กดปุ่มสตาร์ท TUK TUK PASS แพลตฟอร์มชุมชนคนชอบเดินทาง

“สตาร์ทอัพของฟ้าก็เป็นเรื่องเกี่ยวกับการเดินทาง เพราะเป็นคนที่สนใจการเดินทางมาตลอด ฟ้าเองก็ได้รับทุนการศึกษาในระดับปริญญาตรีที่จะไปเรียนที่ NYU (New York University) และเคยได้ทุนจากรัฐบาล UAE เลยมีโอกาสได้อยู่ในหลายประเทศ ตื่นเต้นมากกับการได้พบเพื่อนมากมายระหว่างเดินทาง ได้เห็นอะไรใหม่ ชอบเที่ยว คิดถึงการท่องเที่ยว อยากทำงานด้านนี้ และคิดว่าทุกคนคงเคยรู้สึกและตื่นเต้นกับทริปแรกของการเดินทางกันมาแล้วทั้งนั้น”

ฟ้า หรือ ปรางพิสุทธิ์ แดงเดช ผู้ร่วมก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ตุ๊กตุ๊กพาส จำกัด เจ้าของแพลตฟอร์มตุ๊กตุ๊กพาส (TUK TUK PASS) เล่าถึงที่มา ภายในงานสัมมนา “START UP จับต้องได้ : เจาะลึกธุรกิจ สร้างสังคมแห่งสตาร์ทอัพ” จัดโดย positioningmag.com และองค์กรพันธมิตร ณ โรงละครอักษรา คิง เพาเวอร์

ตุ๊กตุ๊กพาส เป็นแพลตฟอร์มการท่องเที่ยวที่ถือกำเนิดในกรุงเทพมหานคร เดือนกุมภาพันธ์ปี 2018 นี้ พร้อมกับเปิดตัว Blockchain Kiosk พร้อมทำ ICO ครั้งใหญ่ที่สุดในโลก มูลค่า 700 ล้านเหรียญสหรัฐ (กำหนด 1 TTP-A เท่ากับ 1 USD) เปิดขายรอบแรก 26 กุมภาพันธ์ – 30 มิถุนายน 2561 ผ่านทางกระดาน TDAX เพื่อปูพรมบุก 100 เมืองท่องเที่ยวชั้นนำทั่วโลก

ทำให้แพลตฟอร์มของตุ๊กตุ๊กพาส ซึ่งให้บริการด้านการท่องเที่ยวที่ผู้ใช้สามารถเข้าถึงบริการที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวทั้งหมดในแพลตฟอร์มเดียว ผ่านบริการ 3 รูปแบบ ได้แก่ Blockchain Kiosk, Website และ Application

โดยส่วนตัว ปรางพิสุทธิ์เป็นคนรักการเดินทาง และเคยทำรายการ The Passion เพื่อส่งต่อและค้นหาแพชชั่นการเดินทางของผู้คนหลากหลายไลฟ์สไตล์ทั่วโลกจากการเดินทางท่องเที่ยวด้วย เรื่องราวของรายการที่ทำ มีทั้งเรื่องของผู้หญิงที่เดินทางรอบโลกในชุดเจ้าสาว การได้มีโอกาสได้คุยผ่านสไกป์กับชาวอังกฤษนักเดินทางเจ้าของสถิติในกินเนสส์บุ๊กเวิลด์เรคคอร์ดที่เดินทางไปครบทุกประเทศทั่วโลก โดยไม่ขึ้นเครื่องบินและไม่เคยขึ้นเครื่องบินเลย แต่ใช้วิธีนั่งเรือหาปลา นั่งรถขนเนื้อ และพาหนะอื่น รวมทั้งเจอแม้กระทั่งการติดคุกถึง 2 ครั้ง พาสปอร์ต วีซ่า หมดอายุ ฯลฯ

เรื่องราวของนักเดินทาง ขณะที่ต้องเผชิญเหตุการณ์จริงบางเรื่องก็ไม่สนุกเท่ากับตอนที่นำมาเล่าหรือพูดถึงภายหลังเมื่อเหตุการณ์ผ่านไปแล้ว และสุดท้ายเรื่องราวของการเดินทางไม่ว่ารูปแบบใด นึกถึงที่ไรมักจะเต็มเปี่ยมหรืออย่างน้อยก็เจือด้วยความประทับใจเสมอ

ปรางพิสุทธิ์ ก็ตระหนักดีว่า เรื่องราวเหล่านี้เป็นแรงบันดาลใจให้กับทุกคน ซึ่งเธอได้มีโอกาสพูดคุยสื่อสารกับผู้ชมรายการของเธออยู่เสมอ แล้วระหว่างนั้นเธอก็คิดทำโปรเจกต์กับคอมมูนิตี้ เป็นการสร้างชุมชนการเดินทางที่ค่อนข้างใหญ่ที่มีนักเดินทางจากทั่วโลกมารวมกัน

ผ่านไป 2 ปีกับประสบการณ์พูดคุยกับนักเดินทางเหล่านี้ ทำให้เธอคิดขึ้นว่า ประเทศไทยซึ่งมีจีดีพีด้านการท่องเที่ยวและมีประสิทธิภาพสูงมากด้านนี้ ทำไมถึงไม่คิดทำอะไรขึ้นมาบ้าง

ไอเดียการพัฒนาแพลตฟอร์ม ตุ๊กตุ๊กพาส เกิดขึ้นในช่วงนี้

“คอนเซ็ปต์ของเราคือ ต้องการเชื่อมต่อผู้ใช้บริการกับบริการท้องถิ่นทั่วโลก ซึ่งเริ่มต้นคิดจากสเกลของประเทศไทยก่อน เพราะความที่อยากจะกลับมาพัฒนาการท่องเที่ยวไทย แต่หลังจากนำไอเดียไป Pitch กับนักลงทุน หรืออินเวสเตอร์และผู้สนใจทั่วไปในงาน Techsauce เมื่อปีที่แล้ว (2017) มีคนจากประเทศต่างๆ คอมเมนต์ว่าไอเดียที่เธอคิดเป็นที่สนใจในหลายประเทศ ทำให้เราคิดใหญ่ขึ้นและสเกลไปยังเมืองท่องเที่ยวอื่นๆ ด้วย”

ก็เป็นคอนเซ็ปต์ในการ connect เรื่องของผู้ชมและผู้ใช้งาน เข้ากับบริการ และเหตุผลที่ตัวนี้เป็นตัวที่สำคัญที่สุดก็เพราะว่า เงินในการใช้การตลาดของแอปตัวเล็กๆ ที่เป็นแอปท้องถิ่น อาจจะมีมากไม่เท่ากับบริษัทยักษ์ใหญ่ทางด้านการท่องเที่ยว ฉะนั้นการที่มีแพลตฟอร์มกลาง ที่ทำให้คนสามารถเดินทางได้ง่ายขึ้นจากการ access บริการต่างๆ ในแอปเดียว จะสะดวกขึ้นก็ทำให้นักเดินทางสามารถเข้ามาใช้แอปตัวนี้ตัวเดียวได้

ขั้นต่อไปหลังได้ไอเดีย แพลตฟอร์มที่คิดต้องการให้ผู้ใช้บริการกับการบริการเชื่อมต่อกันกลับไปมาได้ และสร้างเป็นชุมชนการท่องเที่ยว โดยมีไฮไลต์ว่า การใช้บริการในแพลตฟอร์มตุ๊กตุ๊กพาสจะต้องทำให้ผู้ใช้มั่นใจได้ว่า บริการที่มีบนแพลตฟอร์มจะสร้างความประทับใจให้กับผู้ใช้ได้จริง

“ก่อนทำเรามีคุยกับนายกสมาคมมัคคุเทศก์อาชีพ คุณชาติ จันทนประยูร และนักเดินทางหลายคนซึ่งบางคนเคยถูกหลอก ถูกแท็กซี่ทิ้งกลางทาง แต่ส่วนมากยังประทับใจเพราะชอบเมืองไทย แม้ต้องเจอบริการไม่ได้มาตรฐาน ไกด์ผี บริการเถื่อนก็ตาม”

หลังเปิดให้บริการแพลตฟอร์มตุ๊กตุ๊กพาส ปรางพิสุทธิ์ชี้ให้ลองสังเกตการเปลี่ยนแปลงของบริการท่องเที่ยวในปัจจุบัน จะพบว่าตามโรงแรมต่าง ๆ ถ้านักท่องเที่ยวต้องการซื้อหรือข้อมูลเกี่ยวกับทัวร์จะมีแค่บริการโทรจองทัวร์ที่เหลืออยู่ ไม่มีแล้วที่จะมีเคาน์เตอร์ทัวร์มาตั้งโต๊ะอยู่ในโรงแรมแบบเดิม ๆ

คีออสของตุ๊กตุ๊กพาส ซึ่งถูกกำหนดให้เป็นสมาร์ทคอนเชียสอยู่ที่โรงแรม จึงเป็นกลยุทธ์การตลาดที่เข้าแทนเคาน์เตอร์ทัวร์ที่เข้าถึงกลุ่มนักเดินทางโดยตรง และสามารถโฆษณาตรงถึงตัวกลุ่มเป้าหมายได้โดยไม่ต้องไปหว่านแม้โฆษณาออนไลน์ที่นิยมกันในปัจจุบัน

“คิดถึงสภาพเวลาเราเดินทาง ลงเครื่องก็รีบออกจากสนามบินไปที่พักเช็กอินพักผ่อน อยากกินอยากเที่ยวก็หาข้อมูล เต็มที่ก็ถามฟร้อนท์เดสก์แต่ถ้ามีสมาร์ทคอนเชียสให้หาข้อมูลได้ทั้งที่เกี่ยวกับกิน เที่ยว แถมเรื่องการจองรถ จองทัวร์ ได้อีก ความสะดวกจะเพิ่มขึ้นแค่ไหน”

สิ่งที่ปรางพิสุทธิ์เล่ามาคือบริการที่ตุ๊กตุ๊กพาสเตรียมจะเปิดตัวให้บริการ โดยเน้นกลุ่มนักท่องเที่ยวที่เดินทางเอง (FIT Traveller) แน่นอนบริการอย่างการจองที่พักในที่อื่น ซึ่งมีผู้ให้บริการแล้วหลายราย ก็จะมีให้บริการในนี้ด้วย แล้วที่ผ่านมาผู้ให้บริการจองที่พักทั้งอโกด้า บุ๊คกิ้งดอทคอม ซึ่งเป็นเครือเดียวกันก็ติดต่อขอเป็นพันธมิตรกับตุ๊กตุ๊กพาสเพื่อให้บริการจองโรงแรมผ่านบริการที่จะเปิดตัวนี้ด้วย เช่นเดียวกับบริการเรื่องของรถเช่าที่ได้ rentalcars.com มาเป็นพาร์ตเนอร์ รวมไปถึงบริการทั้งเรื่องจองร้านอาหาร หรือจัดส่งอาหารถึงโรงแรมรวมอยู่ด้วย

พิเศษสำหรับประเทศไทย จะมีบริการเรื่อง Healthticket ซึ่งรวมถึงร้านนวดมาตรฐาน ที่เป็นบริการขึ้นชื่อรวมไว้ในลิสต์ให้ด้วย

“ตอนนี้ถ้าเรามองในเรื่องการท่องเที่ยว ถ้าคิดถึงคนที่เดินทางไปต่างประเทศ คนกลุ่มนี้จะมีทั้งหมด 1,235 ล้านคน และกรุงเทพฯ ก็ติดอยู่ในท็อปทรีด้านเมืองท่องเที่ยว ส่วน 100 เมืองท่องเที่ยวที่เราจะขยายให้เข้าถึงคาดว่าจะครอบคลุมนักเดินทางถึง 45% โดยจะโฟกัสเอเชียตลาดซึ่งกำลังโต” 

ในภาพรวม ปรางพิสุทธิ์ บอกว่า แพลตฟอร์มของตุ๊กตุ๊กพาสมีจุดเด่นของการเป็นทั้ง OTA (Online Travel Agency) และโซเชียลมีเดีย เพราะบริษัทต้องการสร้างชุมชนของนักท่องเที่ยวที่นอกจากจะเดินทางได้ง่ายแล้ว ยังสามารถแบ่งปันประสบการณ์เป็นโอกาสให้คนอื่นในวันข้างหน้าได้

เก็บคำแนะนำจากประสบการณ์ของรุ่นพี่

นอกจากทำตามที่คิดที่ชอบ ปรางพิสุทธิ์ก็หาคำแนะนำจากธุรกิจรุ่นพี่เพื่อหาไอเดียไม่หยุด เช่น เธอเคยคุยกับ ดีเอโก เซอร์เดวา ประธานบีไคว์ลาตินอเมิกา ผู้ก่อตั้งอาร์เอสเค ซึ่งเชื่อเรื่องการสร้างคอมมูนิตี้ และได้ความรู้ว่า การให้รีวอร์ด หรืออินเทนซีฟสำหรับพาร์ตเนอร์ที่จะมาทำโปรโมชั่นบนแพลตฟอร์มเพื่อนำเสนอบริการสินค้าและบริการจะเป็นส่วนช่วยชุมชนได้ดีขึ้น เพราะได้ประโยชน์ร่วมกัน ให้กับกลุ่มที่ต้องการข้อมูลคล้าย ๆ กัน เช่น การรีวิวเรื่องต่าง ๆ ที่ช่วยนักเดินทางบนแพลตฟอร์มให้เดินทางได้สะดวกขึ้น ฯลฯ

หรือจากคำแนะนำของ เจมส์ คอล อดีต VP ของอินสตาแกรม (Instagram) ปัจจุบันเป็นซีอีโอของ Strava ก็เป็นแอปที่สร้างชุมชนเหมือนกันในการใช้โซเชียลมีเดียดูแลนักกีฬา ก็แชร์ไอเดียเรื่องการให้น้ำหนักกับชุมชนมาก โดยเน้นคำนึงถึงความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้ซึ่งตอนนี้ทุกคนหันมาความสนใจเรื่องความเป็นส่วนตัวมากขึ้น

“จุดเด่นของ Strava เป็นแอปที่มีพันธมิตรกว่า 300 ล้านราย และมี API พาร์ตเนอร์ 30,000 กว่าราย ซึ่งเป็นจุดเด่นที่ต่างจากเจ้าอื่น เพราะในฐานะแพลตฟอร์มทำให้ Strava สามารถเป็นเจ้าบ้านของทุกคนที่จะเชื่อมต่อคนในชุมชนได้ง่าย แต่ถ้าเลือกอะไรสักอย่างก็จะทำให้มีคู่แข่งขึ้นจากคนที่ทำธุรกิจเหมือน ๆ กัน เช่น ถ้าเป็นแอปเปิล มีแอปเปิลวอทช์ ก็อาจจะแข่งกับการ์มินในเรื่องของแก็ดเจ็ต ฯลฯ”

จากประสบการณ์ของรุ่นพี่ ทำให้ตุ๊กตุ๊กพาสมีทั้งการให้รีวอร์ดสำหรับคนเข้าแอป OTA 2 ครั้งต่อปี และให้อินเทนซีฟเป็นแต้มจากการรีวิวและการเข้ามาแชร์ความรู้ให้คนอื่นผ่านโซเชียลมีเดีย เพื่อเอาแต้มที่ได้ไปเที่ยวต่อ

แต่ที่สำคัญที่สุด คือ การทำให้บริการต่าง ๆ ภายใต้แพลตฟอร์มเป็นประสบการณ์เดินทางที่ครบถ้วน แถมยังได้แต้ม และส่งต่อโอกาสได้ตามคอนเซ็ปต์ที่ตั้งไว้ตั้งแต่ต้น.