หลังถูกตั้งคำถามมาตลอด นับตั้งแต่เข้าเปิดตัวอย่างเป็นทางการในไทยเมื่อเดือนเมษายนปีที่แล้ว ว่าเมื่อไหร่ Netflix (เน็ตฟลิกซ์) จะมีคอนเทนต์ไทย ในที่สุดผู้ให้บริการวิดีโอสตรีมมิ่งรายใหญ่ของโลกก็ประเดิมร่วมมือกับจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ ค่ายผู้ผลิตคอนเทนต์ของไทย ในการนำคอนเทนต์ที่หลากหลายซีรีส์กว่า 700 ชั่วโมงไปออกอากาศให้กับสมาชิกของ Netflix (เน็ตฟลิกซ์) กว่า 125 ล้านคนทั่วโลกได้รับชมพร้อมกัน
ข้อตกลงในครั้งนี้คือการนำซีรีส์ที่ได้รับความนิยมสูงสุดของกลุ่มจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ เช่น Hormones (ฮอร์โมน), Bad Genius (แบด จีเนียส), O-Negative (โอเนกาทีฟ) ฯลฯ เช่นเดียวกับ ซีรีส์ 11 เรื่องใหม่ที่กำลังจะออกอากาศ ไม่ว่าจะเป็น Girl From Nowhere The Series (เกิร์ลฟอร์ม โนแวร์ เดอะ ซีรีส์), The Judgement (เดอะ จัดจ์เมนท์), Monkey Twins (มังกี้ ทวิน), Bangkok Love Stories Season 2 (แบงคอก เลิฟ สตอรี่ส์ ซีซัน 2) และ Sleepless Society (สลีปเลส โซไซตี้) ซึ่งจะทยอยออกอากาศให้ได้ชมพร้อมกันทั่วโลกทาง Netflix (เน็ตฟลิกซ์) เร็วๆ นี้
การมีคอนเทนต์ไทยไปออกอากาศให้กับสมาชิกทั่วโลก ถือเป็นอีกสเต็ปของเน็ตฟลิกซ์ ที่ต้องใช้ความหลากหลายของคอนเทนต์ สร้างฐานสมาชิกนอกสหรัฐฯ ให้มากขึ้น ซึ่งที่ผ่านมาเน็ตฟลิกซ์เองก็นำคอนเทนต์จากหลายประเทศไปออกอากาศ โดยทำซับไตเติล 20 ภาษา และมีเสียงพากย์ภาษท้องถิ่น
เช่นเดียวกับการทำตลาดในไทยที่เน็ตฟลิกซ์มีทั้งซับไตเติลและเสียงพากย์ภาษาไทยในคอนเทนต์ต่างประเทศที่นำมาออกอากาศในไทย
ความร่วมมือกับจีเอ็มเอ็มแกรมมี่ในครั้งนี้ถือเป็นจุดเริ่มของเน็ตฟลิกซ์ที่อาจจะมีความร่วมมือกับผู้ผลิตคอนเทนต์รายอื่นๆ อีกในอนาคตหากซีรีส์จากไทยเป็นที่ชื่นชอบของคนดู
แต่อาจไม่ใช่เรื่องง่ายนัก เพราะตลาดวิดีโอสตรีมมิ่งเวลานี้ นอกจาก ยูทูปแล้ว ยังมี ไลน์ทีวี ที่กำลังบุกตลาดอย่างหนัก จับมือกับผู้ผลิตคอนเทนต์ของไทยหลายราย ในการนำซีรีส์ ละคร มาออนแอร์บนแพลตฟอร์มของไลน์ทีวี รวมทั้งมีคอนเทนต์ เอ็กซ์คลูซีฟ ที่ไลน์ทีวีจ้างผลิตด้วย
ในขณะที่ผู้ผลิตคอนเทนต์อย่างช่อง 3 นอกจากร่วมมือกับไลน์ และยูทูปแล้ว ได้ร่วมมือกับบริษัท เทนเซ็นต์ วิดีโอ ในเครือบริษัทเทนเซ็นต์ (Tencent) ยักษ์ใหญ่วงการไอทีของจีน เท็นเซ็นต์ ในการนำละครไปออนแอร์ในประเทศจีน ที่เป็นตลาดใหญ่ มีคนดูจำนวนมาก ที่สำคัญไม่ใช่ละครย้อนหลัง แต่เป็นละครที่ออนแอร์พร้อมกับไทยเลย
แน่นอนว่าเจ้าของคอนเทนต์เองก็ไม่ได้ผูกขาดกับแพลตฟอร์มเดียว แต่เปิดกว้างกับทุกแพลตฟอร์มที่มีฐานคนดูจำนวนมาก
ดังนั้นสิ่งที่หลายคนรอดู คือ เน็ตฟลิกซ์จะลงทุนผลิตคอนเทนต์ไทยขึ้นมาเองเมื่อไหร่ เหมือนกับที่เคยทำมาแล้วในหลายประเทศ รวมประเทศในแถบเอเชีย อย่างญี่ปุ่น และกัมพูชา
ส่วนในแง่ของผู้ผลิตคอนเทนต์ นั้นจะมีช่องทางและรายได้เพิ่มขึ้น ยิ่งการแข่งขันของผู้ให้บริการเหล่านี้มากเท่าไหร่ โอกาสก็ยิ่งเพิ่มมากขึ้นเท่านั้น.