ทุเรียน Effect เบื้องหลังปรากฏการณ์ “ทุเรียนไทย” นักการตลาดต้องรู้

กว่าจะสรุปกันได้ว่า ตกลงแจ็ค หม่า ช่วยขายทุเรียนไทยไปได้กี่ลูกกันแน่ จากนาทีละ 8 พันลูก เป็น 8 หมื่นลูกสำหรับหมอนทอง และท้ายที่สุดจบที่ 130,000 ลูกสำหรับทุเรียนไทยทุกพันธุ์รวมกัน

จะว่าไปเรื่องนี้เป็นแค่เศษเสี้ยวกระจิดริด ที่อาลีบาบารู้จักเลือกหาวิธีมาสร้างความตื่นเต้นให้คนไทย

เป็น “เมจิกโชว์” ที่แท้จริงแล้ว อาจจะไม่ใช่เรื่องตื่นเต้นในความรู้สึกของแจ็ค หม่า เสียด้วยซ้ำ เพราะไม่ว่าจะด้วยจำนวนเงินจากยอดขายทุเรียนทุกลูกรวมกัน ระบบการค้าออนไลน์ที่รวบรวมยอดขายได้จากผู้ซื้อที่เข้าถึงระบบได้อย่างรวดเร็ว หรือความสามารถในการจัดหาและจัดส่งสินค้าจากผู้ขายไปสู่ผู้ซื้อตามเวลาที่กำหนด

ทุกอย่างเกิดขึ้นได้ทันทีบนโครงสร้างพื้นฐานที่แข็งแกร่งที่ “อาลีบาบา” มีอยู่แล้วอย่างครอบคลุม เพียงแค่หยิบ “บิ๊กดาต้า” ที่มีมาเลือกใช้ให้ถูก เพราะทุเรียนไทยดังอยู่แล้ว ใครเคยซื้อเคยกินทุเรียนออนไลน์ ก็ยิ่งตรงโฆษณาถึงผู้บริโภคได้เลย เร็วยิ่งกว่าโซเชียลมีเดียอย่างเฟซบุ๊กเสียด้วยซ้ำ เพียงเท่านี้ก็สร้างปรากฏการณ์ไปยังกลุ่มเป้าหมายคนซื้อได้ทันที

ดังนั้น เพื่อให้รู้แน่ว่าใครบ้างที่จะได้ผลดี หรือผลกระทบจากเครือข่ายอาลีบาบาที่จะเข้ามาเต็มตัว และเป็นแกนหลักของระบบการค้าออนไลน์ของไทยในอนาคต ลองมาเคลียร์ภาพความจริงจากการขายทุเรียนออนไลน์ของแจ็ค หม่า กันดู

ทุเรียน 130,000 ลูกที่แจ็ค หม่า ขายได้ คิดเป็นเท่าไรของทุเรียนไทย

ที่มา: คณะกรรมการบริหารและการจัดการไม้ผล, สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร. 2560.

ในปี 2560 ที่ผ่านมา ไทยมีกำลังการผลิตทุเรียน 620,986 ตัน (ณ 26 ก.ค. 2560) ถ้าเฉลี่ยว่าทุเรียน 1 ลูกน้ำหนัก 4 กิโลกรัม ก็จะมีทุเรียนรวมประมาณ 155 ล้านลูก จำนวนที่แจ็ค หม่า ขายให้ไทย คิดเป็น 0.08% ของผลผลิตทุเรียนทั้งหมดของไทย

มูลค่าทุเรียนไทยในปี 2560 คิดจากราคาที่เกษตรกรขายได้เฉลี่ย 77.53 บาทต่อกิโลกรัม รวมมูลค่าแล้วประมาณ 48,000 ล้านบาท แต่แจ็ค หม่า ขายทุเรียนไทยลูกละ 995 บาท (199 หยวน คูณอัตราแลกเปลี่ยนเฉลี่ยหยวนละ 5 บาท) จำนวน 130,000 รวมเป็นเงินประมาณ 129 ล้านบาท คิดเป็น 0.27% ของมูลค่าทุเรียนทั้งหมดของไทย ราคาทุเรียนที่แจ็ค หม่า ขาย คิดแล้วสูงกว่าราคาที่เกษตรกรไทยขายได้ 3 เท่า

ประเด็นสำคัญของเรื่องไม่ได้อยู่ที่แจ็ค หม่า ขายทุเรียนไทยได้เท่าไร

แต่สิ่งที่นักการตลาดควรมองให้ออกมากกว่าคือ ทำไมแจ็ค หม่า เลือกขาย “ทุเรียน” โชว์ เป็นสินค้าตัวแรกหลังการเซ็นสัญญาความร่วมมือกับรัฐบาลไทย แล้วจะทำให้รู้ว่า ทุเรียน คือ ความฉลาดเลือกของอาลีบาบา ที่ยิ่งกว่ายิงปืนนัดเดียวได้นกสองตัว

เริ่มจากทุเรียนได้ชื่อว่าเป็น “ราชาผลไม้” ไม่ได้มีแค่ในประเทศไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย หรือแม้แต่กัมพูชา เวียดนาม ก็มีเริ่มมีการปลูกทุเรียน แต่ทุเรียนไทยได้ชื่อว่ามีรสชาติดี เป็นที่ต้องการ เพราะได้รับการปรับปรุงและพัฒนามานาน รวมทั้งรัฐบาลไทยก็มีโครงการให้การสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง แม้กระทั่งการหามาตรการควบคุมที่จะทำให้ทุเรียนที่ออกสู่ตลาด เป็นทุเรียนที่มีคุณภาพเหมาะกับการรับประทาน เพื่อป้องกันปัญหาผู้ซื้อผู้ขายไปจนถึงชื่อเสียงของราชาผลไม้ไทยอย่างทุเรียน

แหล่งผลิตสำคัญของทุเรียนไทย มีมากใน 5 จังหวัด ได้แก่ จันทบุรี ระยอง ชุมพร ยะลา และนครศรีธรรมราช 2 ใน 5 จังหวัดที่ผลิตทุเรียนคุณภาพ โดยเฉพาะพันธุ์หมอนทองที่ดีและมีชื่อเสียงมากคือจังหวัดจันทบุรี และระยอง ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC ที่รัฐบาลกำหนดขึ้น และแจ็ค หม่า เข้ามารับทำโครงการด้านดิจิทัลในครั้งนี้มูลค่า 11,000 ล้านบาท

เกษตรกรไทยเป็นกระดูกสันหลังของชาติที่รัฐบาลให้ความสำคัญ ส่งเสริม พัฒนา รวมทั้งคอยอุ้มชูดูแล การจัดทำโครงการที่ให้ประโยชน์ถึงตัวเกษตรกรโดยตรง ไม่เพียงแค่รัฐบาลเท่านั้นที่ปลาบปลื้ม แต่นักการเมืองไม่ว่าพรรคไหน รัฐบาลใด ย่อมพร้อมที่จะมาสานต่อโครงการที่เข้าถึงกลุ่มฐานเสียงสำคัญของประเทศอย่างแน่นอน

เหตุผลสุดท้าย บังเอิญเหลือเกินว่า จังหวะที่มีการเซ็นสัญญาความร่วมมือ เป็นช่วงใกล้หน้าผลผลิตทุเรียนเริ่มทยอยออกสู่ตลาด ซึ่งมีทั้งผู้บริโภคไทยและผู้บริโภคในตลาดต่างประเทศเฝ้ารอ

ด้วยเหตุผลเพียงไม่กี่ข้อนี้ ก็ทำให้สปอตไลต์ดวงโตรวมตัวกันส่องให้โปรเจกต์ขายทุเรียนของแจ็ค หม่า เฉิดฉายเป็นที่จับตา ชนิดที่เป็นข่าวยาวกันเป็นอาทิตย์ตามสื่อต่าง ๆ ดังที่เป็นอยู่นี้

ถึงขั้นที่ว่า แม้จะมีข่าวสาว ๆ BNK48 เข้าพบนายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เมื่อวาน (24 เมษายน 2560) จนมีโมเมนต์น่ารักมากมาย แต่ข่าวทุเรียนก็ยังสามารถยึดพื้นที่ในสื่อไว้ได้

ทำไมแจ็ค หม่า มั่นใจว่า ถ้าเป็นทุเรียนไทย รับรองขายดี

ทุเรียนไทย เป็นผลไม้ขึ้นชื่อที่มีภาพลักษณ์เชิงบวกในแง่ของประเทศแหล่งกำเนิดสินค้า ซึ่งส่วนหนึ่งต้องให้เครดิตรัฐบาลที่ส่งเสริมและผลักดันให้เป็นที่รู้จักในตลาดโลกมาอย่างต่อเนื่อง รวมถึงในประเทศจีน ฮ่องกง และไต้หวัน ซึ่งต่างก็ชื่นชอบทุเรียนจากไทย

ดังนั้น ในสายตาชาวจีน ถ้าเป็น ทุเรียน แล้วบอกว่ามาจากประเทศไทย จะได้รับการตอบรับทันที ทำให้อาลีบาลา สามารถใช้กลยุทธ์ราคาสูงได้ ยิ่งเล่นกลยุทธ์ราคาเดียวแบบการันตีที่มาและคุณภาพเช่นนี้ ทำให้ผู้ซื้อที่มีการรับรู้เชิงบวกต่อสินค้าอยู่แล้ว พร้อมจะคลิกสั่งซื้อในทันที

ส่วนเรื่องช่องทางจำหน่ายผ่านระบบโลจิสติกส์ของอาลีบาบา ก็วางใจหายห่วง ยิ่งลูกค้าจีนส่วนใหญ่มีประสบการณ์จากการสั่งซื้อสินค้ามาแล้วไม่ว่าเด็กเล็กหรือสูงวัยก็กดสั่งซื้อจากมือถือได้แล้ว

การขายทุเรียนรอบนี้ สำหรับตลาดจีน เพียงแค่พูดว่า ทุเรียน (ที่ย้ำหนัก ๆ ไปเลยว่า) จากประเทศไทย ยอดขายก็พุ่งกระฉูด โดยไม่ต้องอาศัยแฟลชเซลเสียด้วยซ้ำ เพราะอิทธิพลของภาพลักษณ์ของประเทศแหล่งกำเนิดทุเรียนที่ดีที่สุด ต้อง ประเทศไทย เท่านั้น ความตั้งใจซื้อและการประเมินราคาของผู้บริโภคจีนต่อราคาขายที่อาลีบาบาจำหน่าย จึงแทบไม่มีผลต่อการตัดสินใจมากเท่ากับเมื่อผู้ซื้อจีนได้ยินคำว่า “ทุเรียนจากเมืองไทย”

โปรดักต์อย่างทุเรียน ประเทศไหนก็ต้องมี

ทุเรียนคือตัวอย่างสินค้าที่คนไทยต้องมองให้ออกว่า ถ้าต้องการสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจ และหา “โปรดักต์แชมเปี้ยน” ตัวใหม่ขายผ่านออนไลน์กับอาลีบาบา ที่ให้ผู้บริโภคจากจีนหรือจากทั่วโลกรุมซื้อได้ขนาดนี้ จะต้องทำเช่นไร เพื่อให้คำว่า เมดอินไทยแลนด์ หรือ โปรดักต์ออฟไทยแลนด์ ที่แปะไปกับสินค้าเหล่านั้น เกิดภาพลักษณ์เชิงบวกต่อผู้บริโภคให้ได้ เพื่อจะส่งผลต่อความต้องการของผู้บริโภคที่ทวีความเข้มข้นยิ่งขึ้น

ที่สำคัญ อย่าให้เกิดความรู้สึกแบบตรงกันข้าม ที่สร้างความลังเลให้กับผู้บริโภคว่า ถ้าเป็นสินค้าจากไทย ไม่แน่ใจว่าจะดีจริงหรือเปล่า เพราะนั่นจะเท่ากับทำลายความยั่งยืนทางการตลาดของพวกเรากันเอง และถ้าทำได้ไม่ว่าจะค้าขายผ่านแพลตฟอร์มไหน สินค้าไทยก็จะเป็นที่หนึ่งในใจตลอดกาล

เหมือนที่ทุเรียนต้องจากประเทศไทย ข้าวหอมมะลิของไทยต้องดีที่สุด อยากดูซากุระ ดอยสูงเมืองไทยแม้จะมีให้ดูแก้ขัด แต่สักครั้งในชีวิตต้องไปดูที่ญี่ปุ่น ทั้งที่เกาหลี จีน อเมริกา ก็มีซากุระ หรือจะดูทิวลิปต้องที่เนเธอร์แลนด์ ทั้งที่จีน ยุโรปตะวันออก รัสเซีย หรือที่ไหน ๆ แม้แต่แถวเมืองนนท์ เมืองไทยก็มีสวนทิวลิปให้ชมเหมือน ๆ กัน

ถึงตรงนี้ คงจะพอเห็นแล้วว่า คำว่า นักการตลาด ซึ่งอาจจะดูเหมือนจำกัดแค่กลุ่มคนเฉพาะอาชีพ แต่แท้จริงแล้วคนไทยทุกคน มีสิทธิ์เป็นนักการตลาดที่จะช่วยสร้างโปรดักต์ออฟไทยแลนด์ให้ผงาดในตลาดโลกด้วยกันทุกคน และนั่นคือการปกป้องเศรษฐกิจของประเทศโดยทางอ้อมที่ยั่งยืนอีกด้วย เพราะโปรดักต์จากแหล่งประเทศต้นกำเนิดที่ดี ไม่มีทางที่ใครจะมายึดไปไหนได้

ราคาทุเรียนหมอนทองที่เกษตรกรขายได้

ที่มา : คณะกรรมการบริหารและการจัดการไม้ผล, สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร. 2560.