ย้อนชมดีลแห่งปี 2564 “ปลาใหญ่” ในไทยล่ากิจการ ขยายน่านน้ำทางธุรกิจ

ปี 2564 เป็นปีที่น่าจับตามองของบริษัท/องค์กรขนาดใหญ่ในไทย ในแง่ของการเข้าซื้อกิจการหรือซื้อหุ้นลงทุนในบริษัทอื่น ไม่ว่าจะเป็นการซื้อบริษัทขนาดใหญ่/กลางที่อยู่ในตลาดมานานแบบ “ปลาใหญ่กินปลาใหญ่” ทำให้อาณาจักรองค์กรขยายใหญ่ทันที หรือการขยายไปลงทุนในกิจการสตาร์ทอัพที่กำลังโตแรงหรือธุรกิจขนาดเล็กแต่มีศักยภาพ ช่วยเสริมพอร์ตให้ปลาใหญ่เกิดทางลัดทางธุรกิจ ปีที่ผ่านมามีดีลอะไรที่น่าสนใจบ้าง Positioning ขอรวบรวมมาไว้ที่นี่

 

“บิ๊กดีล” ปลาใหญ่ฮุบปลาใหญ่

รวมดีลที่น่าสนใจ เมื่อองค์กรขนาดใหญ่ที่เข้าไปซื้อกิจการหรือซื้อหุ้นเป็นสัดส่วนสำคัญในธุรกิจขนาดใหญ่/กลางที่อยู่ในตลาดมานาน โดยทำให้เกิดการขยายน่านน้ำทางธุรกิจได้อย่างรวดเร็ว ไม่ว่าจะเป็นในธุรกิจเดิมที่ทำอยู่ หรือการขยายไปยังธุรกิจอื่น

“กัลฟ์” เข้าซื้อ “อินทัช”

แต่เดิมนั้น บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ GULF ถือหุ้นใน บริษัท อินทัช โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ INTUCH อยู่แล้ว 18.93% แต่ปีนี้ กัลฟ์ได้ทำการ Tender Offer ระหว่างวันที่ 29 มิ.ย. 64 – 4 ส.ค. 64 จนในที่สุดเมื่อปิดระยะเวลา กัลฟ์เพิ่มการถือหุ้นในอินทัชขึ้นเป็น 42.25% โดยใช้เงินลงทุนไปราว 48,600 ล้านบาท

ทั้งนี้ INTUCH เป็นบริษัทผู้ถือหุ้นรายใหญ่อยู่ใน บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ ADVANC เจ้าของเครือข่าย AIS โดยถือหุ้นสัดส่วน 40.44% น่าสนใจว่าการเพิ่มการลงทุนของธุรกิจสายพลังงานลงในธุรกิจโทรคมนาคม จะเกิดการ synergy ทางธุรกิจอย่างไรต่อไป

 

“เซ็นทรัลพัฒนา” เข้าซื้อ “สยามฟิวเจอร์”

เมื่อวันที่ 5 ก.ค. 64 บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) หรือ CPN ประกาศเข้าซื้อหุ้นสัดส่วน 30.36% ใน บริษัท สยามฟิวเจอร์ ดีเวลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ SF โดยเป็นการซื้อหุ้นจาก บมจ.เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ๊ป (MAJOR) ใช้เงินลงทุนไป 7,765.9 ล้านบาท รวมแล้วทำให้ CPN ถือครองหุ้นสัดส่วน 31.57% ใน SF ขึ้นเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับ 1

การเข้าซื้อ SF ของ CPN จะทำให้พอร์ตธุรกิจยิ่งแข็งแกร่งขึ้น เพราะจะได้ครอบครองศูนย์การค้าเพิ่มอีก 18 แห่ง รวมพื้นที่เช่า 4.3 แสนตร.ม. และมีทำเลทองที่น่าสนใจคือ “เมกา บางนา” รวมอยู่ในนี้ ซึ่งจะส่งให้ CPN เป็นเจ้าของ Super Regional Mall เพิ่มเป็น 2 แห่ง คือทั้งเซ็นทรัล เวสต์เกต และ เมกา บางนา

 

กลุ่ม “BTS” ซื้อหุ้นใน “JMART-SINGER”

เดือนสิงหาคมที่ผ่านมา กลุ่ม BTS ประกาศดีลเข้าลงทุนใน บริษัท เจ มาร์ท จำกัด (มหาชน) หรือ JMART และ บมจ.ซิงเกอร์ ประเทศไทย (SINGER) โดยทางใช้วิธีขายหุ้นเพิ่มทุนให้บริษัทในเครือของ BTS สองแห่ง ได้แก่

  • บมจ.วีจีไอ (VGI) ใช้เงินลงทุนประมาณ 7,000 ล้านบาท ซื้อหุ้นเพิ่มทุน 15% ใน JMART
  • บมจ.ยูซิตี้ (U) ใช้เงินลงทุนราว 4,500 ล้านบาท ซื้อหุ้นเพิ่มทุนสัดส่วน 9.9% ใน SINGER และยูซิตี้ยังมีวงเงินอีก 7,000 ล้านบาท เพื่อซื้อหุ้นเพิ่มทุนแบบเฉพาะเจาะจงใน SINGER สัดส่วน 24.9% ด้วย

ทำให้ดีลนี้รวมแล้วกลุ่ม BTS ใช้งบไปทั้งหมด 18,500 ล้านบาท

ดีลนี้ถือว่าวิน-วินกันทั้งสองฝ่าย เพราะฝั่ง JMART ก็ต้องการเงินลงทุนเพิ่มเพื่อนำไปใช้ชำระหนี้และต่อทุนกิจการ ส่วน BTS ก็ต้องการขยายการลงทุนในธุรกิจอื่น ในที่นี้คือการขายอุปกรณ์โทรศัพท์มือถือของ JMART และธุรกิจสินเชื่อของ SINGER

 

“ธนาคารกรุงศรีอยุธยา” เข้าซื้อ “พอร์ตธุรกิจรายย่อยของธนาคารซิตี้แบงก์”

แม้จะเป็นพอร์ตธุรกิจขาหนึ่งของธนาคารซิตี้แบงก์ในไทย แต่เป็นพอร์ตที่มีมูลค่าสูงถึง 2,000 ล้านเหรียญสหรัฐ และส่วนที่น่าสนใจคือธุรกิจบัตรเครดิต ซึ่งบัตรซิตี้แบงก์มีลูกค้าชั้นดีที่ถือครองบัตรของบริษัทจำนวนมาก หลังจากซิตี้กรุ๊ปประกาศจะถอนตัวออกจากธุรกิจรายย่อยในประเทศไทย ทำให้หลายฝ่ายจับตามองว่าใครจะเป็นผู้ชนะการประมูลซื้อพอร์ต

ตามการรายงานข่าวของ Bloomberg ระบุเมื่อวันที่ 7 ธ.ค. 64 ว่า ธนาคารกรุงศรีอยุธยาเป็นผู้ชนะการประมูล โดยมีกระแสข่าวก่อนหน้านั้นว่านอกจากแบงก์กรุงศรีฯ แล้ว ยังมีธนาคารกรุงเทพและธนาคารกสิกรไทยที่สนใจยื่นประมูลด้วยเช่นกัน

 

ปลาใหญ่ลงทุนใน “ปลาโตไว” ช่วยขยายน่านน้ำ

รวมดีลที่ “ปลาใหญ่” เข้าไปลงทุนกับสตาร์ทอัพที่กำลังเติบโตแรง หรือบริษัทขนาดเล็กแต่มีศักยภาพสูง ช่วยสร้างทางลัดในธุรกิจให้กับปลาใหญ่ได้อย่างรวดเร็ว

“SCBX” เข้าซื้อ “Bitkub”

ดีลที่เรียกเสียงฮือฮาแห่งปีเมื่อเดือนพฤศจิกายน กลุ่ม SCBX ประกาศใช้เงินลงทุนถึง 17,850 ล้านบาท เข้าถือหุ้นสัดส่วน 51% ใน บริษัท บิทคับ ออนไลน์ จำกัด หรือ Bitkub ส่งให้สตาร์ทอัพด้านสินทรัพย์ดิจิทัลรายนี้เป็น “ยูนิคอร์น” ตัวใหม่ของเมืองไทยทันที

สำหรับฝั่ง SCBX เห็นได้ชัดว่านี่คือการขยายน่านน้ำอย่างรวดเร็วเข้าสู่ธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลซึ่ง Bitkub กรุยทางธุรกิจหลักมาแล้วในฐานะศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลรายใหญ่ในไทย

“OR” เข้าซื้อหุ้นใน โอ้กะจู๋, Kouen, Kamu Tea

ตลอดปีนี้ บมจ. ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก หรือ OR มีการซื้อหุ้นในบริษัทอาหารและเครื่องดื่มหลายแห่งเพื่อขยายพอร์ตของตนเองให้หลากหลายตามแนวทางธุรกิจ โดยใช้บริษัทในเครือคือ บริษัท มอดูลัส เวนเจอร์ จำกัด (Modulus) เข้าไปถือหุ้นบริษัทรายเล็กอื่นๆ ดังนี้

  • โอ้กะจู๋ – OR ใช้งบลงทุนไม่เกิน 500 ล้านบาท เข้าถือหุ้น 20% ใน บริษัท ปลูกผักเพราะรักแม่ จำกัด เจ้าของเชนร้านอาหารโอ้กะจู๋ 14 สาขา โดยโอ้กะจู๋มีจุดเด่นเป็นแบรนด์ร้านอาหารผักเกษตรอินทรีย์ที่อร่อย สดใหม่ ทำรายได้ปี 2562 ไป 643 ล้านบาท กำไรสุทธิ 79 ล้านบาท
  • Kouen – OR ใช้เงินลงทุนวงเงินไม่เกิน 192 ล้านบาท เข้าลงทุนซื้อหุ้นสัดส่วน 25% ในบริษัท อิ่มทรัพย์ โกลบอล คูซีน จำกัด (ISGC) เจ้าของธุรกิจร้านอาหารญี่ปุ่น Kouen จำนวน 19 สาขา
  • Kamu Tea – OR ใช้งบลงทุนไม่เกิน 480 ล้านบาท เข้าซื้อหุ้นสัดส่วน 25% ในบริษัท คามุ คามุ จำกัด เจ้าของแบรนด์ชานมไข่มุก Kamu Tea ร้านชานมไข่มุกที่ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 2554 ปัจจุบันขยายไปมากกว่า 100 สาขา เมื่อปี 2563 บริษัทรายงานรายได้ 362 ล้านบาท กำไรสุทธิ 97 ล้านบาท

 

นอกจาก “ดีล” เด่นๆ ข้างต้นแล้ว ยังมีบิ๊กดีลที่ทั้งสองบริษัทแจ้งว่าเป็นการ “ควบรวมกิจการ” นั่นคือ TRUE กับ DTAC เนื่องจากไม่ใช่การที่บริษัทหนึ่งเข้าซื้อกิจการในอีกบริษัท แต่ทั้งคู่จะจัดตั้งบริษัทใหม่ขึ้นมา โดยมีการจัดสรรหุ้นในบริษัทใหม่ให้กับแต่ละบริษัท ซึ่งผลสุดท้ายแล้วจากมูลค่าหุ้นน่าจะทำให้ TRUE ได้ถือหุ้นบริษัทใหม่ 58% และ DTAC จะได้ถือ 42%

อย่างไรก็ตาม ผลต่อผู้บริโภคนั้นก็จะทำให้ผู้เล่นในตลาดโทรคมนาคมลดจาก 3 ราย เหลือ 2 ราย ทั้งนี้ ต้องติดตามรายละเอียดการควบรวมกิจการกันต่อไป เพราะข่าวที่ออกมาเบื้องต้นยังเป็นการเซ็น MOU กันเท่านั้น

ส่วนดีลอื่นๆ ที่เป็นการประสานความร่วมมือของสองบริษัทหรือมากกว่าผ่านการจัดตั้งบริษัทใหม่ร่วมกันนั้น ปี 2564 ก็มีดีลลักษณะนี้ให้เห็นเพียบ เพราะธุรกิจยุคใหม่หากจะโตให้เร็วหรือโตกว้าง หลายบริษัทเล็งเห็นแล้วว่าจะทำได้ผ่านการจับมือกับบริษัทอื่นโดยนำเอาความเชี่ยวชาญหรือแหล่งเงินทุนมาประสานพลังกันนั่นเอง