สถาบันวิจัยความเป็นอยู่ฮาคูโฮโด อาเซียน (ประเทศไทย) หรือ Hakuhodo Institute of Life and Living ASEAN (Thailand) รวมกับบริษัทในเครือฯ ได้เปิดเผยผลสำรวจการคาดการณ์พฤติกรรมการใช้จ่ายของผู้บริโภคในประเทศไทยประจำเดือนตุลาคม ในผลสำรวจดังกล่าวได้ชี้ว่า ความต้องการใช้จ่ายของคนไทยยังคงทรงตัว เนื่องจากสถานการณ์เศรษฐกิจและภาวะเงินเฟ้อ
สำหรับผลสำรวจฯ ดังกล่าวนี้ได้สำรวจประชาชนทั่วประเทศไทยจำนวน 1,200 คน ตามภูมิภาคต่างๆ รวมถึงกรุงเทพมหานคร และแบ่งตามช่วงอายุต่างๆ ตามโครงสร้างประชากรอีกด้วย
พร้อมพร สุภัทรวณิช ผู้ช่วยผู้อำนวยการด้านวิจัยการตลาดและกลยุทธ์ สถาบันวิจัยความเป็นอยู่ฮาคูโฮโด ฮาเซียน (ประเทศไทย) ได้ชี้ว่าประเทศไทยนั้นมีความคึกคักมากยิ่งขึ้น เนื่องจากเศรษฐกิจกลับมาฟื้นตัวอีกครั้ง จะเห็นได้จากจำนวนนักท่องเที่ยวที่เข้ามาในประเทศไทยเพิ่มมากขึ้น
อย่างไรก็ดีปัญหาค่าครองชีพนั้นกลับสร้างปัญหาเพิ่มมากขึ้น อย่างไรก็ดีเธอได้ชี้ว่าคนไทยนั้นมีการปรับตัว ไม่ว่าจะเป็น การกักตุนอาหารก่อนราคาขึ้น ลดรายจ่ายที่ไม่จำเป็น หาความรู้เพิ่มเติม เพื่อหารายได้เพิ่มเติม วางแผนเรื่องวันหยุดยาวเพื่อที่จะใช้จ่ายได้อย่างคุ้มค่า
สำหรับสินค้าประเภทอาหารและของใช้จำเป็น ยังเป็นสินค้าที่มีแนวโน้มในการใช้จ่ายสำคัญ แต่ผู้บริโภคเองได้ลดการซื้อสินค้าฟุ่มเฟือยลง ซึ่งเป็นปัญหาเงินเฟ้อที่เกิดขึ้น คนกรุงเทพฯ มีความต้องการในการใช้จ่ายลดลง
นอกจากนี้ในรายงานยังได้ชี้ว่ากลุ่มชนชั้นกลางที่มีพลังการจับจ่ายใช้สอยนั้นลดการจับจ่ายลดลงอย่างเห็นได้ชัด เมื่อเทียบกับรายงานในฉบับเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา
ขณะเดียวกันในผลสำรวจของเดือนตุลาคมนี้ ผู้ที่ตอบแบบสอบถามได้ให้ความสำคัญเรื่องของการเมืองไทยที่เพิ่มขึ้น ขณะที่ข่าวของโควิดมีแนวโน้มลดลง ไม่เพียงเท่านี้ในรายงานฉบับล่าสุดของสถาบันวิจัยความเป็นอยู่ฮาคูโฮโดฯ ยังชี้ว่ากลุ่มผู้สำรวจที่มีอายุ 20-29 ต้องการเพิ่มความรู้เพื่ออนาคต เพื่อที่จะได้มีรายได้ใหม่ๆ เพิ่มเติมมากกว่าในปัจจุบัน
ผู้ช่วยผู้อำนวยการด้านวิจัยการตลาดและกลยุทธ์ฯ รายนี้ยังได้ชี้ว่าการสำรวจได้สอบถามถึงความสุขกับชีวิตมากน้อยแค่ไหนในปัจจุบัน ในรายงานของเดือนตุลาคมนั้นชี้ว่าความสุขสำหรับเพศชายอยู่ที่ 67 คะแนน อย่างไรก็ดีคะแนนความสุขสำหรับเพศหญิงกลับลดลงมาเหลือเพียงแค่ 64 เท่านั้น โดยผู้ตอบแบบสำรวจนั้นได้กล่าวว่าตัวเองต้องแบกภาระทั้งในและนอกบ้านด้วยสภาวะเศรษฐกิจเช่นนี้ ซึ่งแตกต่างกับเพศชาย
ในรายงานยังชี้ถึงความสำคัญในชีวิตมากขึ้น ซึ่งรายงานฉบับเดือนตุลาคมนี้ผู้คนเริ่มให้ความสำคัญกับความมั่งคั่ง รวมถึงความรู้ (ซึ่งถือเป็นครั้งแรกในผลสำรวจของปี 2022) พร้อมพรได้ชี้ว่าประเด็นความมั่งคั่งและความรู้ได้สื่อถึงการต่อสู้กับสิ่งที่ไม่แน่นอนในระยะยาว รวมถึงประเด็นของการเพิ่มรายได้
ขณะที่ ชุติมา วิริยะมหากุล ผู้อำนวยการฝ่ายธุรกิจ จากสถาบันวิจัยความเป็นอยู่ฮาคูโฮโด อาเซียน (ประเทศไทย) ได้กล่าวถึง พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไปหลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยเธอได้ชี้ถึงแนวโน้มการใช้จ่ายของคนไทยในช่วงที่ผ่านมาในรายงานนั้นมีการใช้จ่ายเพิ่มสูงขึ้นถ้าหากไม่มีข่าวการแพร่กระจายของโควิด-19 รวมถึงมาตรการผ่อนคลายต่างๆ ในช่วงที่ผ่านมา
อย่างไรก็ดีในช่วงที่ผ่านมาราคาสินค้าที่เพิ่มมากขึ้นจากปัจจจัยเงินเฟ้อ ความไม่แน่ใจทางการเมืองของไทย รวมถึงคำถามของความโปร่งใสในสังคม ส่งผลทำให้พฤติกรรมผู้บริโภคนั้นเปลี่ยนไป
นอกจากนี้สถาบันวิจัยความเป็นอยู่ฮาคูโฮโด อาเซียน (ประเทศไทย) มองเห็นพฤติกรรมในรายงานเดือนตุลาคม เช่น ผู้บริโภคลดความสำคัญกับโควิด-19 แต่วางแผนใช้จ่ายตามสภาวะเศรษฐกิจ ซึ่งผลดังกล่าวทำให้เกิดการจับจ่ายที่มากขึ้นในกลุ่มผู้มีรายได้สูง หรือแม้แต่ผู้ที่มีรายได้ต่ำ ตรงข้ามกับกลุ่มผู้ที่มีรายได้ปานกลางเองก็มีการใช้จ่ายอย่างรัดกุมมากขึ้น นั่นทำให้เกิด K-Shape Recovery ทำให้แบรนด์ต่างๆ ต้องกลับมามองว่าลูกค้าของกลุ่มตัวเองคือกลุ่มไหน เป็นต้น
โดยข้อแนะนำ 4 ข้อที่สถาบันวิจัยความเป็นอยู่ฮาคูโฮโด อาเซียน (ประเทศไทย) แนะนำให้กับแบรนด์ต่างๆ นำไปปรับตัวในช่วงเวลานี้ได้แก่
- แบรนด์ต่างๆ ต้องไม่ใช่แค่ทำคอนเทนท์เกาะกระแส แต่ต้องเข้าใจ Sentiment ของลูกค้า รวมถึงกลุ่มลูกค้าของแบรนด์นั้นเป็นกลุ่มลูกค้าประเภทไหน
- หลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 ผู้บริโภคมองถึงสุขภาพแล้วก็ความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อม เนื่องจากสองสิ่งเหล่านี้ได้เปลี่ยนไป นั่นทำให้แบรนด์ต้องเชื่อมต่อมิติของสุขภาพในระยะยาว และมิติความยั่งยืนอย่างแท้จริง
- ข่าวสารในสังคม ที่ทำให้ผู้บริโภคสงสัยเรื่องความโปร่งใสต่างๆ สิ่งที่แบรนด์ต่างๆ ควรทำคือต้อง “ให้ใจ” กับลูกค้า ซึ่งสถาบันฯ มองว่าเรื่องดังกล่าวเป็นจุดขายสำคัญหลังจากนี้ เพิ่มเติมจากคุณภาพหรือตัวสินค้า
- คนแต่งงานและมีลูกมีความสุขมากกว่า เพราะได้กอดคนที่รัก ดังนั้นแบรนด์ต่างๆ อาจเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างความทรงจำดีๆ สำหรับเด็กและครอบครัว ผ่านกิจกรรมต่างๆ