ถือเป็นอีก 1 ในดีลประวัติศาสตร์ สำหรับการผนึกกำลังครั้งสำคัญลุยตลาดกาแฟทั่วโลก (global coffee alliance) ของ 2 ค่ายกาแฟยักษ์ใหญ่ เมื่อ “Nestle” ยักษ์อาหารและเครื่องดื่มสัญชาติสวิสฯ และผู้ผลิตเนสกาแฟ (Nescafe) ร่อน Release แถลงการณ์ปิดดีลจ่ายเงินสด 7,150 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือมูลค่ากว่า 227,645 ล้านบาท ให้กับ “Starbucks” เพื่อให้ได้สิทธิในการขายผลิตภัณฑ์กาแฟแบรนด์สตาร์บัคส์ (Starbucks) ทั่วโลก ผ่านช่องทางซูเปอร์มาร์เก็ต และธุรกิจบริการอาหาร (Food Service) ทั้งร้านอาหารและธุรกิจบริการจัดเลี้ยง (Catering) ทุกประเภท
บิ๊กดีลครั้งนี้ ทำให้ “เนสท์เล่” ยังได้รับสิทธิในการจำหน่ายผลิตภัณฑ์กาแฟสำเร็จรูปภายใต้แบรนด์อื่นในเครือสตาร์บัคส์ด้วย เช่น Seattle’s Best Coffee, Starbucks VIA และ Torrefazione Italia รวมถึงแบรนด์ชา Teavana ด้วย แต่จะไม่นับรวมกาแฟบรรจุขวดพร้อมดื่ม (Ready to Drink) และน้ำผลไม้ของสตาร์บัคส์
นอกจากสินค้าที่เนสท์เล่จะได้ไป ดีลครั้งนี้ยังส่งผลให้ “พนักงาน“ ของสตาร์บัคส์ประมาณ 500 คน ต้องเข้าร่วมทำงานในบริษัทเนสท์เล่อีกด้วย โดยทั้ง 2 ฝ่ายจะมีการตั้งสำนักงานร่วมกันในเมืองซีแอตเทิล
“เควิน จอห์นสัน“ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สตาร์บัคส์ บอกว่า ข้อตกลงการเป็นพันธมิตรระดับโลกครั้งนี้ จะส่งต่อประสบการณ์ดื่มกาแฟสตาร์บัคส์ไปสู่ผู้บริโภคนับล้านครัวเรือนทั่วโลก
อย่างไรก็ตาม ดีลระหว่างเนสท์เล่กับสตาร์บัคส์ครั้งนี้จะเสร็จสมบูรณ์ภายในสิ้นปี 2561
รายงานของสำนักข่าวบลูมเบิร์ก ระบุว่า เนสท์เล่จะใช้กาแฟแบรนด์สตาร์บัคส์ไปกับกลุ่มเครื่องทำกาแฟแคปซูลอย่าง “เนสเปรสโซ่“ (Nespresso) และ “Dolce Gusto” ในปีหน้าด้วย นับเป็นการรุกตลาดกาแฟอีนที่มุ่งตอบโจทย์และเพิ่มอรรถรสให้กับคอกาแฟที่ต้องการดื่มกาแฟสดพรีเมียมมากขึ้น
ด้านความเห็นของ “Jean-Philippe Bertschy” นักวิเคราะห์จากบริษัท Bank Vontobel AG ว่าการเป็นพันธมิตรครั้งนี้ตอกย้ำว่าเนสท์เล่ พยายามดึงดูดคอกาแฟพรีเมียมให้ได้มากขึ้นในตลาดสหรัฐฯ หลังจากที่ผ่านมาเนสท์เล่สามารถส่ง “เนสเปรสโซ่” และ “เนสกาแฟ” ไปบุกตลาดโลกได้ดี แต่กลับไม่รุ่งในตลาดสหรัฐฯ เท่าที่ควร โดยในสหรัฐฯ นั้น ทั้งเนสเปรสโซ่ และเนสกาแฟ ต่างเป็น “รอง“ สตาร์บัคส์อยู่หลายช่วงตัว
ส่วนประเด็นดีลครั้งนี้ถูกมองว่า “ราคาแพง” ด้วยมูลค่า 7,150 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 227,645 ล้านบาท แต่เม็ดเงินนี้อาจสามารถทยอยจ่ายภายใน 3-4 ปี ซึ่งถือว่าคุ้ม เพราะดีลนี้อาจช่วยให้ Nestle สามารถขยายธุรกิจในสหรัฐฯได้ ซึ่งเป็นตลาดที่อ่อนแอของบริษัทมาตลอด ความจริงนี้ทำให้หุ้นเนสท์เล่ในตลาดหุ้นซูริกเพิ่มขึ้น 0.8% หลังจากที่ลดลงประมาณ 9% ตลอดปีนี้
*** พลิก “คู่แข่ง” เป็น “พันธมิตรคู่ใจ”
นอกจากมูลค่าดีลจะมหาศาล และทั้งคู่เปิดเกมรบ “กาแฟ” ไปอีกสเต็ปแล้ว วงการกาแฟยังได้เห็นปรากฏการณ์ครั้งแรกของ “เนสท์เล่“ ที่พลิกบทบาทในการจับมือ “คู่แข่ง” รายหลักในวงการกาแฟระดับพรีเมียม ชื่อชั้นระดับโลกเหมือนกัน ให้กลายมาเป็น “พันธมิตร“ เสริมจุดแข็งให้กับอาณาจักรของธุรกิจกาแฟทั้งคู่
สำหรับบทบาทของสตาร์บัคส์ จากนี้ไปจะรับหน้าที่ผลิตสินค้ากาแฟป้อนตลาดในภูมิภาคอเมริกาเหนือ ขณะที่เนสท์เล่จะรับผิดชอบการผลิตในตลาดอื่นทั่วโลก ส่วนตัวเลขยอดขายที่ได้จะถูกโอนเป็นของเนสท์เล่ ซึ่งจะจ่ายค่าลิขสิทธิ์ให้กับสตาร์บัคส์เป็นงวดไป
กลยุทธ์ดังกล่าว เนสท์เล่ ยังคาดการณ์ว่าจะส่งผลเชิงบวกต่อรายได้ (รายได้ต่อหุ้น) และเป้าหมายการเติบโตยอดขายจากการดำเนินงานปกติ (organic growth target)
ในปีหน้า 2019 ซึ่งปัจจุบันเนสท์เล่ทำยอดขายได้ราว 2 พันล้านเหรียญสหรัฐเท่านั้น หรือประมาณ 9% ของรายได้ทั้งหมดของสตาร์บัคส์
Mark Schneider ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Nestle กล่าวด้วยความมั่นใจว่า ดีลนี้จะทำให้แบรนด์ดัง 3 แห่งในโลกของกาแฟทั้งสตาร์บัคส์, เนสกาแฟ และ เนสเปรสโซ่ มารวมกันได้ จุดนี้สื่อยกให้ดีลนี้คือดีลใหญ่ที่สุดในช่วงที่เนสท์เล่ได้ซีอีโอใหม่เมื่อปีที่แล้ว
***เนสท์เล่–สตาร์บัคส์ มีแต่ชนะ!
สำหรับดีลนี้นับว่า “ตอบโจทย์” เนสท์เล่อย่างมาก เพราะที่ผ่านมาได้มองเห็นโอกาสทางการตลาดของกาแฟ “พรีเมียม” ที่ “เติบโต” มากขึ้น มีการเพิ่มแบรนด์ใหม่ Chameleon Cold-Brew เข้าทำตลาดเมื่อปีที่แล้วเพื่อขยายสินค้ากลุ่มเนสเปรสโซ่ในสหรัฐฯ แถมยังพยายามบุกหนักเรื่องการจำหน่ายเครื่องชงกาแฟที่เหมาะกับรสนิยมคนอเมริกัน ซึ่งชื่นชอบกาแฟถ้วยใหญ่พิเศษ เรียกว่าพฤติกรรมผู้บริโภคดื่มกาแฟยุคนี้มีความซับซ้อนมากขึ้น
ส่วนดีลนี้ “เอื้อ“ ให้สตาร์บัคส์ “แกร่ง” กว่าเดิม โดยเฉพาะความคล่องตัวและการทำเงินให้มากขึ้น ซึ่งนี่เป็นความพยายามที่สตาร์บัคส์ได้ปรับโครงสร้างธุรกิจอย่างต่อเนื่อง เพราะปีที่แล้ว “สตาร์บัคส์” ตัดสินใจขายธุรกิจบางส่วนทิ้งไป
โดยเดือนพฤศจิกายน บริษัทตกลงขายแบรนด์ชา Tazo ให้ “ยูนิลีเวอร์“ (Unilever) มูลค่า 384 ล้านเหรียญ ซึ่งถือว่าเป็นก้าวใหม่และใหญ่ของสตาร์บัคส์ สะท้อนการปรับโครงสร้างธุรกิจครั้งใหญ่ของบริษัท
แม้ “สตาร์บัคส์” จะปรับตัวแล้ว แต่ข้อมูลจาก Euromonitor ระบุว่า สตาร์บัคส์ คือ “แชมป์” ในตลาดกาแฟอเมริกันที่มีมูลค่ามากกว่า 13,800 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือกว่า 440,000 ล้านบาท แต่สตาร์บัคส์รู้ดีว่าความสำเร็จนี้ไม่เพียงพอ เพราะในสังเวียนกาแฟระดับโลก “เนสกาแฟ” และ “เนสเปรสโซ่” รั้ง “อันดับ1″ อย่างเหนียวแน่น.