แฟรนไชส์กาแฟอเมริกัน Starbucks ได้รับไฟเขียวให้เปิดสาขาในพม่าแล้วเป็นครั้งแรก หลังจากแย้มวิสัยทัศน์บุกเมืองหม่องเมื่อ 5 ปีที่แล้ว ข้อมูลเบื้องต้นชี้ Starbucks จะปักธงในห้างใจกลางย่างกุ้งแต่ยังไม่ระบุวันเปิดร้าน การประเดิมพม่าครั้งนี้ ทำให้ลาวเป็นตลาดเดียวในอาเซียนที่ Starbucks ยังไม่สามารถเจาะเข้าไปได้
สื่อพม่ารายงานว่าเมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม คณะกรรมาธิการการลงทุนพม่าหรือ MIC (Myanmar Investment Commission) ได้ลงนามรับรองบริษัท Coffee Concepts Myanmar Ltd (CCM) ซึ่งเป็นบริษัทผู้ให้บริการด้านอาหารและเครื่องดื่มที่ถือหุ้นโดยชาวต่างชาติ 100% จุดนี้ MIC ระบุว่า CCM จะเป็นผู้ดำเนินการของ Starbucks ในพม่า โดย CCM ได้จดทะเบียนกับคณะกรรมการการลงทุนและการบริหารงานของบริษัท หรือ DICA (Directorate of Investment and Company Administration) แล้วเมื่อเดือนธันวาคม 2017 ที่ผ่านมา
ผลจากการเปิดไฟเขียวนี้ ทำให้ Starbucks ได้สิทธิตั้งร้านสาขาในพม่าทันที สื่อชี้ว่า Starbucks ร้านแรกในพม่าจะตั้งอยู่ที่ย่านเศรษฐกิจ Sule Square ในย่างกุ้ง
*** ใช้เวลากว่า 5 ปี
การประเดิมพม่าของ Starbucks ถือว่าเกิดขึ้นในเวลา 5 ปีหลังจากที่ต้นสังกัดเชนกาแฟจากซีแอตเติลเปิดแผนวางหมากพม่าเป็นส่วนหนึ่งของการขยายธุรกิจสู่เอเชีย
ย้อนกลับไปช่วงระหว่างการเยือนประเทศไทยในปี 2013 ซีอีโอ Howard Schultz ของ Starbucks กล่าวว่า พม่าเป็นหนึ่งในบริษัทเป้าหมายของ Starbucks ในการขยายธุรกิจ ครั้งนั้นซีอีโอคาดว่าจะเปิด Starbucks แห่งแรกในพม่าได้ในช่วง 2 ปี หรือปี 2015
แต่ในเมื่อแผนการล่าช้าถึงปี 2018 ยักษ์ใหญ่อย่าง Starbucks จึงไม่ได้เป็นแฟรนไชส์กาแฟสากลรายแรกที่เข้าสู่พม่า โดย Gloria Jean’s เครือข่ายร้านกาแฟสัญชาติออสเตรเลียสามารถเข้ามาได้ก่อน ปัจจุบันมีสาขาทั้งหมด 4 แห่งในพม่า ทุกสาขาตั้งอยู่ในย่างกุ้ง
ล่าสุดคือเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา บริษัท Singapore-listed Myanmar Investco (SMI) ประกาศว่าบริษัทบรรลุดีลพิเศษในการจัดตั้งและพัฒนาแบรนด์ Coffee Bean & Tea Leaf หรือ CBTL ในพม่า โดยมีแผนเปิดให้บริการร้าน CBTL เป็นครั้งแรกในไตรมาส 1 ปีนี้ ซึ่งที่ผ่านมา SMI เปิดร้านแล้วเรียบร้อย 2 แห่งในสนามบินนานาชาติย่างกุ้ง (Yangon International Airport)
ในขณะเดียวกัน แฟรนไชส์ไต้หวันอย่าง Chatime จากไต้หวันซึ่งเปิดร้านสาขาแรกในพม่าในปี 2013 ก็มีร้านค้ากว่า 14 แห่งแล้วในย่างกุ้ง และเปิดเพิ่มอีก 2 แห่งที่เมืองมัณฑะเลย์เมื่อสิงหาคมที่ผ่านมา
ทั้งหมดนี้สะท้อนว่า สมรภูมิกาแฟสดในพม่ากำลังร้อนแรงขึ้นอีก จุดนี้ Starbucks ยังต้องแข่งกับ Costa Coffee เชนร้านกาแฟรายใหญ่อันดับ 2 ของโลกจากประเทศอังกฤษที่กำลังตั้งร้านค้าในพม่าเช่นกัน โดยปัจจุบัน Costa Coffee ยังไม่มีร้านสาขาให้บริการในพม่า เช่นเดียวกับ Caffè Nero สัญชาติลอนดอนและ McCafé จากแดนอเมริกันที่ยังไม่มีร้านแต่มีแนวโน้มเข้าสู่ตลาดพม่าในอนาคต
Costa Coffee นี่เองที่ถูกมองว่าเป็นคู่แข่งที่สูสีกับ Starbucks ที่สุดในตลาดพม่า โดย Costa Coffee เป็นบริษัทในเครือผู้ผลิตเบียร์และโรงแรม Whitbread ปัจจุบันมีธุรกิจทั้งในสิงคโปร์ ไทย กัมพูชา และฟิลิปปินส์ ตามแถลงการณ์ของ Costa Coffee เมื่อเดือนกันยายน 2014 ซึ่งระบุว่า Costa Coffee ใช้กาแฟจากเวียดนามเป็นหลัก
*** เหลือแค่ลาว
หลังจากที่เปิดตลาดพม่าได้ Starbucks จะถือว่าสามารถเข้ามามีส่วนร่วมในทุกตลาดอาเซียนได้ทั้งหมด ยกเว้นประเทศลาวประเทศเดียว
วันนี้ Starbucks ถือเป็นเครือข่ายร้านกาแฟที่ใหญ่ที่สุดในโลก ผลจากการขยายธุรกิจอย่างต่อเนื่องในเอเชียและโดยเฉพาะอย่างยิ่งในอาเซียนหรือภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นอกเหนือจากจีนแล้ว Starbucks เปิดตัวร้านแรกในอินเดียเมื่อปี 2012 ตามมาด้วยเวียดนาม บรูไน และกัมพูชาในช่วงหลายปีต่อมา
มีความเป็นไปได้ว่า Starbucks จะปูพรมเปิดร้านในพม่าต่อเนื่อง เหมือนที่ Starbucks เปิดตัวร้านแรกในพนมเปญเมื่อธันวาคมปี 2015 และกระหน่ำเปิดเพิ่มอีก 10 แห่งในประเทศ
สำหรับประเทศไทย Starbucks ก็ประกาศเป้าเพิ่มจำนวนร้านค้าในประเทศไทยเป็น 2 เท่าในปีนี้ คาดว่าจะทะลุ 320 ร้านค้าในปี 2018
สถิติวันที่ 1 ตุลาคม 2017 เจ้าพ่อ Starbucks มีร้านค้า 1,540 แห่งในประเทศจีน, 1,218 แห่งในญี่ปุ่น และ 312 แห่งในประเทศไทย ตามรายงานประจำปี 2017 ทั้งหมดนี้ดำเนินการโดย Starbucks ทั้งหมด
ขณะที่ร้าน Starbucks 133 แห่งที่ดำเนินการในสิงคโปร์ทั้งหมดถูกโอนไปยังบริษัทผู้ถือไลเซนส์ ซึ่งเป็นผลมาจากการขายสิทธิ์ให้กับบริษัท Maxim’s Caterers Ltd ในช่วงไตรมาส 4 ปีที่แล้ว โดยร้านค้าที่ได้รับไลเซนส์ Starbucks มีจำนวนราว 4,409 แห่งในเอเชียแปซิฟิก แบ่งเป็น 1,396 แห่งในประเทศจีน, 1,108 แห่งในเกาหลี, 420 แห่งในไต้หวัน, 324 แห่งในฟิลิปปินส์, 317 แห่งในอินโดนีเซีย, 248 แห่งในมาเลเซีย และ 596 แห่งในภูมิภาคอื่น
เบ็ดเสร็จทั้งหมด วันนี้ Starbucks มีสาขารวมทั้งสิ้น 28,039 แห่งทั่วโลก ตัวเลขนี้รวมร้านค้าที่ดำเนินการโดย Starbucks เอง และร้านค้าที่ได้รับไลเซนส์.