ความท้าทายครั้งใหม่ อีฟอร์แอล เจ้าของ “วุฒิศักดิ์ คลินิก” ในมือ “วิชัย ทองแตง”

ช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา สถานการณ์รายได้ของ บริษัท อี ฟอร์ แอล เอม จำกัด (มหาชน) หรือ EFORL ซึ่งมีธุรกิจหลักคือจำหน่ายอุปกรณ์ เครื่องมือทางการแพทย์, ธุรกิจบริการเสริมความงาม “วุฒิศักดิ์ คลินิก” และธุรกิจจำหน่ายเครื่องสำอาง (คอสเมติก) แบรนด์วุฒิศักดิ์ และสเนลเอท เผชิญภาวะ “รายได้” ที่ผันผวน แต่ที่น่าห่วงกว่านั้นคือความสามารถในการทำ “กำไร” อยู่ในช่วงขาลงมาโดยตลอดจนกระทั่ง 2 ปีที่ผ่านมา ต้องแบกภาระ “ขาดทุน” ร่วม “พันล้านบาท”

ธุรกิจที่เป็นตัว “ฉุด” รายได้และกำไร คือ “วุฒิศักดิ์ คลินิก” โดยปี 2558 เคยมีรายได้ 2,587 ล้านบาท ปี 2559 ลดเหลือ 1,642 ล้านบาท และปี 2560 ลดแรงเหลือ 691 ล้านบาทเท่านั้น สวนทางกับธุรกิจำหน่ายอุปกรณ์และเครื่องมือทางการแพทย์ที่เติบโตและทรงตัวบ้างในบางปี

เมื่อธุรกิจความงามไม่ใช่ “ดาวรุ่ง” แต่เป็น “ดาวร่วง” ผู้บริหาร EFORL พยายามปรับโครงสร้างธุรกิจสารพัด ลดสัดส่วนการถือหุ้นใน บจก.ดับบลิวซีไอโฮลดิ้ง (WCIH) ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของวุฒิศักดิ์ และหาพันธมิตรใหม่ๆ มาพยุงธุรกิจ “วุฒิศักดิ์ คลินิก” แต่ปลายปีตัวเลขก็ยังไม่ฟื้น เพราะสิ้นปี 2560 EFORL ยังขาดทุนบักโกรกกว่า 1,000 ล้านบาท

ทว่า ล่าสุดอาจเห็นแสงสว่างปลายอุโมงค์ เพราะเมื่อวันที่ 5 เม.ย.ที่ผ่านมา ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทอนุมัติให้นำเสนอต่อที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น ครั้งที่ 1/2561 วันที่ 21 พ.ค.นี้ พิจารณาอนุมัติเพิ่มทุนจดทะเบียนจาก 2,810 ล้านหุ้น จากเดิม 1,600 ล้านหุ้น โดยการออกหุ้นเพิ่มทุน 16,100 ล้านหุ้น ราคาพาร์หุ้นละ 0.075 บาท เสนอขายให้กับบุคลเฉพาะเจาะจง (PP) 5 ราย ได้แก่ นายวิชัย ทองแตง, นายชาคริต ศึกษากิจ, นายเกรียงไกร เธียรนุกูล, นายชวลิต เศรษฐเมธีกุล และนายเกรียงไกร ฏิระวณิชย์กุล ที่ราคาหุ้นละ 0.04 บาทต่อหุ้น คิดเป็นมูลค่ารวม 644.33 ล้านบาท

ที่น่าสนใจคือหลังการเพิ่มทุนครั้งนี้ จะส่งผลให้ “สัดส่วนผู้ถือหุ้น” เปลี่ยนแปลงยกกระบิ โดย “ทนายนักช้อป” อย่าง “วิชัย ทองแตง” กลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่สัดส่วน 22.68% ตามด้วยนายชาคริต ศึกษากิจ ถือหุ้น 12.42%, นายเกรียงไกร เธียรนุกูล ถือหุ้น 7.45%, นายชวลิต เศรษฐเมธีกุล ถือหุ้น 4.97%, และนายศุภชัย วัฒนาสุวิสุทธิ์ ลดสัดส่วนถือหุ้นเหลือ 3.65% จากเดิม 7.30%, นายโกศล วรฤทธินภา ถือหุ้น 3.21% จากเดิม 6.41%, นายเกรียงไกร ฏิระวณิชย์กุล ถือหุ้น 2.48% เป็นต้น

จากข้อมูล ณ วันที่ 16 มี.ค.2561 ระบุว่า นายศุภชัย วัฒนาสุวิสุทธิ์ เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่สัดส่วน 6.62% ตามด้วยนายโกศล วรฤทธินภา ถือหุ้น 5.62% นางทัศนีย์ วงศ์มณีโรจน์ ถือหุ้น 4.38% นายจักรพล โลหะเจริญทรัพย์ ถือหุ้น 4.13% และนายชูชัย จึงเจริญสุขยิ่ง ถือหุ้นสัดส่วน 2.68%

สเต็ปต่อไปที่ต้องจับตามองคือ การปรับโครงสร้างธุรกิจของ EFORL รวมถึงบริษัทย่อยทั้งหมด โดย ธีรวุทธิ์ ปางวิรุฬรักข์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อี ฟอร์ แอล เอม จำกัด บอกว่า บริษัทจะอาศัย “ยุทธศาสตร์” ตลอดจน “กลยุทธ์” จากกลุ่มนักลงทุนใหม่ โดยเฉพาะผู้ถือหุ้นใหญ่ “วิชัย” ซึ่งคร่ำหวอดในแวดวงธุรกิจโรงพยาบาลมานาน มีโรงพยาบาลพญาไทอยู่ในมือ จะนำความรู้และประสบการณ์ในธุรกิจมา “ฟื้นคืนชีพ” ให้ธุรกิจความงามที่ไม่สวยเท่าไหร่ รวมถึงการ “ต่อยอด” ธุรกิจจำหน่ายอุปกรณ์และเครื่องมือทางการแพทย์ ให้กลับมาเติบโตได้หรือไม่

โดยไตรมาส 3 จะเห็นการใช้เงินราว 200 ล้านบาท เทไปยังธุรกิจเครื่องมือแพทย์ เพื่อเพิ่มสภาพคล่องให้ธุรกิจ และเพิ่มสินค้าใหม่เติมพอร์ตโฟลิโอจากที่มีผลิตภัณฑ์ด้านวินิจฉัยทางการแพทย์ ผลิตภัณฑ์ด้านการผ่าตัด เป็นต้น รวมถึงการขยายตัวแทนจำหน่ายไปสู่การผลิตเครื่องมือแพทย์บางรายการ เพราะต้องยอมรับว่าในตลาดการผลิตเครื่องมือแพทย์มีผู้เล่นกว่า 130 ราย และส่วนใหญ่ยังผลิตเครื่องมือที่ไม่มีความซับซ้อนมากนัก อีกทั้งตลาดเครื่องมือแพทย์ที่ผ่านมามีมูลค่าตลาดราว 20,000ล้านบาท ซึ่งบริษัทกินแชร์ได้ราว 10% หรือคิดเป็น 2,000 ล้านบาท

ขณะที่ธุรกิจความงามและผลิตภัณฑ์คอสเมติกวุฒิศักดิ์ จะเทเงิน 444 ล้านบาท ในไตรมาส 3 เพื่อรุกขยายสถาบันความงามครบวงจรเต็มรูปแบบ ด้วยกาสร้าง “โรงพยาบาลศัลยกรรมความงาม เป็นแบบ One Stop Shop คือมาใช้บริการที่เดียวสวยเสร็จสรรพ! จากที่ผ่านมาวุฒิศักดิ์เคยชิมลางให้บริการแผนกศัลยกรรมความงามที่วุฒิศักดิ์คลินิก สาขาเสนานิคมและสาขาสยามสแควร์มาแล้ว เป็นการรับตลาดศัลยกรรมที่ใหญ่ มูลค่ากว่า 30,000 ล้านบาท

ขาดไม่ได้คือการการปรับปรุงคลินิกแต่ละสาขาให้ตรงกับพฤติกรรมและความต้องการของผู้บริโภคมากขึ้น โดยปี 2560 วุฒิศักดิ์คลินิกมีร้านให้บริการในไทย 113 สาขา ลดลงจากปี 2559 มี 121 สาขา และในต่างประเทศอีก 3 สาขา ลดลงจากปี 2559 มี 12 สาขา

เรียกว่าธุรกิจความงามที่เคยโดดเด่น กลับเป็นช่วง “ขาลง” ของวุฒิศักดิ์ไม่น้อย โดยตลาดรวมคลินิกความงามมูลค่ากว่า 30,000 ล้านบาท ยังคงมีช่องว่างให้เล่น เพราะยังไงเสีย คนไทยก็ยังรักสวยรักงาม

บริษัทยังจะผลิตภัณฑ์ใหม่เสริมพอร์ตโฟลิโอ จากที่มีเครื่องสำอาง เครื่องดื่มสุขภาพ ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารกว่า 50 รายการ และสเนลเอท 7 รายการ ขายผ่านร้านสะดวกซื้อเซเว่นอีเลฟเว่น เทสโก้โลตัส และร้านยาฯ เพื่อเพิ่มวาไร้ตี้โปรดักต์ตอบโจทย์คนรักสวยที่แตกต่างกันไป รวมถึงการขยายสาขาคลินิกในระบบ Franchise ให้ครอบคลุมในกลุ่มตลาดเป้าหมายมากขึ้น จากที่ผ่านมามีการปิดสาขาไปจำนวนหนึ่ง

“การเพิ่มทุนจะช่วยให้บริษัทมีแหล่งเงินทุนในการเตรียมความพร้อม และเสริมสร้างความแข็งแกร่งทางด้านการเงินของบริษัท เพื่อให้บริษัทมีความยืดหยุ่นทางการเงินในการดำเนินงาน รวมถึงการลงทุนในธุรกิจเกี่ยวกับธุรกิจการแพทย์ และธุรกิจความงาม นักลงทุนใหม่เป็นผู้มีความรู้มีประสบการณ์ในธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับบริษัท ซึ่งจะช่วยเสริมศักยภาพธุรกิจปัจจุบันให้มีโอกาสเติบโตขยายต่อไปในอนาคต”