การทำธุรกิจน้ำมันยุคนี้ แม้จะมียอดขายหลักหมื่น หลักแสน หรือหลักล้านล้านบาท แต่ผู้ประกอบการไม่ได้เอ็นจอยกับ “กำไร” มากนัก
กำไรเฉลี่ยประมาณ 1.50 บาทต่อลิตร และเมื่อไหร่ราคาน้ำมันโลกพุ่งจนกระทบราคาขายปลีกกระเทือนเงินในกระเป๋าผู้บริโภค รัฐจะยื่นมือมาดูแลกำไรให้อยู่ที่ระดับ 60-90 สตางค์ต่อลิตร ต่ำเตี้ยลงไปอีก
แถมการแข่งขันก็สูงมาก ตลาดเต็มไปด้วยผู้เล่นรายใหญ่ทั้งไทยและต่างประเทศ ทำให้บรรดาสถานีน้ำมัน ต่างเบนเข็มไปรุกธุรกิจที่ไม่ใช่น้ำมัน (Non-oil) กันถ้วนหน้า
เช่นเดียวกับ “บริษัท พีทีจี เอ็นเนอยี จำกัด (มหาชน)” หรือ PTG เป็นอีกรายที่ขอเอาดีกับธุรกิจ “นอนออยล์” วางเป้าหมายไว้ว่า ภายในปี 2565 นอนออยล์มีกำไรโตขึ้น 60% จากปีก่อนโต 10% และปีนี้ตั้งเป้าโต20%
“ธุรกิจน้ำมัน ขาย 100 บาท กำไรแค่บาทเดียว ทุกปี เราอยากจะขยายในธุรกิจนอนออยล์ 2-3 ธุรกิจใหม่ เน้นธุรกิจอาหารและบริการกำไรเยอะกว่า ถึงแม้คู่แข่งจะเยอะ แต่ก็ไม่เจอยักษ์ใหญ่” พิทักษ์ รัชกิจประการ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ. พีทีจี เอ็นเนอยี กล่าว
พิทักษ์ มองว่า “ธุรกิจอาหารและบริการ” (Food and Service) เป็น “จิ๊กซอว์” สำคัญที่สามารถ “ซีนเนอร์ยี” ธุรกิจที่มีอยู่ โดยเฉพาะการเชื่อมโยงบัตรสมาชิกแมกซ์การ์ดที่มีกว่า 8 ล้านราย และคาดว่าจะเพิ่มเป็น 18 ล้านรายในปี 2565
ยังต่อยอดธุรกิจร้านสะดวกซื้อ “แมกซ์มาร์ท” ร้านกาแฟ “พันธุ์ไทย” ร้านกาแฟและเบเกอรี่ “คอฟฟี่ เวิลด์” ร้านอาหาร “ไทยเชฟเอ็กซ์เพรส” มีร้านรวมกันกว่า 320 สาขาด้วย เพราะนั่นหมายถึงการมีสินค้าเข้าไปจำหน่ายในร้านช่องทางต่างๆ มากขึ้น เพิ่มความหลากหลายให้ผู้บริโภคทุกกลุ่มยิ่งขึ้น
เมื่อออกสตาร์ทหลังคู่แข่ง พีทีจี ใช้วิธีซื้อและควบรวมกิจการ (Mergers and Acquisitions) เป็นกลยุทธ์ในการขยายธุรกิจนอนออยล์
หลังจากซื้อ บริษัท GFA ซึ่งเป็นเจ้าของร้าน Coffee World, Cream & Fudge, New York 5th Av. Deli, Coffee World Restaurant และ Thai Chef Express โดยมีสาขารวมกันทั้งหมด 130 สาขาทั้งในประเทศ และต่างประเทศ
ล่าสุด พีทีจี ได้ส่งกาแฟพันธุ์ไทย ในเครือ ใช้เงิน 44-45 ล้านบาท เข้าซื้อหุ้น 70% ในกิจการธุรกิจอาหาร “บริษัท จิตรมาส แคเทอริ่ง จำกัด” ทำธุรกิจจัดเลี้ยง (catering) รองรับลูกค้าตั้งแต่ 5 คน ไปจนถึงรับงานใหญ่ 5,000 คน มีร้านอาหาร อาหารแช่เย็นพร้อมรับประทาน (ชิลล์ฟู้ด) อาหารแช่แข็งพร้อมรับประทาน (โฟรเซ่นฟู้ด) รองรับกับการบริโภคเป็นจำนวนมาก
ด้วยสกลการผลิตในระดับอุตสาหกรรม พีทีจี ตั้งใจจะให้ จิตรมาส เป็นครัวกลาง ผลิตอาหาร อาหารแช่เย็น อาหารแช่แข็ง เบเกอรี สนับสนุนธุรกิจอาหารในเครือของ PTG ที่มีสาขารวมกันกว่า 320 สาขา และแผนขยายครัวกลางไปสู่ครัวภูมิภาคในระยะเวลาประมาณ 3-4 ปีข้างหน้า เพื่อรองรับการขยายตัวในต่างจังหวัด ตามการขยายตัวของสถานีบริการ PTG ทั่วประเทศ ซึ่งคาดว่าการลงทุนรวมจะอยู่ที่ 360 ล้านบาท ภายใน 5 ปีข้างหน้า
ด้านจิตรมาส เมื่ออยู่ใต้เงาพีทีจี นอกจากได้เงินทุนมาช่วยขยายธุรกิจอาหาร และขยายช่องทางจำหน่ายได้กว้างขวางมากขึ้น เพราะพีทีจีฯ มีปั๊มน้ำมันกว่า 1,600 สาขาทั่วประเทศ และยังมีร้านอาหารในเครือกว่า 300 ร้าน ช่วยให้จิตรมาสยายธุรกิจได้เร็วขึ้น ทำทั้งเบื้องหลัง มาสู่การให้บริการแก่ลูกค้าโดยตรง
พีทีจีฯ วางแผนใช้เงิน 360-400 ล้านบาท ขยายธุรกิจอาหารในช่วง 5 ปี เปิดร้านอาหารไทยฟาสต์ฟู้ด “ครัวบ้านจิตร” ในปั๊มราว 8-10 สาขาในปีนี้ ช่วยเพิ่มทางเลือกให้กับลูกค้าที่เข้ามาใช้บริการในสถานีได้มากขึ้น จากนั้นจะขายให้ได้ 30 สาขา ในปี 2562 และเปิดให้ครบ 120 ในปี 2565
นอกจากนี้ ยังเตรียมเปิด ร้านอาหารสไตล์พรีเมี่ยมแคสชวล ที่มีขนาดใหญ่ขึ้นมา แต่ยังไม่ได้ตั้งชื่อร้าน คาดจะเปิด10 สาขาในปีนี้ และตั้งเป้าเพิ่มเป็น 25 สาขา ภายใน 3-5 ปี
60-80 ล้านบาท จากนั้นตั้งเป้ายอดขายโตเฉลี่ยประมาณ 50% ต่อปี ทำให้คาดว่าในปี 2565 บริษัทฯจะมียอดขายไม่ต่ำกว่า 900–1,000 ล้านบาท
“ตอนนี้เราไม่ต้องกังวลวางแผน Turnaround หรือฟื้นธุรกิจน้ำมันให้มีกำไร แต่ต้องโฟกัสการทำแผนขยายสาขาธุรกิจอาหารมากขึ้น ถ้าจิตนมาสได้ผลตอบรับดีเราจะใช้งบลงทุนบุกหนักขึ้น เพราะสิ่งที่เราวางไว้ ธุรกิจต้องเดินอยู่ได้โดยลำพัง พร้อมกับเข้าตลาดหุ้นได้ด้วย”
สำหรับธุรกิจอาหารในประเทศไทยมีมูลค่ามหาศาลกว่า 4 แสนล้านบาท และโตอิงจีดีพี 3-4% ต่อเนื่อง ตลาดยังมีหลายเซ็กเมนต์ให้ผู้เล่นรายใหม่เข้าไปเจาะเพิ่มเติม
ผลการดำเนินงาน พีทีจีฯ ปี 2560 มีรายได้รวมกว่า 84,900 ล้านบาท มีกำไรสุทธิกว่า 913 ล้านบาท รายได้โตขึ้นจากปี 2559 อยู่ที่ 64,926 ล้านบาท แต่กำไรลดลงจาก 1,073 ล้านบาท
จากนี้ไป คงต้องติดตามว่าการขยายธุรกิจนอนออยล์จะ “ฟื้นกำไร” ของพีทีจีให้โตตามเป้าหรือไม่.