินค้ามือสองรายใหญ่ 1 ใน 3 เพื่อซื้อสิทธิ์การเปิดร้านในประเทศไทย ภายใต้ชื่อ “Brand Off TOKYO by Money Café” เป็นระยะเวลา 2 ปี เป็นการบุกตลาดสินค้าแบรนด์เนมมือ 2 ครั้งแรกในไทยจึงเดินเกมรุกเต็มที่ 5 ปีต้องมี 6 สาขา
คอนเซ็ปต์ของร้าน เป็นทั้งหน้าร้านขายแบรนด์เนม (Selling) และรับซื้อ (Buying) กระเป๋าแบรนด์เนมจากลูกค้าเพื่อนำมาขายต่ออีกทอด โดยทำเลจะเน้นห้างค้าปลีก พื้นที่ร้าน 50-200 ตารางเมตร (ตร.ม.) โดยกลุ่มเป้าหมายจะมีทั้งนักศึกษา วัยเริ่มต้นทำงาน และแม่บ้านที่มีกำลังซื้อสูง
“คนไทยนิยมสินค้าแบรนด์เนม แต่เมื่อก่อนกว่าจะได้ใช้แบรนด์เนมต้องทำงานมีเงิน แต่เวลานี้นักศึกษาก็ซื้อแบรนด์เนมกันแล้ว” ชูศักดิ์ ตั้งเลิศสัมพันธ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท มันนี่ คาเฟ่ จำกัด ให้เหตุผล
ถ้าเป็นนักศึกษา แบรนด์ที่นิยม คือ โคช หลุยส์ วิตตอง บาลองเซียก้า ถ้าเป็นวัยเริ่มต้นทำงาน อยากได้หลุยส์ วิตตอง ขณะที่แม่บ้านชอบโคช หลุยส์ วิตตอง หรือแอร์เมส
บริษัททุ่มงบกว่า100 ล้านบาท ปรับโฉม “มันนี่ คาเฟ่” ที่สยามสแควร์ซอย 3 อาคาร 4 ชั้น ให้เป็นร้าน “Brand Off TOKYO by Money Café” สาขาแรกและเป็นแฟล็กชิพสโตร์ โดยจะเปิดขายสินค้าเต็มรูปแบบ 18 พฤษภาคมนี้
สินค้าที่วางขายจะมีทั้งกระเป๋าแบรนด์เนมมือสอง เช่น แอร์เมส(HERMES) หลุยส์ วิตตอง (LOUIS VUITTON) บาลองเซียก้า (Balenciaga) ไปจนถึงโคช (COACH) และลองชอม (LONGCHAMP) จิวเวลรี่ นาฬิกา และเครื่องประดับ ชั้น 4 จะเปิดเป็นร้านขายส่ง (Wholesale)
สินค้าแบรนด์เนมที่จะนำมาขาย จะมีทั้งประมูลจากร้าน BRAND OFF TOKYO ที่ญี่ปุ่นโดยตรง ซึ่งประมูลปีละ 2 ครั้ง มาเสริมพอร์ตสินค้าสัดส่วน 30-40% และบริษัทจะรับซื้อ (Trade) จากลูกค้าชาวไทย (Local) ที่มีแบรนด์เนมแล้วเก็บไว้ไม่ใช้ รวมถึงคนที่ต้องการหมุนเงินเพื่อนำไปซื้อของใหม่สัดส่วน 60-70%
โดยราคาสินค้ามือสอง จะต่ำกว่ามือ 1 ประมาณ 30% พยายามให้ใกล้เคียงในประเทศญี่ปุ่นเพื่อป้องกันการไหลไปซื้อในต่างประเทศ
ชูศักดิ์ ประเมินว่า ตลาดสินค้าแบรนด์เนมมือสองในไทยกว้างมาก มีทั้งร้านค้าออนไลน์ ขายปลีก ขายส่ง ผู้บริโภครายย่อยซื้อขายกันแบบตัวต่อตัว คาดว่ามูลค่าตลาดอย่างต่ำๆ ก็เกิน1,000 ล้านบาท แถมยังเติบโตไปพร้อมกับแบรนด์เนมมือ 1
จุดขายของ “แบรนด์ออฟ โตเกียว บาย มันนี่ คาเฟ่” ต้องอยู่ทีความเชื่อถือ โดยทางญี่ปุ่น ซึ่งทำตลาดมา 25 ปี จะส่ง “กูรู” หรือ Specialist จากญี่ปุ่นมาเช็ก ตรวจสอบสินค้าไหนแท้ เชื่อถือได้มาประจำสาขา 1 คน
สำหรับร้าน BRAND OFF TOKYO มีสาขากว่า 68 ร้านในเอเชีย เช่น ญี่ปุ่น 50 สาขา ฮ่องกง 7-8 สาขา ไต้หวัน 5 สาขา มีสินค้ามากกว่า 1,000 รายการ ครอบคลุมกระเป๋า นาฬิกา เครื่องเพชร เครื่องประดับ ในไทยตั้งเป้ายอดขายปีแรกที่ 80 ล้านบาท.