ตลาดสินค้าสุขภาพและความงาม (Health & Beauty) มูลค่าตลาดกว่า 3 แสนล้านบาทต่อปี แบ่งเป็นตลาดในประเทศ 1.8 แสนล้านบาท และส่งออกมูลค่า 1.2 แสนล้านบาท ปกติเติบโตได้ปีละ 7 – 8% แต่ปีนี้ออกอาการสะดุดตัวเลขอาจเห็นราว 2 – 3%
ปกติไม่ว่าสถานการณ์เศรษฐกิจจะเป็นอย่างไร “ผู้หญิงไม่เคยหยุดสวย” แต่สถานการณ์ตลาดสินค้าความงามของไทยปีนี้ เผชิญกับปัญหาหลายประการ ไม่ต่างกับตลาดรวมในอุตสาหกรรมอื่นๆ เช่นกัน โดยเฉพาะภาวะเศรษฐกิจที่ยังไม่ค่อยจะกระเตื้องขึ้นเท่าที่ควรซึ่งก็เป็นมาหลายปีแล้ว กำลังซื้อของผู้บริโภคที่ชะลอตัวหรือใช้จ่ายไม่มากเท่าในอดีต การแข่งขันที่รุนแรงจากแบรนด์ไทยต่างประเทศ
อีกทั้งยังมีผลกระทบจากเงินบาทแข็งค่า ทำให้สินค้าส่งออกมีราคาสูงขึ้นด้วย ซึ่งแน่นอนว่าตลาดเป้าหมายต่างประเทศย่อมต้องชะลอการสั่งซื้อลงไปด้วยและหันไปหาตลาดอื่นที่มีราคาต่ำกว่าทดแทน
สงครามการค้าฉุดตลาดส่งออก
เกศมณี เลิศกิจจา รองเลขาธิการ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ประธานกิตติมศักดิ์ กลุ่มอุตสาหกรรมเครื่องสำอาง สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และนายกสมาคมผู้ผลิตเครื่องสำอางแห่งประเทศไทย ยอมรับว่าปีนี้ตลาดรวมสินค้าความงามยัง “ทรงตัว” หรือเติบโตไม่เกิน 5% จากเศรษฐกิจและกำลังซื้อถดถอย
ขณะที่ตลาดของการส่งออกก็อยู่ในภาวะชะลอตัวลง จากผลกระทบที่มาจากสงครามการค้า (Trade War) ของสองมหาอำนาจทางเศรษฐกิจระหว่าง จีน-สหรัฐอเมริกา ที่ทำให้ภาวะการค้าทั่วโลกได้รับผลกระทบด้วย ที่สำคัญอีกคือ ค่าเงินบาทของไทยที่ช่วงนี้แข็งค่าขึ้นอย่างมาก จึงกระทบตลาดส่งออก
โดยตั้งแต่ปี 2558 เป็นต้นมา ตลาดส่งออกก็ไม่ได้หวือหวามากนัก มูลค่าตลาดอยู่ที่ 82,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นมาเล็กน้อยเป็น 84,000 ล้านบาทในปี 2559 แล้วลดลงมาเหลือ 83,000 ล้านบาทในปี 2560 ขณะที่ช่วง 8 เดือนแรก ปี2561 มีมูลค่าประมาณ 62,000 ล้านบาท ตลาดส่งออกหลักๆ คือ อาเซียน ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย จีน เกาหลีใต้
ลุ้นครึ่งปีหลังตลาดฟื้น
ในฝั่งผู้ประกอบการธุรกิจความงามรายใหญ่ อย่างร้าน Beauty Buffet ก็มีมุมมองไม่ต่างกัน
ดร.พีระพงษ์ กิติเวชโภคาวัฒน์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บิวตี้ คอมมูนิตี้ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ตลาดรวมสินค้าความงามปีนี้ค่อนข้าง “ทรงตัว” ไม่หวือหวาเหมือนที่ผ่านมา เพราะภาวะทางเศรษฐกิจที่ไม่ค่อยดีเท่าที่ควร ซึ่งคาดว่าจะเติบโตเพียงแค่ 2% ด้วยซ้ำไป จากเดิมที่ขยายตัวปีละ 10% โดยในช่วงครึ่งปีแรก 2562 ยังไม่ค่อยดีนัก แต่คาดว่าในช่วงครึ่งปีหลังตลาดรวมจะสามารถกลับมาฟื้นตัวดีขึ้นได้ จากการเร่งทำตลาดของผู้ประกอบการโดยรวม
สำหรับ Beauty Buffet ปีนี้ถือเป็นโจทย์หินการทำธุรกิจในรอบ 22 ปีตั้งแต่อยู่ในอุตสาหกรรมสินค้าความงามก่อนเข้าตลาดหลักทรัพย์ ปี 2562 วางเป้าหมายรายได้ไว้ที่ 2,200 ล้านบาท ลดลงนับแต่ปี 2560
ขณะที่ กวิน สัณฑกุล ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ดับบลิวซีไอ โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) ผู้บริหารแบรนด์ วุฒิศักดิ์ กล่าวว่า ตลาดรวมสินค้าความงามของไทยยังมีศักยภาพและเติบโตได้อีกมากในอนาคต แต่ปีนี้เกิดภาวะชะลอตัวและตลาดค่อนข้างนิ่ง เนื่องจากสภาพเศรษฐกิจและกำลังซื้อไม่ดีมากนัก
กลยุทธ์ของวุฒิศักดิ์ ปีนี้ได้เริ่มขยายธุรกิจสินค้าความงามแบรนด์ “วุฒิศักดิ์ คอสเมติกส์” มี 2 ส่วนคือ 1. แบรนด์วุฒิศักดิ์ เริ่มด้วยเมจิกคอลเลคชั่น มีเจลอาบน้ำและบอดี้โลชั่น และ 2. วุฒิศักดิ์ ซีเล็ค คือ บริษัทเลือกสรรสินค้าที่ดีมีศักยภาพและพัฒนาเป็นของเราเอง มีเครื่องสำอาง สกินแคร์ อาหารและเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ เริ่มด้วยแบรนด์สเนลเอท ผลิตภัณฑ์บำรุงผิวสกัดจากเมือกหอยทาก
นอกจากนี้ได้เปิดรีเทล ช็อปชั่วคราวบนสถานีบีทีเอสเริ่มที่บีทีเอสราชดำริ เป็นแบบป็อปอัพ นาน 1 ปี รวมพื้นที่ 157 ตารางเมตร มีบริการใหม่ๆ เช่น สปาเล็บ การต่อขนตา ทรีตเมนต์ใบหน้า บิวตี้คาเฟ่ เป็นต้น ในต้นปีหน้าจะเปิดป๊อปอัพอีก 4 แห่ง
ปีนี้ตั้งเป้าหมายยอดรายได้ไว้ที่ 500 ล้านบาท แบ่งเป็น รายได้จากคลินิก 200 ล้านบาท และรายได้จากสินค้าคอสเมติกส์ 300 ล้านบาท.