สวัสดี “ฟุตบอลโลก” เฮลโล “ทรู” แม่ข่ายถ่ายทอดสด

ในที่สุดการเจรจาซื้อลิขสิทธิ์การแข่งขันฟุตบอลโลก 2018 ประเทศรัสเซีย ระหว่างวันที่ 14 มิถุนายน -15 กรกฏาคมนี้ ที่มาลงตัวด้วยบริษัทใหญ่ของประเทศ ได้แก่ บริษัทระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ (บีทีเอส), ไทยเบฟเวอเรจ (ช้าง), คิงเพาเวอร์, บริษัทเจริญโภคภัณฑ์อาหาร (ซีพีเอฟ) , กัลฟ์เอนเนอจีดีเวลอปเมนท์, ธนาคารกสิกรไทย, พีทีทีโกลบอลเคมิคอล, บางจากคอร์ปเรชั่น และคาราบาวกรุ๊ป ที่ทั้งหมดลงขันกันรวมมูลค่าประมาณ 1,400 ล้านบาท

ในส่วนของการถ่ายทอดสดนั้นเป็นของ 2 บริษัทในเครือทรูคือทรูโฟร์ยู (True4U) ทีวีดิจิทัล และทรูวิชั่นส์ เพย์ทีวี เป็นผู้ได้เป็น official broadcasters หรือผู้ถือลิขสิทธิ์จาก FIFA อย่างเป็นทางการ

เดิมทีนั้นรัฐบาลมอบหมายให้คิงเพาเวอร์ไปเป็นตัวแทนเพื่อไปเจรจาซื้อสิทธิ์กับ FIFA แต่ไม่สามารถทำได้เนื่องจากมีข้อกำหนดไว้ว่า ผู้ที่ซื้อสิทธิได้นั้นจะต้องเป็นเจ้าของสถานีทีวี หรือเครือข่ายออกอากาศได้เท่านั้น

คิงเพาเวอร์จึงต้องแก้ปัญหานี้ด้วยการไปดึงเอา RS ซึ่งเป็นเจ้าของทีวีและซื้อลิขสิทธิ์ฟุตบอลโลกมาแล้ว แต่ RS ไม่ได้เป็นผู้ร่วมสนับสนุนโครงการนี้ จึงต้องกลับมาเลือกจากสปอนเซอร์ 9 ราย ให้เป็นตัวแทนเจรจาแทน ซึ่งในจำนวนนี้มี 2 รายคือ ซีพี และไทยเบฟฯ มีเครือข่ายธุรกิจทีวีดิจิทัล

ซีพีมีทั้งฟรีทีวี 2 ช่องคือทรูโฟร์ยูและช่องข่าวทีเอ็นเอ็น และยังมีธุรกิจเพย์ทีวี-ทรูวิชั่นส์ ในขณะที่กลุ่มไทยเบฟฯ มีอมรินทร์ทีวีและจีเอ็มเอ็ม25

กลุ่มทรูมีประสบการณ์ในการเข้าไปประมูลลิขสิทธิ์รายการกีฬามาแล้วมากมาย จึงเป็นผู้ที่ได้รับมอบหมายให้เป็นตัวแทนรัฐบาลไปซื้อลิขสิทธิ์ครั้งนี้

อมรินทร์ จีเอ็มเอ็มพันธมิตรร่วมแจม

ผลจากการเป็นตัวแทนไปเจรจา ทำให้สิทธิในการเป็น official broadcasters จึงเป็นของทรูโฟร์ยูและทรูวิชั่นส์ ทำหน้าที่เป็นแม่ข่ายหลักในการรับสัญญาณถ่ายทอดสดอย่างเป็นทางการ

แต่เนื่องจากรายการแข่งขันฟุตบอลโลกมีการแข่งขันกันถึง 64 นัด ตั้งแต่รอบแรกจนถึงรอบชิงชนะเลิศในช่วงเวลา 1 เดือน ซึ่งบางวันจะมีการแข่งขันมากกว่าหนึ่งคู่ และบางคู่จะมีการแข่งขันพร้อมๆ กัน ดังนั้นจึงจำเป็นที่จะต้องมีทีวีดิจิทัลมากกว่า 1 ช่องเข้ามาถ่ายทอดสดในครั้งนี้

เป็นหน้าที่ของฝ่ายรัฐบาลและการกีฬาแห่งประเทศไทย จะเป็นผู้คัดเลือก “ช่องทีวี” มารับสัญญาณจากทรูไปออกอากาศอีกที

โดยเปิดโอกาสให้สปอนเซอร์ทั้ง 9 รายที่มีสถานีทีวีเข้าร่วมถ่ายทอดสดด้วย แต่ด้วยข้อกำหนดที่ผู้ถ่ายทอดสด จะไม่สามารถหารายได้จากโฆษณาได้ นอกจากโฆษณาจาก 9 สปอนเซอร์เท่านั้น แถมช่วงเวลาถ่ายทอดสดไปตรงกับไพรม์ไทม์ของไทยตั้งแต่ 19.00-01.00 น. แหล่งรายได้หลักของแต่ละสถานี

ด้วยเงื่อนไขดังกล่าวคาดว่าจะมีเพียงไม่กี่ช่องที่เข้าร่วมถ่ายทอดสดได้คือ กลุ่มช้างที่มีอมรินทร์ทีวี และจีเอ็มเอ็ม25 

สำหรับทรูโฟร์ยู เป็นทีวีขนาดเล็กที่เป็นแม่ข่ายหลักแล้ว การยอมตัดเวลาถ่ายทอดสดออกไปทรูประเมินแล้ว่า “ได้” คุ้มเสียแน่ๆ เพราะถือโอกาสนี้โปรโมตช่องทีวีของตัวเอง ซึ่งทุกวันนี้อยู่อันดับท้ายๆ ให้คนรู้จักมากขึ้น เพราะฟุตบอลเป็นคอนเทนต์ที่คนดูนิยมดูถ่ายทอดสด โอกาสที่จะต่อยอดไปยังรายการต่างๆ ของสถานีได้ เพราะที่ผ่านมารายได้หลักของช่องก็ยังไม่มากแถมส่วนใหญ่เป็นโฆษณาสินค้าในเครืออยู่แล้ว

ในส่วนทรูวิชั่นส์ก็ได้ประโยชน์เพราะเป็นทีวีบอกรับสมาชิก สามารถจัดถ่ายทอดสดแบบ HD ให้กับสมาชิกได้รับชมแบบคมชัดได้ทุกแมตช์

ส่วนกลุ่มช้างหากต้องการร่วมการถ่ายทอดสดก็จะต้องยอมตัดเวลาออกอากาศของช่องอมรินทร์ทีวี ซึ่งเวลานี้รายได้หลักมาจากช่วงไพรม์ไทม์รายการ “ข่าว” ที่มีแฟนประจำหนาแน่น ส่วนช่องจีเอ็มเอ็ม25 นั้นเป็นช่วงเวลาละครเด่นของสถานี

นอกจากช่องทีวีของกลุ่มช้างแล้วยังมีช่อง 5 กองทัพบก โดยรับสัญญาณตรงมาจากทรูโฟร์ยูและทรูวิชั่นส์ที่เป็นแม่ข่าย อย่างไรก็ตาม ต้องรอการแถลงการณ์อย่างเป็นทางการจาก พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ในวันจันทร์ที่ 30 เมษายนนี้

เมื่อ 4 ปีที่แล้วช่อง 5 ก็ได้รับมอบหมายให้ร่วมถ่ายทอดสดฟุตบอลโลกมาแล้วหลังจากที่กองทุน กสทช. อนุมัติเงินช่วยเหลือชดเชยให้ RS  ในฐานะเจ้าของลิขสิทธิ์ที่ได้รับผลกระทบจากการให้ฟรีทีวีร่วมถ่ายทอดสดฟุตบอลโลกตามกฎ Must Have ของ กสทช. ที่ออกมาหลังจากที่ RS ซื้อลิขสิทธิ์ไปแล้ว

กฎเหล็ก Must Have กับฟุตบอลโลก

การที่ฟุตบอลโลกไม่มีเอกชนรายไหนสนใจซื้อลิขสิทธิ์ก็เพราะว่ากฎ Must Have ของ กสทช.เป็นสาเหตุที่ทำให้ไม่มีช่องไหนสนใจซื้อลิขสิทธิ์มาออกอากาศ เพราะค่าลิขสิทธิ์ก็สูงมาก และยังถูกบังคับให้ออกอากาศทางฟรีทีวีเท่านั้น ไม่สามารถเก็บเงินค่าสมาชิกค่ารายเดือนจากคนดูได้ พึ่งพาโฆษณาอย่างเดียว ซึ่งส่วนใหญ่ประเมินแล้ว ไม่คุ้ม จนรัฐบาลต้องดึงองค์กรขนาดใหญ่เข้ามาช่วย

ประกาศ กสทช.เรื่องของกฎ ”Must Have” คือประกาศที่คุ้มครองสิทธิของประชาชนให้ได้รับชมรายการกีฬาสำคัญระดับโลก โดยไม่ต้องจ่ายเงินค่าดูเหมือนประเทศอื่นๆ ที่ระบุว่ามีประเภทรายการกีฬา 7 รายการคือโอลิมปิก เอเชียนเกมส์ ซีเกมส์ รวมถึงพาราเกมส์ของทั้งสามรายการและฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายจะต้องออกอากาศผ่านทางฟรีทีวีเท่านั้น แต่หากจะออกอากาศทางช่องทางอื่น หากผ่านดุลพินิจของ กสทช.ได้ก็สามารถออกอากาศได้

ในส่วนของทรูวิชั่นส์ก็ไม่น่ามีปัญหาอะไร เพราะ กสทช.ก็เคยอนุมัติให้ทรูวิชั่นส์ออกอากาศกีฬาโอลิมปิก 2012 ลอนดอนเกมส์มาแล้ว และโครงการนี้ยังริเริ่มโดยรัฐบาลเอง เคสของทรูวิชั่นส์จึงน่าจะผ่านฉลุยลุยโลดได้ทันทีที่ยื่นขออนุญาตมาที่ กสทช.

ให้ทรูโปรโมต “สวัสดีบอลโลก”

มีรายงานข่าวว่าแคมเปญให้ประชาชนคนไทยได้ดูบอลโลกครั้งนี้หากไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงจะใช้ชื่อในเบื้องต้นว่า “สวัสดีบอลโลก” ที่ทางรัฐบาลเตรียมให้กลุ่มซีพีและทรูเป็นคนจัดทำแผนการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรับรู้

ในฐานะที่เป็นแคมเปญใหญ่แห่งปีของรัฐบาลในการคืนความสุขให้ประชาชนตามนโยบายรัฐบาล.