CTH The Game Changer

การหักเหลี่ยมเฉือนคมคว้าลิขสิทธิ์ การถ่ายทอดสดฟุตบอลพรีเมียร์ลีก 3 ฤดูกาล มาจากค่ายทรูวิชั่นส์ ไม่เพียงทำให้ ซีทีเอชที่เคยถูกขนานนามว่าเป็นเคเบิลภูธร กระโดดขึ้นแท่น บิ๊กเคเบิลทีวี เทียบเท่าทรูวิชั่นส์ไปทันที “ซูเปอร์คอนเทนต์” อย่างพรีเมียร์ลีก ยังเป็นจุดเปลี่ยนของธุรกิจก้าวกระโดดของซีทีเอช ที่ต้องการเดินไปสู่เป้าหมายใหม่ที่ใหญ่กว่านั้น นั่นคือ การเป็นเจ้าของโครงข่าย “ดิจิตอล บรอดแบนด์” ที่ครอบคลุมเคเบิลทีวี อินเทอร์เน็ต VoIP เทียบเท่าโอเปอเรเตอร์ระดับบิ๊กทรี อย่าง ทรู คอร์ปปอเรชั่น

กรณีการคว้าลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสด “ฟุตบอลพรีเมียร์ลีก” 3 ฤดูกาล ตั้งแต่ปี 2013-2016 ของ บริษัทเคเบิลทีวี ไทย โฮลดิ้ง หรือ CTH ด้วยตัวเลขที่พุ่งไปถึงเกือบหมื่นล้านบาท กำลังกลายเป็น มหากาพย์แห่งการเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดขึ้น ไม่เพียงแต่ส่งผลสะเทือนต่อธุรกิจเคเบิลทีวีเท่านั้น แต่ยังครอบคลุมไปถึงการขึ้นเป็นธุรกิจสื่อสารระดับชาติ

แม้ว่าก่อนหน้านี้ CTH ซึ่งเกิดจากการรวมตัวของเคเบิลท้องถิ่น 140 ราย จะได้วิชัย ทองแตง และทายาทของไทยรัฐ เข้ามาถือหุ้น ทำให้ภาพของ CTH เวลานั้น เริ่มได้รับความสนใจจากในแวดวงเคเบิลทีวี เพราะ วิชัย ทองแตง ก็ได้ชื่อว่าเป็นอดีตทนายความที่เคยมีผลงานแก้ต่างคดีซุกหุ้น ทักษิณ ชินวัตร ให้พ้นผิดแล้ว ทุกวันนี้วิชัยยังได้ก้าวไปสู่นักลงทุน นักเทคโอเวอร์ ที่มองเห็นโอกาสจากธุรกิจโรงพยาบาล เข้าเทคโอเวอร์กิจการโรงพยาบาล ส่วนไทยรัฐ มี วัชร วัชรพล เจนเนอเรชั่นที่ 3 ของตระกูลวัชรพล ที่มาพร้อมกับภารกิจของการเปลี่ยนผ่านจากสื่อสิ่งพิมพ์ก้าวเข้าสู่โลกออนไลน์และดิจิตอล

แต่การเปิดตัวผู้ถือหุ้น พร้อมกับประกาศถึงเป้าหมายการลงทุนอัพเกรดเครือข่ายจากอนาล็อกไปสู่ดิจิตอล ยังไม่สามารถทำให้ CTH อยู่ในสปอตไลต์ได้เท่ากับการคว้าลิขสิทธิ์พรีเมียร์ลีก เฉือนทรูวิชั่นส์ เจ้าของลิขสิทธิ์เดิมมาไว้ในมือ การถ่ายทอดสดฟุตบอลพรีเมียร์ลีก เป็นซูเปอร์คอนเทนต์ยอดนิยมของคนทั่วโลกและไทย ที่มีผู้ชมเติบโตต่อเนื่อง และเป็น “อาวุธ” สำคัญที่ทรูใช้ตรึงลูกค้าระดับพรีเมียม โดยเฉพาะคอบอลจำนวนไม่น้อยในไทย ที่ยอมจ่ายเพื่อดูถ่ายทอดสดแมตช์ฟุตบอลรายการนี้

ทรูรู้ดีว่าการปล่อยให้พรีเมียร์ลีกหลุดมือไปใหักับคู่แข่ง ทำให้ทรูตกที่นั่งลำบาก แต่หากมองในแง่การลงทุนทางธุรกิจแล้ว อาจไม่ใช่เรื่องคุ้มค่าสำหรับทรู ที่ต้องทุ่มประมูลจ่ายค่าลิขสิทธิ์ที่เพิ่มขึ้นถึง 2-3 เท่าตัว เมื่อเทียบกับฐานสมาชิก 2 ล้านรายในมือ หรือหากเพิ่มได้ก็เป็นแค่หลักแสน เพราะพรีเมียร์ลีกคือรายการระดับพรีเมียมที่ทรูยึดครองลูกค้าเกรดเอ และโทรทัศน์บอกรับสมาชิก ก็เป็นเพียงหนึ่งในจิ๊กซอว์ธุรกิจ

ภายใต้ยุทธศาสตร์ คอนเวอร์เจนซ์ ซึ่งทรูได้ขยายการลงทุนไปก่อนหน้านี้แล้ว จึงต้องจัดสรรปันส่วนการลงทุนไปในธุรกิจต่างๆ โดยเฉพาะมือถือ 3 จี ที่อยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อที่ต้องใช้เงินลงทุนจำนวนมาก ผิดกับ CTH ที่มองแล้วว่า งานนี้ “คุ้มแน่” เพราะนี่คืออาวุธที่จุดระเบิดให้ผู้มาใหม่อย่าง CTH แจ้งเกิดเป็นที่รู้จักชั่วข้ามคืน ยกระดับจากเคเบิลทีวีบ้านนอก เฉือนคมทรูวิชั่นส์ ก้าวเข้าสู่การเป็นผู้เล่นระดับ บิ๊กเพลเยอร์ได้ทันที

กลยุทธ์ขยายตลาดแบบชั่วข้ามคืนแบบนี้ คล้ายกับ รูเพิร์ต เมอร์ดอกซ์ เคยทำมาแล้วในการแจ้งเกิดธุรกิจเคเบิลทีวีในประเทศอังกฤษ ด้วยการซื้อลิขสิทธิ์ถ่ายทอด “พรีเมียร์ลีก” ในการขยายบุกฐานสมาชิกเคเบิลทีวี ตัวเลขฐานสมาชิกคร่าวๆ ที่ CTH ประเมินไว้ จากสมาชิกเคเบิลทีวีเดิม 3.5ล้านครัวเรือน จะเพิ่มเป็น 7 ล้านครัวเรือน โดยจะนำเสนอแพ็กเกจหลายระดับราคา เพื่อให้ลูกค้าทั่วประเทศ ทุกระดับสามารถเข้าถึงพรีเมียร์ลีกได้ ทั้งระบบ HD รองรับทั้งคอบอลระดับไฮเอนด์ ไปจนถึงลูกค้าทั่วไป จะรับชมได้ครบ 380 แมตช์ ซึ่งมีการเปิดเผยตัวเลขคร่าวๆ อยู่ในช่วงราคา 350-500 บาท โดยสามารถรับชมผ่านอุปกรณ์ปลายทางหลากหลาย ทั้งทีวี เคเบิลทีวี โทรศัพท์มือถือ

อาวุธสำคัญอีกชุดของ CTH ที่ควบคู่กับการมีคอนเทนต์ระดับแม่เหล็ก คือ การควักกระเป๋าเป็นเงิน 2 หมื่นล้านบาท วางโครงข่ายไฟเบอร์ออพติก โดยจะเช่าโครงข่ายจากทีโอที และซิมโฟนี่ คอมมูนิเคชั่น ทั่วประเทศ และจะลงทุนครือข่ายเมโทรเน็ต (MetroNet) ใช้เทคโนโลยี Fiber to Homeใหม่ล่าสุด มีขนาดแบนด์วิธ 10 กิกกะเฮิรตซ์ สามารถรองรับช่องรายการได้ถึง 500 ช่อง ตามแผนที่วางไว้ CTH จะเพิ่มช่องรายการ 120 ช่อง โดยจะมีทั้งสารคดี ข่าว รายการบันเทิงเพิ่มเติมเข้ามา และเป็นระบบ HD 20-30 ช่อง และจะเพิ่มเป็น 500 ช่องภายใน 3 ปีข้างหน้า

นอกจากนี้ สิ่งที่จะได้เห็นได้ก่อนจากโครงข่ายดิจิตอล บรอดแบนด์ คือ การถ่ายทอดฟุตบอลอังกฤษพรีเมียร์ลีกจะมีความหลากหลาย และเข้าถึงคนดูได้มากขึ้น ด้วยระบบอินเตอร์แอคทีฟ ที่สามารถโต้ตอบกับผู้ชมรายการแบบสด เช่น ระหว่างชมการถ่ายทอดสด คนดูสามารถสื่อสารกับนักข่าวที่อยู่ในสนาม หรือสามารถออนไลน์สั่งพิซซ่าจากหน้าจอ ซื้อเสื้อจากทีมโปรด หรือโหวตสำรวจข้อมูลกับผู้ชมทางบ้านแบบเรียลไทม์

กฤษณัน งามผาติพงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เคเบิล ไทย โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) เชื่อว่า เทคโนโลยีโครงข่ายเมโทรเน็ตซึ่งเป็นระบบดิจิตอล จะส่งผลให้เกิดการปฏิวัติรูปแบบการนำเสนอและการตลาด โทรทัศน์บอกรับสมาชิก นั่นหมายความว่า สูตรการหารายได้ของ CTH จากการถ่ายทอดสดฟุตบอลพรีเมียร์ลีก

นอกเหนือจากสปอนเซอร์โฆษณาเผยแพร่ในฟรีทีวี การแบ่งขายลิขสิทธิ์ หรือซับไลเซ่นให้กับผู้ประกอบการในแพลตฟอร์มต่างๆ จะมีรายได้เสริมจากกลไกการตลาดที่เกิดจากระบบอินเตอร์แอคทีฟ ให้กับแบรนด์ต่างๆ ขายสินค้าออนไลน์ แบบเรียลไทม์ ตามแผนที่วางไว้ โครงข่ายจะเสร็จสมบูรณ์ภายในสิ้นปี สามารถรองรับสมาชิกที่เพิ่มขึ้นเป็น 7-10 ล้านครัวเรือน

ซึ่ง CTH ประเมินแล้วว่า เฉพาะต้นปีหน้าจะมีสมาชิกเพิ่มขึ้นทันที 4-5 ล้านครัวเรือน ด้วยเทคโนโลยีของเครือข่าย บวกกับคอนเทนต์ระดับแม่เหล็กอย่างพรีเมียร์ลีก จะทำให้ CTH กลายเป็นพยัฆติดปีกเทียบชั้นทรูวิชั่นส์ ซึ่งมีสมาชิก 2 ล้านครัวเรือนได้ทันที แต่เคเบิลทีวี ก็เป็นเพียงหนึ่งใน “จิ๊กซอว์” ของเครือข่ายธุรกิจ “ดิจิตอล บรอดแบนด์” ของ CTH เท่านั้น เพราะเครือข่ายเมโทรเน็ตซึ่งใช้เทคโนโลยี Fiber to Home ล่าสุด สามารถรองรับกับบริการ Triple play ได้ทั้งเคเบิลทีวี อินเทอร์เน็ต และบริการโทรศัพท์ และส่งข้อมูลผ่านอินเทอร์เน็ต หรือ VoIP ที่จะทยอยตามมา

กฤษณันท์ บอกว่า สิ่งที่ CTH ต้องการ คือ การเป็นเจ้าของโครงข่ายดิจิตอล บรอดแบนด์ เหมือนอย่างที่ญี่ปุ่น เกาหลี ที่จะทำให้คนทั่วไปสามารถเข้าถึงบริการเหล่านี้ได้ทั่วประเทศ นั่นหมายความว่าCTH จะก้าวไปสู่การเป็นโอเปอเรเตอร์ เจ้าของโครงข่าย ในระดับเดียวกับ ทรู คอร์ปอเรชั่นทันที ที่มีเครือข่ายให้บริการทั้งเคเบิลทีวี อินเทอร์เน็ต และบริการ VoiP รวมไปถึงบริการโมบิลิตี้ เพียงแต่กลุ่มทรูอาจต้องใช้เวลานับเป็นสิบปี ระยะทางของผู้มาใหม่อย่าง CTH ที่จะก้าวไปสู่การเป็นบิ๊กเพลเยอร์ในตลาดนี้ กลับสั้นกว่านั้นมาก…

ติดตามรายละเอียด CTH The Game Changer เมื่อรายการกีฬาระดับบิ๊กแมตช์อย่าง พรีเมียร์ลีก เปลี่ยนมือจากทรูวิชั่นส์ ไปอยู่ในมือของผู้มาใหม่อย่าง CTH ผลจะลงเอยอย่างไร ได้ที่ POSITIONING on iPad และwww.positioningmag.com สัดส่วนถือหุ้นCTH เคเบิลท้องถิ่น 140 ถือหุ้นร่วมกัน 30% วิชัย ทองแตง 25% ไทยรัฐ 25% อยู่ระหว่างเจรจากับเอกชนรายอื่น 20%