-
“สตาร์บัคส์” เมืองไทย ยังคงการจัดโปรฯ “1 แถม 1” วิสัยทัศน์ซีอีโอบริษัทแม่ยังไม่กระทบถึงไทย
-
ปี 2567 จ่อเปิดครบ 522 สาขา โดย 3 สาขาใหม่ล่าสุดเปิดบริการใน “วัน แบงค็อก”
-
เปิดสาขาพิเศษ “Greener Store” ที่ใหญ่ที่สุดในไทย สาขาแรกที่สนับสนุนให้ลูกค้าทำความสะอาดและ “แยกขยะ” ณ จุดทิ้ง
“เนตรนภา ศรีสมัย” กรรมการผู้จัดการ สตาร์บัคส์ ประเทศไทย ตอบคำถามผู้สื่อข่าวถึงประเด็นการเปลี่ยนซีอีโอคนใหม่ “ไบรอัน นิคโคล” ของบริษัทแม่ Starbucks ที่สหรัฐอเมริกา โดยนิคโคลมีการแสดงวิสัยทัศน์ถึงแนวทางบริหารในอนาคตจะทำให้ร้าน Starbucks กลับมาเป็นร้านกาแฟระดับพรีเมียม จะมีการยกเลิกหรือลดโปรโมชัน 1 แถม 1 ในสหรัฐฯ
เนตรนภากล่าวตอบถึงเรื่องนี้ว่า นโยบายการบริหาร “สตาร์บัคส์” ที่เมืองไทยขณะนี้ยังคงเหมือนเดิม เพราะวิสัยทัศน์ในภาพกว้างของไบรอัน นิคโคลสอดคล้องกับที่สตาร์บัคส์ ประเทศไทยปฏิบัติมายาวนาน นั่นคือการให้ความสำคัญกับคุณภาพกาแฟ การเป็นแบรนด์ที่สร้างแรงบันดาลใจ และการบริการที่มีปฏิสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ด้วยกัน (human connection)
ส่วนโปรโมชัน 1 แถม 1 ซึ่งในเมืองไทยก็มีการจัดแคมเปญอยู่บ่อยครั้ง เนตรนภากล่าวว่ายังไม่มีนโยบายที่จะยกเลิก เพราะมองว่าที่ไทยไม่ได้มีการจัดบ่อยจนเกินไป จะจัดแคมเปญลักษณะนี้เมื่อต้องการดึงลูกค้าให้กลับมาคิดถึงแบรนด์เป็นระยะๆ เท่านั้น
Positioning รายงานจากสื่อประชาสัมพันธ์ของสตาร์บัคส์ ล่าสุดเพิ่งจะเริ่มแคมเปญ 1 แถม 1 รอบใหม่ระหว่างวันที่ 28 ต.ค. 67 – 3 พ.ย. 67 และหากย้อนกลับไปในรอบ 3 เดือนที่ผ่านมาจะพบว่าสตาร์บัคส์ไทยมักจะจัดแคมเปญ 1 แถม 1 ทุกๆ ต้นเดือน แต่ระยะเวลาจำนวนวันที่จัดจะต่างกัน และจำนวนเมนูที่อยู่ในรายการแถมก็แตกต่างกันเช่นกัน
เปิดรวดเดียว 3 สาขาที่ “วัน แบงค็อก”
ด้านความเคลื่อนไหวในการเปิดสาขาใหม่ของสตาร์บัคส์ เนตรนภาระบุว่าปัจจุบันสตาร์บัคส์มีทั้งหมด 517 สาขาในไทย และคาดว่าภายในสิ้นปี 2567 นี้จะได้เปิดเพิ่มอีก 5 สาขา รวมเป็น 522 สาขา
ในกลุ่มสาขาที่เปิดตัวหมาดๆ คือสตาร์บัคส์ 3 สาขาที่เปิดในอภิมหาโปรเจ็กต์ “วัน แบงค็อก” ได้แก่ สตาร์บัคส์ รีเสิร์ฟ แฟลกชิป สโตร์ที่ชั้น G ฝั่ง The Storeys, สตาร์บัคส์ ชั้น 3 ฝั่ง The Parade และ สตาร์บัคส์ ชั้น B1 ฝั่ง The Parade
- ซีอีโอ ‘สตาร์บัคส์’ คนใหม่ลั่น จะพาแบรนด์กลับไปเป็น ‘ร้านกาแฟ’ อีกครั้ง! หลังหลงทิศเน้นออนไลน์ จนยอดขายหด
- เอไอเอส x กลุ่มเซ็นทรัล สานภารกิจความยั่งยืน ปั้นโมเดลการจัดการขยะแบบครบวงจร
ดังที่ทราบกันว่าสิทธิ์แฟรนไชส์ “สตาร์บัคส์” ในไทยเปลี่ยนมือมาสู่บริษัท “Coffee Concepts Thailand” บริษัทร่วมทุนระหว่างเครือของเจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี กับบริษัท Maxim’s Caterers จากฮ่องกง มาตั้งแต่ปี 2562 ขณะที่โครงการ วัน แบงค็อก ก็คือโครงการมิกซ์ยูสของ เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ ลิมิเต็ด ในเครือตระกูลสิริวัฒนภักดีอีกเช่นกัน ความร่วมมือระหว่างพอร์ตธุรกิจในมือจึงต้องจัดใหญ่และเต็มที่แน่นอน
“สตาร์บัคส์” สายกรีนที่ใหญ่ที่สุดในไทย
ไฮไลต์ของสตาร์บัคส์สาขาใหม่ในวัน แบงค็อก คือ สตาร์บัคส์ รีเสิร์ฟ ในโซนศูนย์การค้าฝั่ง The Storeys เพราะถือเป็นสาขาระดับ “แฟลกชิป สโตร์” แห่งที่ 4 ในไทยของสตาร์บัคส์ ต่อจากสาขาไอคอนสยาม, เซ็นทรัลเวิลด์ และสยามสแควร์วัน รวมถึงสาขานี้ยังเป็น “Greener Store” ที่ใหญ่ที่สุดของสตาร์บัคส์ไทยด้วยพื้นที่กว้าง 860 ตารางเมตร เป็นสตาร์บัคส์ 2 ชั้นที่จุลูกค้าได้มากกว่า 230 ที่นั่ง พร้อมห้องประชุมในตัว 2 ห้อง
“ธนาศักดิ์ กุลรัตนรักษ์” ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาธุรกิจ สตาร์บัคส์ ประเทศไทย ระบุว่าข้อกำหนด Greener Store ของสตาร์บัคส์จะเกี่ยวข้องกับหลายด้าน เช่น ลดการใช้น้ำ ลดการใช้ไฟฟ้า ลดขยะ ยกตัวอย่างในสาขานี้มีการนำระบบ Smart Lighting เข้ามาใช้งาน เป็นการปรับแสงไฟในร้านอัตโนมัติให้สอดคล้องกับปริมาณแสงธรรมชาติจากภายนอกกระจก ทำให้ประหยัดไฟเพราะไม่ต้องเปิดไฟสว่าง 100% ตลอดทั้งวัน
ด้าน “จุฑาทิพย์ เก่งมานะ” ผู้จัดการด้านผลกระทบทางสังคมและความยั่งยืน สตาร์บัคส์ ประเทศไทย เปิดเผยว่า สาขานี้คือสาขาแรกในไทยที่มีการลงระบบ “ล้างแก้ว-แยกขยะ” ในคอนดิเมนต์ บาร์ รณรงค์ให้ลูกค้าเทน้ำทิ้ง ล้างแก้วและฝาพลาสติกของเครื่องดื่มเย็นให้สะอาด ก่อนจะทิ้งลงถังรีไซเคิล เพราะปกติแล้วแก้วพลาสติกที่จะนำไปรีไซเคิลได้จะต้องผ่านการล้างทำความสะอาดมาก่อน
จุฑาทิพย์กล่าวด้วยว่า ในปีนี้หลังจากความกังวลด้านสถานการณ์โควิด-19 เริ่มผ่อนคลายลง สตาร์บัคส์ไทยจึงมีการกลับมาสนับสนุนให้ลูกค้านำแก้วส่วนตัว (Personal Cup) มารับเครื่องดื่มพร้อมส่วนลด 10 บาทต่อแก้ว ทำให้ปีนี้สัดส่วนการใช้แก้วของลูกค้า 20% จะเลือกใช้แก้วส่วนตัว 40% เลือกแก้วสำหรับทานในร้าน (for here) และ 40% เลือกแก้วแบบใช้แล้วทิ้ง (to-go) ซึ่งกลุ่มหลังนี้เองที่ต้องการสนับสนุนให้มีการรีไซเคิลเต็มรูปแบบ
สำหรับ Greener Store ของสตาร์บัคส์ในไทยคาดว่าจะมีครบ 20 สาขาภายในสิ้นปี 2567 และเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายสตาร์บัคส์ทั่วโลกที่ต้องการจะลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ การใช้น้ำ และขยะฝังกลบให้ได้ 50% ภายในปี 2573