ครบ 1 เดือนพอดี นับตั้งแต่ 9 เม.ย. 61 ที่ลูกค้าอูเบอร์ต้องย้ายมาใช้บริการแกร็บเต็มตัว แกร็บมีประเด็นร้อนให้ติดตามหลายเรื่อง โดยเฉพาะรูปแบบบริษัทหลังการควบรวมอูเบอร์ รวมถึงแนวทางให้บริการนับจากนี้
1. แกร็บต้องการเป็น “แอปพลิเคชั่นสำหรับทุกวัน”
วิสัยทัศน์นี้ของแกร็บเกิดขึ้นเพราะการสำรวจครั้งล่าสุด ที่แกร็บพบว่าทุกวันนี้ชาวดิจิทัลต้องการแอปพลิเคชั่นเดียว โดยในวันหนึ่ง คนส่วนใหญ่อยากเปิดแค่ 1 แอปพลิเคชั่นที่จะมีทุกบริการในนั้น แกร็บจึงวางเป้าหมายใหญ่ว่าจะเป็น “เดลีไลฟ์แอป“ ซะเลย
การจะเป็นแอปสำหรับทุกวันได้ ต้องทำให้แกร็บเป็นแอปที่ตอบโจทย์ออฟไลน์ได้หมด
ธรินทร์ ธนียวัน กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท แกร็บ แท็กซี่ (ประเทศไทย) จำกัด ระบุ
ก่อนนี้แกร็บ เป็นแอปพลิเคชั่นเรียกรถแท็กซี่ หรือ เรียกรวมว่า ระบบร่วมเดินทาง หรือ Ridesharing แต่หลังจากรวมกิจการ “อูเบอร์” เข้ามา รวมเอาฐานลูกค้า และบริการต่างๆ เข้าไว้ด้วยกัน ก็ทำให้มองไกลกว่าเดิม ด้วยการวางเป้าหมายเป็น “แอปเดียว” ที่เชื่อมการใช้จ่าย การเดินทาง และบริการหลายอย่างเข้าด้วยกัน ที่ผ่านมา แกร็บอาจมีพันธมิตรหลักคือ “คนขับ” แต่จากนี้ แกร็บจะหาพันธมิตรที่เป็น “ธุรกิจเอสเอ็มอี” และร้านอาหารให้มากขึ้น ซึ่งวันนี้แกร็บมีพันธมิตรทั้งภูมิภาคกว่า 6 ล้านรายแล้ว
ธรินทร์ อธิบายว่า วันนี้แกร็บได้เพิ่มขอบเขตบริการจากการรับส่งผู้โดยสารมาให้บริการส่งของ บริการส่งอาหาร กระทั่งเมื่อปีที่แล้ว แกร็บออกระบบคะแนน ให้ผู้โดยสารนำคะแนนไปแลกบริการและสินค้ากับพันธมิตรได้ ล่าสุดคือ 2-3 เดือนที่ผ่านมา แกร็บเริ่มประสานงานเพื่อให้บริการสินเชื่อรายย่อยแก่ผู้ขับ และที่สิงคโปร์มีให้บริการเช่าจักรยานแล้ว
“แกร็บเชื่อว่าด้วยธุรกิจที่มีหลายขา บริษัทจะรวมทุกอย่างส่งให้ผู้บริโภค นี่คือวิสัยทัศน์ที่เรามีในอนาคต”
2. สัดส่วนธุรกิจแกร็บจะเปลี่ยนแปลงชัดเจน
ผู้บริหารแกร็บเชื่อว่า จากธุรกิจเดินทางขนส่งด้วยรถ 4 ล้อและ 2 ล้อที่เป็นธุรกิจหลักของแกร็บ ในอนาคตธุรกิจส่งอาหารอย่าง ”แกร็บฟู้ด” น่าจะเปลี่ยนขึ้นมาครองสัดส่วนมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม ธุรกิจหลักของแกร็บก็จะยังมีขนาดเม็ดเงินหมุนเวียนสูงมากขึ้นต่อไป เพราะกลุ่มเดินทางขนส่ง 2 ล้อจะขยายตัวมากกว่านี้ ผลจากวินมอเตอร์ไซค์สามารถทำเที่ยววิ่ง หรือทำรอบได้มากขึ้นต่อวัน
3. แกร็บฟู้ดคือ 1 ในบริการหัวหอก
บริการสั่งอาหารผ่านแอปพลิเคชั่นอย่างแกร็บฟู้ดนั้นเพิ่งเริ่มให้บริการ 3-4 เดือน แต่ได้รับผลตอบรับ จากการที่ช่วงแรกเปิดให้บริการในรัศมี 5 กิโลเมตรนอกจากผู้สั่งสามารถติดตามได้ตลอดว่าอาหารอยู่ที่ไหน สามารถพิมพ์แชตสั่งอาหารได้โดยไม่ต้องโทร
ที่สำคัญคือ ให้บริการฟรีในช่วง 4 เดือนแรกเพื่อสร้างฐานลูกค้า
ปัจจุบันแกร็บฟู้ดมีพันธมิตรเกิน 4,000 ร้าน ตลอด 4 เดือนที่ผ่านมา ออเดอร์สั่งอาหารเติบโต 440% โดยออเดอร์เหล่านี้เกิดจากการที่เปิดแอปแกร็บแล้วพบเมนูสั่งอาหารได้ทุกเวลา
ผู้บริหารแกร็บยืนยันว่า แกร็บฟู้ดได้รับอานิสงส์เล็กน้อยเท่านั้นจากการควบรวมอูเบอร์อีทส์ เนื่องจากบริการส่งอาหารของอูเบอร์มีพันธมิตรร้านค้าประมาณ 1,000 ร้าน ในขณะที่แกร็บมีประมาณ 2,000-3,000 ราย ซึ่งเมื่อมารวมกัน แกร็บต้องทำสัญญากับแต่ละร้านใหม่อีกครั้ง
“ถามว่าเราพร้อมจะแข่งขันไหม เราส่งฟรีมา 4 เดือนจนคู่แข่งรายอื่นยกเลิกบริการฟรีไปหมดแล้ว” โดยบอกว่าลูกค้าแกร็บฟู้ดจะเสียค่าใช้จ่ายเท่ากับรับประทานที่ร้าน ซึ่งหลังจากวันที่ 1 มิถุนายน จะมีค่าบริการส่งเริ่มต้นที่ 10 บาท
ธรินทร์ ย้ำว่า ความสำเร็จนี้คือผลจากการเป็น “วันสต็อปเซอร์วิสแอป” โดยอีก 2 สัปดาห์ ผู้ใช้แกร็บทุกคนจะเห็นเมนูแกร็บฟู้ดในสมาร์ทโฟนของตัวเอง โดยที่ไม่ต้องดาวน์โหลดแอปใดเพิ่มเติม
4. ปรับโครงสร้างองค์กรรับมือ 3 บริการหลัก
แกร็บลงมือปรับโครงสร้างองค์กรรองรับ 3 บริการ คือ 1. บริการเดินทางขนส่ง (ทั้งมอเตอร์ไซค์และรถยนต์) 2. บริการส่งของ (ทั้งอาหารและสิ่งของ) 3. บริการชำระเงิน
แกร็บบอกว่าจะต้องทำให้ได้ 3 อย่าง คือต้องปลอดภัย ต้องเป็นบริการที่เข้าถึงได้ทุกคน และต้องเป็นประโยชน์กับชุมชน และช่วยให้คุณภาพชีวิตผู้ขับดีขึ้น มีการสอนภาษาอังกฤษ และในอนาคตยังไปถึงการให้เงินกู้แก่คนขับด้วย
5. เดินหน้าเข้าเตรียมเปิด “นาโน ไฟแนนซ์”
การให้เงินกู้กับคนขับถือเป็นสเต็ปแรก ธรินทร์บอกว่าหนึ่งในสิ่งที่แกร็บต้องการทำมากที่สุด คือวันนี้คนขับมอเตอร์ไซค์ แท็กซี่ ต้องพึ่งพาเงินกู้นอกระบบ ไม่มีหลักฐานเงินเดือนทำให้ธนาคารปฏิเสธ แต่แกร็บจะมีข้อมูลการขับ มีข้อมูลรายได้ แกร็บจึงกำลังเตรียมเปิดบริการเงินกู้ให้กับผู้ขับของแกร็บ โดยที่ไม่ต้องส่งหลักฐานเพิ่มเติม
เป้าหมายต่อไป คือ บริการทางการเงิน แกร็บเดินหน้าขอใบอนุญาตจากแบงก์ชาติ เพื่อให้บริการอีวอลเล็ต อาจต้องใช้เวลา 3-4 เดือน ทำให้การขยายผลระบบแกร็บเพย์ (Grab pay) ไม่เกิน 1 ปีน่าจะให้บริการทางการเงินได้ในรูปแบบนาโนไฟแนนซ์
6. ยืนยันค่าบริการไม่เปลี่ยนแปลง
หลังควบรวมอูเบอร์ อัตราค่าบริการรถโดยสารของแกร็บถูกระบุว่าจะไม่เปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะตัวคูณช่วงรถติด ที่จะลดลงจนแทบจะไม่มี
“เป็นเพราะคนขับรถกับแกร็บมากขึ้น ลูกค้าจะเรียกรถได้ง่ายขึ้นด้วย แต่ต้องยอมรับว่าเรายังต้องมีตัวคูณช่วงฝนตก เพื่อให้ราคาค่าโดยสารเพิ่มขึ้น ซึ่งจะจูงใจผู้ขับให้อยากรถขับรับส่งผู้โดยสารในช่วงฝนตกรถติด”
ในมุมจำนวนรถ การควบรวมรถของอูเบอร์เข้ามาทำให้จำนวนผู้ขับแกร็บเพิ่มขึ้นราว 10% แต่ตัวเลขผู้โดยสารที่เรียกรถ แกร็บปฏิเสธไม่เปิดเผย
แท็กซี่ไทยวันนี้ 9 หมื่นคัน คาดว่าอย่างน้อย 20% ขับแกร็บ
กรณีการปรับโครงสร้างบริษัท แกร็บไม่เปิดเผยชัดเจนว่าจะยุบรวมพนักงานอูเบอร์ไทยหรือให้ออก โดยบอกเพียงว่าไม่มีผู้บริหารแกร็บใดลาออก และที่แกร็บทำคือการพยายามหาทางออกที่เหมาะสม
“เป็นสิทธิส่วนบุคคลที่เลือกได้ว่าจะอยู่หรือไป” พร้อมบอกว่า แกร็บใช้เวลา 2-3 เดือนที่ผ่านมาคุยรายคน แต่ไม่เปิดเผยจำนวนพนักงานอูเบอร์ไทยรวม
สำหรับตัวธรินทร์เอง ก่อนจะมาเป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่ แกร็บประเทศไทย ผู้บริหารรายนี้มาจากลาซาด้า ซึ่งมีบทบาทสำคัญในช่วงที่ลาซาด้าทำโครงการร่วมกับอาลีบาบา โดยธรินทร์ร่วมงานกับแกร็บมานาน 4 เดือนเท่านั้น
ที่สำคัญ ผู้บริหารแกร็บเชื่อว่าดีลแกร็บซื้ออูเบอร์ในอาเซียนนั้นไม่ทำให้เกิดการผูกขาด เนื่องจากวันนี้คนไทยยังมีตัวเลือกหลากหลาย สามารถเรียกมอเตอร์ไซค์ได้ หรือเดินทางรถไฟฟ้าได้
แกร็บยืนยันว่าจะไม่มีการตัดธุรกิจใดออก และตั้งเป้าขยายให้บริการแกร็บคลุม 20 จังหวัดทั่วไทยในปีนี้ จากปัจจุบันที่ขยายไปแล้ว 16-17 จังหวัดใหญ่ทั่วไทย
7. ยอดใช้แกร็บไม่ได้เกิดเพราะโปรโมชั่น
พฤติกรรมลูกค้าแกร็บในวันนี้ ธรินทร์ระบุว่าน้อยกว่าครึ่งหนึ่งของผู้ใช้แกร็บที่เรียกใช้บริการเพราะโปรโมชั่น โดยบอกว่าลูกค้าที่คลิกซื้อสินค้าออนไลน์ยังอาจรอให้มีโปรโมชั่นก่อน แต่การเดินทางนั้นต้องเดินทางวันนี้ ตอนนี้ ทำให้ยอดใช้งานแกร็บไม่ได้เกิดเพราะโปรโมชั่น
8 ปัญหายังไม่ถูกกฎหมาย
สำหรับกรณีที่ แกร็บ ยังคงมีปัญหาเรื่อง ”กฎหมาย” ใช้รถส่วนบุคคลมารับจ้างล่าสุด กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในกรุงเทพมหานคร หรือ กอ. รมน. กรุงเทพฯ จะเอาจริงในการจัดระเบียบแกร็บ กำชับให้แกร็บทำตามกฎหมายด้วยการใช้เฉพาะรถป้ายเหลืองเท่านั้น
ประเด็นนี้ ธรินทร์เผยว่าแกร็บได้พยายามประสานเพื่อหาทางออกที่ดีที่สุด พร้อมกับย้ำว่าการเปลี่ยนแปลงในสังคมไทยต้องค่อยเป็นค่อยไป และควรคำนึงถึงผลได้ผลเสีย
“เราคุยมา 3 ปีแล้ว ต้องตระหนักเรื่องหนึ่งว่าเราก็มีภาระรับผิดชอบกับกลุ่มผู้โดยสารและคนขับ มีคนขับหลายคนที่สร้างตัวมากับเรา ถ้าวันหนึ่งเขาขาดเราไปก็จะเดือดร้อน เราหวังว่าจะมีทางคุยที่เหมาะสม”
แม้หน่วยงานราชการไทยตั้งธงว่ารถที่ให้บริการรับส่งต้องเป็นป้ายเหลือง แต่ผู้บริหารแกร็บมั่นใจว่าจะมีทางออกที่เหมาะกับทุกฝ่าย โดยบอกว่าในหลายประเทศรอบข้าง แกร็บสามารถให้บริการอย่างถูกกฎหมาย และเมื่อบวกกับวิสัยทัศน์รัฐบาลไทย ทั้งเรื่องไทยแลนด์ 4.0 เรื่องค่าครองชีพ หรือเรื่องสังคมไร้เงินสด ทั้งหมดแกร็บตอบโจทย์ได้ดี
“แกร็บยินดีจดทะเบียน หรือให้ข้อมูลตามที่หน่วยงานรัฐต้องการ ผมเชื่อว่าวันนี้ คนขับแกร็บทุกคนไม่มีปัญหาในการจดทะเบียน”
9. ตอบโจทย์ขนส่ง 4.0
แกร็บมองว่าวันนี้ระบบขนส่งมวลชนของไทยยังไม่ 4.0 ยังไม่มีระบบมารองรับ ธรินทร์จึงคิดว่าไทยสามารถใช้ระบบแกร็บมาตอบโจทย์นี้ได้ ขณะเดียวกันแกร็บจะทำให้เกิดสังคมไร้เงินสดได้จริงด้วย ส่งให้สังคมไทยเปลี่ยนไปสู่สังคมนวัตกรรมได้.