จะอย่างไรต้องสวยใสไว้ก่อน

แม้เศรษฐกิจถดถอย แต่ความงามสำหรับผู้หญิงไม่สามารถลดลงตามไปด้วยได้ นี่คือความรู้สึกส่วนลึกของสาวๆ ทุกคน จนทำให้ทุกวันนี้สินค้าเกี่ยวกับความงามมียอดขายนับหมื่นล้านบาทต่อปี มีการออกผลิตภัณฑ์ และใช้กลยุทธ์การตลาดที่มีสีสันตลอดเวลา ผู้ที่จะได้ส่วนแบ่งตลาดมากที่สุดคือผู้ที่รู้จักกลุ่มเป้าหมายของตัวเองมากที่สุด

ผลวิจัยจากบริษัท ฟาร์อีสท์ ดีดีบี ที่สำรวจความคิดเห็นกับกลุ่มตัวอย่างเพศหญิงที่มีอายุระหว่าง 20 – 40 ปี จำนวน 200 คน ในเขตกรุงเทพฯ ผ่านทาง Insights Springboard ซึ่งเป็นเครื่องมือการศึกษาเบื้องลึกของผู้บริโภคที่สามารถทำให้เข้าใจเกี่ยวกับทัศนคติและความต้องการของผู้บริโภคและสังคมแวดล้อมได้อย่างลึกซึ้ง บ่งบอกถึงการให้ความสำคัญกับความงามของสาวๆ โดยพบข้อสรุปว่า ผู้หญิงวิตกกังวลเรื่องรอยแผลเป็น และจุดด่างดำมากที่สุด สำหรับผลิตภัณฑ์บำรุงผิวที่ใช้มากในอันดับต้นๆ คือโลชั่นกันแดด และโลชั่นบำรุงผิวสำหรับกลางวัน

นอกเหนือจากเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ด้วยตัวเองแล้ว ในยุคนี้คลินิกความงามก็กลายเป็นอีกทางเลือกหนึ่ง แต่จะถึงขั้นศัลยกรรมหรือไม่นั้น กลุ่มตัวอย่างจากการสำรวจส่วนใหญ่ตอบว่ายังไม่ใช่แนวที่ต้องการ

และทั้งหมดนี้คือการตอบสนองความรู้สึกที่ว่า “สวยแล้วมั่นใจมากขึ้น”

ปัญหาผิวหน้าที่เป็นกังวล

ผลการวิจัยพบว่า ปัญหาสำคัญเกี่ยวกับผิวหน้าที่ผู้หญิงส่วนใหญ่วิตกกังวล ได้แก่

รอยแผลเป็น/จุดด่างดำ 58%
ความหมองคล้ำ 51%
ริ้วรอยเหี่ยวย่น 47%
รูขุมขนกว้าง 39%
สิว 38%
ความมันบนใบหน้า 36%
ความหมองคล้ำรอบดวงตา 29%
ผิวหน้าไม่เนียนเรียบ 29%
ฝ้า/กระ 20%
สีผิวไม่สม่ำเสมอ 17%
อื่นๆ (เช่น ผิวหน้าแห้ง ผิวแพ้ง่าย ปัญหาสิวอุดตัน เป็นต้น) 11%
N= 200 (หลายคำตอบ)

ใช้ผลิตภัณฑ์บำรุงผิวอะไรกันบ้าง

การใช้ผลิตภัณฑ์บำรุงผิวก็เป็นอีกวิธีที่ผู้หญิงเกือบทุกคนปฏิบัติมากที่สุด ซึ่งผลิตภัณฑ์ที่กลุ่มตัวอย่างใช้ในปัจจุบัน ได้แก่

ครีม/โลชั่นกันแดด 88%
ครีม/โลชั่นบำรุงผิวสำหรับกลางวัน 87%
ครีม/โฟมล้างหน้า 82%
ครีม/โลชั่นบำรุงผิวสำหรับกลางคืน 71%
ครีมปรับผิวขาว 38%
โทนเนอร์ 35%
ครีมบำรุงรอบดวงตา 30%
ครีมกระชับและลดเลือนริ้วรอย 21%
ครีมรักษาสิว 19%
แผ่นมาสก์หน้าหรือพอกหน้า 19%
คลีนเซอร์ 18%
ครีมรักษาฝ้า 7%
N= 200 (หลายคำตอบ)

แล้วคลินิกเสริมความงามล่ะ

ในยุคสมัยที่เปลี่ยนไป นวัตกรรมความงามพัฒนาขึ้น ทำให้คลินิกเสริมความงาม/สปาดูแลผิวหน้าต่างๆ มีเพิ่มมากขึ้น เมื่อสอบถามกลุ่มตัวอย่าง พบว่า มีเพียง 18% ที่ใช้บริการอยู่ในปัจจุบัน โดยบริการหลักๆ ที่กลุ่มตัวอย่างใช้ก็ได้แก่ การทำ AHA การมาสก์หน้า/นวดหน้า/ขัดหน้า การทำไอออนโตฯ เป็นต้น

ปัจจัยในการเลือกคลินิกเสริมความงาม

ความคิดเห็นของกลุ่มตัวอย่างในการเลือกใช้บริการคลินิกเสริมความงาม/สปาดูแลผิวหน้านั้น หลักๆ แล้ว
67% มองว่าบุคลากรควรมีความเชี่ยวชาญ
66% เน้นสถานที่สะอาด
64% บอกว่าอุปกรณ์ต้องสะอาด/ปลอดภัย
64% ดูที่การใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพ
60% คิดว่าต้องบริการดี
N= 200 (หลายคำตอบ)

ศัลยกรรม อีกหนึ่งทางลัด

อีกวิธีที่อาจเรียกได้ว่าเป็นทางลัดในการดูแลความสวยความงามของผิวหน้าก็คือ การทำศัลยกรรม ซึ่งกำลังเป็นที่นิยมโดยเฉพาะในหมู่คนที่มีชื่อเสียงหรือต้องออกสังคมเป็นประจำ เช่น นักร้อง นักแสดง เป็นต้น แต่เมื่อสอบถามกลุ่มตัวอย่างกลับพบว่า

มีเพียง 3% ที่เคยทำศัลยกรรม
อีก 97% ไม่เคยทำศัลยกรรม
N= 200 (คำตอบเดียว)

โดยกลุ่มตัวอย่างที่ไม่เคยทำศัลยกรรมได้ให้เหตุผลที่ไม่สนใจทำว่า ธรรมชาติดีอยู่แล้ว/พอใจแล้ว 31% กลัวติดเชื้อ/ไม่ปลอดภัย 25% กลัวเจ็บ 22% กลัวผลที่ทำอาจไม่ดีหรือแย่กว่าเดิม 14% กลัวผลข้างเคียงที่จะได้รับ 14% ไม่ชอบให้มีสิ่งแปลกปลอมหรือสารเคมีเข้ามาอยู่ในร่างกาย 10% ทำแล้วดูไม่เป็นธรรมชาติ 8% และอื่นๆ (เช่น ราคาแพง ไม่มีความจำเป็น ดูแลผิวอย่างเดียวก็พอ เป็นต้น) 27%

ผิวหน้าสวยใส มั่นใจมากขึ้น

นอกจากเรื่องของพฤติกรรมในการดูแลผิวหน้าแล้ว ผู้วิจัยยังได้ทำการศึกษาลึกลงไปอีกว่า “ความสวยความงาม” มีผลต่อความรู้สึกนึกคิดของผู้หญิงหลายๆ คนอย่างไรบ้าง ซึ่งพบว่า

87% เห็นด้วยว่าช่วยให้มีความมั่นใจในตัวเองมากขึ้น
43% มองว่าช่วยให้ดูอ่อนเยาว์อยู่เสมอ
39% บอกว่าช่วยเพิ่มเสน่ห์ให้กับตัวเอง
33% เห็นว่าช่วยเสริมสร้างบุคลิกให้ดูน่าเชื่อถือ
31% คิดว่าช่วยให้มีความสุขอารมณ์แจ่มใส
N= 200 (หลายคำตอบ)

ทั้งนี้ทั้งนั้น ผลการวิจัยนี้ก็เป็นเพียงส่วนหนึ่งของความคิดเห็นเกี่ยวกับการดูแลผิวหน้าของผู้หญิงเท่านั้น และด้วยปัจจัยหลายๆ อย่างไม่ว่าจะเป็นเรื่องของสภาพภูมิอากาศ เศรษฐกิจ และสังคม ที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ก็ล้วนแล้วแต่มีผลกระทบต่อพฤติกรรมรวมถึงการใช้ผลิตภัณฑ์ดูแลผิวทั้งสิ้น ดังนั้นผู้ประกอบการหรือนักการตลาดควรทำการศึกษาวิจัยเพื่อติดตามการเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมและทัศนคติเกี่ยวกับการดูแลความสวยความงามผิวหน้าของผู้หญิงให้มากยิ่งขึ้น ซึ่งอาจจะนำไปสู่โอกาสหรือช่องทางในการปรับปรุงผลิตภัณฑ์หรือบริการให้ได้ตรงใจผู้บริโภคต่อไป