สถาบันวิจัยความเป็นอยู่ฮาคูโฮโด อาเซียน (ประเทศไทย) ได้เผยถึงผลสำรวจฉบับพิเศษประจำปี 2568 ภายใต้หัวข้อ ‘Content ต่างใจ เพราะวัยต่างกัน’ ทำให้พบอินไซต์น่าสนใจ หลังจากปี 2567 เป็นยุค ‘แฟนด้อมครองเมือง’ มีผลต่อสังคมและเศรษฐกิจไทย ตั้งแต่กระแส ‘หมูเด้งฟีเวอร์’ ไล่มาถึงความฮอตของ ‘ซีรีส์จีน’ และ ‘ซีรีส์วาย’
การศึกษานี้ เป็นการสำรวจกลุ่มตัวอย่างชายและหญิงรวม 1,200 คน อายุ 20-59 ปีจาก 6 ภูมิภาคทั่วประเทศ ผ่านการทำแบบสอบถามเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ ซึ่งเมื่อเจาะลึกถึงอินไซต์ของคนแต่ละกลุ่ม พบว่า
1.วัย 20+ เติมพลังค้นหาตัวตนแบบ NO Judge
คนกลุ่มนี้อายุ 20 – 29 ปี ให้ความสำคัญกับการเยียวความเศร้า หาความรู้สึกสร้างแรงบันดาลใจ และเติมพลังให้กับตัวเอง โดยมักเสพคอนเทนต์โรแมนติก (+9) เพื่อหลีกความเป็นจริงและเติมเต็มความรู้สึก มีความสนใจในศิลปะ วัฒนธรรม และนวัตกรรม (+7) รวมถึงเนื้อหาที่ท้าทายและเร้าใจ (+4) ซึ่งสามารถกระตุ้นแรงบันดาลใจและเติมเต็มพลังชีวิตได้
สำหรับเหตุผลหลักที่ทำให้คนเสพเนื้อหา คือ 35% เพื่อเยียวยาความเศร้า สะท้อนถึงความรู้สึกสับสนและความเหงาในช่วงเปลี่ยนผ่านสู่การเป็นผู้ใหญ่ ขณะเดียวกัน ก็ยังมองหาแรงบันดาลใจและความตื่นเต้น 33% เพื่อค้นพบตัวตนและเสริมสร้างความมั่นใจในการเดินหน้าต่อไป
แล้วแบรนด์และนักการตลาดจะทำอย่างไรเพื่อเข้าถึงคนกลุ่มนี้ ?
กลุ่มอายุ 20 – 29 ปี คือ ช่วงเวลาแห่งความคิดสร้างสรรค์ ค้นหาตนเอง ทดลองเรียนรู้ และทำอะไรใหม่ ๆ ไม่จำเป็นต้องสมบูรณ์แบบ แค่กล้าที่จะเป็นตัวเองในแบบที่ตัวเองต้องการ และแสดงไอเดียใหม่ ๆ ให้โลกได้เห็น แบรนด์ต่าง ๆ สามารถสร้างแคมเปญเพื่อให้คนช่วงวัยนี้มีส่วนร่วมได้ เช่น
The Magic Hour: เปิดพื้นที่ให้วัยนี้ได้ Co-Create ร่วมคิดและเสนอ Tagline หรือไอเดียแคมเปญใหม่ของแบรนด์ โดยเชื่อมโยงกับเทรนด์ฮิตในช่วงเวลานั้น เพื่อเพิ่มความน่าสนใจให้กับแคมเปญ รวมถึง Out of purpose” Challenge สนุกไปกับการรีวิวของต่าง ๆ อย่างมีความคิดสร้างสรรค์และไม่ซ้ำใครให้แชร์ไอเดียการใช้สินค้าในแบบใหม่ แบบครีเอทีฟ และคาดไม่ถึง
2.วัย 30+ ชีวิตของเดอะแบก
คนกลุ่มนี้อยู่ในช่วงอายุ 30-39 ปี เป็นช่วงวัยที่มีการเสพความบันเทิงที่หลากหลายและรอบด้านมากที่สุด มีรสนิยมที่หลากหลาย สนใจทั้งเนื้อหาการสำรวจ (+2) อาหารและการทำอาหาร (+3) และศิลปะ วัฒนธรรม และนวัตกรรม (+2)
คอนเทนต์ที่คนวัยนี้เสพ กว่า 32% เสพเพื่อการอัปเดตเทรนด์ และ 27% เพื่อเยียวยาความเศร้าเพราะผู้คนในช่วงวัยนี้ คือ ‘เดอะแบก’ ต้องรับผิดชอบทั้งเรื่องงาน ครอบครัว และชีวิตส่วนตัว ถูกถาโถมด้วยความรู้สึกที่ต้องรู้เทรนด์ต่าง ๆ ทำให้ในทางกลับกันเขามองหาชีวิตจริง หรืออยากรับรู้ว่าคนอื่น ๆ ก็เหน็ดเหนื่อยอย่างเขาเช่นกัน ทำให้พวกเขาชื่นชอบคอนเทนต์เสียดสีชีวิตประจำวัน เช่น ปัญหาการทำงาน การเลี้ยงลูก และโครงสร้างอำนาจในที่ทำงาน เป็นต้น
ชีวิตวัย 30+ ปี มักเต็มไปด้วยเรื่องราวและความวุ่นวาย แต่ก็ยังต้องการการเชื่อมต่อที่ ‘ไม่ต้องพยายามแต่ยังมีความหมาย’ แบรนด์ลองใช้กลยุทธ์เหล่านี้ได้ เช่น แคมเปญ Real or Reel ชวนวัย 30+ ร่วมแชร์โมเมนต์ Unfiltered ของชีวิต แสดงมุมมองของชีวิตจริง ที่มีประโยชน์และเข้าใจต่อผู้คนทั่วไป
รวมถึง อาจจะ ‘สรุปประเด็น เทรนด์รายสัปดาห์’ ช่วยให้ติดตามประเด็นข่าวสารได้ง่ายและรวดเร็วในที่เดียว ช่วยให้ผู้คนในช่วงวัย 30+ ได้อย่างมีคุณค่าในทุกช่วงเวลาของชีวิต
3.วัย 40+ มองหาการฮีลใจ
คนกลุ่มนี้อายุ 40-49 ปี มักให้ความสำคัญกับเนื้อหาที่สร้างความผ่อนคลายและเติมเต็มความสุขส่วนตัว เช่น อาหารและการทำอาหาร (+3%) และเรื่องราวลี้ลับ (+1%) และสวนทางกับคนในช่วงวัย 20+ เนื่องจากความสนใจในเนื้อหาโรแมนติกลดลง (-7%)
เหตุผลหลักที่เสพเนื้อหาเหล่านี้ 27% เพื่อผ่อนคลายความเครียดและความกังวล และ 26% เพื่อสนับสนุนคนที่ชอบหรือสิ่งที่ชอบ เพราะแม้พวกเขาจะมีชีวิตที่มั่นคง แต่ต้องเผชิญกับความรู้สึกซ้ำซาก จำเจ และขาดความตื่นเต้น ทำให้มองหาเนื้อหาที่สนุก ง่ายต่อการรับชม และสร้างแรงบันดาลใจแบบเบา ๆ
สำหรับชาว 40+ แบรนด์สามารถเชื่อมต่อผ่านแคมเปญต่าง ๆ เช่น Thorwback Watch Party ชวนย้อนยุคกลับไปในช่วงเวลาแห่งความคลาสสิกในช่วงยุค 80s หรือ 90s , 5 Ingredients, 15 Minutes ความสนุกท้าทายความคิดสร้างสรรค์และจัดการแข่งขันแบบเบา ๆ ฮีลใจ ทำให้ทุกช่วงเวลาของชีวิตมีความหมายและสนุกคุ้มค่ามาก ยิ่งขึ้น
4.วัย 50+ มองหาความหมายใหม่ ๆ ให้ชีวิต
ช่วงอายุ 50 – 59 ปี ผลสำรวจชี้ว่า เป็นกลุ่มที่มีความรู้สึกเหมือน Empty Nest นั่นคือลูก ๆ เริ่มโตและกำลังออกไปสร้างรังใหม่ของตัวเอง ทำให้คนกลุ่มนี้ต้องเริ่มมองหาความหมายใหม่ ๆ ให้ชีวิต และพบว่า พวกเขาให้ความสำคัญกับเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับสังคมและขนบธรรมเนียม เช่น เสียดสีสังคม การเมือง และศาสนา (+2%) ในทางกลับกันความสนใจในเนื้อหาผจญภัย (-9%) อาหารและการทำอาหาร (-5%) และโรแมนติก (-4%) ลดลง
เหตุผลที่คนในช่วงวัยนี้ให้ความสนใจคอนเทนต์ประเภทนี้ 32% เพื่อเชื่อมโยงกับชุมชน, 30% เพื่อสนับสนุนคนที่ชอบหรือสิ่งที่ชอบ และ 17% เพื่อเยียวยาความเศร้า
แบรนด์และนักการตลาดที่ต้องการเข้าถึงคนกลุ่มนี้ ด้วยความคนวัย 50+ กำลังเริ่มต้นการเดินทางใหม่กับชีวิตช่วงวัยหลังเกษียณ รวมถึงค้นหาจุดมุ่งหมายใหม่ในชีวิตกับครอบครัวและเพื่อน ๆ แบรนด์อาจทำแคมเปญ เช่น From Our Time to Yours ให้วัย 50+ ถ่ายทอดภูมิปัญญาเก่าในรูปแบบร่วมสมัย การผสมผสานความทรงจำและความเกี่ยวข้องจะทำให้ความบันเทิงเป็นตัวเชื่อมโยงทุกยุคสมัย
หรือจะเป็นการสร้าง Legacy Moments ให้พวกเขาแบ่งปันเรื่องราวชีวิตและประสบการณ์กับคนรุ่นใหม่ ผ่านกิจกรรมออนไลน์หรือเวิร์กช็อป เพื่อสร้างความสัมพันธ์ที่ยั่งยืนและสร้างแรงงงบันดาลใจให้แก่คนรุ่นถัดไป เป็นต้น