“ชายสี่บะหมี่เกี๊ยว” แต่งตัวเข้าตลาดหุ้น! “ซื้อกิจการ” ร้านดังเข้าพอร์ต – ส่งรถเข็นบะหมี่ขาย “ฟิลิปปินส์”

ชายสี่บะหมี่เกี๊ยว
(ซ้าย) “อนุชิต สรรพอาษา” กรรมการผู้จัดการ บริษัท ชายสี่ คอร์ปอเรชั่น จำกัด และ (ขวา) "พันธ์รบ กำลา" ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ชายสี่ คอร์ปอเรชั่น จำกัด
กว่า 30 ปีที่ “ชายสี่บะหมี่เกี๊ยว” เปิดขายอยู่ในเมืองไทย ใช้กลยุทธ์ยึดหัวหาดตามปั๊มน้ำมันและหน้าเซเว่นฯ จนวันนี้มีแฟรนไชซีกำลังลวกบะหมี่อยู่กว่า 4,500 สาขาทั่วประเทศ แต่ถ้าจะโตได้มากกว่านี้ต้องขายมากกว่าบะหมี่! ทำให้บริษัทปรับใหญ่สู่ “ชายสี่ คอร์ปอเรชั่น” พร้อมล่าซื้อกิจการแบรนด์ร้านอาหารดาวรุ่งเข้าสู่อาณาจักร “สตรีทฟู้ด” ของบริษัท ปั้นให้แมสเพื่อเจาะตลาดทั่วไทยและไปไกลถึงต่างประเทศ

“พูดตรงๆ เพราะผมไม่อยากเห็นลูกๆ ทะเลาะกัน” พันธ์รบ กำลา ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ชายสี่ คอร์ปอเรชั่น จำกัด กล่าวเปิดใจตรงไปตรงมาถึงเหตุผลเริ่มแรกที่ต้องการผลักดัน “ชายสี่บะหมี่เกี๊ยว” เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และนำมาสู่การปรับโครงสร้างในบริษัทให้ ‘พร้อม’ ที่จะเป็นบริษัทในตลาดหุ้น

พันธ์รบ เป็นหนุ่มอีสานผู้ต่อสู้ฝ่าฟันจากศูนย์ ทำงานมาหลายอย่างก่อนจะมาจับธุรกิจขายบะหมี่เกี๊ยวครั้งแรกที่แยกลำลูกกาเมื่อปี 2535 หลังจากนั้นพันธ์รบคิดพัฒนาเรื่อยมาจนมีสูตรและเครื่องผลิตเส้นบะหมี่ด้วยตนเอง พร้อมต้อนรับญาติพี่น้องจากบ้านเกิดเข้ามาขยายสาขา “ชายสี่บะหมี่เกี๊ยว” โกยรายได้ในเมืองกรุง จนทำให้เกิดอาณาจักรบะหมี่เกี๊ยว ขายแฟรนไชส์รถเข็นไปทั่วประเทศ

ปัจจุบันชายสี่ คอร์ปอเรชั่นไม่ได้มีแต่ร้านบะหมี่เกี๊ยว แต่ยังขายแฟรนไชส์แบรนด์อื่นๆ ด้วย เช่น ชายใหญ่ ข้าวมันไก่, ลูกชิ้นทอด โอ้มายก๊อด, พันปีบะหมี่เป็ดย่าง รวมทั้งหมด 7 แบรนด์ในเครือ มีสาขารวมกว่า 4,500 สาขา แต่ชายสี่บะหมี่เกี๊ยวยังเป็นแบรนด์หลักคิดเป็นสัดส่วนเกิน 90% ของรายได้รวม

อาณาจักรของชายสี่บะหมี่เกี๊ยวสนับสนุนด้วยโรงงานผลิตเส้นบะหมี่และฮับกระจายสินค้า 7 แห่งในทุกภาค ได้แก่ กรุงเทพฯ, ฉะเชิงเทรา, อุดรธานี, มหาสารคาม, พิษณุโลก, ลำปาง และสุราษฎร์ธานี มีรถขนส่งมากกว่า 100 คันที่กระจายวัตถุดิบสำคัญคือ “เส้น” ให้แก่แฟรนไชซีทุกวัน เพื่อไม่ให้มาตรฐานตกเพราะร้านนี้มีจุดขายที่ “เส้นบะหมี่ทำสด” ไม่ค้างหลายวันจนหมดอร่อย

ชายสี่บะหมี่เกี๊ยว
ข้อมูลผลประกอบการจาก บริษัท ชายสี่ คอร์ปอเรชั่น จำกัด

ในแง่รายได้ เมื่อปี 2566 บริษัททำรายได้รวม 1,117 ล้านบาท และทำกำไรสุทธิ 126.6 ล้านบาท โดยกำไรสุทธิปี 2566 เติบโตถึง 121% จากปีก่อนหน้า เพราะบริษัทเริ่มปรับโครงสร้างธุรกิจมาตั้งแต่ปี 2565 เริ่มนำผู้บริหารมืออาชีพและทีมงานคนรุ่นใหม่เข้ามาบริหารธุรกิจ เกิดการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต บริหารต้นทุนให้ดีขึ้น จนลดต้นทุนได้สำเร็จ

 

จะโตเร็วต้อง “ซื้อ” แบรนด์เข้ามา

“อนุชิต สรรพอาษา” กรรมการผู้จัดการ บริษัท ชายสี่ คอร์ปอเรชั่น จำกัด อธิบายถึงวิสัยทัศน์การเติบโตว่า หากพึ่งพิงการขายเส้นบะหมี่อย่างเดียวคงโตได้ช้า บริษัทจึงปรับตำแหน่งทางการตลาดของตัวเอง ต้องการจะเป็น “เจ้าแห่งสตรีทฟู้ด” ผ่านแบรนด์แฟรนไชส์ที่มีอยู่ 7 แบรนด์ และจะซื้อแบรนด์ใหม่ๆ เข้ามาในบริษัทเพื่อมา ‘ปั้น’ ให้กลายเป็นแบรนด์ ‘ซูเปอร์แมส’ ที่ไปเปิดได้ทั่วไทย

ผลิตภัณฑ์ร้านก๋วยเตี๋ยวเรือ “เสือร้องไห้”

ในปี 2567 นี้ชายสี่ฯ ตกลงเข้าถือหุ้นใหญ่ซื้อกิจการแล้ว 2 ร้าน ได้แก่ ร้านก๋วยเตี๋ยวเรือ “เสือร้องไห้” จากอยุธยา และ ร้านขนมหวานชื่อดัง “BRIX” จะเป็น 2 ร้านนำร่องที่บริษัทจะร่วมกับผู้ก่อตั้งนำมาปั้นให้แมสขึ้นร่วมกัน เพื่อเป็นโชว์เคสในการไปเจรจาแบรนด์อื่นในอนาคตว่าการร่วมทุนกับชายสี่ฯ จะทำให้ร้านเติบโตในทิศทางใด

“เรามีศักยภาพในการทำร้านรถเข็น ร้านแนวสตรีทฟู้ดมาก่อน อย่างร้านเสือร้องไห้มีจุดเด่นเรื่องรสชาติก๋วยเตี๋ยวเรือที่อร่อยจนคนกรุงเทพฯ ยังต้องไปต่อคิวถึงอยุธยา ก็เป็นไปได้ที่เราจะนำสูตรมาทำเป็นก๋วยเตี๋ยวเรือรถเข็น หรือร้าน BRIX อนาคตก็อาจจะแตกแบรนด์ย่อยมาขายขนมชิ้นละ 60-70 บาท เป็นบูธขายตามห้างฯ ก็เป็นไปได้เหมือนกัน” อนุชิตกล่าว

ร้านขนมหวาน BRIX

การคัดเลือกแบรนด์ดาวรุ่งที่ชายสี่ฯ สนใจซื้อกิจการ อนุชิตมองว่าไม่จำกัดประเภทอาหาร/ขนม/เครื่องดื่ม เป็นไปได้ทั้งหมดขอเพียงเป็นแบรนด์ที่มี ‘ลายเซ็น’ ของตัวเองที่ชัดเจน เป็นที่รู้จักแล้วในระดับหนึ่ง และผู้ก่อตั้งเดิมยังต้องการจับมือร่วมกันพัฒนาต่อ ไม่ต้องการผู้ร่วมทุนที่ขายขาดและออกจากกิจการ

ภายในปีนี้ชายสี่ฯ ตั้งเป้าจะซื้อกิจการแบรนด์ใหม่อีก 5-10 แบรนด์ โดยเตรียมงบลงทุนไว้ราว 50-100 ล้านบาท

 

ขยายให้ไกลกว่า CLMV สยายปีกเข้า “ฟิลิปปินส์-ญี่ปุ่น”

ขยายพอร์ตโฟลิโอแล้ว ตลาดก็ต้องขยายด้วยเช่นกัน อนุชิตกล่าวว่า ชายสี่ฯ จะเริ่มทำตลาด “ต่างประเทศ” อย่างจริงจัง จากเดิมมีการขายแฟรนไชส์บ้างในกลุ่มประเทศเพื่อนบ้าน แต่วันนี้ชายสี่ฯ กำลังจะเริ่มบุกเข้าสู่ “ฟิลิปปินส์” เต็มตัว

โดยบริษัทเข้าไปร่วมทุนกับ Cabalen Group ธุรกิจร้านอาหารสไตล์เอเชียนบุฟเฟต์ที่มีกว่า 60 สาขาในฟิลิปปินส์ สร้างโรงงานผลิตเส้นบะหมี่ที่ฟิลิปปินส์เรียบร้อยแล้ว ภายในสิ้นปีนี้จะเริ่มผลิตเพื่อป้อนเส้นบะหมี่ส่งในร้านของ Cabalen Group ก่อนที่ในอนาคตจะเริ่มเปิดร้าน “ชายสี่บะหมี่เกี๊ยว” ในศูนย์การค้าและสตรีทฟู้ดของฟิลิปปินส์

ส่วนแผนธุรกิจใน “ญี่ปุ่น” นั้นกำลังทดลองพัฒนาผลิตภัณฑ์ “บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป” จากสูตรของชายสี่บะหมี่เกี๊ยวเองเพื่อขายในแดนปลาดิบ

 

เข้าตลาดหุ้นอีกไม่เกิน 3 ปี

จากการปรับโครงสร้างทั้งหมดนี้ อนุชิตกล่าวว่าบริษัทคาดจะได้ยื่นไฟลิ่งเข้าสู่ตลาดหุ้นภายใน 3 ปี โดยวัตถุประสงค์ของการระดมทุนจะเป็นไปเพื่อใช้ซื้อกิจการแบรนด์ใหม่ ขยายธุรกิจไปต่างประเทศ และลงทุนโรงงานเพิ่มเติม

เมื่อถึงจุดที่พร้อมเข้าสู่ตลาดหุ้น เชื่อว่าโครงสร้างรายได้จะสมดุลมากขึ้น โดยน่าจะทำรายได้จากการขายแฟรนไชส์ราว 70-80% ส่วนที่เหลือ 20-30% จะมาจากการขยายสาขาเองผ่านแบรนด์ที่ซื้อกิจการเข้ามา, การขยายไปต่างประเทศ และสินค้าสำเร็จรูปในซูเปอร์มาร์เก็ต

อนุชิตเชื่อว่าในตลาดร้านอาหารที่มีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 3 แสนล้านบาท ยังมีพื้นที่อีกมากให้ชายสี่ คอร์ปอเรชั่นบุกเข้าไป และบริษัทยังเติบโตได้มากกว่านี้ โดยปี 2567 บริษัทตั้งเป้าแล้วว่ารายได้น่าจะเติบโตไปถึง 1,500 ล้านบาท และคาดว่ากำไรสุทธิจะโต 20%

“ถ้าเราเปรียบบริษัทของเราเป็นวงดนตรี เราก็เหมือนมี ชายสี่ เป็นนักร้องดังติดตลาดแล้ว แต่เราต้องมีนักร้องดังคนที่ 2,3,4 ด้วย หรือมีวงใหม่แนวอื่นเข้ามาด้วย ถึงจะเติบโตได้เร็วกว่านี้ มากกว่านี้” พันธ์รบ ผู้ก่อตั้งอาณาจักร “ชายสี่บะหมี่เกี๊ยว” กล่าวปิดท้าย