“สุเทพ เทือกสุบรรณ” The Match Maker

เบื้องหลังความสำเร็จในการก้าวขึ้นสู่ผู้ยิ่งใหญ่ในฐานะผู้นำรัฐบาลคนที่ 27 ของอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี แน่นอนว่านอกเหนือไปจากความรู้ความสามารถอันถือว่าเป็น “สินทรัพย์ส่วนตัว” ของเขาที่ได้บ่มเพาะสร้างประสบการณ์และต้นทุนทางการเมืองให้กับตัวเองมาตั้งแต่แรกเริ่มแล้ว ยังต้องไม่ลืมว่า สุเทพ เทือกสุบรรณ คือบุคคลที่มีบทบาทและมีความสำคัญมากที่สุดที่ผลักดันให้อภิสิทธิ์ได้สมหวัง

ประวัติศาสตร์การเมืองไทยเคยบันทึกความสำเร็จในวันวานระหว่าง “หัวหน้าชวน-เสธ.หนั่น” เมื่อครั้งทั้งสอง ชวน หลีกภัย ประธานที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์และอดีตนายกฯ สองสมัยกับ พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ รองนายกรัฐมนตรี และอดีตเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ เคยกอดคอกันนำพาให้พรรคประชาธิปัตย์รุ่งเรืองถึงขีดสุด ด้วยการได้รับโอกาสเป็นรัฐบาลถึงสองครั้งที่ผ่านมาเอาไว้อย่างสวยหรูแล้ว ในวันนี้ทั้ง “อภิสิทธิ์-สุเทพ” เองก็กำลังย้อนรอยตำนานในบทบาทที่แทบไม่มีความแตกต่างเช่นกัน เนื่องเพราะฝ่ายที่ทำหน้าที่เป็น “แม่บ้านพรรค” ออกแรงหนุน “หัวหน้าพรรค” ให้มีโอกาสได้เป็นผู้นำประเทศ โดยอาศัยทั้งความเก่งกาจ ชั้นเชิง และไหวพริบ แลกเอาชัยชนะมาได้

สุเทพ เทือกสุบรรณ ไม่ใช่นักการเมืองที่อ่อนพรรษา ด้อยประสบการณ์ หากแต่สุเทพคือนักการเมืองในแบบฉบับที่เรียกได้ว่าครบเครื่อง ทั้งบู๊และบุ๋น ยอมสงบนิ่งเมื่อใดที่รู้ว่ากำลังตกเป็นรองในสถานการณ์ ขณะเดียวกันพร้อมที่จะเดินหน้าบุกเข้าหาคู่ต่อสู้เมื่อมองเห็น “ชัยชนะ” ทั้งนี้หากจะว่าไปแล้วต้องถือว่าทั้งประสบการณ์และความเหนือชั้นทางการเมืองของเขานั้น ย่อมไม่ใช่เพียงแค่มาจากการเป็น ส.ส.ผูกขาด 10 สมัยใน จ.สุราษฎร์ธานี นับตั้งแต่ปี 2522 เป็นต้นมาเท่านั้น แต่อาจต้องแลกมาด้วยหยาดเหงื่อ รอยยิ้ม รวมถึงความเจ็บปวดในทางการเมืองเมื่อยามที่แพ้พ่าย

แต่เพราะความที่เป็นนักต่อสู้ที่ทรหดอย่างสุเทพ จึงสามารถอดทนฝ่าฟันอุปสรรคนานัปการมาจนถึงวันนี้ วันที่หลายคนเชื่อว่าบทบาทและภารกิจที่สุเทพดำเนินมาจนถึงเวลานี้นั้น ไม่ต่างไปจากการทำหน้าที่เป็นเสมือน “ลมใต้ปีก” ให้กับนายกฯ อภิสิทธิ์

แม้ตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีในคณะรัฐมนตรี “อภิสิทธิ์ 1” จะมีด้วยกันหลายตำแหน่ง แต่เป็นที่รู้กันดีว่ามีเพียงรองนายกฯ สุเทพเท่านั้นที่เป็นทั้งขุมพลังทางการเมืองและฝ่ายคลังสมองให้กับนายกฯ อภิสิทธิ์ ทั้งในยามปกติและท่ามกลางสถานการณ์ที่คับขัน อำนาจในการตัดสินใจเรื่องราวที่เกี่ยวพันกับงานด้านการเมือง โดยเฉพาะการต่อกรกับขั้วอำนาจเก่านั้น นายกฯ อภิสิทธิ์ ได้มอบหมายให้รองนายกฯ สุเทพ มีบทบาทเข้าไปกำกับดูแลในทุกภาคส่วน

การกำหนดภารกิจหน้าที่ทางด้านการเมืองให้ตกเป็นธุระของรองนายกฯ สุเทพนั้น ด้านหนึ่งย่อมเป็นการดี เพราะจะช่วยทำให้นายกฯ อภิสิทธิ์สามารถทุ่มเทกำลังไปกับงานด้านการบริหารในรัฐบาลได้มากขึ้น แต่ในความเป็นจริงแล้วกลับพบว่าภายใต้การขับเคลื่อนเดินทัพของสุเทพต่องานการเมืองทั้งภายในพรรคประชาธิปัตย์เองและการประสาน “ประโยชน์” ระหว่างพรรคร่วมรัฐบาลนั้นได้ก่อให้เกิดปัญหาและความขัดแย้งที่ส่อเค้าบานปลายในวันข้างหน้า

โดยเฉพาะเค้าลางความบาดหมางที่เกิดขึ้นจากการรวบอำนาจบริหารจัดการภายในพรรคเอาไว้ที่สุเทพ เพียงคนเดียว จนเกิดเป็น “แก๊งค์ออฟโฟร์” กลุ่มการเมืองซึ่งมีอิทธิพลมากที่สุดในประชาธิปัตย์ จนสร้างความไม่พอใจให้กับแกนนำในพรรคหลายต่อหลายคนที่พลาดหวังจากตำแหน่งใน ครม. เพราะสุเทพเลือกปูนบำเหน็จเก้าอี้รัฐมนตรีให้กับแกนนำใกล้ชิดและผ่านแก๊งค์ออฟโฟร์เท่านั้น ซึ่งประกอบด้วย สาทิตย์ วงศ์หนองเตย รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี – วิทยา แก้วภารดัย รมว.สาธารณสุข – ศิริวรรณ ปราศจากศัตรู – อัญชลี วานิช เทพบุตร

ทั้งที่ผ่านมาจะมีเสียงปฏิเสธจากทั้งสุเทพและนายกฯ อภิสิทธิ์ อย่างแข็งขันว่าไม่มีแก๊งค์ออฟโฟร์ในพรรคอย่างแน่นอน แต่กลับพบว่ามีกระแสข่าวความไม่พอใจจาก “นายหัวชวน” ดังเล็ดรอดผ่านสื่อออกมาบ่อยครั้ง ทั้งในกรณีการแต่งตั้งรัฐมนตรีในโควตาของพรรค กรณีที่ รมต.ประจำสำนักนายกฯ ถูกโจมตีเนื่องจากปล่อยให้อดีตนายกฯ ทักษิณโฟนอินเข้ามาปลุกระดมข้ามประเทศ ก่อนการนัดชุมนุมใหญ่ 8 เม.ย. จนถึงกรณีล่าสุดคือการที่ทั้งนายกฯ อภิสิทธิ์และรองนายกฯ สุเทพยอมเปิดไฟเขียวให้มีการพ่วงนิรโทษกรรมอดีตสมาชิกบ้านเลขที่ 111+109 ซึ่งงานนี้ไม่เพียงแต่ “ชวน หลีกภัย”ประธานสภาที่ปรึกษาพรรคเท่านั้นที่ออกอาการไม่สบอารมณ์ แม้แต่ “บัญญัติ บรรทัดฐาน” ในฐานะรองประธานสภาที่ปรึกษาของพรรคเองก็มีท่าทีไม่แตกต่างกัน

การบริหารจัดการงานทางด้านการเมืองทั้งภายในพรรคและระหว่างพรรคร่วมรัฐบาลสำหรับสุเทพ เทือกสุบรรณ นั้นอาจไม่ใช่เรื่องยากลำบาก หากบรรยากาศทางการเมืองในสังคมไม่เต็มไปด้วยความปั่นป่วน วุ่นวายและขัดแย้งทางความคิดกันอย่างหนัก จนยากที่จะหันหน้าเข้าสู่การสมานฉันท์ได้ภายในระยะเวลาอันสั้น แต่ภายใต้วิกฤตที่รัฐบาลกำลังเผชิญหน้าจากอำนาจเก่า และพรรคร่วมรัฐบาล โดยเฉพาะเมื่อสุเทพต้องรับมือเนวิน ชิดชอบ นักการเมืองเขี้ยวลากดิน ยิ่งไม่ใช่ภาวะปกติอย่างแน่นอน

แต่เป็นเพราะคนอย่างสุเทพ เทือกสุบรรณ ได้เคยข้ามผ่านมาแล้ว ทั้งความสำเร็จและล้มเหลวทางการเมืองมาอย่างโชกโชน ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องที่น่าแปลกใจหากจะพบว่าแม้ท่ามกลางวิกฤตรอบด้านที่รัฐบาลกำลังเผชิญหน้าอยู่ ณ เวลานี้ รวมทั้งตัวเขาเองที่ถูกกดดันจากหลายฝ่ายอย่างหนักให้ปรับออกจากตำแหน่งรองนายกฯ ในฐานะที่ดูแลฝ่ายความมั่นคง แต่กลับไม่สามารถคุ้มครองอารักขาตัวนายกฯ อภิสิทธิ์ นิพนธ์ พร้อมพันธุ์ เลขาธิการนายกฯ รวมทั้งตัวเขาเองให้รอดพ้นจากการถูกคุกคามจากกลุ่มเสื้อแดงไปได้ก็ตาม แต่กลับไม่สะทกสะท้าน หาทางออกให้กับนายกฯ อภิสิทธิ์และรัฐบาลให้ฟันฝ่ามรสุมครั้งนี้ไปให้ได้โดยเร็วที่สุด ไม่ว่าจะเป็นกระแสกดดันจากกลุ่มเสื้อแดงให้ยุบสภา

หรือแม้แต่สถานการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในช่วงสงกรานต์ที่ผ่านมา จากการชุมนุมก่อการจลาจลในกรุงเทพฯ และล้มการประชุมอาเซียนซัมมิต ครั้งที่ 14 เพื่อต้องการบีบคั้นให้รัฐบาลประกาศยุบสภา แต่สุดท้ายนายกฯ อภิสิทธิ์กลับฮึดสู้ด้วยการประกาศใช้ พ.ร.ก.แก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน นั้นส่วนหนึ่งมาจากความเชื่อมั่น และกำลังใจที่สุเทพได้ให้ไว้ต่อผู้นำรัฐบาล ว่าทุกอย่างจะผ่านพ้นไปได้แน่นอน จึงร่วมกันจับมือพลิกเกมกลับมาสู้ แทนการเลือกที่จะถอดใจยกธงขาว ยอมแพ้

หากพิจารณาถึงความสัมพันธ์ระหว่างสุเทพกับนายกฯ อภิสิทธิ์ นับตั้งแต่วันที่ประชาธิปัตย์รั้งสถานะ “พรรคฝ่ายค้าน” อภิสิทธิ์ รับบท “ผู้นำฝ่ายค้าน” ที่ไม่อาจงัดง้างความแข็งแกร่งได้กับเสียงข้างมากกับพรรคนอมินีของ พ.ต.ท.ทักษิณมาถึงสองยุครัฐบาลที่ผ่านมา จนแปรเปลี่ยนมาสู่ ณ เวลานี้ เมื่อทั้งคู่กลายเป็นฝ่ายคุมอำนาจในฝ่ายบริหาร ย่อมจะเห็นว่าทั้งสุเทพและอภิสิทธิ์ต่างเป็นแรงหนุนที่เกื้อกันและกัน เพราะแม้นายกฯ อภิสิทธิ์จะพกพาภาพแห่งความเป็นผู้นำ พร้อมพรั่งด้วยคุณสมบัติในทุกๆ ด้าน แต่หากขาดกุนซือที่ทำหน้าที่เป็นขุมกำลัง กำหนดยุทธวิธีต่อสู้ทางการเมืออย่างสุเทพแล้ว โอกาสที่จะเอื้อมถึงบัลลังก์ผู้นำประเทศย่อมเป็นไปได้ยากยิ่ง

ขณะที่สุเทพเองถึงแม้เขาจะต้องการได้รับตำแหน่งใน ครม.มากแค่ไหนก็ตาม แต่หากไม่มีบุคคลที่มีภาพลักษณ์เป็นเลิศ และต้นทุนทางสังคมสูงอย่างอภิสิทธิ์แล้ว ความหวังก็ยังคงเป็นเพียงความหวังต่อไปเท่านั้น และด้วยความที่สุเทพเป็นนักปั้นนายกฯ คนที่ 27 ให้เกิดขึ้น ไม่ว่าจะด้วยภาระหน้าที่หรือความจริงใจก็ตาม

สิ่งเหล่านี้ย่อมกลายเป็นเงื่อนไขที่ทำให้สุเทพ เทือกสุบรรณ มิใช่เพียงเลขาธิการพรรคและรองนายกรัฐมนตรีธรรมดาเฉกเช่นคนอื่นๆ แต่เขาได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของวงจร “อิทธิพล” ในฝ่ายบริหาร และส่วนสำคัญต่อการตัดสินใจของนายกฯ อภิสิทธิ์ อีกไม่นานอาจมีใครบางคนแอบเรียกเขาว่า “นายกฯ น้อย”!