ถึงแม้บรรดาเครื่องดื่มอย่างชาเขียว น้ำอัดลม จะมีสูตรน้ำตาลน้อย หวานน้อย ออกมาเพื่อรับมือกับภาษีน้ำตาล มีการบังคับใช้มาตั้งแต่ ก.ย. 2560 แต่ผ่อนปรนให้เวลาปรับสูตรเป็นเวลา 2 ปี ส่งผลให้ผู้ประกอบการหันมาทำเครื่องดื่มสูตรหวานน้อยกันมากขึ้น เพื่อไม่ต้องจ่ายภาษีมากขึ้น เพราะหากเครื่องดื่มยิ่งมีปริมาณน้ำตาลในอัตรากรัมต่อ 100 มิลลิลิตรมากขึ้นก็ยิ่งเสียภาษีสูงขึ้น
แต่เจ้าของสินค้าก็หันมาตลาดชิงโชค นำ “ศิลปินดารา” มาเป็นพรีเซ็นเตอร์ช่วยโปรโมต ชิงโชคแจกทั้งรถยนต์ ทองคำ โทรศัพท์มือถือ ร่วมกับศิลปินชื่อดัง กระตุ้นยอดขายต่อเนื่องเพื่อช่วงชิงส่วนแบ่งตลาดชนิดไม่มีใครยอมใคร
ทำเอา “กรมอนามัย” กังวลว่าการชิงโชคยิ่งเป็นการกระตุ้นให้คนหันมาบริโภคมากขึ้น ย่อมส่งผลกระทบต่อสุขภาพได้
“เครื่องดื่มเหล่านี้เมื่อทำสูตรน้ำตาลน้อยจะเสียภาษีน้อยลง แต่การทำการตลาดโดยการชิงโชค เท่ากับให้คนหันมาบริโภคเพิ่มมากขึ้น ก็ยิ่งทำให้มีรายได้มากขึ้น ประชาชนต้องรู้เท่าทันในเรื่องเหล่านี้ เนื่องจากการกินหวานมากๆ ส่งผลทั้งโรคอ้วนและเบาหวาน” นพ.วชิระ เพ็งจันทร์ อธิบดีกรมอนามัย กล่าว
*** อาจต้องใช้ กม.ห้ามแบบเครื่องดื่มชูกำลัง
หากการชิงโชคในเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลมากอย่างชาเขียวหรือน้ำอัดลมเป็นปัญหามาก ก็มีความเป็นไปได้ที่จะเสนอให้มีการออกกฎหมายควบคุมตรงนี้เหมือนเครื่องดื่มชูกำลังในอดีต ซึ่งกรมอนามัยจะทำข้อมูลว่าชิงโชคของเครื่องดื่มเหล่านี้ส่งผลกระทบมากหรือไม่แค่ไหน ก็จะเสนอเป็นข้อมูลไปยังสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) หรือสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) เพื่อพิจารณาออกประกาศห้ามการชิงโชคในเครื่องดื่มเหล่านี้เหมือนกับที่กรมอนามัยเสนอกรมสรรพสามิตในการคุมภาษีน้ำตาลที่สำเร็จมาแล้ว
อย่างไรก็ตาม นอกจากการมีกฎหมายบังคับใช้ ประชาชนก็ต้องตระหนักในเรื่องเหล่านี้ด้วยว่าไม่ควรรับประทานหวานมากเกินไปจึงจะดีที่สุด
อัตราภาษีตามค่าความหวาน
มี 6 ระดับคือ
- ค่าความหวาน 0-6 กรัมต่อ 100 มิลลิลิตร ไม่เสียภาษี
- ค่าความหวาน 6-8 กรัมต่อ 100 มิลลิลิตร เสียภาษี 10 สตางค์ต่อลิตร
- ค่าความหวาน 8-10 กรัมต่อ 100 มิลลิลิตร เสียภาษี 30 สตางค์ต่อลิตร
- ค่าความหวาน 10-14 กรัมต่อ 100 มิลลิลิตร เสียภาษี 50 สตางค์ต่อลิตร
- ค่าความหวาน 14-18 กรัมต่อ 100 มิลลิลิตร เสียภาษี 1 บาทต่อลิตร
- ค่าความหวาน 18 กรัมต่อ 100 มิลลิลิตร ขึ้นไป เสียภาษี 1 บาทต่อลิตร
และหลังพ้นเวลาผ่อนผันไปแล้วอีก 2 ปี หากค่าความหวานไม่ลดลง จะมีการปรับขึ้นภาษีแบบขั้นบันได.