โรงแรม อาหารไปได้สวย! ดุสิตธานี โชว์รายได้-กำไรไตรมาสแรกโต 85.5%

ในช่วงที่เศรษฐกิจไทยถูกขับเคลื่อนโดยเครื่องยนต์ที่เรียกว่า “อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว” ธุรกิจพักผ่อนหย่อนใจ (Hospitality) จึงได้รับอานิสงส์ไปเต็มๆ เช่นเดียวกับ บมจ.ดุสิตธานี หนึ่งในผู้เล่นรายสำคัญของธุรกิจโรงแรม ที่รายงานผลประกอบการไตรมาส 1 ไปหมาดๆ พบว่าบริษัทมีรายได้รวม 1,698 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 12.5% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และมีกำไรสุทธิอยู่ที่ 230 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 85.5% จากปีก่อน

ปัจจัยหลักมาจากธุรกิจโรงแรมมีรายได้เพิ่มขึ้น ส่วนกำไรโตดีจากเงินลงทุนระยะยาวอื่น โดยเฉพาะธุรกิจอาหาร ที่ดุสิตเพิ่งจัดตั้งบริษัท ดุสิต ฟู้ดส์ จำกัด เพื่อลงทุนกว่า 600 ล้านบาท ซื้อหุ้น 26% ในบริษัท เอ็นอาร์ อินสแตนท์ โปรดิวซ์ จำกัด (NRIP) เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา

“ภาพรวมของธุรกิจในไตรมาสแรกของปีนี้ ถือว่าน่าพอใจ เนื่องจากการดำเนินงานต่างๆ เป็นไปตามแผนที่วางไว้ โดยเรามีพัฒนาการที่สำคัญหลายเรื่อง โดยเฉพาะการลงทุนในธุรกิจอาหาร ด้วยการจัดตั้งบริษัท ดุสิต ฟู้ดส์ จำกัด เพื่อลงทุนในบริษัท เอ็นอาร์ อินสแตนท์ โปรดิวซ์ จำกัด (NRIP)” ศุภจี สุธรรมพันธุ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท ดุสิตธานี จำกัด (มหาชน) หรือ DTC กล่าว

ศุภจี สุธรรมพันธุ์

สำหรับ NRIP เป็นผู้ผลิตและส่งออกอาหารแห้งและเครื่องปรุงรส ซึ่งเป็นการลงทุนตามแผนกลยุทธ์ธุรกิจระยะยาว 9 ปี ของบริษัทฯ (2559-2568) ในส่วนของการเพิ่มความหลากหลายในการทำธุรกิจ (Diversify) โดยกระจายการลงทุนไปในธุรกิจที่เกี่ยวข้อง ซึ่งในส่วนนี้บริษัทต้องการเพิ่มสัดส่วนรายได้ 10% ของรายได้รวมทั้งหมด

ดังนั้น ธุรกิจของ NRIP จึงเป็นอีกธุรกิจที่เข้ามาช่วยสร้างการเติบโตให้กับบริษัทฯ และยังช่วยในเรื่องของการผลิตอาหารและเครื่องดื่มที่มีมาตรฐาน เสิร์ฟใหักับโรงแรมของบริษัทฯ ทั่วโลก ซึ่งในปี 2564 บริษัทจะมีห้องพักให้บริการเพิ่ม “เท่าตัว” เป็น 14,000 ห้อง ทำให้ต้องเตรียมพร้อมรองรับบริการดังกล่าว

นอกจากเสิร์ฟอาหารให้ลูกค้าในโรงแรม NRIP ยังจะเป็น “จิ๊กซอว์” ที่เข้ามาช่วยพัฒนาสินค้า “พรีเมียม” ภายใต้แบรนด์ “ดุสิต” เพื่อที่จะนำแบรนด์ “ดุสิต” ไปสู่ “ตลาดรีเทล” ทั้งในและต่างประเทศด้วย เพราะต้องยอมรับว่าตลาดรีเทลนั้นมีขนาด “มหึมา” จากปัจจุบันที่ NRIP มีแบรนด์ตนเองทั้ง พ่อขวัญ, Lee, Thai Delight และ DEDE Shanggie

สุดท้ายธุรกิจอาหารยังเพิ่มโอกาสในการเติบโตในอนาคตจากเทคโนโลยีด้านอาหารใหม่ๆ ตลอดจน “ต่อยอด” ธุรกิจการศึกษาของบริษัทฯ ที่มีมากมาย เช่น วิทยาลัยดุสิตธานี, วิทยาลัยดุสิตธานี กรุงเทพฯ, โรงเรียนสอนประกอบอาหาร เลอ กอร์ดอง เบลอ ดุสิต, ศูนย์ความเป็นเลิศดุสิต (DTEC) และ Philippine Hoteliers International Center for Hospitality Education, Inc. ธุรกิจด้านการศึกษาที่ประเทศฟิลิปปินส์ เป็นต้น

การขยับเข้าสู่สังเวียน “ธุรกิจอาหาร” ของดุสิตธานี ยังเป็นการเพิ่ม “จุดแข็ง” ให้ครบเครื่อง รับการแข่งขันของธุรกิจโรงแรมด้วย เพราะหากดูผู้เล่นในประเทศไทย และมีการขยายอาณาจักรสู่ต่างประเทศ ล้วนแล้วแต่มีธุรกิจอาหารพ่วงไปด้วยเพื่อ “ซีนเนอร์ยี” ธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มโรงแรมเซ็นทรัล มี “เซ็นทรัล เรสตอรองส์ กรุ๊ป” เป็นหัวหอก, กลุ่มไมเนอร์ มีอาหารหลากหลายแบรนด์ที่ตีตลาดทั่วไทยไปทั่วโลก, กลุ่มทีซีซี โฮเทลส์ กรุ๊ป ก็มีธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มเป็นตัวเสริม เป็นต้น

ธุรกิจอาหารเดินเกมรุก ธุรกิจโรงแรมก็เดินหน้าขยายด้วยการเปิดตัวแบรนด์โรงแรมใหม่ “อาศัย” (ASAI) เพื่อตอบโจทย์การขยายตัวของนักท่องเที่ยวกลุ่มมิลเลนเนียล (Millennials) ซึ่งแสวงหาประสบการณ์การท่องเที่ยวที่เน้นการเข้าถึงวัฒนธรรมท้องถิ่น ประกอบกับที่พักมีสิ่งอำนวยความสะดวกคุณภาพสูง และพื้นที่ส่วนกลางกว้างขวางเหมาะกับการสังสรรค์ การทำงาน และการพักผ่อนหย่อนใจ

ตามแผนบริษัทจะเปิดโรงแรมแบรนด์ “ASAI” ประมาณ 10 แห่งต่อปี ทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยสิ้นไตรมาสแรกของปีนี้คาดว่าจะมีโรงแรม ASAI รวม 6 แห่งในประเทศไทย เมียนมา และฟิลิปปินส์

แบรนด์ ASAI จับคนรุ่นใหม่แล้ว ยังเป็นโรงแรม “ราคา” จับต้องได้ด้วย เพราะปัจจุบันนักท่องเที่ยวอิสระ (FIT) มีข้อมูลและ “ทางเลือก” ในการพักอาศัยโรงแรมมากขึ้น ไม่จำกัดต้องเป็นแบรนด์ดัง แต่ตลาดมีการนำที่อยู่อาศัยประเภทอื่นๆ มาให้บริการพักผ่อนมากขึ้น รวมถึง “แพลตฟอร์ม” การพักผ่อนรายใหญ่อย่าง “Airbnb” ก็เข้ามาแย่งตลาดอย่างมีนัยสำคัญ

จะเห็นว่า ดุสิตธานี ยังคงเข้มข้นกับการเดินหน้าตามแผนยุทธศาสตร์ที่วางไว้ 3 ประการ ได้แก่ การสร้างความสมดุลให้กับธุรกิจที่ต้องการมีรายได้จากทั้งในและต่างประเทศ 50% เท่ากัน และมีการลงทุนสร้างโรงแรมเองและรับบริหารโรงแรมมากขึ้นเพื่อ “ลด” เงินลงทุน และ “เพิ่ม” ผลตอบแทนจากสินทรัพย์มากขึ้น การกระจายความเสี่ยง ที่ประเดิมรุกธุรกิจ “อาหารเป็นครั้งแรก” เพื่อชิมลาง และสุดท้ายคือการสร้างเป้าหมายในการเติบโตด้วยจำนวนห้องพักที่เพิ่มขึ้น “เท่าตัว” ในอนาคต

อย่างไรก็ตาม แผนระยะยาวดังกล่าวจะสำเร็จเป็นรูปร่าง ดุสิตธานีจึงต้องมีการเสริมสร้างรากฐานของบริษัทให้แข็งแกร่ง 5 ประการ ได้แก่ การพัฒนาทรัพยากรบุคคล สร้างวัฒนธรรมองค์กร มีวิชั่นใหม่ให้มองไปข้างหน้า, การพัฒนากระบวนการทำงาน ในการทำงานที่ต้องมีประสิทธิภาพมากขึ้น เพื่อลดค่าใช้จ่าย, นำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้ เพราะถือเป็นรากฐานสำคัญยิ่งในการขับเคลื่อนธุรกิจยุคปัจจุบัน, การจัดโครงสร้างสินทรัพย์ให้มีศักยภาพ เพราะบริษัททำธุรกิจมานานมีโครงการเก่าใหม่มากมาย ซึ่งอาจมีผลกระทบต่อการทำธุรกิจและกำไรของบริษัท และการจัดโครงสร้างทางการเงิน เพื่อให้มีโครงสร้างเงินทุนที่เหมาะสมและมั่นคงทางการเงินในระยะสั้นและยาว.